เกษียร เตชะพีระ | เสรีนิยมใหม่ : ภูมิหลังทางแนวคิดและประวัติเศรษฐกิจการเมือง

เกษียร เตชะพีระ

เสรีนิยมใหม่ : ภูมิหลังทางแนวคิดและประวัติเศรษฐกิจการเมือง

สิ่งที่เราเรียกว่า เสรีนิยม (liberalism) วิวัฒนาการผ่านการคิดเรื่องหลักอย่างน้อย 5 ช่วงชั้น (layers) มีนักคิดต่างรุ่นต่างยุคสมัย 5 ช่วงชั้นด้วยกันที่คิดเรื่องนี้และต่างคนต่างคิดต่างประเด็นกัน (ดึงมาจาก Michael Freeden, Libealism : A Very Short Introduction, 2015, Chapter 3 Layers of liberalism)

ช่วงชั้นแรกของวิวัฒนาการเสรีนิยมเน้นเรื่องปัจเจกบุคคลมาก่อนรัฐ รัฐประกอบสร้างขึ้นจากสัญญาประชาคม (social contract) หรือความยินยอมสมมุติในหมู่บุคคลทั้งหลาย และดังนั้น รัฐจึงต้องถูกจำกัดอำนาจจากสิทธิโดยธรรมชาติของปัจเจกบุคคล (natural rights of the individual) เหล่านั้น นักคิดที่เป็นหลักหมายตัวแทนของเสรีนิยมช่วงชั้นแรกนี้ได้แก่ John Locke (ค.ศ.1632-1704)

ช่วงชั้นที่ 2 เน้นเรื่องสิทธิ เสรีภาพทางจิตวิญญาณและเศรษฐกิจ และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน นักคิดที่เป็นหลักหมายตัวแทนของเสรีนิยมช่วงชั้น 2 นี้ได้แก่ Immanuel Kant (ค.ศ.1724-1804) และ Adam Smith (ค.ศ.1723-1790)

ช่วงชั้นที่ 3 เน้นเรื่องการพัฒนาตัวเองของบุคคล บุคคลควรมีพื้นที่ส่วนตัวในการพัฒนาศักยภาพ ค้นหาตัวเอง สร้างตัวอย่างที่อยากจะเป็น นักคิดที่เป็นหลักหมายตัวแทนของเสรีนิยมช่วงชั้นที่ 3 นี้ได้แก่ Wilhelm von Humboldt (ค.ศ.1767-1835) และ John Stuart Mill (ค.ศ.1806-1873)

ช่วงชั้นที่ 4 หันไปสนใจประเด็นทางสังคม มุ่งผสานปัจเจกบุคคลกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างสอดรับกลมกลืนเกื้อกูลกัน เห็นว่าควรมีสวัสดิการต่างๆ ที่เอื้อเฟื้อให้สังคมส่วนรวมและปัจเจกบุคคลได้พัฒนาเติบใหญ่ไปด้วยกัน มักเรียกเสรีนิยมช่วงชั้นนี้ว่าเสรีนิยมแนวใหม่หรือเสรีนิยมทางสังคม (new liberalism or social liberalism) นักคิดที่เป็นหลักหมายตัวแทนของเสรีนิยมช่วงชั้นที่ 4 นี้ได้แก่ Leonard Trelawney Hobhouse (ค.ศ.1864-1929) และ John Atkinson Hobson (ค.ศ.1858-1940)

ช่วงชั้นที่ 5 คือเสรีนิยมที่เน้นเอกลักษณ์กลุ่มและการเมืองเรื่องเอกลักษณ์ (group identity & identity politics) ในแง่กลุ่มชนสังกัดผิวสี เชื้อชาติ เพศสภาพ ศาสนา ต่างๆ กัน เป็นต้น ซึ่งเติบใหญ่กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิบนฐานเอกลักษณ์กลุ่มนั้นในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและที่อื่นๆ ในโลกตะวันตกช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา

ดังนั้น เสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) คือการกลับไปเน้นช่วงชั้นที่ 2 ของเสรีนิยมโดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน กลับไปหาอาดัม สมิธ แล้วเอาฐานคิดนี้ไปให้ความชอบธรรมกับระเบียบเศรษฐกิจ การเมืองที่เรียกว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์ (globalized capitalism)

จุดเริ่มต้นง่ายที่สุดในการลองเข้าใจเรื่องนี้คือดูลำดับเหตุการณ์ของกระบวนการโลกาภิวัตน์คู่ขนานไปกับแนวคิดและนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่

ซึ่งมีด้วยกัน 4 จังหวะ

จังหวะที่ 1 คือก่อน ค.ศ.1929 ความเชื่อกระแสหลักที่แพร่หลายเห็นว่าตลาดสำคัญที่สุด รัฐชั่วร้าย ตลาดดี ดังนั้น รัฐไม่ควรเข้ามายุ่งกับเศรษฐกิจ ปล่อยให้ตลาดเป็นตัวนำ ผลก็คือตลาดหุ้นนิวยอร์กล่มปี ค.ศ.1929 ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (The Great Depression) ตลอดคริสต์ทศวรรษ 1930 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การปฏิวัติ พ.ศ.2475 ในสยาม เนื่องจากราคาข้าวส่งออกตกฮวบ รายได้ของหลวงที่เคยได้ลดน้อยลงมากจึงต้องดุลข้าราชการออก แล้วก็เกิดกระแสความขุ่นเคืองเดือดร้อนแพร่หลายทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปสู่การเมืองในรัชกาลที่ 7

จังหวะที่ 2 พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่แล้ว ความคิดครอบงำที่มองว่ารัฐชั่วร้าย ตลาดดีก็เริ่มเสื่อม ในยุคนั้นไม่ว่าจะซ้ายสุดอย่างเลนิน ผู้นำการปฏิวัติบอลเชวิกรัสเซีย ขวาสุดอย่างฮิตเลอร์ จอมเผด็จการนาซีเยอรมัน หรือเดินแนวทางปฏิรูปสายกลางอย่างจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลชาวอังกฤษ ต่างก็หันกลับไปเน้นรัฐเหนือตลาด (the statist consensus) ทั้งสิ้น เห็นพ้องกันว่าปล่อยให้ทุนนิยมถูกนำโดยตลาดอย่างเดียว ฉิบหายหมด เลนินบอกว่าต้องทำลายตลาด ฮิตเลอร์บอกว่าต้องจำกัดตลาด เคนส์บอกว่าต้องแทรกแซงตลาด ดังนั้น ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1930 ลงมาคือการกลับไปเน้นเรื่องรัฐ

แล้วบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจคริสต์ทศวรรษ 1930 คือมันนำไปสู่สงครามโลก ผู้คนในนานาประเทศยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีเดือดร้อนตกงานลำบากยากแค้นไม่มีทางออก จึงหันไปสนับสนุนเดินตามพวกนาซีขวาจัด ฮิตเลอร์เลยขึ้นสู่อำนาจ ดังนั้น ถ้าไม่อยากเจอฮิตเลอร์รอบ 2 ไม่อยากให้เกิดกลียุคภัยพิบัติอย่างสงครามโลกครั้งที่สองอีก จะปล่อยให้ตลาดเสรีสุดโต่งอีกไม่ได้

นี่คือที่มาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีข้อเสนอระบบการเงินโลกแบบเบร็ตตัน วูดส์ รัฐสวัสดิการ และการขึ้นมาครองอำนาจนำของสังคมประชาธิปไตยหรือ Social Democracy ซึ่งหมายถึงระเบียบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เอื้อเฟื้อต่อสวัสดิการสังคมในทั่วโลกตะวันตก

ผ่านจากช่วงเน้นรัฐตั้งแต่ราว ค.ศ.1945-1970 ทุนนิยมที่เน้นรัฐนำไปสู่ปัญหาอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ เงินเฟ้อ งบประมาณรายจ่ายของรัฐเพื่อสวัสดิการสังคมขยายตัวมาก ทำให้ขาดดุลงบประมาณ มีวิกฤตการคลัง พวกนายทุนไม่ยินดีที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเพื่อรองรับสวัสดิการสังคม

จังหวะที่ 3 พอถึงช่วง ค.ศ.1970-1980 กระแสความคิดหลักของโลกทุนนิยมตะวันตกจึงพลิกอีกที หันกลับไปเน้นตลาดอีก อันนี้คือจุดเริ่มต้นของเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) นักคิดในสกุลนี้ซึ่งอยู่ในยุโรปบ้าง อเมริกาบ้าง โดยเฉพาะในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการนำแนวคิดนี้ไปใช้ที่ชิลี หลังจากนายพลปิโนเชต์ทำรัฐประหารปี ค.ศ.1973 ก็เอานโยบายเสรีนิยมใหม่ไปทำ ต่อมาเมื่อนายกรัฐมนตรีหญิง มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ แห่งพรรคอนุรักษนิยมขึ้นสู่อำนาจในสหราชอาณาจักรปี ค.ศ.1979 และประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ขึ้นสู่อำนาจในอเมริกา ค.ศ.1981 ต่างก็เอานโยบายเสรีนิยมใหม่ไปทำ เริ่มยุคเน้นตลาดอีก

จากนี้ในขอบเขตโลกตะวันตกและต่อมาก็ทั่วโลก แนวทางเดิมแบบสังคมประชาธิปไตย (social democracy) ประสบวิกฤต สูญเสียอำนาจนำ เสรีนิยมใหม่ขึ้นมามีอำนาจนำแทน

สภาพดำรงอยู่อย่างนี้ถึงประมาณ ค.ศ.2008 แล้วก็เกิดวิกฤตซับไพรม์ เศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก (the subprime crisis & the Great Recession) นับแต่นั้นมาก็คือความเสื่อมถอยของอำนาจนำแบบเสรีนิยมใหม่บ้าง แล้วก็เริ่มหันกลับไปเน้นรัฐอีก

ซึ่งนี่คือจังหวะที่ 4 ในปัจจุบัน

นิทานเรื่องนี้มีแค่นี้เอง คือสลับกันไปมาระหว่างการเน้นรัฐเหนือตลาดกับการเน้นตลาดเหนือรัฐ สภาพตอนนี้คือเสรีนิยมใหม่ไม่ได้กุมอำนาจนำแล้ว คนเลิกเชื่อเสรีนิยมใหม่ในฐานะอุดมการณ์ที่นำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ

แต่นึกนโยบายใหม่ที่จะใช้ไม่ออก จึงมีปัญหาว่า แล้วจะเอาอะไรมาแทน จังหวะแบบนี้แหละที่เกิดเบร็กซิทในอังกฤษและทรัมป์ขึ้นสู่อำนาจในอเมริกา