จรัญ มะลูลีม : การมาถึงของอิสลามในอินเดีย (1)

จรัญ มะลูลีม

อิทธิพลของอิสลามที่มีต่อศาสนาฮินดูนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่มีความสำคัญมาก น่าเสียใจที่นักเขียนตะวันตกรวมทั้งนักเขียนอินเดียเอง (นอกจาก ดร.ทาราจันทร์ คนเดียว) ได้ละเลยข้อเท็จจริงนี้ไป

อันที่จริงแล้วย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามุสลิมเองก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูด้วยเหมือนกันในบางแง่มุมที่สำคัญมาก เช่นได้หยิบยืมบางแง่มุมของลัทธินิยมความลี้ลับมาจากศาสนาฮินดู รวมทั้งประเพณีบางอย่างด้วย

แต่หลักการสำคัญๆ ของศาสนาฮินดูไม่มีอิทธิพลต่ออุดมการณ์และกฎข้อบังคับของชีวิตของมุสลิมเลย

ไม่มีนักคิดมุสลิมคนสำคัญคนใดยอมรับคำสอนเรื่องที่วิญญาณผ่านจากร่างเดิมไปสู่ร่างอื่น การอวตาร กรรม และการมีพระเจ้าหลายองค์ในรูปแบบใดๆ ก็ตาม

ตรงกันข้าม ความคิดเรื่องพระเจ้าองค์เดียวของมุสลิม รวมทั้งความเชื่อในเรื่องภราดรภาพสากลของมนุษยชาติกลับถูกชาวฮินดูรับไว้ซึ่งพวกเขาอ้างว่ามีต้นตอมาจากฮินดู

ปรัชญาอินเดียหลังศตวรรษที่ 7 มีความสนใจอย่างมากในเรื่องพระเจ้าองค์เดียวและสังคมที่ปราศจากชั้นวรรณะ และเน้นในเรื่องพิธีการและการปฏิเสธชีวิตน้อยกว่า

ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดจากพลังด้านสังคมวิทยาและเทคโนโลยี ซึ่งการมาถึงของอิสลามเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งมีความสำคัญทางด้านวัฒนธรรมและปรัชญา

จากการสำรวจดูการติดต่อทางวัฒนธรรมอย่างสั้นๆ เราทราบว่าอิทธิพลของมุสลิมแรกเริ่มมีอยู่ในสมัยสังการา แล้วก็มาถึงสมัยรามานุจาลงมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

การติดต่อทางวัฒนธรรม

หากไม่ใช่ก่อนหน้านั้น อิทธิพลของอิสลามที่มีต่อวัฒนธรรมความคิดและศาสนาของอินเดียรู้สึกได้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 (ฮิจญ์เราะฮ์ศักราชที่ 3) แล้ว ข้อเขียนของนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์มุสลิมแสดงให้เห็นว่าชาวมุสลิมมาตั้งหลักแหล่งในตอนแรกอยู่ทางตอนใต้ของอินเดียคือบนฝั่งมาละบาร์ โดยมีอาชีพเป็นพ่อค้า

คนเหล่านี้มักจะเทศนาสั่งสอนศาสนาของพวกเขา มีรายงานถึงสาวก (เศาะฮาบะฮ์) ท่านหนึ่งของท่านศาสดาที่ชื่อ ตะมีม อันศอรี มาอยู่ที่เมืองไมลาปูร์ ทางใต้ของเมืองมัทราส ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเชนไน

อิสลามยังทะลุเข้าไปในศรีลังกา (ชื่อเดิมว่าซีลอน) ด้วย อิบนุ บะฏูเฏาะฮ์ ได้กล่าวถึงนามของ ชัยค์อับดุลลอฮ์หะนีฟ, ชัยค์ อุษมาน, และบาบาฏอฮิร ในบรรดาคนอื่นๆ เหล่านี้

เมื่อกองเรือของชาวอาหรับมาถึงน่านน้ำอินเดียในศตวรรษที่ 15 ก็ถูกขับไล่ไป แต่ก่อนหน้านี้ราวๆ ตอนปลายของศตวรรษที่ 7 ได้มีชาวอาหรับมุสลิมมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ฝั่งทะเลมะละบาร์

มุฮัมมัด บิน กอซิม ได้มารุกรานแคว้นสินธุ ใน ค.ศ.712 กองทัพนี้ฮัจญาจตัวแทนของราชวงศ์อุมัยยะฮ์แห่งอิรักและอิหร่านเป็นผู้ส่งมา เมื่อชนะแคว้นสินธุ อิสลามก็เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดและวัฒนธรรมของชาวอินเดีย

ประเทศอินเดียส่วนนี้คงเป็นเขตแดนในตะวันออกไกลของรัฐเคาะลีฟะฮ์ (Caliphate) จนถึง ค.ศ.880 เมื่อเคาะลีฟะฮ์เริ่มเสื่อมลง

ราชอาณาจักรฆ็อชนะฮ์ที่สร้างโดยสุบุกติดีนเป็นผลโดยตรงของความเสื่อมโทรมของระบอบเคาะลีฟะฮ์ นโยบายก้าวร้าวของสุบุกตีดีนถูกติดตามโดยมะห์มูด บุตรชายผู้ทะเยอทะยานของเขาและพวกผู้นำ ชาวมุคัล (Mughal) ตาร์ตาร์ คูรอซาน และอัฟกัน (มุสลิมผู้รุกรานไม่เคยมีความตั้งใจที่จะแพร่หลายศาสนาของตน ชาวพื้นเมืองจำนวนมากหันมารับศาสนาอิสลามมิใช่เพราะการครอบครองทางการเมืองของมุสลิม แต่เพราะเหตุผลอื่น)

ที่สำคัญที่สุดก็คือความเรียบง่ายแห่งคำสอนของอิสลามคือภราดรภาพและสถานภาพอันเท่าเทียมกันของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นวรรณะศูทรหรือไม่ก็ตาม เค.เอ.นิลกานต์ ยอมรับว่าลัทธินับถือพระเจ้าองค์เดียวและจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยของอิสลามเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดการปฏิวัติทางศาสนา-ปรัชญาขึ้นในอินเดีย

แคว้นสินธุเป็นแคว้นด้านนอกของระบอบเคาะลีฟะฮ์อยู่จนถึง ค.ศ.880 ในระหว่างช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะในรัชสมัยของเคาะลีฟะฮ์อัล-มันซูรอัล-ฮารูน, และอัล-มะมูนได้มีความพยายามที่จะเข้าใจความคิดของอินเดีย บัณฑิตฮินดูของแคว้นสินธุได้มายังราชสำนักของอัล-มันซูร และเสนองานด้านดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงสองชิ้นคือพรหมสิทธิชันตะและคันดาคัดยะกะ

งานสองชิ้นนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอาหรับ นักวิชาการชาวอาหรับถูกส่งไปยังอินเดียเพื่อศึกษาความคิดของอินเดียและนักวิชาการอินเดียก็ได้รับการเชื้อเชิญให้มายังราชสำนักบัฆดาด (แบกแดด) เพื่ออธิบายถึงความรู้ของฮินดู

ในศตวรรษที่ 11 อัล-มุวัฟฟิก กับอัล-บิรูนิ ได้ไปเยือนอินเดียเพื่อศึกษาด้านการแพทย์ ดาราศาสตร์และปรัชญาของอินเดีย อัล-บิรูนิ เป็นคนแรกที่ได้แปลเรื่องภควัตคีตา ให้มุสลิมรู้จักด้วย

ชาวฮินดูก็มีความกระตือรือร้นที่จะได้เข้าใจศาสนาและความคิดของมุสลิมเหมือนกัน ในรัชสมัยของ เคาะลีฟะฮ์ ฮารูนอัร-รอซีด ราชาฮินดูองค์หนึ่งได้ขอร้องให้ส่งนักวิชาการไปให้พระองค์เพื่ออธิบายหลักการของอิสลาม

มัสอูดีนักประวัติศาสตร์รายงานว่าเมื่อตอนที่เขาไปถึงอินเดียใน ค.ศ.914 เขาได้พบว่าผู้ปกครองซึ่งเป็นพราหมณ์คนหนึ่งมีความสนใจอิสลามเป็นอย่างมาก จึงได้เชิญท่านไปอภิปรายกันในเรื่องศาสนา

ปรัชญาอินเดียคงจะต้องแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในตอนนี้อย่างมากถ้าอิสลามมิได้เข้าไปในขอบเขตของความคิดของชาวอินเดียและคงจะไม่มีพวกสังการาอยู่

สมาชิกกลุ่มมุอ์ตะซิละฮ์ทุกคนยกเว้น อัล-ญาฮิซ ได้อภิปรายถึงปรัชญาและทฤษฎีของพวกเขาก่อนที่สังการาจะเกิดขึ้นในเสี้ยวสุดท้ายของศตวรรษที่ 8 พวกมุอ์ตะซิละฮ์เป็นพวกที่ยึดหลักทฤษฎีว่ามีพระเจ้าองค์เดียวไม่ยอมรับว่าพระเจ้ามีคุณสมบัติที่เป็นนิรันดร์

พวกสังการาเองก็เป็นผู้ที่เชื่อว่าใจกับกายเป็นสิ่งเดียวกัน (โมนิสท์) ในข้อเขียนของสังการาเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสิ่งที่เป็นจริงอย่างหนึ่งอย่างเดียวเท่านั้น (สิ่งอื่นๆ ทุกสิ่งล้วนแต่เป็นสิ่งหลอกลวง) เพราะพบว่ามีการเน้นมากขึ้นในเรื่องเอกภาพของพระเจ้า ซึ่งคนบางคนถือว่าเป็นการขยายของความมีหนึ่งของพระเจ้าแบบดึกดำบรรพ์ของคัมภีร์อุปนิษัท

อะบูอัล-หุซัยล์ นักมุอ์ตะซิละฮ์คนสำคัญปรากฏว่าเป็นผู้เบิกแนวทางของพวกโมนิสท์ อันเป็นชาวฮินดูผู้ถือว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้รู้ มีความรักและทรงพลังอำนาจ

นอกจากกลุ่มมุอ์ตะซิละฮ์ กลุ่ม อัช-อะริยะฮ์ และ อัล-ฆาซาลี ผู้ซึ่งทฤษฎีของคนเหล่านั้นได้พบหนทางเข้าไปในอินเดียผ่านหนทางต่างๆ แล้วนั้นยังมีเส้นทางอันยาวนานไม่ขาดสายของพวกซูฟี ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สาวก (เศาะฮาบะฮ์) รุ่นแรกๆ ของท่านศาสดา ซึ่งวางตัวอย่างไว้ให้พวกซูฟีโดยความกระตือรือร้นในเส้นทางของอิสลาม โดยความศรัทธาและโดยชีวิตอันเข้มงวดที่พวกเขาดำรงอยู่

พวกซูฟีซึ่งมี อิบรอฮีม บินอะซัม (สิ้นชีวิตใน ค.ศ.160 หรือ ฮ.ศ.783) ฟาฏิล บินอิยาด (สิ้นชีวิต ค.ศ.185 หรือ ฮ.ศ.901) และรอบิอะฮ์อัล-อัดวีย์ยะฮ์ (ถือกำเนิดเมื่อ ค.ศ.1016) เป็นมุสลิมจารีตนิยมซึ่งไม่มีแนวความคิดเรื่องพระเจ้ามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่ก็ชอบการละเลยตัวเอง

มีศรัทธาอย่างร้อนรนและนิยมความเงียบไปจนสุดโต่ง