ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (3)

ในสองตอนที่ผ่านมา เราได้บรรยายถึงการตีความเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสของนักประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันในประเด็นที่ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติที่มีลักษณะเด่นแยกเป็นเอกเทศออกจากการปฏิวัติอื่นๆ หรือไม่ไปแล้ว

ในตอนนี้ จะกล่าวถึงประเด็นต่อไป คือ การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติกระฎุมพีหรือการปฏิวัติประชาชน?

การถกเถียงในประเด็นดังกล่าวมุ่งวิเคราะห์ถึงกลุ่มคนที่มีบทบาทในการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นคนกลุ่มใด

ฝ่ายหนึ่ง ยืนยันว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส ริเริ่มและนำพาโดยชนชั้นกระฎุมพี

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าปฏิวัติฝรั่งเศส คือ ปฏิวัติประชาชน เพราะ ชนชั้นล่างมีบทบาทสำคัญ

การเขียนประวัติศาสตร์ปฏิวัติฝรั่งเศสในช่วงแรกได้สร้างให้ “ประชาชน” เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของการปฏิวัติ โดยไม่ได้สนใจในรายละเอียดว่า ผู้คนจำนวนมากที่เข้าร่วมการปฏิวัตินั้นมีสถานะทางเศรษฐกิจอย่างไร สังกัดชนชั้นใด มีอุดมการณ์ความคิดเช่นไร

นักประวัติศาสตร์ตามแนวทางนี้ เห็นว่าผู้คนทั้งหลายรวมตัวกันเป็น “ประชาชนติดอาวุธ” (peuple en arme) เพื่อปลดแอกจากโซ่ตรวนของระบอบเก่าที่พันธนาการพวกเขาเอาไว้เป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษ

 

แนวทางการตีความปฏิวัติฝรั่งเศสเช่นนี้ นิยมแพร่หลายกันมากในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 นำโดย Jules Michelet (1798-1874) ซึ่งเขียนงานขนาดใหญ่ในชื่อ Histoire de la Revolution francaise รวม 7 เล่ม (1847-1853)

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตามแนวทางดังกล่าว ยังได้ให้ความสำคัญแก่วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของประชาชนผู้เข้าร่วมการปฏิวัติ โดยบรรยายถึงเหตุการณ์สำคัญและกำหนดให้มันเป็นหมุดหมายของการปฏิวัติฝรั่งเศส

เช่น การทลายคุกบาสตีย์ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 งานเฉลิมฉลอง Fete de Federation ในปี 1790 สมรภูมิที่ Valmy ในปี 1792 เป็นต้น

ประวัติศาสตร์นิพนธ์การปฏิวัติฝรั่งเศสตามแนวทางนี้ถูกนำไปเขียนในหนังสือแบบเรียนในโรงเรียนสมัยสาธารณรัฐที่ 3 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปลูกฝัง “สาธารณรัฐนิยม” และ “ชาตินิยม” ให้แก่เยาวชนฝรั่งเศส

 

นักประวัติศาสตร์รุ่นถัดมาวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตามแนวทางดังกล่าวกันมาก พวกเขาเห็นว่า การเขียนประวัติศาสตร์ปฏิวัติฝรั่งเศสเช่นนี้ช่วยสร้าง “มายาคติ” เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส จงใจทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเรียบง่ายไปหมด เพียงเพื่อปลุกสำนึกความรักชาติและความเป็นสาธารณรัฐ

ในช่วงสาธารณรัฐที่ 3 ถือได้ว่าเป็น “ยุคทอง” ของการเขียนประวัติศาสตร์ปฏิวัติฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1889 ซึ่งครบรอบ 100 ปีปฏิวัติฝรั่งเศส กลายเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ประวัติศาสตร์ปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นมาเป็นที่สนใจในวงกว้าง

นักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายได้ร่วมกันก่อตั้งศูนย์ศึกษาวิจัย บรรยาย และผลิตวารสารวิชาการเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส เริ่มจาก Alphonse Aulard ได้ก่อตั้งวารสาร Revolution francaise ในปี 1881 เขายังเริ่มต้นเปิดบรรยายวิชาประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัย Sorbonne (ซึ่งต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัย Paris I) ในปี 1886

ต่อมา ในปี 1903 รัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาประวัติศาสตร์และเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมของการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยมี Jean Jaures เป็นประธาน

ในปี 1907 Albert Mathiez ก่อตั้งศูนย์ศึกษา Robespierre โดยมีวารสารวิชาการสำคัญ คือ Les Annales historiques de la Revolution francaise

และในปี 1937 Georges Lefebvre ได้ก่อตั้ง สถาบันประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส หรือ Institut d”Histoire de la Revolution francaise (IHRF)

สถาบันเหล่านี้กลายเป็น “อาวุธ” สำคัญของนักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายในการตีความและอธิบายการปฏิวัติฝรั่งเศสตามแนวทางมาร์กซิสต์ และมหาวิทยาลัยปารีส 1 กลายเป็น “ฐานที่มั่น” ของประวัติศาสตร์นิพนธ์ปฏิวัติฝรั่งเศสสำนัก jacobino-marxist

 

งานประวัติศาสตร์นิพนธ์การปฏิวัติฝรั่งเศสตามแนวทาง jacobino-marxiste ได้พลิกโฉมการศึกษาปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งใหญ่ โดยหันมาให้ความสำคัญกับบทบาทของชนชั้นล่าง

Jean Jaures ศึกษาบทบาทของมวลชนในการขับเคลื่อนการปฏิวัติอย่างเป็นระบบ โดยเสนอว่า บทบาทของชนชั้นกระฎุมพีที่ตอบโต้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฝรั่งเศสจนกลายเป็นกำลังสำคัญในการก่อปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น

เอาเข้าจริงแล้ว เป็นเพียงการเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์ของขบวนการปฏิวัติประชาชนในภาพใหญ่ทั้งหมด

ดังจะเห็นได้จากปฏิกิริยาของชนชั้นกระฎุมพีในศตวรรษที่ 18 ได้ขยายตัวออกไปด้วยการเกิดขึ้นของขบวนการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในช่วงศตวรรษที่ 19

หลังจากนั้น นักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายก็ได้ศึกษาบทบาทของชนชั้นล่างมากยิ่งขึ้น

พวกเขาแบ่งแยกบทบาทมวลชนในเมืองกับมวลชนในชนบทออกจากกันอย่างชัดเจน

และพบว่า ในเมืองใหญ่หลายเมืองนั้น ชนชั้นล่างมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติ

นอกจากนี้ ในช่วงปี 1791-1792 ชนชั้นล่างยังเป็นกำลังสำคัญในการกดดันบรรดาสมาชิกสภาที่เป็นพวกกระฎุมพีให้ก้าวรุดหน้ามากขึ้น

พวกเขาชุมนุมและเดินขบวนบนท้องถนนและเรียกร้องให้สมาชิกสภานำข้อเสนอของพวกเขาไปอภิปรายในสภา

และไม่เพียงแต่สมาชิกสภาเท่านั้น ชนชั้นล่างยังกดดันหลุยส์ที่ 16 ได้สำเร็จจนหลุยส์ที่ 16 ต้องยินยอมลงนามยอมรับคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง

หากพิจารณาในแง่ชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 1775-1780 ได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้แก่คนในเมืองบางกลุ่มซึ่งประกอบอาชีพอิสระขนาดเล็ก เช่น พวกช่างฝีมือ พวกเจ้าของกิจการขนาดเล็ก

พวกเขาเหล่านี้จึงกลายเป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นกระฎุมพีที่สะสมความรู้และความมั่งคั่งจนกลายเป็นชนชั้นที่มีอำนาจและบทบาททางเศรษฐกิจ

บรรดาคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและคนเล็กคนน้อยในเมืองนี้เองได้รวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มก้อนที่เรียกชื่อว่า “sans-culottes”

และเป็นกำลังสำคัญในการเร่งเร้าการปฏิวัติให้รุดหน้ามากขึ้น

 

การปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มต้นขึ้นในปี 1789 แต่แล้วก็เดินทางมาถึง “ทางแยก” ระหว่าง “การเดินหน้าต่ออย่างก้าวหน้า” กับ “การหยุดเพื่อประนีประนอม”

ในปี 1792 ช่วงเวลานั้นเอง กลุ่ม “sans-culottes” ได้กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปะทะต่อต้านกับพวกกระฎุมพีประนีประนอม

พวกเขาต้องการให้การปฏิวัติฝรั่งเศสเดินหน้าต่อไป ในขณะที่พวกกระฎุมพีบางส่วนกลับลังเลใจ และต้องการหันไปประนีประนอมกับพวกระบอบเก่า

ในท้ายที่สุด พลังของชนชั้นล่าง และ “sans-culottes” ประสานกับสมาชิกสภาปีก Jacobin ก็ผลักดันให้ฝรั่งเศสกลายเป็นสาธารณรัฐได้สำเร็จในปี 1792

หากพิจารณาในแง่ภูมิศาสตร์การเมือง นักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายที่ศึกษาบทบาทของชนชั้นล่างได้แสดงให้เห็นว่าขบวนการลุกขึ้นสู้ในต่างจังหวัดและในชนบท เป็นการเคลื่อนไหวอันสำคัญยิ่งที่สนับสนุนส่งเสริมให้การลุกขึ้นสู้ในเมืองยังดำเนินต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม แม้ขบวนการต่อสู้ทั้งสองนี้จะเกื้อกูลกัน แต่ขบวนการในชนบทนั้นก็มีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากการต่อสู้ในเมือง

พวกเขาเป็นปฏิปักษ์กับพวกพระ และต่อต้านแนวทางเสรีนิยม

ซึ่งตรงกันข้ามกับพวกกระฎุมพี

ขบวนการปฏิวัติในชนบทไม่ได้สนใจการถกเถียงอภิปรายในประเด็นรัฐธรรมนูญและการเคลื่อนไหวของพวกกระฎุมพีในเมือง การก่อขบถตามต่างจังหวัด ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยปราศจากการจัดตั้งเตรียมการ

ขบวนการในชนบทนี้เองมีคุณูปการสำคัญในการทำลายการกดขี่ของพวกพระ และการกระจายทรัพย์สิน

 

การศึกษาบทบาทของชนชั้นล่างในการปฏิวัติฝรั่งเศสตามแนวทางนี้ นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ชนชั้นกระฎุมพีมีพลังในการก่อการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แต่พวกเขาไม่มีศักยภาพเพียงพอในการรักษาและจัดการการปฏิวัติได้

ชนชั้นล่างและพวก “sans-culottes” ต่างหาก ที่เข้ามาเติมเต็มทำให้การปฏิวัติฝรั่งเศสยังเดินหน้าไปต่อ ไม่ต้องย้อนกลับไปสู่ระบอบเก่าหรือการประนีประนอม

ดังนั้น การปฏิวัติฝรั่งเศสจึงไม่ใช่การปฏิวัติกระฎุมพี แต่มันคือ “ปฏิวัติประชาชน”

ประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนัก jacobino-marxiste ครอบงำวงวิชาการประวัติศาสตร์ในฝรั่งเศสอย่างยาวนาน

จนกระทั่งถูกตอบโต้โดยคลื่นลูกหลังอย่าง Francois Furet นักประวัติศาสตร์ผู้โด่งดัง

งานของ Furet และสานุศิษย์ ประกอบกับลัทธิคอมมิวนิสต์ล่มสลายลงในหลายประเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนัก jacobino-marxiste เริ่มเสื่อมถอยลงในปี 1960

ในตอนหน้า เราจะกล่าวถึงการอธิบายประวัติศาสตร์ปฏิวัติฝรั่งเศสของ Francois Furet