วิรัตน์ แสงทองคำ : การลงทุนแบบสิงคโปร์

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ความเคลื่อนไหวเครือข่ายธุรกิจสิงคโปร์ในประเทศไทย เกี่ยวเนื่องกับกรณีหนึ่ง ซึ่งได้รับความสนใจอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

เรื่องราวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสและปรากฏการณ์นักลงทุนต่างชาติ เทขายหุ้นครั้งใหญ่รอบใหม่ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ตามมาด้วยข่าวหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจ การขายหุ้นบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (ชื่อย่อในตลาดหุ้น-INTUCH) จำนวนมาก มูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท

ว่ากันว่าเป็นการขายหุ้นล็อตใหญ่ที่สุดในช่วงนี้เลยทีเดียว

ตามรายงานซึ่งแจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. (เมื่อ 16 สิงหาคม 2562) อ้างถึงผู้ถือหุ้น 2 ราย คือ บริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ และ Anderson Investment Pte. Ltd. (เมื่อ 15 สิงหาคม 2562) ได้ขายหุ้น INTUCH รวมกัน 8.02% อีกไม่กี่วันถัดมา (19 สิงหาคม 2562) INTUCH ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เจาะจงว่า Singtel Global Investment Pte. Ltd. ยังคงถือหุ้นเช่นเดิมในสัดส่วน 21%

ส่วน Anderson Investment Pte. Ltd. ลดลงจาก 15.90% เหลือ 9.99% ขณะบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ แต่เดิมมีอยู่ 2.11% ไม่มีหุ้นเหลืออยู่

ผู้คนฟันธงกันทันทีว่า เป็นการขยายหุ้นของ Temasek แห่งสิงคโปร์ ด้วยบทสรุปที่ว่าภายหลังดีลข้างต้น ทำให้ Temasek ถือหุ้นใน INTUCH ลดลงเหลือ 9.99 % จากเดิมถือ 18.01%

จะว่าเช่นนั้นคงไม่ผิด พิจารณาข้อมูลทางการจาก Temasek เอง (https://www.temasek.com.sg) ระบุไว้เมื่อ (ข้อมูล ณ 31 มีนาคม 2562) อย่างสอดคล้องกัน Temasek ตั้งใจแสดงข้อมูลการถือหุ้นกิจการในเมืองไทยซึ่งมีเพียงรายเดียวเท่านั้น คือ Intouch Holdings Public Company Limited ในสัดส่วน 18%

ว่าไปแล้ว เป็นความเคลื่อนไหวอันเป็นปกติของหน่วยงานลงทุน มีผลช่วงสั้นๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องราวครึกโครมอย่างมากๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว

 

“กรุงเทพฯ / 23 มกราคม 2549 – บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด (“เทมาเส็ก”) ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) และกลุ่มนักลงทุนไทยในนามของบริษัทกุหลาบแก้วได้บรรลุข้อตกลงกับตระกูลชินวัตรและตระกูลดามาพงศ์ในการซื้อหุ้นของทั้งสองตระกูลในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“ชิน”) จำนวน 1,487.7 ล้านหุ้น หรือ 49.6% ของหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73.3 พันล้านบาท” ถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการอันคลาสสิคในเวลานั้น

บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น ขณะนั้นเป็นฐานเครือข่ายธุรกิจอันน่าเกรงขาม เชื่อมโยงกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้อื้อฉาว ผู้ถูกอ้างอิงอยู่เสมอในสังคมไทย ต่อมาไม่นาน (มีนาคม 2557) ตั้งใจเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ Intouch Holdings Public Company Limited

เป็นไปตามกระแสธุรกิจสื่อสารระดับโลก กับความพยายามแสวงหาโอกาสขยายเครือข่ายธุรกิจให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่กำลังเติบโต ดีลนี้เป้าหมายสำคัญอยู่ที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (คำย่อตลาดหุ้น-ADVANC เครื่องหมายการค้า AIS) เป็นเจ้าของเครือข่ายธุรกิจไร้สายรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ข้อมูลอย่างเป็นทางการปัจจุบัน ADVANC (21 กุมภาพันธ์ 2562) ระบุว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 2 รายคือบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด 40.45% และ Singtel Strategic Investments 23.32% เท่าที่ติดตามมาตอลด ถือว่าเป็นข้อมูลที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักตั้งแต่ต้น

ภาพนั้นโฟกัสมายัง Singtel เครือข่ายธุรกิจสื่อสารระดับภูมิภาค แห่งสิงคโปร์

Singtel ยังคงบทบาทอย่างมั่นคงในประเทศไทย ข้อมูลทางการล่าสุดเช่นกัน ระบุว่า AIS มีฐานะเป็นบริษัทร่วม (Associated company) Singtel ถือว่าเป็นหนึ่งในเครือข่ายที่เรียกว่า Regional Associates โดย Singtel ถือหุ้นใน AIS สัดส่วน 23.3% “ผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยมีสมาชิก 41 ล้านราย” ทั้งนี้ ได้ระบุอีกว่า ถือหุ้น Intouch ในสัดส่วน 21% (จาก Singtel Annual Report 2019)

ทั้งนี้ Temasek กับ Singtel มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันโดยตรง Temasek กิจการลงทุนของรัฐบาลโดยมีกระทรวงการคลังสิงคโปร์ เป็นเจ้าของ Temasek ก่อตั้งเมื่อราว 4 ทศวรรษที่แล้ว ตามนโยบายรัฐ ยุคเฟื่องฟูของลีกวนยู เป็นหัวหอกผลักดันให้นักลงทุนสิงคโปร์ขยายเครือข่ายทั่วโลก

ปัจจุบัน Temasek มีสำนักงานทั่วโลก 11 แห่ง ลงทุนในกิจการในหลายภูมิภาค มีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยเฉพาะถือหุ้นใหญ่ในกิจการใหญ่ๆ ในสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น Singapore Technologies Singapore Airlines DBS Bank และ CapitaLand โดยเฉพาะ Singtel ซึ่งระบุไว้ว่า Temasek ถือหุ้นในสัดส่วนถึง 52%

เนื่องด้วยแต่ต้น ดีลดังกล่าวสร้างความ “สั่นไหว” ทางการเมืองไทยอย่างมาก หลายครั้งต่อๆ มา Temasek และ Singtel ยังเผชิญแรงกระเพื่อมอยู่บ้าง

คราวหนึ่ง (ต้นๆ ปี 2554) เกี่ยวกับการเทขายหุ้นเช่นกัน ว่ากันว่า Temasek เทขายหุ้นบริษัทในตลาดหุ้นไทยพร้อมๆ กันในจำนวนพอควรทีเดียว พอที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยหวั่นไหว

นักวิเคราะห์บางคนมองกันว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลไทยในกรณีนโยบายรัฐบาลว่า เกี่ยวกับสัมปทานสื่อสารไร้สาย

ปรากฏการณ์หนึ่งที่ตื่นเต้นตามมาด้วย หน่วยงานของรัฐได้ยื่นโนติส AIS ให้จ่ายชดเชยสัมปทาน อ้างว่ารัฐเสียหายหลายหมื่นล้านบาท เชื่อมโยงกับกรณียึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

กระแสความสนใจพุ่งสูงขึ้น เมื่อภาพการเข้าพบนายกรัฐมนตรีไทย (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะนั้น) ของผู้บริหารคนสำคัญ Singtel ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ของสื่อไทย การปรากฏตัวของ Chua Sock Koong ผู้บริหารหญิงคนเก่งคนของ Singtel (ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งซีอีโอ) เคยได้รับการยกย่องจากนิตยสารธุรกิจระดับโลก (Fortune) ว่าเป็น The Global Power 50 ในฐานะเป็นนักบัญชี มีประสบการณ์ในการบริหารเงินโดยเฉพาะผลงานในการขยายกิจการ Singtel ครอบคลุมในเอเชีย

ภาพที่ปรากฏเป็นไปอย่างชื่นมื่น ผู้นำ Singtel ประกาศยืนยันจะลงทุนในเมืองไทยต่อไป เพียงไม่กี่ชั่วโมงจากนั้น ผู้บริหาร AIS ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษนายกรัฐมนตรีไทย กรณีแถลงข่าวอย่างเคร่งเครียดขอให้รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องนโยบายสื่อสาร โดยอ้างว่ามีข้อความบางตอนอาจเข้าใจผิด

 

ในช่วงใกล้เคียงกันนั้น มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากเป็นพิเศษ ว่าด้วยนโยบายการจ่ายเงินปันผล “บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 ของกำไรสุทธิ ตามงบการเงินรวม” ประกาศอย่างเป็นทางการปรากฏในรายงานประจำปีครั้งแรกในปี 2553 โดยเฉพาะท่ามกลางเหตุการณ์หลายอย่างที่น่าตื่นเต้น ในช่วงปลายรัฐบาลอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ AIS ได้จ่ายเงินปันผลถึง 4 ครั้งในปีเดียว (2553) โดยใช้เงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

อันที่จริง (โปรดพิจารณา “ข้อมูลจำเพาะ”) แม้ AIS มี “นโยบายจ่ายเงินปันผลมากกว่า 40%” ทว่า เมื่อ Temasek และ Singtel เข้ามาถือหุ้นใหญ่ มีปรากฏการณ์การจ่ายเงินปันผลมากกว่า 100% ของกำไร มาโดยตลอด

หากคำนวณอย่างคร่าวๆ ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา AIS จ่ายเงินปันผลไปแล้วรวมกันประมาณ 120 บาทต่อหุ้น คิดเฉพาะ Singtel ซึ่งถือหุ้นประมาณ 23% หรือราวๆ 690 ล้านหุ้น ก็จะได้ผลตอบแทนการลงทุนไปแล้วอย่างเหลือเชื่อ มากกว่า 80,000 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าทั้งหมด กรณีดีลซื้อหุ้นอันครึกโครกเมื่อปี 2549 ทั้งนี้ ถ้ารวมการถือหุ้นทั้งโดยตรงโดยอ้อมของ Temasek ทั้งใน AIS และ Intouch แล้ว คาดได้ว่าย่อมได้ผลตอบแทนมากกว่า 1 แสนล้านบาท นับเป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนอย่างดีทีเดียว

แต่ที่สำคัญกว่านั้น ภาพใหญ่ ความเป็นไปว่าด้วยผลประกอบการ AIS ที่ผ่านมา กับธุรกิจสื่อสารไร้สายในประเทศไทย ธุรกิจซึ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นๆ ด้วยแล้ว แม้ว่าจะเผชิญหน้าการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้นๆ

คราวนี้จึงดูไม่มีใครตื่นเต้นเกินควร เช่นที่ผ่านๆ มา