แมลงวันในไร่ส้ม/ คืบหน้าข่าว ‘ถวายสัตย์’ บิ๊กตู่รับ ‘พระราชดำรัส’ ลุ้นต่อ-ผู้ตรวจส่ง ‘ศาล รธน.’

แมลงวันในไร่ส้ม

คืบหน้าข่าว ‘ถวายสัตย์’

บิ๊กตู่รับ ‘พระราชดำรัส’

ลุ้นต่อ-ผู้ตรวจส่ง ‘ศาล รธน.’

 

การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามข้อความที่ระบุในรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม กลายเป็นมรสุมใหญ่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา และชี้แจงว่า ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้อย่างไร ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เองประกาศขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว แต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ไม่มาตอบกระทู้ถามในการประชุมสภา ขณะที่ฝ่ายค้านประกาศว่า จะยื่นอภิปรายทั่วไป โดยไม่ต้องลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ

เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์มาชี้แจงเรื่องราวดังกล่าวด้วยตนเอง

ในการแถลงข่าวเมื่อ 16 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ส.ส. 214 คนจาก 7 พรรคฝ่ายค้าน ได้เข้าชื่อกัน เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ญัตติดังกล่าวสืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นำ ครม.เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วนด้วยถ้อยคำตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ อันเป็นแบบแผนและขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ เป็นการกระทำต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ผู้ใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทยผ่านทางรัฐสภา ครม. และศาล

ประธานวิปฝ่ายค้านชี้ว่า ข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ต่อประชาชนทั่วไป และ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยอมรับ แต่ยังไม่แก้ไขให้ถูกต้อง กลับเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดิน จึงเกิดปัญหาถึงความถูกต้องสมบูรณ์ของการแถลงนโยบายของ ครม.ต่อรัฐสภาเมื่อ 25-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา

อีกทั้งการแถลงนโยบายก็ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะใช้ดำเนินนโยบายไม่ละเอียดครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 อีกด้วย จึงขอเสนอเปิดอภิปรายทั่วไป

ทางด้านประธานสภาคือ นายชวนเผยว่า การเปิดอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 152 อาจมีขึ้นช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ หรืออย่างช้าที่สุดคือช่วงกลางเดือน เพราะปลายเดือนสิงหาคม สภาต้องงดประชุม 2 วัน เพื่อทำหน้าที่เจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน

 

ปัญหาเรื่องการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน กลายเป็นประเด็นที่พูดกันทั่วเมือง

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21-24 สิงหาคม 2562 กรณีฝ่ายค้านยื่นซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อถามว่าฝ่ายค้านมีเหตุผลเพียงพอต่อการยื่นซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ กรณีการถวายสัตย์หรือไม่ ร้อยละ 77.20 ระบุ มีเหตุผลเพียงพอ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนจริง ควรแก้ไขให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

ร้อยละ 22.80 ระบุ มีเหตุผลไม่เพียงพอ เพราะอยากให้สนใจเรื่องการบริหารบ้านเมือง การแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชนมากกว่า เป็นการจ้องจับผิด หาเรื่องรัฐบาล เสียเวลา ฯลฯ

และเมื่อถามว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ที่ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 66.72 ระบุ เห็นด้วย เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ นายกฯ ควรชี้แจงอย่างเป็นทางการ เป็นสิทธิของฝ่ายค้าน ฯลฯ

รองลงมา ร้อยละ 18.67 ระบุ ไม่เห็นด้วย เพราะอาจกลายเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้ง ไม่เกิดผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองให้แย่ลง ฯลฯ

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าเป็นเกมการเมืองหรือไม่ ร้อยละ 40.79 ระบุ เป็นเกมการเมือง เพราะต้องการสร้างกระแสทางการเมือง บีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เป็นการหาจุดอ่อนเพื่อโจมตีรัฐบาล อยากให้มีการเลือกนายกฯ ใหม่ ฯลฯ

รองลงมา ร้อยละ 34.97 ระบุ ไม่เป็นเกมการเมือง เมื่อนายกฯ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรเพิกเฉย การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเป็นเรื่องปกติทางการเมือง ฯลฯ

 

เช้าวันที่ 27 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์นำ ครม.เข้ารับพระราชทานพระราชดำรัส ในวาระเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์เมื่อ 16 กรกฎาคม พิธีจัดที่ทำเนียบรัฐบาล เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10

พล.อ.ประยุทธ์มีสีหน้าแช่มชื่นแจ่มใส

อย่างไรก็ตาม ในเช้าวันเดียวกันนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีการประชุมพิจารณากรณีผู้ร้องเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161

เวลา 11.55 น. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมว่า มีมติให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561

เพื่อให้วินิจฉัยว่าการที่นายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เป็นผู้ยื่นคำร้องหรือไม่

ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงมาว่า ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอน แต่รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ระบุ “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้…”

เมื่อนายกฯ กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย

รวมถึงมีปัญหาในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของนายภาณุพงศ์ในฐานะผู้ร้องเรียน เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนหรือโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 และมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ

ผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในช่วงบ่ายวันเดียวกัน คือวันที่ 27 สิงหาคม ส่วนรัฐบาลจะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนหรือไม่ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณา

หลังจากนี้เป็นต้นไป ข่าวสารประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปและความอยู่รอดของรัฐบาล จะมาจาก “ศาลรัฐธรรมนูญ”