คุยกับทูต ‘โลเรนโซ กาลันตี’ ความสัมพันธ์การค้าระหว่างไทย-อิตาลี เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าสนใจกว่า 3 พันล้านยูโร

อิตาลีจับมือไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งกระชับสัมพันธ์กับอาเซียน (3)
“อีกมิติหนึ่งในความสัมพันธ์ของเรา คือการค้าขาย ซึ่งเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด การค้าระหว่างไทย-อิตาลี เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าสนใจกว่า 3 พันล้านยูโรในปัจจุบัน และค่อนข้างสมดุล อิตาลีส่งออกสินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรอุตสาหกรรมและอาหารมายังประเทศไทย แต่ในแง่ของมูลค่า เครื่องจักรอุตสาหกรรมเป็นส่วนที่มีมูลค่ามากที่สุด ในขณะที่เรานำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร และอื่น ๆ อีกหลายอย่างจากไทย” 

นายโลเรนโซ กาลันตี (H.E. Mr. Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย กล่าวถึงการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

“ผมคิดว่าการค้าของเราจะได้ประโยชน์จากการจัดกิจกรรมโรดโชว์ของไทยในอิตาลี และ
บริษัทอิตาลีร่วมในงานแสดงสินค้าที่ประเทศไทย อันเป็นการส่งเสริมการค้าขายระหว่างกัน เรื่องที่เราทำร่วมกับคณะกรรมาธิการการค้าของอิตาลี (Italian Trade Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อการค้าภาครัฐของเราที่นี่ คือสนับสนุนผู้ต้องการเข้าร่วมกับบริษัทอิตาลีในงานแสดงสินค้าที่ประเทศไทย”

“เนื่องจากงานแสดงสินค้าดังที่กล่าวมานี้ ได้กลายเป็นงานแสดงสินค้าระดับภูมิภาค เป็นแหล่งที่
ผู้เร่วมงานสามารถพบผู้ประกอบการจากชาติสมาชิกอาเซียน (ASEAN) รวมทั้งผู้ประกอบการนอกอาเซียน เช่น เกาหลี เป็นการขยายภูมิภาคที่กว้างขึ้น และเรากำลังพยายามจัดงานโรดโชว์ ในประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นปีหน้า”


เนื่องจากไทยและอิตาลีมีความสัมพันธ์ที่ดีและราบรื่นมาตลอด โดยอิตาลีถือเป็นคู่ค้าอันดับ 25
ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในสหภาพยุโรป ในปี ค.ศ. 2018 ไทยและอิตาลีมีมูลค่าการค้ารวม 3,854.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3.76% มูลค่าการส่งออก 1,689.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการนำเข้า 2,165.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในปีที่ผ่านมา อิตาลีและไทยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวมกว่า 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 2017 ประมาณ 0.77%

อีกทั้งปี ค.ศ. 2019 นี้เป็นปีที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 151 ปี จึงเป็น
โอกาสดีที่ไทยและอิตาลีจะขยายความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติผ่านกรอบต่าง ๆ เช่น พหุภาคี ภูมิภาค และทวิภาคี นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมทั้งของภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน การขยายความร่วมมือในสาขาที่ต่างฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน

“บริษัทอิตาลีที่มาลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ บริษัทในเครือของ ดานิลี่ (Danieli) ผู้ผลิตอุปกรณ์
เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม ผลิตเหล็กเป็นอันดับสามของตลาดโลก, บริษัท ดูคาติ มอเตอร์ โฮลดิ้ง (Ducati Motor Holding S.p.A.) ออกแบบและผลิตจักรยานยนต์ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโบโลญญาอิตาลี, บริษัท คาวันญ่า กรุ๊ป เอเชีย จำกัด (Cavagna Group Asia Ltd.) ผู้ผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนในการควบคุมก๊าซชั้นนำของโลก, บริษัท วิตตอเรีย อินดัสตรี้ส์ จำกัด (Vittoria Industries Ltd.) ผลิตยางล้อจักรยานแถวหน้าในวงการ เป็นต้น” ท่านทูตโลเรนโซ ชึ้แจง

“นอกจากนี้ บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (Italian State Railway : Ferrovie dello Stato Italiane
S.p.A.) หรือ FS หนึ่งในพันธมิตรของกลุ่มซีพี (CP) ได้รับเลือกเข้ามาบริหารงานสำหรับรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างสนามบินทั้งสามแห่งในกรุงเทพฯและเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)”


เนื่องจากรถไฟความเร็วสูง มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก
ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ 4.0 ของประเทศไทย

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เป็นโครงการที่
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดให้เอกชนเข้ามาซื้อซองประมูล มีระยะทางรวม 220 กิโลเมตร ด้วยงบการลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ปีนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย
(รฟท.) ร่วมลงทุนกับกลุ่มกิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินรวมระยะทาง 220 ก.ม. และซีพี (CP) ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องของการเลือกใช้คนเก่งและมือดีจากทั่วโลก ได้ให้บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี เข้ามาบริหารจัดการงานรถไฟความเร็วสูง
บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี ยังเป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างรถไฟ MRT สายสีส้ม (ส่วน
ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปัจจุบัน เป็นการยืนยันการมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติโรมัน( italy-museum.com)

อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงได้อย่าง
รวดเร็ว จุดเด่นของรถไฟอิตาลี คือ ระบบที่มีมาตรฐานและการควบคุมที่เชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เส้นทางรถไฟความเร็วสูงของอิตาลี จะเชื่อมเมืองต่าง ๆ ไว้ทั้งหมด ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตะวันออกไปตะวันตก ปัจจุบันดำเนินการโดยบริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (Ferrovie dello Stato Italiane S.p.A.) หรือ FS มีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของอิตาลีถือหุ้น 100% มีบริษัทลูกกว่า 90 แห่ง ทำธุรกิจครอบคลุมเบ็ดเสร็จ 4 ด้าน คือ

1.การขนส่ง 2.โครงสร้างพื้นฐาน 3.การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ 4.การให้บริการอื่น ๆ โดยเชื่อมเส้นทางทั่วยุโรป ผ่านเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงระยะทางกว่า 16,700 ก.ม. ที่มี FS เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ลงทุนขบวนรถ ระบบบริหารจัดการและศูนย์ซ่อม เป็นบริษัทที่บริหารรถไฟโดยให้บริการแบบครบวงจร และให้ทางเลือกในการเดินทางทั้งระบบรางและถนน

“สำหรับไซเปม (Saipem S.p.A.) เป็นผู้รับเหมาในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ มีสำนักงานใหญ่
อยู่ที่อิตาลี ให้บริการในด้านวิศวกรรมและก่อสร้างในทะเล ไซเปมได้รับงานสองโครงการสำคัญในประเทศไทย คือสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว หนองแฟบ และการขยายโรงกลั่นน้ำมันที่ศรีราชา ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรีชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย โดยบริษัทน้ำมันของอิตาลี ENI ร่วมมือกับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เรื่อง การให้สัมปทานสำรวจ”

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติโรมัน

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โดยบริษัท พีทีทีอีพี มีนา
จำกัด (PTTEP MENA Limited) ซึ่งร่วมทุนกับบริษัท อีเอ็นไอ อาบูดาบี (Eni Abu Dhabi) บริษัทในเครือของอีเอ็นไอ (Eni) ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศอิตาลี ได้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งในแปลงสำรวจออฟชอร์ 1 (Offshore 1) และแปลงออฟชอร์ 2 (Offshore 2) จากบริษัท อาบูดาบี เนชั่นแนล ออยล์ หรือ แอดนอค (Abu Dhabi National Oil Company หรือ ADNOC) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จากการเปิดประมูลครั้งแรกในประเทศ นับเป็นก้าวแรกของ ปตท.สผ. ในการลงทุนในยูเออี สะท้อนความสำเร็จของบริษัทในการลงทุนตามแผนกลยุทธ์

การประชุม อิตาเลียน–ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งที่ 5 ปีค.ศ. 2019 ณ กรุงโรม

“เราเริ่มมีการประชุม อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม (Italian-Thai Business Forum) เมื่อ ปี ค.ศ.
2015 และจัดเป็นประจำทุกปีในประเทศไทยหรือในอิตาลี” ท่านทูตกล่าวเพิ่มเติม
อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม (Italian-Thai Business Forum) เริ่มครั้งแรกเมื่อค.ศ. 2015 ตาม
แนวคิดของอดีตเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย นายฟราสเชสโก ซาเวริโอ นิซิโอ โดยความร่วมมือจากคณะกรรมการการค้าแห่งประเทศไทย (Board of Trade of Thailand : BOT) และการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของอิตาลี

ร่วมประชุม อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ที่กรุงโรม

“สำหรับการรวมพลเจรจาทางการค้าในการประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งที่ 5 ปี
ค.ศ. 2019 ณ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติโรมัน (The Baths of Diocletian – National Roman Museum) กรุงโรม ประกอบด้วยผู้นำทางด้านธุรกิจชั้นนำจากประเทศไทย และประเทศอิตาลี รวมทั้งสิ้น 25 บริษัท ประธานการประชุมร่วมฝั่งไทยคือ นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัลจำกัด ส่วนฝั่งอิตาลีคือ มร. คาร์โล เปซานตี (Mr. Carlo Pesenti) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อิตาโมบิเลียเร่ (Italmobiliare) กลุ่มอิตัลซีเมนติ”


อนึ่ง ผู้ที่สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ ได้แก่ นายโลเรนโซ กาลันตี (H.E. Mr. Lorenzo Galanti)
เอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำประเทศไทย, นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย, นายแมนลิโอ ดิ สเตฟาโน (H.E. Mr. Manlio Di Stefano) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของอิตาลี และ นายเชิดชู รักตะบุตร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม

อิตาลีเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 8 ของโลก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของ
ภูมิภาคยุโรป มีธุรกิจ SMEs อุตสาหกรรมแฟชั่นและอาหารที่แข็งแกร่ง เป็นที่ยอมรับทั่วโลก และเมื่อ 25 บริษัทชั้นนำจากอิตาลี-ไทย รวมพลเพื่อเจรจาทางการค้าในเวทีอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งที่ 5 เป็นการขับเคลื่อนธุรกิจที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงนับเป็นเวทีสำคัญยิ่งในการพบปะภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความร่วมมือและพัฒนาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของไทยและอิตาลีให้ทวีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติโรมัน (The Baths of Diocletian – National Roman Museum)