“ผู้นำ” ไร้วิวัฒนาการ – หลงยุค

การค้นพบและพัฒนาเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน ที่เรียกว่า “อินเตอร์เน็ต” นั้นเป็นความวิวัฒนาการของมนุษย์ที่เรียนรู้ว่าธรรมชาติของจักรวาลมีอะไรที่หยิบฉวยมาใช้ประโยชน์ได้

การค้นพบวิธีการแปลงคลื่นแม่เหล็กอันมีอยู่ในธรรมชาติของโลก มาเป็นคลื่นไฟฟ้า คลื่นวิทยา คลื่นโทรทัศน์ และคิดค้นวิธีปรับรูปแบบให้มาเป็นเครื่องมื่อสื่อสารที่ทรงประสิทธิอภาพนั้น ควรเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับมนุษยชาติ

เผ่าพันธุ์ที่สมควรยินดีที่สุดคือ พวกที่ไม่มีความสามารถในเชิงสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาได้ เพราะไม่ต้องทำอะไรก็มีคนที่คิดให้ ทำให้ เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับชีวิตตัวเอง

มนุษย์ที่ไม่เคยสร้างสรรค์อะไร แต่สามารถปรับตัวที่จะใช้สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์กับชีวิตตัวเอง และหาทางส่งเสริมให้สังคมมีความรู้ความสามารถที่จะปรับตัวให้ทันกับการพัฒนานั้น

ยังนับว่าน่ายกย่อง ถือว่ายังมีพันธุกรรมที่ฉลาดอยู่ไม่น้อยกับการรู้คิด รู้จัดการที่จะให้ตัวเอง พวกพ้องและเพื่อนร่วมสังคมดำเนินชีวิตไปอย่างเท่าทัน สอดคล้องกับการพัฒนา

สามารถใช้วิวัฒนาการของมนุษย์มาเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้เหมาะสมกับยุคสมัย

สังคมไหนมีผู้นำที่เป็นมนุษย์ซึ่งปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้อย่างชาญฉลาด เปิดรับการพัฒนาอย่างเท่าทัน และเปิดกว้างที่จะนำการวิวัฒนาการมาพัฒนาสังคม

ประชาชนของประเทศที่มีผู้นำเช่นนั้นย่อม มีความสุข และสังคมจะพัฒนาให้เคลื่อนไปอย่างเหมาะสม สอดคล้อง และใช้ประโยชน์จากพัฒนาการของโลกได้

ผิดกับสังคมที่มี “ผู้นำ” คับแคบ ไม่เปิดกว้างที่จะเรียนรู้ ชอบที่จะจมอยู่กับความเคยชินเก่าๆ ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกง่ายที่จะควบคุมสังคม

จิตใจถูกครอบงำอยู่ด้วยกลัวในวิวัฒนาการ เพราะไม่มีความสามารถที่จะเรียนรู้ปรับตัวให้สอดคล้องเหมาะสม

เลยเถิดไปถึงกลัวว่าหากปล่อยให้สังคมพัฒนาไปอย่างเท่าทันวิวัฒนาการของโลก จะทำให้ “ภาวะผู้นำ” ของตัวเองมีปัญหา ไม่สามารถนำสังคมแห่งวิวัฒนาการได้

แล้วปล่อยให้ความกลัวนั้นครอบงำความคิด และพฤติกรรม แสดงออกด้วยความพยายามที่จะหยุดยั้งสังคมไว้ ให้หลุดจากวงโคจรของพัฒนาการ

พยายามชี้นำว่า วิวัฒนาการของโลกเป็นความเลวร้าย

ประเทศที่มีผู้นำเช่นนี้ มีแต่จะต่ำต้อยในสังคมโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ “นิด้าโพล” ได้ทำสำรวจเรื่อง “ข่าวปลอม (เฟกนิวส์)”

เป็นการสำรวจหลังจากที่มีคนก่อกระแสอันส่งผลให้เกิดความหวาดวิตกในหมู่ประชาชน ว่า “โลกออนไลน์” จะนำความเลวร้ายมาให้สังคม เพราะเป็นโลกที่สามารถใช้ข่าวลวงเป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจรัฐ

ปรากฏว่า ประชาชนร้อยละ 61.23 ตอบว่าไม่เคยหลงเชื่อข่าวลวงหรือข่าวปลอม

ผู้ตอบแบบสอบถามที่ร้อยละ 72.86 ตอบว่า เป็นผู้ใช้สื่อออนไลน์ มีร้อยละ 52.09 ตอบว่า ไม่เคยแชร์ข่าวใดๆ ร้อยละ 24.42 ตอบว่า เมื่อรู้ว่าเป็นข่าวปลอมก็ไม่แชร์ ร้อยละ 19.07 ตอบว่า เมื่อไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ก็ไม่แชร์

นั่นหมายถึงคนในโลกออนไลน์นั้น ส่วนใหญ่มีสติพอที่จะชั่งใจ หรือสังเคราะห์ว่าข่าวไหนน่าเชื่อ ข่าวไหนไม่น่าเชื่อ และมีวิจารณญาณพอที่จะตัดสินใจแชร์ข่าวต่างๆ

ประชาชนไม่ได้วิตกจริตไปกับ “ข่าวปลอม” เหมือนที่ประเมินความสามารถในการชั่ง

ดูเหมือนว่า “ผู้นำ” ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิวัฒนาการของยุคสมัยมากกว่าหวาดกังวล

และคล้ายกับว่าไม่ได้หวาดกังวลกับการปรับตัวไม่ได้ของตัวเอง

แต่เกิดความกลัวว่า ประชาชนหรือสมาชิกในสังคมส่วนใหญ่จะปรับตัวเข้ากับวิวัฒนาการของยุคสมัยได้มากกว่าตัวมากกว่า

ประเทศที่มนุษย์หลงยุคแบบนี้เป็นผู้นำ ย่อมเป็นเรื่องน่าเศร้า