สุรชาติ บำรุงสุข | ดอกไม้บานที่ฮ่องกง การต่อสู้ยังดำเนินต่อไป

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ดอกไม้กำลังเบ่งบานทุกหนแห่ง”

คำสุภาษิตจีนที่ใช้อธิบายการต่อสู้ของชาวฮ่องกง

ไม่น่าเชื่อเลยว่าคนฮ่องกงเป็นเรือนแสนได้ออกมาบนท้องถนน เข้าร่วมการประท้วงกับคนหนุ่มสาวในการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐบาลจีนและฮ่องกง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เกิดการส่งบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายจากฮ่องกงไปขึ้นศาลในจีน

กฎหมายนี้ทำให้มีความกลัวว่าจะมีการส่งผู้เห็นต่างจากรัฐบาลจีนไปขึ้นศาลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ประเด็นเช่นนี้ทำให้คนฮ่องกงเป็นจำนวนมากมีความเห็นร่วมกันและยอมออกมาประท้วงบนถนน

แน่นอนว่าการประท้วงในปี 2019 กลายเป็นข่าวใหญ่ของโลกอีกครั้ง

และผลจากการประท้วงที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลฮ่องกงยอมถอนร่างกฎหมายดังกล่าว จนเป็นดังชัยชนะครั้งใหญ่ของขบวนประชาธิปไตยฮ่องกง

เสมือนกับการต่อสู้ของชาวฮ่องกงกำลังอยู่บนกระแสคลื่นของความสำเร็จ

และความสำเร็จเป็นดัง “ดอกไม้ที่กำลังเบ่งบาน”

แต่พวกเขาก็ไม่มั่นใจว่า สุดท้ายแล้วร่างกฎหมายนี้จะกลับเข้าสู่สภาอีกหรือไม่

และแม้การต่อสู้ของนักศึกษาจะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

แต่พวกเขาเผชิญหน้ากับระบอบอำนาจนิยมชุดใหญ่ของโลก

ดังนั้น การต่อสู้ที่ฮ่องกงจึงมีความท้าทายอย่างมาก

Lennon Wall

ในการประท้วงครั้งนี้มีการสร้างประชามติในหมู่ประชาชนด้วยการนำเอาการ์ดบอร์ดขนาดใหญ่มาติดตั้ง และให้คนเขียนข้อความถึงรัฐบาลฮ่องกงลงบนแผ่นโน้ตและนำไปติดบนบอร์ดดังกล่าว โดยบอร์ดนี้ตั้งอยู่ในย่านที่จอแจของเมืองบริเวณสะพานเกาลูน

ตัวแบบของการตั้งบอร์ดติดข้อความประท้วงรัฐบาลนั้นเป็นสิ่งที่ใช้มาก่อนในกิจกรรมต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่กรุงปราก

และเรียกสิ่งนี้ว่า “กำแพงเลนนอน” ซึ่งมีผู้คนเป็นจำนวนมากมาร่วมกันเขียนข้อความ และใช้กระดาษโน้ตสีต่างๆ จนกลายเป็น “กำแพงหลากสี”

และหลังจากเริ่มติดตั้งจุดแรกแล้ว บอร์ดข้อความดังกล่าวก็กระจายไปหลายจุดที่สำคัญของเมือง

แม้กระทั่งบริเวณชานเมือง การเขียนข้อความบนกระดานโน้ตเช่นนี้เป็นกระบวนการสร้างประชามติอย่างดีในหมู่ประชาชน

กำแพงเลนนอนเริ่มต้นที่กรุงปราก เป็นกำแพงที่มีนักเขียนข้อความที่ผนังกำแพงใช้เขียนข้อความต่างๆ เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึก (หรือที่เรียกกันว่า “graffiti”)

โดยพวกเขาเริ่มจากการเขียนข้อความเพื่ออุทิศให้แก่จอห์น เลนนอน

และในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 กำแพงนี้เป็นมากกว่าการเขียนข้อความถึงเลนนอน และเริ่มถูกใช้เขียนข้อความในการต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์

และข้อความมีความรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็น “กำแพงแห่งความหงุดหงิด” ของฝ่ายรัฐ

การตั้งกำแพงเลนนอนนี้มีการใช้ในการประท้วงของ “ขบวนการร่ม” ที่ฮ่องกงในปี 2014 ซึ่งการตั้งบอร์ดติดข้อความประท้วงรัฐบาลในครั้งนั้น มีคนเข้าร่วมเขียนข้อความด้วยเป็นจำนวนมาก

และในปี 2019 ได้มีการนำเอากำแพงนี้มาใช้อีกครั้ง

และในครั้งนี้มีการตั้งกำแพงดังกล่าวในหลายๆ ที่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่สำคัญของเมือง ขอเพียงให้มีพื้นที่ที่จะตั้งการ์ดบอร์ดได้…

ประชามติถูกสร้างด้วยข้อความในกระดาษโน้ตแผ่นเล็กๆ อย่างไม่น่าเชื่อ

ตัวอย่างของข้อความ เช่น “เราชาวฮ่องกงจะไม่ยอมแพ้” และ “จิตวิญญาณของฮ่องกงจะไม่มีวันตาย” หรือ “ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อต้าน”

และแม้บางคนจะไม่แน่ใจว่าการต่อสู้จะดำเนินต่อไปอย่างไร แต่พวกเขาก็เขียนสนับสนุนว่า “เราจะต่อสู้ต่อไป”

ข้อความเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้คนเป็นจำนวนมากไม่ยอมรับรัฐบาลฮ่องกง

และพวกเขาเชื่อว่าข้อความเหล่านี้คือการแสดงออกในการต่อต้านระบอบอำนาจนิยมด้วยวิธีการอย่างสันติ

ดังที่ Claudia Mo ตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยกล่าวว่า “บอร์ดนี้เป็นช่องทางของคนหนุ่มสาวในการระบายความโกรธและความไม่พอใจในแบบสันติ”

และที่สำคัญ การแสดงออกด้วยการเขียนข้อความบนกระดาษโน้ตเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงทัศนะของชาวฮ่องกงที่มีต่อทั้งรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลจีน

จนต้องถือว่ากำแพงเลนนอนเป็นหนึ่งในการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่เด่นชัดของชาวฮ่องกง

ขณะเดียวกันก็ไม่แปลกอะไรที่จะมีคนบางส่วนพยายามที่จะทลายกำแพงนี้

เช่น กรณีนักศึกษาสองคนที่เฝ้ากำแพงนี้ถูกทำร้าย

แต่ค่ำคืนนั้นมีผู้คนเป็นจำนวนมากออกมาให้กำลังใจกลุ่มนักศึกษาที่เฝ้ากำแพงดังกล่าว

ซึ่งน่าสนใจอย่างมากว่า ประชาชนมีความรู้สึกร่วมอย่างมากกับการต่อสู้ พร้อมที่จะออกมาให้กำลังใจนักศึกษา และออกมาปกป้องกำแพงที่ติดข้อความของพวกเขาด้วย

ภาพถ่ายของข้อความที่ติดในจุดสำคัญของการเดินทางสะท้อนให้เห็นความรู้สึกร่วมระหว่างนักศึกษากับประชาชนเป็นอย่างดี

และสะท้อนว่าคนฮ่องกงอึดอัดกับการลดทอนเสรีภาพของจีน

Lion Rock

ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองของฮ่องกงในปี 2014 ได้มีการปีนเขาที่เป็นยอดที่สูงที่สุดของฮ่องกงชื่อ “ไลอ้อนร็อก” (ตั้งอยู่ที่เกาะเกาลูน มีความสูง 495 เมตร) เพื่อนำเอาเอาแผ่นป้ายขนาดใหญ่ไปติด

แผ่นป้ายขนาด 28 เมตร มีรูปร่มที่เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว และมีข้อความเรียกร้องว่า “ฉันต้องการสิทธิในการเลือกตั้งอย่างแท้จริง” (I want real universal suffrage)

การติดแผ่นป้ายขนาดใหญ่ครั้งนี้มีผลทางจิตวิทยาอย่างมาก ไม่เพียงเพราะยอดเขานี้เป็นสัญลักษณ์ทางกายภาพของฮ่องกงเท่านั้น

หากภูเขาลูกนี้เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตชนชั้นล่างที่หลบหนีออกมาจากแผ่นดินใหญ่ เพื่อตั้งรกรากชีวิตใหม่ในฮ่องกง

และคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้านล่างของภูเขา ภูเขานี้ในชีวิตทางสังคมจึงเป็นตัวแทนของทัศนคติว่า “เราทำได้”

นอกจากนี้ คนกวางตุ้งที่ฮ่องกงมีสำนวนว่า “จิตวิญญาณไลอ้อนร็อก” (The Lion Rock Spirit) ที่มีความหมายถึงการต่อสู้ของคนชั้นล่างที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อที่จะได้มีอนาคตที่สดใสกว่า การติดตั้งป้ายที่ภูเขานี้จึงเป็นดังการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้อย่างเข้มแข็งเพื่อที่จะได้มีอนาคตที่สดใส

หลังจากภาพป้ายที่ไลอ้อนร็อกแพร่กระจายออกไป ได้มีการทำแผ่นป้ายจำลองขนาดต่างๆ ด้วยข้อความเดียวกัน

คำขวัญของการรณรงค์ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากคนกลุ่มต่างๆ

และข้อความจากแผ่นป้ายเป็นการสื่อสารทางการเมืองถึงรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลปักกิ่งพร้อมกันไป…

พวกเขาต้องการสิทธิในการเลือกตั้งผู้ปกครอง ไม่ใช่การเลือกในหมู่ชนชั้นนำที่เป็นตัวแทนของปักกิ่ง และขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความกังวลของคนเป็นจำนวนมากที่มีความรู้สึกร่วมว่าเสรีภาพของฮ่องกงอยู่ในภาวะถดถอย อันเป็นผลจากความพยายามของจีนที่จะกระชับอำนาจในการควบคุมฮ่องกง

การต่อสู้ในเดือนพฤษภาคม 2019 ก็มีความพยายามติดตั้งแผ่นป้ายขนาดใหญ่ (15 x 3 เมตร) ที่ภูเขาไลอ้อนร็อกอีกครั้งเพื่อรณรงค์ต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ในครั้งนี้แผ่นป้ายมีข้อความว่า “ต่อต้านกฎหมายส่งไปจีนอันชั่วร้าย” (oppose the evil send-to-China law)

และต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ปลดแผ่นป้ายนี้ออก

ต่อมาในเดือนมิถุนายน กลุ่มผู้ประท้วงได้ติดแผ่นป้ายใหม่ และมีข้อเรียกร้องว่า “ปกป้องฮ่องกง” (ข้อความในภาษาจีน) และ “สู้เพื่อฮ่องกง” (ในภาษาอังกฤษ) อันเป็นสัญญาณสนับสนุนการต่อสู้ของนักศึกษาฮ่องกง… การต่อสู้เพื่อเสรีภาพขยายตัวใหญ่อีกครั้งในฮ่องกง

แผ่นป้ายที่ไลอ้อนร็อกกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ใหญ่ของการต่อสู้ทางการเมืองที่ฮ่องกง ในขณะที่จีนกลับมีท่าทีที่แข็งมากขึ้น

จนหลายฝ่ายกังวลอย่างมากว่า สุดท้ายแล้วผู้นำจีนอาจจะหันกลับใช้มาตรการล้อมปราบเพื่อควบคุมการขยายตัวของการเรียกร้องเสรีภาพที่ฮ่องกงหรือไม่

การตอบโต้ของจีน

น่าสนใจในอีกมุมหนึ่งว่า การต่อสู้ในฮ่องกงเป็นภาพสะท้อนของความต่างของทัศนะ ในขณะที่สื่อและผู้คนในโลกตะวันตกมองว่า การต่อสู้ที่ฮ่องกงเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน

แต่สำหรับสื่อจีนที่ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเหตุผลของการเป็นสื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าสื่อเหล่านี้จะมีทัศนะไปตามแนวทางของพรรค

ซึ่งมองเห็นการประท้วงที่ฮ่องกงด้วยสายตาในทางลบเป็นอย่างยิ่ง

ว่าที่จริงแล้วอาจกล่าวได้ว่า ในสายตาของรัฐบาลปักกิ่ง การเรียกร้องที่ฮ่องกงก็คือ “การกบฏ”

และหากการเรียกร้องเช่นนี้เกิดขึ้นบนแผ่นดินใหญ่แล้ว ชะตากรรมของพวกเขาจะไม่แตกต่างจากผู้นำนักศึกษาและผู้ประท้วงที่เทียนอันเหมิน

ซึ่งจบลงด้วยการล้อมปราบใหญ่ใจกลางกรุงปักกิ่ง เพราะรัฐบาลจะไม่ยอมปล่อยให้เกิดการเรียกร้องจนอาจกลายเป็นการสร้างตัวอย่างให้แก่กลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่จะก่อการประท้วงรัฐบาลในอนาคต

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็คือภาพสะท้อนความหวาดระแวงของรัฐบาลจีนต่อการแทรกแซงจากภายนอก

จนอาจกล่าวได้ว่าการถูกปลูกฝังจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้กับมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมนั้น ผู้นำจีนยังคงมี “โลกทัศน์” ที่มองโลกด้วยแว่นยุคอาณานิคม ที่เชื่อว่าปัญหาฮ่องกงเกิดจากการแทรกแซงของเจ้าอาณานิคมเดิมคืออังกฤษ

ดังเช่นที่ Liu Xiaoming ทูตจีนประจำอังกฤษ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษว่า “สำหรับชาวอังกฤษบางคนแล้ว ฮ่องกงคืออาณานิคมที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ… [ดังนั้น] นักการเมืองอังกฤษบางคนจึงอาศัยอยู่ในโลกแฟนตาซีของยุคอาณานิคม”

คำสัมภาษณ์นี้บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงทัศนะที่เชื่อว่าปัญหาการประท้วงที่ฮ่องกงมาจากการสนับสนุนและ/หรือแทรกแซงของอังกฤษในยุคหลังอาณานิคม

หรืออีกนัยหนึ่งคือ เชื่อว่าอังกฤษยังไม่ยอมปล่อยมือจากฮ่องกง

การตีความของจีนอาจจะเกิดจากการบุกรัฐสภาฮ่องกงขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม อันเป็นวันครบรอบการส่งมอบฮ่องกงกลับคืนให้จีนในปี 1997

ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนั้น และท่าทีของอังกฤษที่รับจีนไม่ได้

ทำให้ผู้นำจีนตีความในทางเดียวกันคือ อังกฤษพยายามแทรกแซงปัญหาฮ่องกง

เมื่อเป็นเช่นนี้ การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงจึงถูกมองผ่าน “ทัศนะทางประวัติศาสตร์ของยุคอาณานิคม” ที่เริ่มต้นจากกรณีสงครามฝิ่นในปี 1839 ซึ่งสำหรับนักชาตินิยมจีนแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวคือ “ศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู” (a century of humiliation)

ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จีนถูกกดดันจากรัฐภายนอกอย่างหนัก และเป็นประวัติศาสตร์แห่งความอับอายของจีน

นอกจากนี้ ฮ่องกงถูกนำไปผูกโยงกับสนธิสัญญานานกิง อันเป็นผลจากความพ่ายแพ้กับอังกฤษในสงครามฝิ่น และเป็นจุดเริ่มต้นของสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่จีนถูกบังคับโดยเจ้าอาณานิคมตะวันตก และตามมาด้วยการสูญเสียฮ่องกงให้แก่อังกฤษ

ทัศนะทางประวัติศาสตร์อันเป็นผลจากยุคอาณานิคมเช่นนี้ฝังแน่นอยู่ในใจของนักชาตินิยมจีนทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าจนยากที่จะลบเลือนได้ และผู้นำจีนยุคปัจจุบันก็มองการประท้วงที่ฮ่องกงด้วยทัศนะเช่นนี้ อันทำให้คำสัมภาษณ์ของทูตจีนกลายเป็นหัวข้อข่าวสำคัญของหนังสือพิมพ์จีน

ดังนั้น แม้จะมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนมากต่อการต่อสู้ของนักศึกษา แต่การต่อสู้ที่จะทำให้ฮ่องกงเป็นประชาธิปไตย และหลุดออกจากการควบคุมของรัฐบาลจีนนั้น เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง

ในทางตรงข้าม รัฐบาลจีนกลับทวีความเข้มงวดในการควบคุมฮ่องกง

โดยเฉพาะหลังจากการกระชับอำนาจของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงหลังปี 2012 จนคนในฮ่องกงรับไม่ได้กับการขยายบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของจีน และมีความรู้สึกว่า คำมั่นสัญญาจากรัฐบาลจีนที่จะปฏิบัติต่อฮ่องกงภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เป็นนโยบายที่ไม่เป็นจริง

และมีความรู้สึกว่าจีนกำลังเปลี่ยนฮ่องกงให้เป็นจีน

การต่อสู้ครั้งนี้จึงมีสภาวะทับซ้อนระหว่างประชาธิปไตยกับชาตินิยม

และเหมือนกับการเรียกร้องในหลายพื้นที่ของโลกที่ฝ่ายรัฐบาลมักจะหยิบเอาประเด็นเรื่องชาตินิยมมาต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตย

ซึ่งในบริบทเช่นนี้นักประชาธิปไตยกลายเป็น “ผู้ไม่รักชาติ”

เพราะมีท่าทีต่อต้านรัฐบาล ผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐจึงกลายเป็น “ผู้รักชาติ” ไปโดยปริยาย

อีกทั้งการเรียกร้องประชาธิปไตยก็จะถูกสร้างให้เป็นเรื่องของการแทรกแซงจากต่างชาติ

ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องแก้ปมประวัติศาสตร์ให้หลุด

มิฉะนั้นแล้วฝ่ายรัฐจะฉวยโอกาสสร้างภาพให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกลายเป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของรัฐภายนอก

ดังที่ผู้นำจีนประกาศในปี 2017 ว่า ความพยายามที่จะบ่อนทำลายอธิปไตยของจีน (จากรัฐภายนอก) เป็น “เส้นแดง” ที่จีนจะไม่ยอมให้ใครก้าวข้ามได้

ความซับซ้อนเช่นนี้ทำให้การเบ่งบานของดอกไม้ประชาธิปไตยที่ฮ่องกงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง!