อภิญญา ตะวันออก : คำพิพากษา “พี่น้องหมายเลข 2” แห่งเขมรแดง

อภิญญา ตะวันออก

ระหว่างทำต้นฉบับปราสาทพันปีหนองป่าพงหรือปราสาทตรอเปียงพงนั้น พลันฉันก็รำลึกและตระหนักว่า ฤๅควรจะกลับไปเขียนงานด้านโบราณคดีให้มากกว่าที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยได้รับคำถามถึงด้านนี้ เนื่องจากมีนักอ่านบางกลุ่มเข้าใจว่า “อัญเจียแขมร์” น่าจะมีเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดีทางแขมร์มากกว่าเรื่องสังคมปัจจุบัน ซึ่งฉันยอมรับว่า กว่าจะอ่านงานวิจัยว่าด้วยหลักฐานใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจเหล่านี้ คือสิ่งที่เราต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการคลี่คลายเนื้อหาที่อาจเชื่อมโยงกับยุคสมัย

กระนั้น ฉันก็ตั้งใจเทียวว่า เมื่อกลับมาจากการ “เข้าเงียบ” (กิจกรรมที่ฉันชมชอบ) ครั้งนี้ ฉันจะให้ความสำคัญด้านโบราณคดีรวมทั้งประเด็นเถรวาทศาสนาในอินโดจีนให้มากกว่าที่ผ่านมา

แต่แล้วการตายของนวน เจีย ก็ปลุกฉันกลับมาในเรื่องการเมืองแบบเดิมๆ อีกครั้ง

 

คราวหนึ่งที่พลัดหลงไปพบนวน เจีย ที่เรือนไม้ชายป่าติดชายแดนไทย บ้านหลังนี้เล็กมาก และห้องนอนของนวน เจียก็มีขนาดเท่ากับกุฏิสักหลังหนึ่ง

สิ่งที่ฉันชอบคือครัวเปิดนอกชานที่แม่บ้านของนวน เจีย จะประกอบอาหารจากเตาอั้งโล่ตรงนั้น

พลัน ฉันก็พบว่า ระยะหลัง ความทรงจำในแบบนักมานุษยวิทยา (สมัครเล่น) ด้านวิถีชุมชน ดูจะมีอิทธิพลต่อฉันอย่างไม่รู้เท่าทัน จนเมื่อนวน เจีย ตาย นั่นเองที่ฉันพบว่า บางทีชีวประวัติในคำบันทึกของศาล ว่าด้วยคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาจจะทำให้เรามองเห็นแต่บางสิ่งที่ถูกทำให้จดจำ

กระทั่งการพบหลักฐานล่าสุดจากชาวกัมปูเจียกรอมที่ถูกแขวนไว้ตั้งแต่ปี 2555 นั่นเอง ที่ทำให้ พลัน การฉุกคิดถึงปมชีวิตวัยหนุ่มของนวน เจีย ในเมืองไทยก็กลับมา

(https://youtu.be/_4dHEQPhRu8)

 

นวน เจีย เกิดในพระตะบอง ปี พ.ศ.2469 จึงได้สิทธิเป็นพลเมืองไทยที่ปกครองพระตะบองขณะนั้น ด้วยเหตุนี้ ครอบครัวจึงส่งเขามาเล่าเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ในนามเด็กชาย “รุ่งเลิศ เหล่าดี” ขณะมีชื่อเขมรนั้นคือ “ลง บุนร็อต”

นวน เจีย เล่าชีวิตปฐมวัยของตนในเมืองไทยที่ไม่ต่างจากผู้นำเขมรคนอื่นๆ ที่เริ่มต้นจากการเป็นเด็กวัดเพื่อเล่าเรียนหนังสือ กระนั้น ความปรารถนาจะบวชเรียนแต่ต้น ทำให้เขาสมัครเป็นสมาชิdยุวพุทธศาสนิก

ทุกๆ สัปดาห์ เด็กชายรุ่งเลิศจะต้องไปฟังคำเทศนาที่นั่น ที่ซึ่งเขาชื่นชมว่ามีพระเถรานุเถระเก่งๆ ผลัดเปลี่ยนมาอบรมเทศนาธรรมะ จนเขารู้สึกจับใจและนึกอยากบวช ซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะได้บวชเป็นสามเณรในช่วงเวลาหนึ่ง

นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันอีกว่า มีบันทึกตอนหนึ่ง สมัยที่คณะกัมพูชาประชาธิปไตยปกครองประเทศ (2518-2522) นวน เจีย เคยผ่อนปรนมารดาผู้ชราในการปฏิบัติทะนุบำรุงศาสนาและพระสงฆ์ ซึ่งถือเป็นการแหกกฎลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างร้ายแรง

และเป็นหลักฐานนอกกรอบศาลเขมรแดงว่าด้วยข้อแก้ต่างในความเป็นผู้นำลำดับ 2 ที่รองจากพล พต

 

จากประสบการณ์ด้านการศึกษาในเมืองไทยนี้ ดูราวกับเขาจะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จทีเดียว โดยขณะสำเร็จมัธยมปลายราวปี พ.ศ.2487 นั้น นวน เจีย กล่าวว่า ด้วยความจนไม่มีเงินเรียนต่อ จึงไปสมัครทำงานที่กระทรวงการคลัง ได้รับบรรจุอัตราเป็นนายเสมียนบัญชี

แต่เหตุเป็นคนไม่ชอบตัวเลข เขาจึงลาออก แล้วไปสมัครที่กระทรวงการต่างประเทศแทน ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำกองอินโดจีน (ลาว เวียดนาม กัมพูชา) และรวมพม่าอีกประเทศหนึ่ง ด้วยอัตราเงินเดือนเริ่มต้น 24 บาท

ชีวิตนวน เจีย ที่เมืองไทยจึงราบรื่นกว่าที่คิด อาจกล่าวได้ว่า ตลอดชีวิตของเขาที่เกี่ยวกับเมืองไทยนั้น แทบจะไม่มีความคับข้องใจใดๆ นอกจากเรื่องเดียวที่รบกวนจิตใจอันเกี่ยวกับทาง 2 แพร่ง ขณะอยู่เมืองไทย

นั่นคือ ระหว่างการถือบวชเถรวาทกับนักปฏิวัติ

และว่า คิดฝันไปเองว่า เมืองไทยมีเอกราชคงก้าวหน้ามีเสรีภาพ แต่กลับไม่เท่าไรเมื่อเทียบกับประเทศอาณานิคมฝรั่งอย่างเขมร และเมื่อใช้ชีวิตคลุกคลีเข้าไปในหมู่คนไทย กลับเห็นแต่ความเหลื่อมล้ำ ความทุกข์ยากในคนไทยจำนวนมากไม่ต่างจากเขมรเลย

เจียวิจารณ์ว่า กลุ่มคนหัวก้าวหน้าของไทยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ก็ถูกกระทำไม่ต่างจากนายซึง ง็อกทันห์ นักคิดคนสำคัญชาวเขมร ที่ถูกฝ่ายตรงข้ามเล่นงานการเมืองจนต้องลี้ภัยไปต่างแดน ตัวอย่าง กรณีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เขาศึกษาเป็นนิสิต (ภาคค่ำ)

เช่นนั้น ก็ยังให้เครดิตสถาบันแห่งนี้ว่า เต็มไปด้วยครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ที่สำเร็จมาจากต่างประเทศ ทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ชีวิตในกองงานแผนกอินโดจีนของกระทรวงdkiต่างประเทศนั่น ทำให้เขาต้องเข้าไปทำงานในจำปาสัก-ปากเซของลาวใต้

พลัน จากประสบการณ์ในวัยเด็กก็ทำให้เขาจดจำแต่ความอยุติธรรมของหมู่ข้าราชการอินโดจีนในกัมพูชาที่กระทำทารุณต่อคนท้องถิ่น จนอาจกล่าวได้ว่า นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เลือกเป็นนักปฏิวัติ

นั่นคือโลก 2 ด้านที่เขาชัดเจนมาแต่ต้น จากการเผาศพที่ป่าช้า จนทำให้เขานึกอยากบวชครั้งแรก จนถึงการเป็นนักปฏิวัติในนามพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศไทยต่อมา

ต่อความคิดทางสันโดษนั้น เล่ากันว่า นวน เจีย ปฏิเสธการแต่งงานจากนโยบายของหน่วยเหนือหลายครั้ง กระทั่งพรรคได้จัดหาคู่ครองและทำพิธีสมรสให้

ด้านชีวิตส่วนตัวแล้ว เขียว สัมพัน เคยเล่าถึงอุปนิสัยนวน เจีย กับทนายซุน อรุนของเขาว่า เจียแทบจะไม่รู้จักโลกภายนอก ไม่สนใจชีวิตทางสังคม แม้แต่ก๋วยเตี๋ยวสักชามในร้านอาหารเขาก็ไม่เคยกิน

นั่นคือเหตุผลว่า ในบรรดาคณะกัมพูชาประชาธิปไตย นวน เจีย แทบจะเป็นคนเดียวที่อยู่ภายในประเทศ และชอบทำงานตามลำพัง ปลีกวิเวกจากสังคมโดยทันทีเมื่อไม่มีภารกิจ

จริงๆ แล้วเมื่อเริ่มต้นเป็นสมาชิกจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้น นวน เจีย ไม่ได้ร้องขอที่จะทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนและพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาโดยทันที หากแต่เขาถูกส่งเขhาไปเพื่อช่วยเหลือซาล็อต ซอ (พล พต) ที่เพิ่งกลับจากฝรั่งเศส

เป็นความจริงที่ไม่เชิงเปิดเผยว่า ในความรู้อันเกี่ยวกับขบวนการฝ่ายซ้ายของเขานั้นมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แม้จะเคยถูกส่งตัวไปอบรมในเวียดนาม แต่เจียก็ยังไม่วายให้เครดิตกับประเทศไทยที่เขามีความรื่นรมย์ผูกพัน

40 ปีต่อมาหลังนับจากปีปฏิวัติ นวน เจีย กลับใช้ชีวิตห้วงสุดท้ายในห้องไต่สวนของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ECCC) กรุงพนมเปญ รวมเป็นเวลา 11 ปีกับอีก 11 เดือน

และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตอีก 1 ครั้ง

 

การจากไปของนวน เจีย คนนั้น ทำให้ฉันนึกถึงเรือนไม้หลังน้อย ซึ่งปลูกติดกับชายป่าชายแดนไทยในจังหวัดไพลิน

เยื้องไปไม่ไกลนัก ยังมีเรือนไม้สีฟ้าหลังใหญ่ ที่เจ้าของผู้อพยพจากอัลลองแวงมาพร้อมกับนวน เจีย ตั้งแต่ปี 2541 แม้ต่อมา เขาจะย้ายไปอยู่ในเขตเมือง กระนั้นชีวิตของนวน เจีย และเขียว สัมพัน (88) ก็ถูกดำเนินไปราวกับผู้มีชะตากรรมร่วมกัน

เมื่อนวน เจีย ถูกส่งตัวไปศาลที่พนมเปญ และเขียว สัมพัน เราจะเห็นตำแหน่งที่นวน เจีย-เขียว สัมพัน นั่งเยื้องกันในห้องกระจกรูปทรงรีที่เรียกกันว่าห้องเสวนาการ ไม่ต่างจากกระท่อมร้างชายป่า 2 หลังนั่นที่พวกเขาเคยร่วมทุกข์สุขกันมาและผ่านกาลเวลาอันร่วงโรยตลอดเกือบ 12 ปีที่เป็นจำเลยร่วมกันในคดี 002/1 และ 002/2 ที่ยังไม่จบคำตัดสิน

บัดนี้ นวน เจีย ผู้พี่ได้ทิ้งเขียว สัมพัน ไปเสียแล้ว

ในแบบเดียวที่เกิดกับเอียง ซารี และเอียง ทีริต ผู้ร่วมคดี 002/1 ซึ่งถูกจำหน่ายออกโดยปริยายหลังที่เอียง ซารี เสียชีวิตและทีริตถูกวินิจฉัยว่ามีสภาพจิตที่ฟั่นเฟือน

และจากเงื่อนไขที่ว่า ตราบใดที่คดีของ “จำเลย” ยังไม่ถูกตัดสิน

ให้ถือว่าเขายังเป็น “ผู้บริสุทธิ์”

 

เป็นความจำนนอย่างจำยอมที่จำเลยร่วมคดีอย่างเขียว สัมพัน จะรำลึกได้

แม้ความโดดเดี่ยวในคอกศาลเขมรแดงแห่งนั้นจะยังดำเนินไป หรือมิฉะนั้น ก็จนกว่าวันสุดท้ายที่เขาถูกพิพากษา

แลหากว่าเขียว สัมพัน ปรารถนาจะเป็นผู้บริสุทธิ์แบบเดียวกับนวน เจีย เล่า?

สิ่งเดียวที่ทำได้คือ การหยุดลมหายใจของตนเอง

หรือมิฉะนั้นก็จงเชิดหน้าและยอมรับว่า นี่คือชะตากรรม