จิตต์สุภา ฉิน : ไม่ต้องจำใบหน้าฉันก็ได้

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

หากมองการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างคร่าวๆ น่าจะแบ่งคนออกเป็นกลุ่มอย่างหยาบๆ ได้ว่ามีกลุ่มคนที่คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น กลุ่มคนที่ยินดีที่จะนำเทคโนโลยีนั้นๆ มาใช้งานในชีวิตจริง และกลุ่มคนที่ไม่ได้ยินดียินร้ายอะไรกับเทคโนโลยีพวกนั้นเลย หรือออกจะต่อต้านไม่อยากให้มันมายุ่งวุ่นวายกับชีวิตตัวเองเสียด้วยซ้ำ

แต่บ่อยครั้งที่คนกลุ่มสุดท้ายมักจะไม่มีทางเลือก

ในเมื่อกลุ่มแรกกับกลุ่มที่สองมีจำนวนหรือมีอิทธิพลมากกว่า จึงต้องยอมทนอยู่กับมัน ทำได้ดีที่สุดก็คือหาวิธีป้องกันตัวเองหรือลดโอกาสที่จะสัมผัสกับมันลงให้เหลือน้อยที่สุด

เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า หรือ Facial Recognition เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะหยิบยกขึ้นมาพูดถึง

เพราะแนวโน้มก็คือเทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานที่ต่างๆ โดยที่เราไม่มีสิทธิมีเสียงในการช่วยตัดสินใจสักเท่าไหร่

นอกจากว่ามันจะฝังตัวอยู่ในสมาร์ตโฟนของเรา เพื่ออำนวยความสะดวกเวลาที่เราต้องการปลดล็อกเครื่องหรือใช้เพื่อการจ่ายเงินแล้ว

เทคโนโลยีรู้จำใบหน้าก็ยังถูกทางการของประเทศต่างๆ หยิบไปใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการสอดส่องดูแลความเรียบร้อยตามสถานที่สาธารณะต่างๆ

อย่างในญี่ปุ่นก็เตรียมใช้มันอย่างแน่นหนาในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในโตเกียวในปี 2020

โดยใช้สำรวจคนเดินเข้าเดินออกเพื่อช่วยให้การถ่ายเทของฝูงชนภายในสนามจัดการแข่งขันเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย

เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ อย่างบราซิล หรืออินเดีย ที่ใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้าคอยสอดส่องคัดแยกคนที่มีโอกาสจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย

อย่างคนที่มีหมายจับ มีประวัติอาชญากรรมที่ต้องคอยจับตามองออกจากคนปกติทั่วๆ ไปที่ไม่มีพิษมีภัย

ดังนั้น จึงมีแนวโน้มสูงว่าต่อไปอีกไม่นานสถานที่สาธารณะที่ต้องการความปลอดภัยสูง อย่างเช่นสนามบิน หรือโรงเรียนทั้งหมดจะต้องถูกติดตั้งระบบรู้จำใบหน้าเอาไว้แบบไม่มีข้อยกเว้น

นึกภาพง่ายๆ ว่าที่ผ่านมาเราก็มีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดเพื่อใช้บันทึกการเข้า-ออกของคนและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่เมื่อมีเทคโนโลยีนี้มา มันไม่ใช่แค่ถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นให้เราเห็นได้เท่านั้น แต่ยังช่วยบอกเราได้ด้วยว่าคนที่เห็นอยู่ในภาพนั้นเป็นใคร ชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร และมีประวัติอะไรที่จำเป็นต้องรู้บ้าง

ด้วยความที่มันสามารถระบุตัวตนของคนในภาพได้นั่นเองที่ทำให้เทคโนโลยีนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกอึดอัดต่อคนจำนวนไม่น้อยที่หวงแหนความเป็นส่วนตัว

ไม่รู้ว่าข้อมูลใบหน้าของเราถูกเก็บเอาไว้ที่ไหนบ้าง ใครเข้าถึงได้บ้าง

และเรากำลังถูกสอดส่องอย่างใกล้ชิดแค่ไหน

 

ประเทศที่อ่อนไหวกับเรื่องความเป็นส่วนตัวสูงอย่างสหรัฐอเมริกา (แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่โดดเด่นในการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าไปด้วยพร้อมๆ กัน) ก็เลยเริ่มออกมาจำกัดการใช้งานมันแล้ว

ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแรกที่ลุกขึ้นมาแบนไม่ให้หน่วยงานท้องถิ่นใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า เนื่องจากกลัวว่าความเชื่อใจในเทคโนโลยีนี้มากเกินไปอาจนำไปสู่การจับคนแบบผิดฝาผิดตัว

หรือข้อมูลอาจผิดพลาดเพราะเป็นข้อมูลที่มีความลำเอียงต่อกลุ่มชนหมู่น้อย อย่างเช่นผู้หญิง หรือกลุ่มคนข้ามเพศ

ถึงแม้ซานฟรานซิสโกจะแบน แต่เมืองอื่นๆ ในสหรัฐ หรืออีกหลายเมืองทั่วโลกก็ยังใช้เทคโนโลยีนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะจีนที่ดูจะสนุกสุดเหวี่ยงกับการรู้จำใบหน้าของประชาชน

เนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่ต้องตอบคำถามใครเกี่ยวกับสิทธิความเป็นส่วนตัวของพลเมือง

จีนก็เลยเล็งเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีนี้และใช้มันอย่างเต็มรูปแบบ

ตั้งแต่การใช้เพื่อจ่ายกระดาษทิชชูในห้องน้ำไม่ให้จ่ายซ้ำคนหน้าเดิมภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อป้องกันโจรขโมยทิชชู

ไปจนถึงการใช้เพื่อประจานคนที่เดินข้ามถนนอย่างผิดกฎหมาย

และใช้คัดตัวหรือสอดส่องติดตามคนที่ทางการหมายหัว

ดังนั้น หลังจากนี้ไปจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจีนจะเชี่ยวชาญเทคโนโลยีนี้มากกว่าใคร เพราะสามารถใช้หนักมือเท่าไหร่ก็ได้

ยิ่งใช้ข้อมูลก็ยิ่งเยอะ ยิ่งข้อมูลเยอะ เทคโนโลยีก็ยิ่งเก่ง

 

กลับมาที่คนกลุ่มที่สามที่ยังอยากขอกอดความเป็นนิรนามของตัวเองให้นานขึ้นอีกสักหน่อย การที่จะไม่ก้าวเท้าออกจากบ้านเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ จึงต้องคิดค้นประดิษฐ์อะไรบางอย่างออกมาเพื่อต่อสู้กับเทคโนโลยีนี้

อย่างเช่นล่าสุดมีบริษัทออกแบบเปิดตัวดีไซน์เครื่องประดับบนใบหน้าแบบใหม่ ที่ใช้แผ่นทองเหลือง 3 ชิ้นทำเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม วงกลม เชื่อมเข้าหากัน แล้วแปะเอาไว้ตามจุดต่างๆ ของใบหน้า บนหน้าผากและแก้มทั้งสองข้าง

นักออกแบบเขาบอกว่า หากสวมเครื่องประดับชิ้นนี้ไว้บนใบหน้า ระบบจะไม่สามารถระบุตัวตนของผู้สวมใส่ได้ ไปไหนมาไหนก็จะมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าคนที่ไม่ได้ใส่

ไม่ใช่แค่ใบหน้าของคนเท่านั้น แต่ระบบรู้จำภาพยังสามารถแยกแยะวัตถุประเภทอื่นๆ ที่เห็นใช้บ่อยก็คือระบบอ่านป้ายทะเบียนอัตโนมัติ ซึ่งก็จะให้ผลลัพธ์คล้ายๆ กันกับการรู้จำใบหน้า คือไม่ว่าเราจะขับรถไปที่ไหน ระบบสอดส่องก็จะสามารถตรวจสอบได้เสมอ

นำมาซึ่งการออกแบบเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นพิเศษ Adversarial Fashion ที่พิมพ์ลวดลายป้ายทะเบียนเอาไว้จนทั่วเพื่อใช้หลอกระบบอ่านป้ายทะเบียนอัตโนมัติ ทันทีที่ระบบเห็นลายพิมพ์เหล่านั้น มันก็จะเข้าใจไปเองว่านี่คือป้ายทะเบียน และเริ่มลงมือกรอกรายละเอียดตัวเลข ตัวอักษรต่างๆ ที่เห็นทั้งหมดเข้าไปอยู่ในระบบ ทำให้เกิดข้อมูลปลอมปนกับข้อมูลจริง และท้ายที่สุดระบบก็จะยุ่งเหยิง สับสน เชื่อถือไม่ได้

นักออกแบบที่อยู่เบื้องหลังโปรเจ็กต์นี้ไม่ได้ทำคอลเล็กชั่นนี้มาเพื่อโกงไม่ยอมจ่ายค่าปรับหรืออะไรทำนองนั้น

แต่เธอทำเพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจว่า ถ้าระบบมันไม่เก่งขนาดที่แยกแยะระหว่างป้ายทะเบียนจริงกับลวดลายบนเนื้อผ้าไม่ได้ มันก็ไม่ควรจะมาเป็นระบบที่ใช้สอดส่อง เจาะทะลวง และคาบเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของเราได้มากขนาดนั้น สิ่งที่เธอต้องการจะสื่อคือทุกวันนี้เราแขวนชีวิตเอาไว้กับเทคโนโลยีที่ยังมีข้อบกพร่องอยู่มากมายเต็มไปหมดหรือเปล่า

ถึงแม้จะมีคนที่ไม่ยินดีให้ใบหน้าของตัวเองถูกรู้จำได้เวลาออกนอกบ้าน

แต่ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นับจากนี้ไปเราจะได้เห็นเทคโนโลยีนี้ติดตั้งอยู่ตามที่ต่างๆ มากขึ้นแน่นอน

และเมื่อถึงวันนั้น บางทีการสวมเครื่องประดับบนใบหน้า หรือสวมใส่เสื้อผ้าที่มีลวดลายหลอกระบบให้สับสน

อาจจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของคนกลุ่มที่สามก็ได้