ทำไมไอน์สไตน์จึงพูดว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”

ว่ากันว่าประโยคสุดคมจนบาดลึกเข้าไปในใจใครต่อใครประโยคนี้ หลุดออกมาจากปากของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์ผู้ประดิษฐ์สูตร E=mc2 จนทำให้คนอีกหลายๆ พันล้านคนเอาไปใช้อ้างอิงกันอย่างเอิกเกริก ในฐานะที่บุคคลที่ปราดเปรื่องที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกบ้วนคำนี้ออกมาให้ใช้กัน

แต่ไอน์สไตน์พูดไว้เมื่อไหร่? พูดไว้ที่ไหน? ในบริบทอะไร? มีเงื่อนไขอื่นๆ หรือไม่? และไอน์สไตน์คิดอย่างนั้นจริงๆ หรือ?

ผมพอจะมีคำตอบให้บ้างบางคำถามนะครับ

 

“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เป็นประโยคหนึ่งที่อยู่ในบทสัมภาษณ์ของไอน์สไตน์ ที่ชื่อ What Life Means to Einstein : An Interview by George Sylvester Viereck

(อาจแปลไทยง่ายๆ ว่า ชีวิตคืออะไร? สำหรับไอน์สไตน์ บทสัมภาษณ์โดยจอร์จ ซิลเวสเตอร์ วีเร็ค)

ในวารสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ Saturday Evening Post ฉบับประจำวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1929

เนื้อความเฉพาะช่วงที่กล่าวถึงประโยคดังกล่าวมีดังนี้

“I believe in intuitions and inspirations. I sometimes feel that I am right. I do not know that I am. When two expeditions of scientists, financed by the Royal Academy, went forth to test my theory of relativity, I was convinced that their conclusions would tally with my hypothesis. I was not surprised when the eclipse of May 29, 1919, confirmed my intuitions. I would have been surprised if I had been wrong. Then you trust more to your imagination than to your knowledge? I am enough of the artist to draw freely upon my imagination. Imagination is more important than knowledge. Knowledge is limited. Imagination encircles the world.”

แปลเป็นไทยได้ว่า

“ผมเชื่อในสหัชญาณ (คือการหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นในใจ) และแรงบันดาลใจทั้งหลาย บางครั้งผมรู้สึกว่ามันใช่ ผมไม่รู้หรอกว่ามันใช่อย่างไร เมื่อคราวที่ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เดินทางไปทดสอบทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของผม ด้วยทุนสนับสนุนจากรอแยล อคาเดมี ผมมั่นใจว่าข้อสรุปของพวกเขาจะช่วยยืนยันสมมติฐานของผม ผมไม่ได้ประหลาดใจอะไรเลยเมื่อ (สุริย) คราส ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.1919 จะยืนยันถึงสหัชญาณของผมเอง ผมจะแปลกใจก็ต่อเมื่อผมเป็นฝ่ายผิดต่างหาก แล้วตอนนี้คุณเชื่อใจในจินตนาการของตัวเองมากกว่าความรู้ที่คุณมีบ้างหรือยัง? ผมมีความเป็นศิลปินมากพอที่จะแต่งแต้มอะไรลงไปในจินตนาการของผมอย่างอิสระ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ความรู้มีข้อจำกัด จินตนาการเป็นสิ่งที่หมุนโลก”

เรื่องสุริยคราสที่ไอน์สไตน์พูดถึง คือการพยายามพิสูจน์ทฤษฎีของเขาเอง ไอน์สไตน์เชื่อว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง (เพราะอวกาศมีขอบข่ายเป็นเส้นโค้ง) พูดง่ายๆ ว่า หากเราทดลองเอาไฟฉายส่องขึ้นสู่ท้องฟ้าจากสนามหน้าบ้านของเราเอง อีกหลายสิบปีต่อมาแสงจากไฟฉายอันเดียวกันนั้นอาจจะเดินทางย้อนกลับมาเยี่ยมสนามหน้าบ้านเราอีกครั้ง

ณ ห้วงขณะจิตนั้น นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกยังคงเชื่อว่า แสงเดินทางเป็นเส้นตรง พวกเขาจึงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จนต้องพากันไปทดสอบทฤษฎีของไอน์สไตน์ และนั่นเป็นที่มาของคณะเดินทางทดสอบทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปทั้งสองครั้งที่ไอน์สไตน์กล่าวถึง

วิธีการที่พวกเขาใช้ในการตรวจสอบก็คือ การถ่ายภาพสุริยคราส เพราะโดยปกติแสงอาทิตย์มีความเข้มข้นสูง เราจึงไม่สามารถเห็นหรือถ่ายภาพแสงเดินทางผ่านดาวดวงต่างๆ ได้

แต่เมื่อดวงจันทร์โคจรมาบดบังพระอาทิตย์ไม่ให้แสงส่องมายังโลก การมองและถ่ายภาพการเดินทางของแสงก็กลับกลายเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้นั่นเอง

ในปี ค.ศ.1914 คณะนักวิทยาศาสตร์พากันคำนวณและพบว่าจะเกิดสุริยคราสที่รัสเซีย คณะนักวิทยาศาสตร์เยอรมันพากันเอากล้องถ่ายรูปไปติดตั้งไว้ในจุดที่คำนวณแล้วว่าจะเกิดคราส

น่าเสียดายที่สงครามโลกครั้งที่ 1 อุบัติขึ้นมาเสียก่อน

 

ไอน์สไตน์ต้องทนรอเวลาทดสอบทฤษฎีของเขาอีกนานถึง 5 ปีเศษ กว่าจะเกิดสุริยคราสเต็มดวงขึ้นอีกครั้งเมื่อโลกเดินทางมาถึง ค.ศ.1919 ในครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ติดตั้งกล้องจำนวนมหาศาลไว้ที่สองมุมโลก มุมหนึ่งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้

ส่วนอีกมุมหนึ่งอยู่บนเกาะทางชายฝั่งด้านทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกา

โดยที่ต้องลงทุนขนาดนี้เพราะบรรดานักวิทยาศาสตร์เกรงว่า จะมีเมฆพัดมาปกคลุมจนถ่ายภาพได้เห็นไม่ชัดเจนพอ จึงเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้สองที่

วันที่ 7 พฤศจิกายน ในปีเดียวกันนั้นเอง มีผลประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง ไอน์สไตน์ได้รับการชูมือว่าเป็นฝ่ายชนะ และนี่คือสหัชญาณที่ไอน์สไตน์เชื่อ

นี่คือจินตนาการที่ไอน์สไตน์หมายถึง

สหัชญาณที่ก่อตัวขึ้นในใจของไอน์สไตน์เกิดขึ้นจากความรู้จำนวนมหาศาลที่เขาสะสมอยู่ในตัว จินตนาการของไอน์สไตน์ หมายถึงความกล้าที่จะคิดหลุดออกมาจากกรอบเดิมๆ เมื่อมีหลักฐาน ข้อเท็จจริง และเหตุผลรองรับที่เพียงพอ ไม่ใช่การเพ้อฝันไปโดยขาดหลักการและเหตุผล

 

ประโยคสุดคมอย่าง “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ของไอน์สไตน์ถูกตัดทอน เชื่อมประโยคใหม่ และอีกสารพัดจากการอ้างอิงถึงบทสัมภาษณ์เดียวกันนี้ มาตั้งแต่สมัยเมื่อเกือบร้อยปีก่อนแล้ว และท้ายที่สุดเราก็รู้จักกันแต่ประโยคนี้เพียงประโยคเดียว

ในเมื่อเรากำลังอยู่ในยุคที่ “จินตนาการ” สำคัญกว่า “ข้อเท็จจริง”

และเราจะอยู่อย่างไรกันครับ ในสังคมที่จินตนาการ สำคัญกว่าขอเท็จจริง หรือตรรกะเหตุผล ในสังคมที่ผู้คนไม่สนใจขอเท็จจริงเท่าสิ่งที่ตัวเองอยากจะเชื่อ ในสังคมที่ผู้คนไม่สนใจจะใช้ทั้งข้อเท็จจริง และความรู้ในการคิดวิเคราะห์ เพื่อเสริมสร้างจินตนาการอย่างที่ถูก และที่ควรจะเป็น?