ธงทอง จันทรางศุ | ฟิลาเดลเฟีย@อุบลราชธานี

ธงทอง จันทรางศุ

คนตัวเล็กๆ หนึ่งคนหรือสองคนอาจทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้

และร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่งกลางทุ่งก็อาจทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน

ใช่ครับ ผมกำลังจะพูดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อสองสามวันก่อน ผมมีโอกาสเดินทางไปร่วมงานสัปดาห์หนังสือที่จังหวัดอุบลราชธานี

โดยผมเดินทางไปค้างคืนล่วงหน้าหนึ่งคืน มีเวลาว่างช่วงเช้าสำหรับทำอะไรตามใจชอบก่อนขึ้นเวทีตอนบ่าย

ตอนเริ่มออกเดินทางยังคิดกังวลอยู่ในใจว่า ตอนเช้าจะทำอะไรดี

แต่ความวิตกข้อนี้ก็หมดไปเพราะเมื่ออ่านนิตยสารของสายการบินที่มีให้ประจำที่นั่ง เขามีการแนะนำร้านหนังสืออิสระทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ที่เด็ดสุดก็คือมีร้านที่จังหวัดอุบลราชธานีด้วย

ลายแทงในหนังสือเล่มนั้นบอกว่าชื่อร้านฟิลาเดลเฟีย รู้แค่นี้ก็ไม่ยากแล้วครับ

วันรุ่งขึ้นผมหาผู้เป็นเหยื่อได้สองคนเพื่อร่วมชะตากรรมเดินทางไปร้านหนังสือที่ว่า

ขึ้นต้นก็แปลกใจแล้วว่าร้านหนังสือชื่อนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดหรือฝั่งอำเภอเมืองอุบลฯ

หากแต่ต้องข้ามแม่น้ำออกไปทางอำเภอวารินชำราบ และวิ่งเลยตัวอำเภอออกไปจนผ่านหน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีไปแล้วครู่หนึ่ง กูเกิลจึงบอกให้เราเลี้ยวซ้ายเข้าซอยที่ไม่มีป้ายอะไรโดดเด่นเห็นชัดเลยสักป้ายเดียว

เข้าไปประมาณ 100 เมตรเราก็เห็นบ้านหลังหนึ่งอยู่ทางขวามือ

หน้าตาเป็นบ้านสองชั้นทรวดทรงประหลาด เพราะมีหลังคาทรงคล้ายดินสอขนาดยักษ์ เห็นจะมาถูกที่แล้วเป็นแน่

สิ่งที่ผมและคณะพรรคอีกสองคนได้เห็นเป็นภาพแรกเมื่อเดินเข้าไปในบ้านหลังดังกล่าว คือมีคุณผู้ชายสองคนกำลังเก็บหนังสือที่กองระเกะระกะลงกล่อง

ขณะที่คุณผู้หญิงอีกคนหนึ่งทำธุระอะไรง่วนอยู่ ฝาผนังและทุกซอกทุกมุมของบ้านมีหนังสือทั้งเก่าทั้งใหม่อัดแน่นเต็มไปหมด

จากพื้นจรดเพดาน จากประตูหน้าที่เราเดินเข้าบ้านไป มองไปทางด้านขวามือจะเห็นหน้าต่างบานเล็กเปิดอยู่ครึ่งบาน

มองนอกหน้าต่างออกไป เห็นทุ่งนาฟ้ากว้าง สีเขียวขจีและสีฟ้า

สวยจนเหมือนภาพวาดเลยทีเดียว

ผู้เป็นเจ้าบ้านทั้งหลายออกปากเชิญชวนให้เราเลือกดูหนังสือตามใจชอบ

เวลาผ่านไปครู่เดียว คุณผู้ชายผู้เป็นหัวหน้าใหญ่ที่สุดในบ้าน (จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ฮา!) ก็จำผมได้ เรื่องมาถึงขั้นนี้แล้วผมเลยถือวิสาสะเดินดูหนังสือพลางถามนู่นถามนี่ไปพลาง

ยิ่งคุยยิ่งถามผมก็ยิ่งตื่นตาตื่นใจกับร้านหนังสือเล็กๆ ที่ทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้

ผมขึ้นต้นคำถามที่ใจร้ายที่สุดโดยการถามว่า มาตั้งร้านหนังสืออยู่กลางทุ่งนาอย่างนี้แล้วจะอยู่รอดหรือครับ

คุณเจ้าของร้านสามีภริยาทั้งสองคนช่วยกันอธิบายว่า กิจการร้านหนังสืออยู่ในฐานะที่พออยู่ได้ แถมในสมัยนี้ยังมีการค้าออนไลน์ นอกจากลูกค้าที่ตั้งใจมาซื้อหนังสือที่ร้านโดยตรงแล้ว ร้านหนังสือแห่งนี้ยังมีลูกค้าที่สั่งซื้อในระบบออนไลน์อยู่มากพอสมควร

ส่วนที่ผมเห็นท่านทั้งหลายกำลังทำอะไรง่วนกันอยู่ ท่าทางเหมือนเก็บของย้ายบ้านนั้น

ที่จริงแล้วคือการคัดเลือกหนังสือจำนวนหนึ่งเพื่อแพ็กลงกล่องจำนวน 10 กว่ากล่อง สำหรับเตรียมไปออกงานที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีกิจกรรมหนังสือ

หนังสือที่เก็บลงกล่องนี้จะไปขายในงานนั้น ราคาขายเสมอกันหมดทุกเล่ม เล่มละหนึ่งบาท

ผมไม่ได้ฟังผิดและก็ไม่ได้เขียนผิด เล่มละบาทเดียวจริงๆ ครับ

แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวผมก็เห็นคติที่น่าสนใจแฝงอยู่ หนังสือที่คิดแจกฟรีนั้นเราไม่รู้จะแจกใครดี และคนที่รับไปแล้วบางครั้งบ่อยครั้งก็ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของหนังสือเล่มนั้น

วิธีการที่เราวางหนังสือไว้ให้เขาเลือก ใครสนใจหนังสือเล่มไหนก็มาหยิบไป จ่ายเงินในราคาเล่มละ 1 บาท ดูจะเป็นวิธีการที่ลงตัวที่สุด

เพราะผู้ซื้อก็แสดงเจตนาชัดเจนว่าอยากได้หนังสือเล่มนั้นไปอ่าน มีการกระทำเชิงสัญลักษณ์ด้วยการหยิบเงินหนึ่งบาทจ่ายให้ผู้ขาย

ผู้ขายที่คิดจะแจกหนังสือเล่มนั้นอยู่แล้วก็รู้สึกอุ่นใจว่ามาถูกที่ ถูกเวลา และถูกคน หนังสือเล่มนั้นของเราบัดนี้มีเจ้าของใหม่ที่เห็นคุณค่ารับไปอยู่ด้วยที่บ้านแล้ว

คำตอบที่ว่าร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียนี้ “พออยู่ได้” ก็น่าสนใจและมีความหมายสำคัญไม่แพ้กัน

ถ้าท่านเจ้าของร้านทั้งสองคนมีความคิดที่จะต้องกินอยู่หรูหรา บ้านช่องต้องใหญ่โตมหึมา ต้องอย่างโน้นต้องอย่างนี้ ลูกต้องเข้าโรงเรียนมีชื่อเสียงโด่งดัง รายได้จากร้านหนังสือที่ว่า “พออยู่ได้” ก็จะไม่พอขึ้นมาล่ะครับ

จากการพูดคุยกันในราวหนึ่งชั่วโมง ผมพอได้ทราบว่า คุณทอฟฟี่ผู้เป็นภริยารับราชการเป็นพยาบาลอยู่ในหน่วยงานแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างจากบ้านหลังนี้ไม่กี่กิโลเมตร

ส่วนคุณเจี๊ยบผู้เป็นสามีมีหน้าที่ประจำการอยู่ที่ร้านและมีอาชีพเป็นนักเขียนในนิตยสารสองสามเล่ม

ทั้งสองคนมีลูกที่น่ารักสองคน คุณทอฟฟี่ผู้เป็นคุณแม่ของเด็กทั้งสองบอกผมว่า “หนูเลี้ยงลูกด้วยหนังสือค่ะ”

นี่คือความพอเพียงของบ้านหลังนี้ และเป็นคำขยายความของคำว่า “พออยู่ได้” ของร้านหนังสือโดยตรงเลยทีเดียว

บนชั้นสองของบ้านซึ่งผมได้รับความกรุณาอนุญาตให้ขึ้นไปเดินชมอะไรต่อมิอะไรได้ บนนั้นมีห้องนอนสองห้อง สำหรับรับรองแขกเหรื่อที่ไปมาหาสู่ เวลานี้มีแขกประจำคือน้องผู้ชายคนหนึ่งที่ช่วยแพ็กหนังสืออยู่ที่ชั้นล่างนั่นล่ะครับ

น้องเป็นนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี่เอง

แรกทีเดียวก็เป็นลูกค้ามาซื้อหนังสือ ไปๆ มาๆ เมื่อพูดคุยกันถูกคอมากขึ้น น้องก็ขออาสามาช่วยทำงานในร้าน อยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน คุณทอฟฟี่ก็ทำกับข้าวกับปลาแบ่งกันกิน อีกปากเดียวท้องเดียวจะสิ้นเปลืองอะไรนักหนา

ถ้าน้องเขาตัวอ้วนเท่าผมก็ว่าไปอย่างหนึ่งนะ แบบนั้นต้องคิดหนักหน่อย

ทั้งหมดนี้ผมนึกแอบนินทาอยู่ในใจว่า ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียนั้นพออยู่ได้ เพราะคนเหล่านี้พอกันทั้งหมด พูดให้ไพเราะก็ต้องบอกว่าเป็นคนมีศีลเสมอกัน มีอัธยาศัยใจคออย่างเดียวกัน และมีอุดมคติอย่างเดียวกัน

ต้องถือว่าเป็นโชคดีวิเศษของทั้งคุณเจี๊ยบและคุณทอฟฟี่ที่ได้พบรักกันและได้สร้างครอบครัวที่มีความอบอุ่นอย่างเห็นได้ชัด

ความรักนั้นเผื่อแผ่ไปถึงคนในแวดวงที่มีใจรักหนังสือเหมือนกันด้วย ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ ในวันนั้นนอกจากหนังสือที่ผมมีโอกาสขออนุญาตอุดหนุนมาสองเล่มแล้ว

คุณเจี๊ยบยังกรุณามอบหนังสือที่เธอเขียนเองให้ผมเป็นอภินันทนาการติดไม้ติดมือกลับมาบ้านอีกหนึ่งเล่มด้วย

ระหว่างทางที่นั่งรถกลับเข้าเมืองอุบลฯ จากหนังสือเล่มที่ได้รับแจกมา ผมจึงคลายความเขลาและได้รู้ว่าคุณเจี๊ยบนั้นชื่อจริงคือ วิทยากร โสวัตร และเคยได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 เมื่อปีพุทธศักราช 2552 มาแล้ว

สุนทรพจน์ที่คุณเจี๊ยบกล่าวในงานรับรางวัลครั้งนั้น มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า

“ขอบคุณ “ทอฟฟี่” หญิงสาวคนรักที่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไป ตั้งแต่เช้าที่ผมตื่นมาพบว่ามียาสีฟันอยู่ในแปรงและมีกาแฟอุ่นๆ รออยู่ในแก้ว และยังทำให้ผมได้หวนคิดถึงทุกคืนที่เขียนหนังสือถึงตีสาม-ตีสี่จนไม่มีเรี่ยวแรง ก็ได้เธอนี่เองที่ตื่นขึ้นมาทำอาหารให้ หรือไม่ก็ขับรถมอเตอร์ไซค์พาไปกินข้าวต้ม และศรัทธาที่มีต่องานของผมก็ไม่เคยเสื่อมไปจากใจเธอ”

คนเป็นเบาหวาน หมอห้ามอ่านข้อความข้างต้นนี้นะครับ หวานถึงล้มถึงตายกันเลยทีเดียว

ไปอุบลฯ เมื่อไรอย่าลืมแวะไปฟิลาเดลเฟียนะครับ

งงไหมล่ะคุณ