ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ /I AM MOTHER ‘โลกาวินาศ’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

I AM MOTHER

‘โลกาวินาศ’

กำกับการแสดง Grant Sputore

นำแสดง Rose Byrne Clara Rugaad Hilary Swank

 

โดยผิวเผิน I Am Mother เป็นหนังแบบ Horror/Thriller ที่มีท้องเรื่องเป็นอนาคตกาลหลังจากเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่นำไปสู่มหาโลกาวินาศ ซึ่งมนุษยชาติสูญสิ้นไปจากโลกใบนี้แล้ว

ทิ้งไว้แต่ “สติปัญญาเทียม” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” กับตัวอ่อนของมนุษย์นับร้อยที่แช่แข็งไว้ เพื่อให้นำออกมาเพาะพันธุ์ให้เติบโตขึ้นมาเป็นประชากรใหม่ของโลกที่สะอาดหมดจดแล้ว

เหมือนการล้างไพ่ในมือ แล้วแจกไพ่ใหม่ แบบที่เลือกได้ว่าอยากให้ไพ่ในมือสวยงามไม่มีที่ติอย่างไร

หุ่นยนต์ที่ถูกเรียกว่า “แม่” เป็นสติปัญญาเทียมที่มนุษยชาติรุ่นเดิมสร้างทิ้งไว้โดยมอบหมายภารกิจ “การสร้างประชากรใหม่” สำหรับอยู่อาศัยในโลกต่อไป

แต่ลึกลงไปเบื้องหลังความเป็นหนังระทึกขวัญ ที่เล่าเรื่องราวของเด็กสาวที่โตขึ้นมาจากการถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนจากหุ่นยนต์แม่

นี่เป็นหนังที่แฝงความคิดดีๆ ไว้มากมาย และเป็นหนังที่ “ฉลาด” กว่าพล็อตเรื่องพื้นผิว

 

ขอเตือนว่าต่อไปนี้อาจมีข้อความที่เป็นสปอยเลอร์แล้วนะคะ เพราะเป็นการยากที่จะเลี่ยงที่จะไม่เอ่ยถึงจุดสำคัญบางข้อของเนื้อหา เนื่องจากเป็นหนังที่มีเนื้อหาพลิกกลับ ทำให้เราไม่แน่ใจว่าใครเป็นตัวดี ใครเป็นตัวร้าย และเรื่องราวในระดับมหภาคเป็นมาเป็นไปอย่างไร

ถ้าใครคิดจะดูหนังโดยคงความสนุกระทึกใจของการดูเป็นหนแรกโดยเดาไม่ถูกว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ก็เลิกอ่านเสียตอนนี้เลยนะคะ

แต่ถ้าไม่ให้พูดถึงจุดสำคัญที่เป็นหัวใจของเรื่องเสียเลย ก็เห็นจะหมดเรื่องพูดกันแล้วละค่ะ

เอาละค่ะ บอกอีกครั้งว่าต่อไปนี้คือสปอยเลอร์

 

เราเห็น “ลูกสาว” (คลารา รูกาด) เติบโตและพัฒนาขึ้นจากตัวอ่อนในหลอดแก้ว ตั้งแต่วันที่นับตัวเลขไปถึง 13,867 วันหลังจากเหตุการณ์วันสิ้นโลก นั่นหมายความว่า 38 ปีผ่านไปนับตั้งแต่หลุมหลบภัยใต้ดินที่มนุษย์สร้างทิ้งไว้ เริ่มเดินเครื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์

เราติดตามเรื่องไปกับการเติบโตและพัฒนาการของ “ลูกสาว” ที่ไม่มีชื่อเรียกขานคนนี้

“แม่” เป็นหุ่นยนต์แอนดรอยด์ทั้งแท่ง ทำจากเหล็กหรือไททาเนียมเย็นเยียบที่ไม่มีความอ่อนนุ่มของสัมผัสให้แก่ทารกและเด็กน้อย ทว่า แม่ก็เลี้ยงดูลูกขึ้นมาอย่างเอาใจใส่ ให้การศึกษา สอนศิลปะ อบรมจริยธรรม รวมทั้งเปิดวิดีโอเก่าๆ ที่เป็นรายการจากโลกใบเดิมที่เคยมีเคยเป็น

เราเห็นลูกสาวดูรายการ “ทูไนต์ส โชว์” ที่มีจอห์นนี่ คาร์สัน เป็นพิธีกรรายการ สัมภาษณ์คนเด่นคนดังในสังคม

แต่ลูกสาวก็โตขึ้นอย่างเหงาหงอยจากความเป็นมนุษย์คนเดียวในโลกแคบๆ ที่ถูกห้ามไม่ให้ออกไปสูดอากาศภายนอก ที่แม่บอกว่าอากาศยังเป็นพิษอยู่จนมนุษย์ไม่สามารถสูดหายใจเข้าไปได้

เมื่อลูกสาวถามว่าทำไมเธอจึงไม่มีพี่น้องโตขึ้นมาเป็นเพื่อนเลย แม่ตอบว่า “แม่ต้องการเวลาที่จะเรียนรู้การเลี้ยงดูลูกเสียก่อน”

คำตอบนี้เป็นเงื่อนงำอย่างหนึ่งสำหรับชื่อหนัง ซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้วเราจะได้เข้าถึงความหมายที่แท้จริงของชื่อเรื่องที่ว่า “ฉันคือแม่” นั้น “ฉัน” คือใคร

 

การศึกษาอบรมของ “ลูกสาว” กำลังจะมีการสอบครั้งใหญ่ และหัวข้อของการสอบนั้นเป็นเรื่องเชิงจริยธรรม ในทำนองการให้ทางเลือกในหัวข้อทีเลือกยาก ว่าในฐานะแพทย์ที่ช่วยชีวิตมนุษย์ได้ จะเลือกช่วยใคร การตัดสินใจจะเป็นไปในเชิงคุณภาพหรือเชิงปริมาณ เป็นต้น

แต่ก่อนการสอบ ก็เกิดเหตุไฟฟ้าดับ และขณะที่ไปสับสวิตช์เดินวงจรใหม่ ลูกสาวก็เผอิญไปเจอหนูตัวเล็กตัวหนึ่งวิ่งปราดอยู่ที่พื้น

เป็นสิ่งมีชีวิตสิ่งแรกที่เธอเคยพบเห็นในชีวิตสิบปีเศษที่ผ่านมา

ก็ถ้าหนู (ซึ่งเป็นสัตว์ทดลองในห้องแล็บ) ยังมีชีวิตอยู่ได้ ก็อาจเป็นได้ว่าสภาพอากาศเป็นพิษอาจลดลงสู่ระดับปกติที่สัตว์โลกสามารถหายใจและใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศภายนอกของโลกได้แล้ว

และยังไม่ทันไร ลูกสาวก็ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากภายนอกหลุมหลบภัย บอกว่าเธอโดนยิงและขอเข้ามาอยู่ในที่ปลอดภัย

“ผู้หญิง” (ฮิลารี สแวงก์) ที่เธอเปิดให้เข้ามา โดยขอให้สวมชุดป้องกันอากาศพิษไว้ก่อนนั้น ท่าทางไม่เป็นมิตร และระแวงไปหมด จากการโดนยิงที่ท้องและอาการบาดเจ็บออกจะสาหัสอยู่

ลูกสาวตรวจดูเป้ที่เธอนำติดตัวเข้ามาด้วย และพบปืนพกกระบอกเล็กๆ อยู่ในนั้นด้วย ลูกสาวจึงยึดเอาปืนมาเก็บไว้

และเมื่อยังไม่แน่ใจกับสถานการณ์ว่า “แม่” จะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับเรื่องนี้ เธอจึงพา “ผู้หญิง” ไปหลบซ่อนตัวไว้ก่อน

แต่แม่ก็เข้ามาพบจนได้ และพยายามจัดการดูแลผู้หญิงคนนั้นด้วยการให้การรักษาแผลถูกยิง ซึ่งผู้หญิงไม่ไว้ใจหุ่นยนต์หน้าไหนทั้งสิ้น เพราะเธอโดนหุ่นยนต์ที่อยู่นอกหลุมหลบภัยนี้ยิงถึงขั้นปางตาย

ลูกสาวจึงต้องเป็นคนทำการผ่าตัดให้ โดยที่หุ่นยนต์ “แม่” สอนวิธีให้

ลูกสาวประสบความสำเร็จอย่างดีในการผ่าตัดเอาลูกกระสุนที่ฝังอยู่ออก

 

ความระแวงของผู้หญิงยังไม่เสื่อมคลาย เธอกล่าวหาว่าหุ่นยนต์ทุกตัวชั่วร้ายหมด และเพาะความระแวงลงในใจของลูกสาว จนนำไปสู่การค้นหาหลักฐานพิสูจน์ว่าใครเป็นฝ่ายพูดความจริงกันแน่

ซึ่งนำไปสู่การค้นพบอันน่าสยดสยอง คือพบชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์ที่ถูกเผาเป็นเถ้าถ่านอยู่ในเตาเผา

รวมทั้งการสอบครั้งสำคัญที่ลูกสาวสอบผ่าน โดยคอมพิวเตอร์บันทึกว่าเป็นการสอบของ APX03 ซึ่งเป็นเลขประจำตัวของเธอ

นั่นย่อมหมายความว่า มี APX01 และ APX02 มาก่อนหน้าเธอแล้ว

เมื่อเธอสอบผ่าน แม่ก็ให้รางวัลด้วยการอนุญาตให้เธอไปเลือกตัวอ่อนมาเพาะพันธุ์ให้โตมาเป็นน้องชายของเธอได้แล้ว

นี่เป็นปมประเด็นอีกจุดหนึ่งสำหรับการพัฒนาเรื่องราวของหนังไซไฟในโลกอนาคตเรื่องนี้

 

ฝีมือการวาดลายเส้นเป็นภาพเหมือนของบุคคลบนหน้าหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มเล็กๆ ที่ติดตัวมากับ “ผู้หญิง” ก็เป็นสิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวที่แฝงอยู่เบื้องหลังได้ดี

“ผู้หญิง” มีฝีมือเชิงศิลปะในการเขียนภาพเหมือน

“ลูกสาว” กีได้รับการสอนศิลปะแขนงหนึ่งให้เชี่ยวชาญเหมือนกัน คือ การเต้นบัลเล่ต์

ความละม้ายคล้ายคลึงในรูปลักษณ์ผมเผ้าของทั้งสอง เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกให้เรารู้ถึงโยงใยบางอย่าง

ซึ่งจะมาเฉลยเอาในตอนใกล้จบ หลังจากเรื่องพลิกกลับไปกลับมาหลายตลบ และเราเดาแทบไม่ออกว่าเรื่องจะพลิกผันไปในลักษณะไหน

การณ์กลับเป็นว่ามีแผนการระดับมหภาคที่กำหนดหรือลิขิตเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว รอคอยอยู่เพียงว่ามนุษย์คนไหนจะพิสูจน์คุณค่าของตัวเองว่าเป็นอย่างไร

เหมาะสมหรือไม่ที่จะเป็นปฐมบรรพบุรุษของมนุษยชาติรุ่นใหม่ที่จะอยู่อาศัยและครอบครองโลกใบนี้ต่อไปด้วยสติปัญญาอันสั่งสมมาแต่อดีต รวมทั้งสำนึกและคุณธรรมอันทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์

ไม่ใช่เพียงหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว

ตอนจบของหนังทำให้อึ้งไปเลยค่ะ

และน่าจะเป็นปฐมภาคของหนังไตรภาคอีกชุดละกระมัง

มีความคิดและเรื่องราวดีๆ แฝงอยู่ในหนังที่ดูอย่างผิวเผินเหมือนจะเป็นหนังแอ๊กชั่น-ทริลเลอร์ทั่วๆ ไป

แถมยังได้ลับสมองประลองปัญญาจากการเก็บเล็กผสมน้อย จับเอาเรื่องราวมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันให้กลายเป็นภาพที่สมบูรณ์ด้วยค่ะ