สุจิตต์ วงษ์เทศ /กลองมโหระทึก ในศาสนาผี ไม่มีวิญญาณและโลกหน้า

กลอง 2 เล่ม จากกรมศิลปากร ขุมคลังข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกลองมโหระทึก มีเหลือคณานับคับคั่งรวมอยู่ในหนังสือของกรมศิลปากร 2 เล่ม คือ (1) กลองมโหระทึกในประเทศไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546 และ (2) ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กรณีศึกษากลองมโหระทึก พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562 ผมได้รับอภินันทนาการจากความกรุณาของผู้บริหารท่านหนึ่งในกรมศิลปากร เมื่ออ่านจบทั้งสองเล่มเต็มอิ่มอกใจ จึงเขียนความคิดต่างมาเล่าสู่กันอ่านตรงนี้เพื่อทดแทนพระคุณ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

กลองมโหระทึก ในศาสนาผี

ไม่มีวิญญาณและโลกหน้า

 

กลองมโหระทึกเป็นที่รู้จักในไทยทุกวันนี้

หมายถึงเครื่องประโคมตีทำด้วยโลหะในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์หลายพันปีมาแล้วของภูมิภาคอุษาคเนย์

 

พิธีกรรมหลังความตาย

 

หน้าที่อย่างหนึ่งซึ่งสำคัญยิ่งของกลองมโหระทึก เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหลังความตาย เพราะพบถูกฝังรวมในหลุมศพ บางทีพบว่าใช้บรรจุกระดูกคนตายแล้วฝังดิน

ดังนั้น บรรดานักปราชญ์, นักค้นคว้า และนักวิชาการสมัยก่อนๆ เลยนิยามและอธิบายด้วยแนวคิดเกี่ยวกับวิญญาณและโลกหน้า (หรือ ปรโลก) ตามความเชื่อทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ต่อจากนั้นนักค้นคว้าและนักวิชาการรุ่นหลังล้วนคล้อยตามจนถึงทุกวันนี้

แต่กลองมโหระทึกเป็นเครื่องมือมีอายุเก่าแก่หลายพันปีมาแล้ว ก่อนติดต่ออินเดีย และก่อนเลือกรับศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทำให้สงสัยจะผิดฝาผิดตัวถ้านิยามและอธิบายตามแนวคิดเกี่ยวกับวิญญาณและโลกหน้า

 

ขวัญ ในศาสนาผี

 

กลองมโหระทึกเป็นเครื่องมือโลหะเรียกสำริด ใช้ประโคมตีในพิธีกรรมทางศาสนาผีของคนพื้นเมืองดั้งเดิมอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว

โดยเฉพาะพิธีกรรมหลังความตายซึ่งเกี่ยวข้องกับขวัญที่มีในมนุษย์, สัตว์, สิ่งของ, สถานที่

ขวัญเป็นความเชื่อในศาสนาผีของคนอุษาคเนย์ทุกชาติพันธุ์หลายพันปีมาแล้ว (ก่อนรู้จักศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย) โดยเกี่ยวข้องกับมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนและหลังความตาย

พิธีกรรมทุกอย่างที่มนุษย์ร่วมกันสร้างขึ้น ต้องเริ่มด้วยทำขวัญ โดยมีมโหระทึกประโคมตีตั้งแต่ต้นจนจบตลอดพิธีกรรม

[ตกทอดสืบเนื่องจากกลองมโหระทึกถึงปัจจุบัน ได้แก่ ฆ้องขนาดใหญ่ เรียกฆ้องหุ่ย ใช้ตีในพิธีทำขวัญ]

ปัญหาทุกวันนี้ได้แก่ความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับขวัญ ถูกทำให้กลืนกลายเข้ากับวิญญาณจนไม่เหลือร่องรอยของขวัญอีกแล้ว ในที่สุดก็ลืมหมด

ขวัญ หมายถึงส่วนไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วยจำนวนหนึ่งซึ่งสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของมนุษย์, สัตว์, สิ่งของ, สถานที่

มนุษย์มีขวัญอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจำนวนหลายสิบตามความเชื่อของกลุ่มนั้นๆ แต่ขวัญสำคัญที่สุดอยู่กลางกระหม่อม เรียกจอมขวัญ แล้วเชื่อว่ามีขวัญจึงมีชีวิต คนตายเพราะขวัญหายออกจากร่าง ถ้าเรียกขวัญคืนร่างคนก็ฟื้น

ดังนั้น เมื่อมีคนตายเป็นบุคคลสำคัญ ได้แก่ หัวหน้าเผ่าพันธุ์ จึงมีพิธีเรียกขวัญสู่ขวัญด้วยการละเล่นอึกทึกครึกโครมให้ขวัญคืนร่าง ถ้าไม่คืนร่างก็ถูกเรียกผีขวัญ ต้องมีพิธีส่งผีขวัญไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับผีขวัญบรรพชนบนฟ้า (ซึ่งถูกเรียกสมัยหลังว่าแถนหรือผีฟ้า)

[ชุมชนลุ่มน้ำโขงเรียกกิจกรรมหลังความตายเหล่านี้ว่า “งันเฮือนดี” เป็นต้นทางมหรสพงานศพทุกวันนี้ เช่น โขน, ละคร, หนังใหญ่, ลิเก, ภาพยนตร์, ดนตรี ฯลฯ]

 

รูปร่างขวัญ

 

ขวัญไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่คนรู้ว่าสิงสู่อยู่บริเวณโคนเส้นผมขึ้นชนกันเป็นวงเหมือนก้นหอย ตรงกลางกระหม่อมบนหัวกบาลของคน เรียกจอมขวัญ

เลยเชื่อกันว่าถ้าทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มีลักษณะเป็นวงหรือขดเหมือนก้นหอย เท่ากับมีขวัญสิงสู่อยู่ตรงนั้น หมายถึง เฮี้ยน ย่อมบังเกิดสิ่งดีที่คอยคุ้มครองป้องกันพ้นจากสิ่งไม่ดี

ดังนั้น เครื่องมือเครื่องใช้เลยต้องมีขวัญสิงอยู่ในนั้น โดยทำลวดลายคล้ายวงก้นหอยจำลองขวัญในรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น ปุ่มนูนมีแฉกล้อมหลายแฉกบนหน้ากลองมโหระทึก, ลายก้นหอยคล้ายลายนิ้วมือบนหม้อเขียนสีที่บ้านเชียง เป็นต้น

 

ปุ่มนูนมีแฉกล้อม คือ ขวัญ

 

กลางหน้ากลองมโหระทึกทำปุ่มนูนล้อมด้วยแฉกมีหลายแฉก เป็นรูปขวัญซึ่งจำลองจากจอมขวัญบนหัวของคน ที่บริเวณโคนของเส้นผมขึ้นเป็นวงเหมือนขดก้นหอยอยู่กลางกระหม่อม

เมื่อประโคมตีมีเสียงดังกังวานไกลออกไป ด้วยจงใจให้เสมือนเสียงเรียกขวัญ (สู่ขวัญ) คืนร่างเดิมคนตายจะได้ฟื้นเป็นปกติ

ตรงปุ่มนูนไม่ใช่ตำแหน่งใช้ไม้ตีตามที่เข้าใจกันทั่วไป เพราะเมื่อต้องการให้มีเสียงกังวานต้องตีบนพื้นที่ว่างระหว่างปุ่มนูนกับขอบ

นักโบราณคดีชาวยุโรปสมัยก่อนและนักโบราณคดีไทยสมัยนี้ มีนิยามว่ารัศมีแฉกๆ เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, ดวงดาว เป็นต้น ล้วนเป็นความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหมที่ได้จากโลกตะวันตกเมื่อไม่นานมานี้ จึงไม่น่าจะตรงความหมายดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้ว

 

นก

 

รอบหน้ากลองมโหระทึกมีรูปนกจากจินตนาการของคนเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว

เป็นนกศักดิ์สิทธิ์ ปากยาว, คอยาว, ขายาว, ทำท่าบินพาผีขวัญของคนตายขึ้นฟ้าไปสิงสู่อยู่รวมเป็นหนึ่งเดียวกับผีขวัญบรรพชนจำนวนมากจนนับไม่ได้ที่รวมพลังอยู่ก่อนซึ่งถูกเรียกต่อมาว่าแถน หรือผีฟ้า

 

เรือ

 

ด้านข้างกลองมโหระทึกบางใบมีรูปเรือจากจินตนาการของคนเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว

เป็นพาหนะส่งผีขวัญข้ามห้วงน้ำที่คั่นระหว่างดินกับฟ้า เพื่อขึ้นฟ้า

 

กลองทองมโหระทึก

 

“มโหระทึก” คำนี้พบในเอกสารโบราณ ต่อมานักปราชญ์ของไทยเคยสอบค้นหารากของคำและความหมายแท้จริง แต่ยังไม่พบตรงๆ จึงเป็นปัญหาคาราคาซังยังหาข้อยุติไม่ได้จนทุกวันนี้

ไมเคิล ไรท์ (ฝรั่งคลั่งสยาม) เคยเขียนลงในศิลปวัฒนธรรม (รายเดือน) หลายสิบปีมาแล้วว่ามโหระทึกเป็นชื่อเรียกเครื่องประโคมจากวัฒนธรรมอื่น (ซึ่งยังไม่รู้ว่าอะไร?) แต่ไม่ใช่กลองสำริดของอุษาคเนย์

“กลองทอง” เป็นชื่อเรียกกลองสำริดโดยคนหลายกลุ่มในตระกูลไต-ไทที่อยู่ทางใต้ของจีน เหตุเพราะเรียกโลหะผสมซึ่งมีทองแดงอยู่ด้วยอย่างรวมๆ ว่าทอง ถ้าจะเรียกให้ครอบคลุมก็ได้ว่า “กลองทองมโหระทึก”

จะเรียกกลองมโหระทึกหรือกลองทองก็ตาม แต่เครื่องมืออย่างนี้ทำจากโลหะ ถ้าแยกออกเฉพาะส่วนหน้าและขอบกลองจะถูกเรียกอย่างปัจจุบันว่าฆ้อง (ไม่เรียกกลอง) เมื่อตีก็มีเสียงดังกังวานทุกประการเหมือนกลองมโหระทึก บางชุมชนใช้ฆ้องตีแทนกลองมโหระทึก

ลายรูปขวัญบนหม้อบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว จำลองจากจอมขวัญกลางกระหม่อมบนกบาลของมนุษย์ ที่มีโคนเส้นผมขึ้นชนกันเป็นวงเหมือนก้นหอยหรือลายนิ้วมือ บางใบมีลายรูปขวัญล้อมด้วยแฉกหลายแฉกเช่นเดียวกับหน้ากลองมโหระทึก