นิธิ เอียวศรีวงศ์ | อาขยาน

นิธิ เอียวศรีวงศ์

คุณหญิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ เคยเสนอก่อนเข้ารับตำแหน่งว่าจะนำวิชาอาขยานกลับเข้าสู่ห้องเรียนใหม่ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้หลายประการ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

คุณหญิงอ้างว่า อาขยานช่วยสร้างสมาธิให้แก่เด็ก ซึ่งผมไม่ปฏิเสธ แต่คุณหญิงคงไม่ปฏิเสธเหมือนกันว่าเลขคณิตก็ช่วยสร้างสมาธิ, อ่านหนังสือก็ช่วย, ตั้งใจฟังครูก็ช่วย, เล่นหมากรุกหรือซ่อนหาก็ช่วย แม้แต่ฟัง ปชป.หาเสียง ก็ต้องใช้สมาธิให้มากเหมือนกัน จะได้จับได้ว่า อะไรที่เขาพูดแค่ให้เชื่อ และอะไรที่เขาตั้งใจจะทำจริง

เรียนหนังสือหรือทำขนมจีนน้ำยา ล้วนเป็นเรื่องต้องใช้สมาธิทั้งนั้น

เป็นความเข้าใจผิดของการศึกษาไทยตลอดมา ที่ไปเข้าใจว่าอาขยานมีไว้ฝึกสมาธิ แท้จริงแล้วอาขยานคือการฝึกหูครับ ฝึกให้หูรับรสความงามของเสียงเป็น แตกต่างจากการรับความหมายในการฟังวิทยุหรือฟังครูสอน

และเพราะเข้าใจผิด หรือเข้าใจไม่ทะลุ จึงไปจัดบทประพันธ์สั้นๆ ตอนหนึ่งที่กระทรวงศึกษาฯ เห็นว่าดีงาม แล้วบังคับให้เด็กท่องจำแบบคำต่อคำโดยไม่ผิดไม่พลาดเลย

ผมคิดว่าจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องการฝึกหูรับความงามของเสียงให้ตรงกันเสียก่อน เด็กทุกคนถูกฝึก (โดยผู้ฝึกไม่รู้ตัว) ให้ค่อยๆ แยกเสียงที่ไม่มีความหมายออกจากเสียงที่มีความหมาย จนในที่สุดก็นำมาซึ่งการสื่อความหมายกันด้วยเสียง (หรือภาษา) รวมทั้งให้ความหมายแก่เสียงที่เกิดตามธรรมชาติได้ตรงกัน เช่น เสียงไม้ไหวด้วยแรงลม ก็รู้ว่าลมพัดแผ่วไปจนถึงพายุฝน ต้องรีบเก็บผ้าเก็บปลาที่ตากไว้ เป็นต้น

เสียงที่เป็นถ้อยคำในภาษา ชนิดที่เปิดพจนานุกรมดูความหมายได้ ครอบงำหูของคนในโลกสมัยใหม่ (โดยเฉพาะคนไทย) เสียจนไม่ได้ยินเสียงที่พูดกับอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าพูดกับสมองแต่เพียงอย่างเดียว

ก่อนที่จะมีการพิมพ์ วรรณกรรมของคนเกือบทั้งโลกล้วนเป็นวรรณกรรมหูทั้งนั้น นั่นคือเหตุผลที่ส่วนมากทีเดียวของวรรณกรรมในสมัยนั้นมักเป็นคำประพันธ์ แม้แต่วรรณกรรมร้อยแก้วก็เผยแพร่ผ่านปากและหู Herodotus เผยแพร่ Historia ของตนผ่านการเล่าหรืออ่านในที่ชุมชน เช่นเดียวกับผู้ดีไทยในต้นรัตนโกสินทร์ฟังสามก๊กมากกว่าอ่านสามก๊ก

คำประพันธ์ไม่ได้มีแต่ความหมาย แต่มีเสียงอันไพเราะด้วยท่วงท่าของจังหวะ, ถ้อยคำหรือกลุ่มของถ้อยคำที่ให้ความประทับใจทั้งด้วยเสียงและความหมาย, บาทหนึ่งหรือวรรคหนึ่งนำเราไปสู่อีกบาทหนึ่งหรือวรรคหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนต้องตามมาอย่างเป็นธรรมชาติ หรือบางครั้งตามมาด้วยความประหลาดใจ ฯลฯ

นางพิมอาลัยชีวิต “ปรกติสุข” ของหญิงแม่เรือน ด้วยการกล่าวอำลาไม้ดอก ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของความ “ปรกติสุข” ของผู้หญิงที่งดงามกว่ากล่าวลาครกลาสาก แต่ความหมายที่สะเทือนใจนี้เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น และคงไม่ประทับใจเลยถ้าไม่แสดงออกด้วยเสียงที่งดงาม เช่น

“ลำดวนเอ๋ยจะด่วนไปก่อนแล้ว ทั้งเกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี จะโรยร้างห่างสิ้นกลิ่นมาลี จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ…”

ลองนึกไปเถิดครับว่าคำประพันธ์ที่ขาดเสียง (ดังเข้าหู หรือดังอยู่ข้างในหู) จะแห้งแล้งขนาดไหน แม้ความที่กล่าวไว้จะลึกซึ้งกินใจและชวนคิดขนาดไหนก็ตาม

ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี ซึ่งถือองค์ว่าเป็นกวีคนหนึ่ง เคยดำรัสวิจารณ์ “กวี” ร่วมสมัยบางคนว่า “ไอ้นั่นมันหูหนวก แต่งกวีนิพนธ์ไม่ได้หรอก” เสียงจึงเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของคำประพันธ์

จนไม่นานมานี้เอง คนไทยยังอ่านกวีนิพนธ์ด้วยหูตลอด ฉะนั้น เขาจึงอาจอ้างโคลงกลอนในวรรณคดีได้โดยไม่เคยตั้งใจท่องจำเลย แต่เพราะเสียงประทับใจ มันจึงซึมซับลงไปในความจำของเขาอย่างรวดเร็ว และยกขึ้นใช้ในการสนทนาเป็นปรกติ ในชีวิตผมได้รู้จักคุ้นเคยกับคนที่หู “ไม่หนวก” กับเสียงในกวีนิพนธ์มา 4 คน นั่นคือแม่ของผมเอง, อาจารย์อาคม พัฒิยะ, อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ หากไม่นับคุณสุจิตต์แล้ว ไม่มีใครแต่งกวีนิพนธ์ได้สักคน แต่ทั้ง 4 คนได้ผ่าน “การศึกษา” แบบเก่ามาทั้งนั้น ที่บ้านนะครับ ไม่ใช่ที่โรงเรียน

ข้อบังคับตำแหน่งครุ-ลหุในฉันท์ไทย คือเสียงเบาเสียงหนักในภาษาไทย ไม่ใช่รูปตัวสะกด หรือแม้เสียงเอก-โทในโคลงสี่สุภาพก็หมายถึงเสียงจริงๆ ไม่ใช่รูปตัวสะกด จนเมื่อการเสพวรรณกรรมตัวเขียนแพร่หลายมากขึ้นในหมู่ชนชั้นสูง ความเคร่งครัดต่อรูปตัวสะกดจึงเข้ามาแทนที่ แม้ว่าเสียงที่ได้อาจเป็นเสียงหนักในที่ซึ่งควรเป็นเสียงเบา และต้องไม่ลืมว่ารูปไม้เอกอาจให้เสียงโทก็ได้

การที่โคลงฉันท์กาพย์กลอนหายไปในสื่อที่คนทั่วไปอ่าน ทั้งในภาษาอื่นและภาษาไทยโดยเฉพาะนั้น ก็อาจเป็นเพราะกวีสมัยใหม่เป็นใบ้ ในขณะที่นักอ่านหูหนวก หากการสื่อความเหลือแต่เพียงเนื้อความ ปราศจากเสียงที่กระทบไปถึงใจ จะเขียนโคลงฉันท์กาพย์กลอนไปทำไม ความเรียงก็ทำให้สะเทือนใจได้เท่ากวีนิพนธ์ ผ่านความหมายและถ้อยคำที่ไม่มีเสียง

การฝึกให้คนหูไม่หนวกสามารถรับเสียงอันงดงามไพเราะได้ จะทำให้เขารวยหรือแม้แต่เลี้ยงตัวได้หรือไม่ ผมไม่ทราบ เพราะหน้าที่หลักของการศึกษาไม่เกี่ยวกับสองเรื่องนั้น หากเกี่ยวโดยตรงกับการเพิ่มสมรรถนะของผู้เรียน (แต่เรามักคิดไปในทางเพิ่มสมรรถนะของนายทุน ซึ่งไม่ได้อยู่ในห้องเรียน) หูที่ได้มาจากท้องแม่นั้น สามารถพัฒนาให้ทำอะไรอย่างมีประสิทธิภาพได้เพิ่มขึ้นไปอีกอย่างไพศาลสุดคณนา

เช่นเดียวกับการสอนให้คนฟังเพลง-ดนตรีเป็น (music appreciation ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องสอนวิชานี้ด้วยเพลงคลาสสิคฝรั่ง เพลงไทย เพลงไทยสมัยใหม่หรือลูกทุ่งก็เป็นดนตรีที่ควร appreciate เหมือนกัน) ก็เป็นการพัฒนาหูที่ได้จากท้องแม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ เพราะรุ่มรวยคำในความจำ ทั้งสี่คนที่ผมยกว่าจดจำข้อความในวรรณคดีไทยได้มากนั้น ต่างเป็นคนที่ใช้ภาษาไทยได้เก่งมาก ไม่จำเป็นต้องเก่งในทางแต่งคำประพันธ์อย่างคุณสุจิตต์ทั้งหมดนะครับ อาจเก่งไปทางอื่นก็ได้ เช่น สร้างคำทางวิชาการให้ตรงประเด็นใหม่ของตนเองได้อย่างมีพลัง หรือเอาภาษามาบิดผันอย่างชาญฉลาดเพื่อสร้างอารมณ์ขัน ฯลฯ เป็นต้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือ หูที่มีสมรรถนะ ทำให้ปากมีสมรรถนะเพิ่มขึ้นไปด้วย

ถ้าอาขยานคือการฝึกให้นักเรียนหัดฟัง “เสียง” ในโคลงฉันท์กาพย์กลอน ผมเชียร์คุณหญิงเต็มที่เลยว่าควรนำเอาอาขยานกลับมาสู่ห้องเรียนใหม่ ส่วนเมื่อเกิดความประทับใจกับ “เสียง” ในบทกลอนแล้วจะจดจำได้หรือไม่ก็แล้วแต่บุคคล บทกลอนที่ประทับใจก็ต้องประทับใจนักเรียน ไม่ใช่ประทับใจครู หรือยิ่งร้ายกว่านั้นคือประทับใจกระทรวง บางคนอาจจดจำได้เพียงบาทเดียว ในขณะที่บางคนอาจจดจำได้ทั้งบท นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ตรงกันข้าม หากสอนอาขยานแบบบังคับให้ท่องจำบางบทที่ใครก็ไม่รู้เบื้องบนสั่งมา ก็ไม่รู้จะท่องไปโดยไม่ได้ยินเสียงทำไม เหมือนสั่งให้ท่องเนื้อเพลงลูกทุ่ง โดยไม่มีทำนอง, จังหวะ, การประสานเสียงดนตรี ฯลฯ

ผมควรเตือนไว้ด้วยว่า คำว่า “อาขยาน” มาจากคำสันสกฤตว่า อกฺขยานะ หรือบาลีว่า อกฺขานะ แปลว่านิทาน, การเล่า, การสวด ส่วนคำแปลว่า “บทท่องจำ” กระทรวงศึกษาฯ มาบัญญัติขึ้นเองในภายหลัง ขอให้สังเกตนะครับว่า การเล่า, การสวด ล้วนเป็นเรื่องของเสียงทั้งนั้น.

ไม่เฉพาะแต่วิชาอาขยาน วิชาต่างๆ ที่อยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ มักกำหนดกันขึ้นจากเนื้อหาว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เด็กระดับนั้นระดับนี้ควรรู้ โดยไม่เคยถามว่าจะเรียนหรือรู้ไปทำไม ทั้งนักการเมืองและนักการศึกษาจึงยัดเยียดเนื้อหาลงไปในหลักสูตรจนนักเรียนหลังแอ่นด้วยตำราเรียนเต็มย่าม ถ้าเราจัดหลักสูตรด้วยจุดมุ่งหมายแทนเนื้อหา คือแต่ละวิชาจะเพิ่มสมรรถนะของผู้เรียนได้อย่างไร บางทีเด็กอาจไม่ต้องเรียนอะไรมากนัก เช่น หากสอนวิชาวรรณคดีหรือการอ่านให้ถึงแก่นได้จริง วิชาอาขยานก็มาเองโดยไม่ต้องแยกเป็นอีกวิชาหนึ่ง

เด็กก็จะเรียนหนังสือสนุกขึ้น เพราะพัฒนาการของความรู้จะเป็นไปตามธรรมชาติและเงื่อนไขของเด็กแต่ละคน โดยไม่มีการบังคับ