เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม | หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

เพิ่งได้หนังสือ”เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม”วันนี้

เป็นหนังสือประวัติชีวิต”สุพจน์. ธีระวัฒนชัย” ผู้ก่อตั้งโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

ถ้าชีวิตของคนเหมือนนิยายเล่มหนึ่ง

ชีวิตของ”สุพจน์”ก็เป็นนิยายที่มีสีสันอย่างยิ่ง

เริ่มต้นจากทำงานหนักมาตั้งแต่เด็ก-ต่อสู้-อดทน-ประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว-ซึมซับบทเรียน

และกลับมาสำเร็จอีกครั้งในวันนี้

เหมือน”จอมยุทธ์”ในนิยายกำลังภายใน

แต่เป็น”เรื่องจริง”ที่เรื่องราวเข้มข้นจนแทบไม่ต้องแต่งเติม

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของเขาอย่างละเอียด.

“สุพจน์”เริ่มค้าขายตั้งแต่เด็ก

ตอนอายุ 13 ปี แม่ของเขาเปลี่ยนมาทำธุรกิจเสื้อยืด

พี่น้อง 5 คนช่วยผลิตเสื้อยืดตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม

เสื้อ-กางเกงที่ทำเสร็จแล้วก็ต้องนำมาแพ็กใส่ถุงให้เรียบร้อย

“สุพจน์”กับน้องชายมัดเสื้อรวมกันเป็นโหล.

กว่าจะเสร็จก็เที่ยงคืน

จากนั้นก็ยกผ้าที่กองอยู่หน้าบ้านเข้าบ้าน

ตอนเช้าก็ยกออกมา เพื่อใช้พื้นที่ในบ้านเย็บเสื้อผ้า

บ้านของเขามีห้องนอนห้องเดียว

แม่และพี่น้องทุกคนนอนในห้อง

ส่วน”สุพจน์”นอนบนกองผ้าชั้นล่าง

“สุพจน์”เคยเล่าให้ผมฟังว่าหลังเรียนจบคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขาไปสมัครงาน

ใบสมัครงานให้กรอกว่ามีประสบการณ์การทำงานกี่ปี

เด็กจบใหม่ทุกคนต้องขีดเครื่องหมาย ” – ” หรือไม่กรอกข้อมูลเพราะจบใหม่จะมีประสบการณ์ทำงานได้อย่างไร

แต่”สุพจน์”กรอกไปว่า 12 ปี

ฝ่ายบุคคลถามว่าเพิ่งเรียนจบ. ทำไมบอกว่ามีประสบการณ์ 12 ปี

เขาก็ยืนยันไม่ได้โกหก.

เป็นเรื่องจริง

เพราะเขาทำงานหาเงินตั้งแต่ 10 ขวบ

“สุพจน์”เป็นคนที่คลั่งไคล้ในเรื่องธุรกิจร้านอาหารและการบริการอย่างยิ่ง

อ่าน”เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม”แล้วจะเข้าใจถึงความคลั่งไคล้ของเขาได้ชัดเจน

รู้ละเอียดทุกขั้นตอน

เขาพูดถึงอาหารแต่ละเมนูเหมือนกับเป็น”ลูก”

“ลูก”ที่เลี้ยงมากับ”มือ”

อย่างตอนหนึ่ง ผู้เขียนถามว่าอาหารเมนูไหนยากที่สุด

ลองทายสิครับว่าอะไร

“ปลาดุกฟู”ครับ

“กรรมวิธีมันยุ่งยากมาก”

ต้องนำปลาดุกไปย่างก่อน. จากนั้นนำเนื้อปลาไปยีละเอียด

คลุกเครื่องปรุงและตีเนื้อให้เข้ากัน

จับเป็นแพเพื่อลงทอดในน้ำมันร้อนๆ

ทอดต้องให้สะเด็ดน้ำมัน

ทอดรอบแรกให้สุก 70%

พอลูกค้าสั่งก็ต้องทอดอีกที

เขาเปรียบเทียบว่าถ้าผู้หญิงคนไหนแค้นผู้ชายคนหนึ่งแล้วลงโทษด้วยกรรมวิธี”ปลาดุกฟู”

มันจะโหดร้ายน่าดูเลย

ฆ่า แล้วนำไปย่างไฟ. ลอกหนังออก. เอาเนื้อมาสับให้ละเอียด

แล้วทอดอีกครั้ง

เป็นอารมณ์ขันของคนที่คลั่งไคล้เรื่อง”อาหาร”อย่างแท้จริง

ผมเคยสัมภาษณ์เขาหลายครั้ง

ทุกครั้งที่พูดถึง”อาหาร-ครัว-การบริการ”

นัยน์ตาเขาจะเป็นประกาย.

เล่าแบบเจาะลึกถึงรายละเอียดแบบคนรู้จริง-ทำจริง

สนุกสนานและละเอียดยิบ

ผมชอบเรียกเขาว่า”สุพจน์ ยิบ”

เลียนแบบ”สุทธิชัย หยุ่น”

ครั้งหนึ่งคุยกันหลังจาก”สุพจน์”กลับจากต่างประเทศ

เขาเล่าด้วยเสียงตื่นเต้น

บอกว่าครั้งนี้ไปคุ้มมากเพราะเจอของที่ตามหามานาน

อะไรรู้ไหมครับ

มีดหรืออุปกรณ์แกะหอยนางรมตัวใหญ่

แกะง่าย. เปลือกหอยไม่กระเด็น

ถ้าไม่หลงใหลหรือคลั่งไคล้จริงคิดแบบนี้ไม่ได้

ทุกครั้งที่นั่งคุยกันในโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

เขาจะมีสมาธิอยู่กับการสนทนาเป็นพักๆ

อย่าหวังว่าเขาจะคุยกับเรานาน

เพราะตาของ”สุพจน์”จะกวาดไปทั่วร้าน

เจออะไรไม่ถูกใจจะลุกขึ้นไปจัดการเองเลย

แล้วกลับมาคุยต่อ

ดังนั้น ผมไม่แปลกใจเลยที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงจะประสบความสำเร็จ

และรักษาความสำเร็จได้อย่างยาวนานถึง 20 ปี

เพราะคนที่ทำอะไรด้วยความหลงใหล

ยากที่จะล้มเหลว

เหตุที่ผมเขียนถึง”สุพจน์”ได้ละเอียด…ยิบ

เพราะ”สุพจน์”เป็นเพื่อนของผม

เรียนคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นเดียวกัน

ส่วน”พี่จอบ”วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์”ผู้เขียนเป็นรุ่นพี่ที่เคารพ

คุ้นเคยกันตั้งแต่ทำกิจกรรมนักศึกษา

“พี่จอบ”เป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสารคดีมายาวนาน

ฝีมือการเขียนเป็นอย่างไร

รางวัล”ศรีบูรพา”เป็นประกัน

เมื่อผสมผสานระหว่าง”เนื้อหา”ที่ดี”กับ”คนเขียน”ที่ดี

หนังสือเล่มนี้จึงน่าอ่านมาก

ในหนังสือมีคำนิยมของ”เฮีย”จากชุมนุมศิลปะและการแสดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“วิโรจน์. ตั้งวาณิชย์”ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมจีน

“สุพจน์”เป็นอดีตประธานชุมนุม. ที่ไม่มีความถนัดในเรื่องการแสดงอะไรเลย

แต่บริหารจัดการเก่งมาก

ดูแลพวกศิลปินเหล่านี้ได้อย่างดี

“เฮีย”เล่าถึง”สุพจน์”ในมุมของความเป็น”คน”

เป็นคนที่พี่ เพื่อน น้อง “วางใจ”และ”เกรงใจ”

ที่สำคัญ คือ”มีน้ำใจ”มาก

แต่”สุพจน์เป็นคนตระหนี่เรื่องใจ ไม่ยอมให้ใครง่ายๆ ให้ใจพวกเราแล้วก็ยึดพวกเราไว้ตลอดชีพ”

มีหลายเรื่องราวที่”เฮีย”เล่าแล้วทำให้ผมเข้าใจถึงวันที่”สุพจน์”ต้องระดมทุนในส่วนของเขา 20 ล้านบาทเพื่อลงทุนสร้างโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

“สุพจน์”เพิ่งปลดหนี้ได้แค่ 3 ปี

เขามีเงินในมือ 1 ล้าน. โอดี 3 ล้าน

ต้องหาเงินอีกประมาณ 16 ล้านบาทในปี 2542

หลังวิกฤต”ต้มยำกุ้ง” 2 ปี

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“สุพจน์”ทำบัญชีรายชื่อ”เพื่อน”ที่พอมีฐานะหยิบยืมเงินได้

เล่าให้เพื่อนฟังว่าจะเอาเงินไปทำอะไร

แล้วตบท้ายสั้นๆ

“ถ้าเชื่อกูก็เอาเงินมาให้กู ถ้าไม่เชื่อก็ไม่ต้องให้”

ไม่ให้ก็เข้าใจ. และไม่โกรธ

ครับ. วันนั้นมีเพื่อนให้เขายืมเงิน 16 ล้านบาท

เพราะรู้ว่าคนคนนี้เป็นคนแบบไหน

เรื่องราวของ”สุพจน์” คือ ตำนานความสำเร็จที่มีชีวิต

“ความสำเร็จ”ของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงนั้นไม่ได้เกิดจากความสามารถในเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว

และรวมถึงความเป็น”สุพจน์ ธีระวัฒนชัย”ด้วย

รายละเอียดเล็กๆรวมกันก็กลายเป็น”ความสำเร็จ”ที่ยิ่งใหญ่

เหมือนกับ”โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง”ในวันนี้

“เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม”จึงไม่ใช่หนังสือที่”ควรอ่าน”

แต่เป็นหนังสือที่”ต้องอ่าน”สำหรับคนที่ทำธุรกิจ

หรือต้องการ”แรงบันดาลใจ”ในวันที่หมดไฟฝัน

แนะนำครับ