เปิดโมเดล เสนอนโยบายการศึกษาชายแดนใต้ ทำไมไม่กระจายอำนาจ(เสียที)

บุกรัฐสภา เสนอนโยบายการศึกษาชายแดนใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

14 สิงหาคม 2562 ภาคประชาชนจากสามองค์การศึกษาชายแดนใต้ (รวมทั้งผู้เขียน) ได้เข้าพบรัฐมนตรีศึกษาธิการ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รวมทั้ง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐภาคใต้เพื่อเสนอแนวการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการศึกษา ณ รัฐสภา

ภาคประชาชนจากสามองค์การศึกษาชายแดนใต้ ประกอบด้วย สมาคมสมาพันธ์การศึกษาเอกชนภาคใต้ สมาคมสถาบันปอเนาะชายแดนใต้ และสมาคมตาดีกาหรือโรงเรียนคุณธรรมจริยธรรมชายคามัสยิดชายแดนใต้ ได้เล่าถึงเหตุผลการเข้าพบรัฐมนตรีศึกษาธิการ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ถึงรัฐสภา

แม้จะทราบดีในทางการเมืองว่ารัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลปริ่มน้ำอย่างนี้จะทำงานได้นานหรือเปล่า (อายุทั้งรัฐบาลหรือรัฐมนตรี) ด้วยเหตุหลายประการเชิงประจักษ์ ที่มีการต่อรองจากพรรคเล็กที่ร่วมรัฐบาล คนในพรรคกันเองแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี หรือรัฐบาลแพ้โหวตร่างข้อบังคับประชุมสภา ในวันที่เราเข้าพบรัฐมนตรีพอดี

สำหรับเหตุผลการเข้าพบครั้งนี้อันเนื่องมาจากการศึกษาชายแดนมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากการศึกษาส่วนกลาง (ความเป็นจริงประเทศไทยทุกพื้นที่ก็มีการศึกษาที่แตกต่างจากส่วนกลางด้วยเช่นกัน) และมันคือปัจจัยหลักในการหนุนเสริมความมั่นคงและสันติภาพในพื้นที่

เราจะเห็นข่าวการเชื่อมโยงความมั่นคงกับสถาบันการศึกษาบ้าง ครูบ้าง นักเรียนบ้าง

ดังนั้น การเข้าพบครั้งนี้ก็เพื่อจะให้รัฐมนตรีและ ส.ส.ในพื้นที่จะได้เห็นภาพรวมและเห็นช่องทางง่ายขึ้นในการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมการแก้ปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยมั่นคงที่เป็นรั้วของชาติมาแทรกแซงตลอด 5 ปี รัฐบาล คสช. และจะยังคงมีบทบาทต่อหลังได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง

สำหรับข้อเสนอนี้ก็ผ่านการสังเคราะห์ทางวิชาการจากสามองค์กรนี้ซึ่งได้จัดเวทีถอดบทเรียนตลอด 5 ปีที่ผ่าน

เราทราบดีว่า ชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษในด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ และสัมพันธ์กับต่างประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งมีสถานการณ์ความไม่สงบในบางพื้นที่ดังกล่าว เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความสงบสุข ขวัญ และกำลังใจของประชาชนและการพัฒนาของประเทศ นโยบายการศึกษาเป็น 1 ในหลายด้าน ไม่ว่าด้านการพัฒนาและเศรษฐกิจ ด้านเยาวชนและสตรี ด้านสังคมศาสนาและวัฒนธรรม ด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

สำหรับข้อเสนอด้านการศึกษาดังกล่าวคือ ส่งเสริมการศึกษาโดยเฉพาะในด้านศาสนา ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อสร้างคนที่มีความเจริญงอกงามทั้งความรู้และคุณธรรมที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่

สร้างความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงให้กับประเทศ ด้วยการร่วมออกแบบโดยให้ทุกภาคส่วนร่วมออกแบบที่มีเป้าหมายความยั่งยืนตามวิถีศาสนธรรม

มีการกระจายอำนาจ ทางด้านบริหารการจัดการศึกษา ลดอำนาจจากส่วนกลาง

สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษามีจุดเด่น เช่น ด้านภาษา การจัดการสิ่งแวดล้อม และอาชีพ

ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาสำหรับแลกเปลี่ยนครู อาจารย์ และนักเรียน ทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมและยกระดับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นให้มีความเป็นนานาชาติ จัดสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานให้สถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน สนับสนุนทุนทุกระดับทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนักศึกษาต่างประเทศมาศึกษาต่อในประเทศไทย

และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนครู อาจารย์ และนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ กรณีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้คิดเป็นค่าบริการสำหรับนักเรียน นักศึกษามุสลิมทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งจัดตั้งกองทุนส่งเสริมเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา

ปฏิรูประบบอุดหนุนการศึกษาที่สอดคล้องกับทุกหลักสูตรการศึกษา ศาสนา สามัญอาชีพ และการศึกษาทางเลือกรวมทั้งการศึกษาตลอดชีพ

ยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน และอุดหนุนการจัดการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะ และศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) และศาสนาอื่นๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม อัตลักษณ์ ศาสนาอิสลาม (อื่นๆ) และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น

จัดตั้งกองทุนส่งเสริมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะ และศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด (ตาดีกา)

และจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาประเทศไทยและของต่างศาสนิกที่แตกต่างด้านศาสนาและชาติพันธุ์

ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนที่เรียนจบหรือกำลังศึกษาในสาขาวิชาการแพทย์สาธารณสุข และในสาขาที่ขาดแคลน ที่ทำงานหรือศึกษาในต่างประเทศกลับมาทำงานในพื้นที่ ตลอดจนเตรียมความพร้อมนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสำหรับการศึกษาต่อในสาขาแพทย์ สาธารณสุข และสาขาที่ขาดแคลน

ส่งเสริมและสนับสนุนภาษามลายูที่เป็นภาษาแม่ของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่และเป็นภาษาราชการของประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสื่อสารกับประชากรส่วนใหญ่ในอาเซียนได้ รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาภาษาอาหรับซึ่งปัจจุบันมักเน้นเฉพาะมิติศาสนาให้ครอบคลุมมิติอื่นๆ ตลอดจนภาษาอังกฤษและภาษาจีนให้สามารถสื่อสารได้

จัดตั้งสภาการศึกษาชายแดนภาคใต้ที่รวมเอาจากทุกภาคส่วนในการร่วมออกแบบและกำหนดทิศทางการศึกษาในพื้นที่โดยการจัดตั้งสภาการศึกษาชายแดนภาคใต้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในทางการเมืองในการปฏิรูปการศึกษาที่สามารถตอบสนองคนในพื้นที่และจะช่วยลดภาระงานรัฐมนตรี

ลดภาระกระทรวงศึกษาธิการส่วนกลางโดยให้สภานี้ทำงานคู่กับกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า

จากที่ได้ไปรัฐสภาครั้งนี้ได้เห็นอะไรมากมาย เช่น เป็นข้อดีว่า ส.ส.ที่มาจากประชาชนทุกคนออกมาให้บริการประชาชนคนลงคะแนนเสียงให้เขาไม่ว่าจากพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้หายไป 5 ปี

แม้มีสภา แต่ภายใต้รัฐบาลปริ่มน้ำ ส.ส.ต้องทำงานหนักมากๆ ที่จะต้องทำภารกิจหลายประการในเวลาเดียว เดินเข้าออกจากที่ประชุม

สิ่งสำคัญ 2 นาทีอันมีค่าของ ส.ส.ทุกคนเอาปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ตนเองได้พูดเสนอในสภาในคน 500 คน ทุกคนต้องทำการบ้าน แต่มันก็สะท้อนว่าการกระจายอำนาจมีความสำคัญสำหรับประเทศไทยมาก

เพราะถ้าประเทศไทยมีการกระจายอำนาจจริง ปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ไขทันทีในแต่ละจังหวัด ไม่ต้องรอให้รัฐบาลที่กรุงเทพฯ แก้ปัญหา ซึ่งน้อยมากที่แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว