ถ้าคุณเป็นบริษัทน้ำดื่ม คุณอยากแข่งกับ “โคคา-โคลา” ต้องวางแผนยังไง ? | ธุรกิจพอดีคำ

“ไม่มีเหตุผล”

ถ้าคุณเป็นบริษัทน้ำดื่ม

คุณอยากจะทำน้ำอัดลมแบบใหม่

แข่งกับ “โคคา-โคลา”

น้ำหวาน สีดำ รสซาบซ่า ที่ครองใจคนทั้งโลก

แค่แย่งส่วนแบ่งการตลาดมาได้สักหน่อย

ก็คงจะรวยไม่น้อย

ถ้าใช้ “เหตุผล” เข้าสู้

เราคงจะต้องทำน้ำอัดลมที่รสชาติดี

ให้ปริมาณมากกว่า

และราคาถูกกว่า

ทำสิ่งเหล่านี้ได้

เราก็อาจจะมีโอกาสชนะ “โคคา-โคลา” ได้

ระหว่างที่พูดคุยกัน

มีน้องใหม่คนหนึ่งเอ่ยเสนอ

“ผมว่าเราน่าจะทำน้ำดื่มที่แพงกว่า ให้ปริมาณน้อยกว่า และรสชาติยอดแย่ครับ”

คุณจะรู้สึกอย่างไรกับความเห็นของน้องคนนี้

อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่โด่งดัง

“เทสลา”

เคยบอกเอาไว้

ถ้าเป็นไปได้ เขาไม่อยากกิน ไม่อยากนอน อยากจะทำงานตลอดเวลา

สำหรับเขาแล้ว การกิน การนอน เป็นการเสียเวลาชีวิต

กิน 3 มื้อ ครั้งละ 1 ชั่วโมง

นอนอีกวันละ 8 ชั่วโมง

วันหนึ่งเสียไปแล้ว 11 ชั่วโมง ที่คุณสามารถเอามาสร้างสรรค์งานได้

ถ้าใครที่มียาวิเศษได้

ทำให้เราอิ่มทิพย์ และไม่ต้องนอน

เขานี่แหละจะเป็นคนแรกที่พร้อมสนับสนุนให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

โลกก็จะเป็นสถานที่ที่ดีกว่าทุกวันนี้

จริงมั้ยครับ

ท่านๆ ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่เห็นด้วยมั้ย

ในโลกที่ทุกคนกินอาหารอัดเม็ด

กินแล้วได้พลังงานทันที

ไม่ต้องนอน ทำงานกันตลอดเวลา

โลกคงจะหมุนได้เร็วขึ้น

แต่เราอยากอยู่ในโลกใบนี้รึเปล่า

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

อุตสาหกรรมอาหารในยุค 1950 นั้น

มีการทำนายทายทักเอาไว้

คนที่จะชนะในเกมธุรกิจด้านอาหาร จะต้องทำให้คนกินอาหารได้สารอาหารครบถ้วนที่สุด ในเวลาที่เร็วที่สุด ย่อยง่าย แข็งแรง ต่างๆ นานา

มองผิวเผิน ก็พอเข้าใจได้ครับ

ลองนึกภาพ เราเดินเข้าห้างสรรพสินค้า แทนที่จะเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อหาวัตถุดิบมาทำอาหารกินกันที่บ้าน

คุณแค่เดินเข้าไปที่ร้านขายยาแห่งหนึ่ง สั่งอาหารอัดเม็ดแบบกินได้ทันทีแบบ “ยา”

กินแล้วแข็งแรง ไม่ต้องเสียเวลาทำอาหาร

หรือแม้แต่ “กินอาหาร”

อุตสาหกรรมที่แข่งกันด้วยความเร็วในการย่อยอาหารเป็นพลังงาน

ปริมาณสารอาหารที่กินได้ต่อครั้ง

ก็คงจะดีในแง่มุมของ “ผลิตผล” ของมนุษยชาติ

หากแต่ว่า อุตสาหกรรมอาหารวันนี้ กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น

เราใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ดื่มด่ำกับประสบการณ์การกินอาหารในร้านอาหารโปรด

รสชาติเป็นเรื่องสำคัญ บรรยากาศก็สำคัญ

ย่อยช้า ย่อยเร็ว สุขภาพดี สุขภาพแย่ เป็นเรื่องรองแทบไม่ได้นึกถึง

บ้างเสียเวลาหลายๆ ชั่วโมงทำอาหารกินเอง

อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง แต่พิสมัยกับการปรุงอาหาร

ยิ่งประสบการณ์ดี ยิ่งใช้เวลากับร้านอาหารเยอะ

และยิ่งสามารถอวดเพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียได้

ยิ่งมีคุณค่า ยิ่งแพง ราคาสูงก็ยอมจ่าย

อาหารคลีนที่ว่าดีต่อสุขภาพ ก็ยังเป็นตลาดเล็กๆ ที่รอการพัฒนา

การ “กินเพื่ออยู่” นั้น เป็นเพียงคำพูดสุภาษิตให้ท่องจำ

ไม่มีให้เห็นกันจริงสักเท่าไร

“อยู่เพื่อกิน” นี่สิ คือความสุขของชีวิตหลายๆ คน

เคยมีเรื่องเล่าว่า

ในยุคหนึ่ง อุตสาหกรรมการบินก็แข่งกันที่ “ความเร็ว”

เครื่องบินของฉันเร็วกว่า คนก็จะมาใช้บริการของฉันมากกว่า

หากแต่ว่าทุกวันนี้ เวลาคุณจะเลือกสายการบิน

คุณเลือกอย่างไร

นอกจากราคาแล้ว

คำตอบก็คือ “ประสบการณ์”

เราให้ความสำคัญกับประสบการณ์

สายการบินที่พยายามปรับปรุงให้เครื่องบินบินเร็วขึ้น

อาจจะต้องลงทุนมากมาย และอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ผู้โดยสารมากนัก

สายการบินที่สนใจเรื่องประสบการณ์ลูกค้า

ทุกวันนี้ก็คือผู้ชนะในตลาด ที่เห็นๆ กันอยู่ ค่อนข้างชัดเจน

จริงอยู่ ไม่มีธุรกิจใดที่ไม่ใช้ตรรกะ เหตุผลในการวางแผนธุรกิจ

แต่โจทย์ของลูกค้าหลายๆ ครั้ง

เป็นเรื่อง “อารมณ์ความรู้สึก” ที่นักธุรกิจก็มองข้ามไม่ได้เช่นกัน

นํ้าหวานรสชาติแย่ ขายแพง และให้น้อย

แต่แย่งส่วนแบ่งการตลาด “โคคา-โคลา” อย่างมีนัยสำคัญ

คือ “กระทิงแดง (Red Bull)” ที่โด่งดังไปทั่วโลก

ทำให้คนดื่มรู้สึกมีพลัง รู้สึกเท่ รู้สึกผจญภัย รู้สึกดีกับตัวเอง

ก็ขายได้ทั่วโลกเช่นกัน