วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /มติชนสุดสัปดาห์คือเวทีวรรณกรรม

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์       

มติชนสุดสัปดาห์คือเวทีวรรณกรรม

 

นิตยสารรายสัปดาห์และรายเดือนเป็นเวทีวรรณกรรมของนักเขียนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ โดยเฉพาะนักเขียนเรื่องสั้นและบทกวี รวมไปถึงบทประพันธ์ประเภทอื่น เช่น สารคดี และคอลัมน์

เวทีวรรณกรรมระหว่างนั้นมีหลายฉบับ มีนักเขียนที่แทบจะเรียกว่าประจำการหลายรายที่เมื่อมีโอกาสผ่านการพิจารณาจากบรรณาธิการลงตีพิมพ์สักครั้งสองครั้ง ครั้งต่อไปมักจะได้รับการพิจารณาประจำ โดยเฉพาะเวทีวรรณกรรมแห่งนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ซึ่งประมูล อุณหธูป หรืออุษณา เพลิงธรรม เป็นบรรณาธิการพิจารณาเรื่องสั้น และนิตยสารชาวกรุง มีนพพร บุณยฤทธิ์ เป็นบรรณาธิการ

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 หนังสือพิมพ์รวมประชาชาติรายวันได้รับคำสั่งจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน “ปิดตาย” ชาวคณะมีขรรค์ชัย บุนปาน เป็นผู้นำกลับมาดำเนินการให้โรงพิมพ์พิฆเณศฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง

นอกจากจะรับงานการพิมพ์เพื่อหารายได้มาดูแลชาวคณะที่กลับมาทำงานด้วยกันแล้ว ยังออกนิตยสารรายเดือนชื่อ “พาที” จากผลงานเขียนทั้งประเภทนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี สารคดี และอื่นๆ จำหน่าย

ผลการตอบรับดีพอสมควร มีนักเขียนเรื่องสั้น บทกวี ทั้งนักเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่ก่อน และนักเขียนใหม่ส่งผลงานมาให้พิจารณาลงตีพิมพ์ไม่น้อย ขณะเดียวกับที่หนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับแรกเข็มทิศออกวางจำหน่าย

หลังจากเริ่มผลิตหนังสือพิมพ์รายวันมติชนได้ไม่นาน จึงหยุดตีพิมพ์นิตยสารพาทีรายเดือน เพื่อกลับมาทำหนังสือพิมพ์รายวันมติชนให้เดินหน้าเต็มที่

 

เมื่อมติชนรายวันเริ่มออกมติชนสุดสัปดาห์เพื่อชดเชยหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันอาทิตย์ จึงจัดสารบัญเช่นเดียวกับนิตยสารรายสัปดาห์ที่มีบนแผงหนังสือก่อนหน้านั้น ทั้งยังรวมให้เป็นนิตยสารรายสัปดาห์นำเสนอ “สกู๊ปพิเศษ” ข่าวสำคัญในรอบสัปดาห์และสรุปข่าวประจำสัปดาห์นั้นให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์รายวันและไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอดสัปดาห์นั้น พร้อมบทวิเคราะห์ข่าวและสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ ต่างประเทศ ล่วงหน้าไม่ขาดตอน

เมื่อเป็นนิตยสารรายสัปดาห์พ่วงรายวันยังได้รับสรรพรสจากวรรณกรรมหลากหลาย ทั้งนวนิยายประเดิมเรื่องแรกผลงานกลั่นออกมาจากนักเขียนระดับมีผู้ติดตามทั้งประเทศมาแล้ว เสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้โด่งดังจากนวนิยายหลายเรื่อง โดยเฉพาะ “ปีศาจ” มาในแนวอิงประวัติศาสตร์ตอนปลายกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงธนบุรี “คนดีศรีอยุธยา”

มติชนสุดสัปดาห์คือเวทีวรรณกรรมที่สร้างความตื่นตัวให้นักเขียนขณะเหตุการณ์ทางการเมืองซบเซา ถูกคำสั่งด้วยวาจาให้ยุติงานเขียน ดังกรณีของนเรศ นโรปกรณ์ ศิวะ รณชิต เป็นต้น หรือกับนักเขียนรุ่นใหม่จากงานเขียนก้าวหน้า บทกวีนิพนธ์พ้นยุค “หาผัวหาเมีย” เข้าสู่ยุคกวีก้าวหน้าปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง จิตใจประชาธิปไตย ได้มีโอกาสนำเสนอแนวทางความคิดเห็นเปิดกว้างลงสู่สนามในหน้าหนังสือพิมพ์ “มติชนสุดสัปดาห์”

ส่วนของนวนิยาย บรรณาธิการ คือขรรค์ชัย บุนปาน ต้องสรรหานักเขียนในแนวทางนำเสนอความคิดเห็นด้วยสำนวนโวหารระดับดั้งเดิมผนวกสมัยใหม่ อาทิ เสนีย์ เสาวพงศ์ ติดตามด้วย ศิวะ รณชิต ในเรื่อง “ฝากไว้ในแผ่นดิน” ดังกล่าวไปแล้ว

 

ส่วนเวทีเรื่องสั้น นับแต่ประเดิมเริ่มแรกด้วยเรื่องสั้นของขรรค์ชัย บุนปาน “เวลาของความยุติธรรม” ฉบับต่อมาและต่อมา มีทั้งนักเขียนฝีมือดีรุ่นเก่าใช้นามปากกาใหม่ และนักเขียนเกิดใหม่ อาทิ “หยอย บางขุนพรหม” นักเขียนเรื่องล้อแห่งยุคสมัย

บังอาจล้อเรื่องนวนิยาย “ห้วงมหรรณพ” ของคึกฤทธิ์ ปราโมช ในชื่อ “ห้วยมหาเนี้ยบ” โปรยเรื่องด้วยบทกวีว่า “แม้เนื้อเย็นเป็นห้วยมหาเนี้ยบ พี่ขอเลี้ยบแชวับจนพับฐาน” โดย “แมลงผู้” แบ่งเป็นบทถึงบทที่ 3 ปฐมํ สตฺงคฺสลฺเดียว… ปฐมกาลมีอยู่สลึงเดียว และ ปฐมํ กลลํ โหติ ปฐมกาลมีแต่เซลล์เดียว บทที่ 4 ตัณหา ทำไมมนุษย์จึงต้องการเงิน? ไปถึงบทส่งท้าย

หรือเรื่องสั้นไม่เป็นเรื่อง ชื่อเวรบุรุษหนองติดยาโดยเจต ลำเพา นักเขียนผู้ผ่านชีวิตการเรียนมาสองสามสถาบัน ลงท้ายเป็นบัณฑิตภาคค่ำสื่อสารมวลชน จุฬาฯ คลุกคลีในวงการหนังสือมาพอสมควร

เรื่องสั้นของหนึ่งในกองบรรณาธิการมติชน ตำแหน่งบรรณาธิกร โอภาส เพ็งเจริญ ว่างเว้นจากการจัดหน้าหนังสือพิมพ์มาบรรจงบรรจุตัวอักษรเขย่าอารมณ์ ในชื่อ “พ่อ” เรื่องสั้นจากนักเขียนใช้นามปากกา “สุริยะ ชูเชิด” ในชื่อ “ก่อนวันนั้นจะมาถึง”

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ อยู่เฉยคงไม่ได้ เมื่อมีเวลาสักชั่วโมงสองชั่วโมง จึงฟื้นประสบการณ์ชีวิตคนกรุงเทพฯ โหนรถเมล์มาขยับเรื่องสั้นชีวิตและความคิด “ที่นี่! กรุงเทพ” เช่นเดียวกับกวีเมืองกาญจน์ แห่งวงวรรณกรรมธรรมศาสตร์ เขียนคอลัมน์เสร็จ ขยับเรื่องสั้น “ความทุกข์ของไอ้เที่ยง” สลับกับคอลัมน์ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ติดๆ มากับงานเรื่องสั้นจากบรรณาธิการข่าวรายวัน ไพสันต์ พรหมน้อย “หนเดียวไม่เพียงพอ”

จากนักเขียนามปากกา “พรสรรค์ พรรณเมธา” ในเรื่อง “แล้ง” หลายตอนจน แล้วมาถึงขรรค์ชัย บุนปาน อีกเรื่องหนึ่ง “รุ่น…” ติดตามด้วยนักเคลื่อนไหวสังคม คมสัน พงษ์สุธรรม จากเรื่อง “กลองปืด”

นามปากกา บุญฝาน ดงขวาง เป็นใคร เจ้าตัวเท่านั้นที่รู้จักตัวเอง ในชื่อเรื่อง “โรคระบาด”

แล้วอีกนามปากกาหนึ่ง “ชัดเจน ผ่องศรี” ด้วยเรื่อง “น้ำคำอาจารย์มหา” เป็นอย่างไร เจ้าตัวผู้เขียนคงลืมไปแล้ว

ใช่ว่าเริ่มเป็นนักเขียนเรื่องสั้นมาหลายปี ไม่มีเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ยุคเริ่มแรกได้อย่างไร นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ มาในเรื่อง “ความรับผิดชอบ”

กับนามปากกา สีสัน ควงตะคองหลง เขียน “แห่งลุ่มแม่น้ำมูล” นักเขียนที่ราบสูงรู้ได้จากชื่อเรื่อง

 

จากเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม 2523 เพียง 5 เดือน มีเรื่องสั้นกว่า 10 เรื่อง จากนักเขียนกว่า 10 คน ยังมีอีกหลายสิบเรื่องจากนักเขียนเรื่องสั้นที่นำเสนอมาหลายสนาม ทั้งนักเขียนใหม่เพิ่งจะลงพิมพ์ที่นี่เป็นแห่งแรก แต่ “มติชนสุดสัปดาห์” ไม่บังอาจเรียกตัวเองว่า “ตะกร้าสร้างนักเขียน” ซึ่งพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ใช้กับนักเขียนใหม่ที่ส่งวรรณกรรมและงานเขียนไปให้บรรณาธิการฟ้าเมืองไทยพิจารณา

หาก “มติชนสุดสัปดาห์” อยู่ในแวดวงนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ทั้งรุ่นเก่า รุ่นเดียวกัน รุ่นใหม่ เมื่อเป็นผู้ดำเนินการออกนิตยสารเอง ควรสนับสนุนนักเขียนไม่ว่าเป็นใคร ด้วยชีวิตจิตวิญญาณของนักเขียนเมื่อเขียนแล้วได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือเผยแพร่ไปถึงผู้อ่าน เพียงพอแล้ว

เพราะผู้อ่านคือกำลังใจที่สุดของคนเขียนหนังสือ