วิกฤติศตวรรษที่ 21 | สงครามการค้าญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ และ การเตะขาพับสหรัฐของสหภาพยุโรป

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (12)

การเตะขาพับสหรัฐของสหภาพยุโรป

ในทัศนะของประธานาธิบดีทรัมป์ สหภาพยุโรปตัดทอนกำลังทางการค้าของสหรัฐ เลวร้ายยิ่งกว่าจีนเสียอีก

เขากล่าวความเห็นนี้หลายครั้ง การตัดทอนกำลังหรือการเตะขาพับทางการค้าของสหรัฐโดยสหภาพยุโรปดังกล่าว สรุปตามที่ปรากฏเป็นข่าวได้ดังนี้

1) การจัดตั้งประชาคมและสหภาพยุโรปที่ได้เริ่มแต่ทศวรรษ 1950 ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ฟอกซ์ บิสซิเนส เน็ตเวิร์ก ว่า “(ประชาคม) ยุโรปตั้งขึ้นเพื่อเอาเปรียบสหรัฐ… พวกเขาสร้างกำแพงภาษี เลวร้ายกว่าจีนเสียอีก พวกเขาส่งออกรถยนต์ให้เรา แต่ไม่ยอมซื้อรถยนต์จากเรา” (ดูบทรายงานของ Adam Rasmi ชื่อ For unclear reasons, Donald Trump thinks the EU was founded as a conspiracy against America ใน qz.com 27/06/2019)

2) การอุดหนุนอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมซึ่งสหรัฐใช้โจมตีสหภาพยุโรป (และพันธมิตรอื่น) โดยปรับขึ้นอัตราภาษีเป็นรายการแรก

การฟื้นฟูอุตสาหกรรมเหล็กของยุโรปได้ดำเนินการมานานแล้ว สหภาพยุโรปเริ่มต้นจากการก่อตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าเพื่อแก้ปัญหาชายแดน ทรัพยากรพลังงาน และอุตสาหกรรมเหล็กกล้าที่เป็นแกนของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นความจำเป็นในสายตาของยุโรป

ดังนั้น การขึ้นภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของสหรัฐด้วยข้ออ้างความมั่นคงจึงฟังไม่ขึ้น

สหภาพยุโรปตอบโต้ด้วยการขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ เช่น วิสกี้บูร์บอง จักรยานยนต์ และน้ำส้ม

3) กรณีสนับสนุนการบินให้เงินสนับสนุนแอร์บัสแข่งกับโบอิ้งเป็นกรณีพิพาทกันตั้งแต่ปี 2004 ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมการบินของตน ในเดือนพฤษภาคม 2018 องค์การการค้าโลกตัดสินว่ายุโรปได้ให้การอุดหนุนแก่บริษัทแอร์บัสจริง เปิดช่องให้สหรัฐใช้เป็นข้ออ้างว่าก่อความเสียหายแก่สหรัฐมูลค่า 11 พันล้านดอลลาร์และจะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากอียูตามความเสียหายนั้น ได้แก่ เครื่องบินและเนย รวมทั้งสินค้าเกษตรอื่น สหภาพยุโรปชี้ว่าตัวเลขความเสียหายที่ระบุมาเกินความจริงและเตรียมมาตรการภาษีตอบโต้

ต่อมาในเดือนมีนาคม 2019 องค์การการค้าโลกตัดสินว่าสหรัฐให้การสนับสนุนบริษัทโบอิ้งจริง ในรูปของการลดหย่อนภาษีและเงินอุดหนุน บริษัทแอร์บัสกล่าวว่าตนต้องเสียหายมูลค่า 15 พันล้านดอลลาร์ ที่จะต้องเรียกคืน (ดูรายงานข่าวชื่อ WTO appeals court rules against Boeing. Airbus claims minimum $15bn in harm ใน leehamnes.com 28/03/2019)

4) การอุดหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ ทำร้ายอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐที่เคยเป็นใหญ่อย่างรุนแรง ในปี 2018 บริษัทผลิตรถยนต์ของยุโรปในอเมริกาผลิตรถยนต์นั่งรวมกันถึง 3 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ 27 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในสหรัฐ และจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2019 รถยนต์ที่ส่งออกไปสหรัฐเสียอัตราภาษีเพียงร้อยละ 2.5 แต่รถยนต์ที่ส่งจากสหรัฐมาขายยุโรปต้องเสียภาษีถึงร้อยละ 10 ทรัมป์ขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนจากสหภาพยุโรป หากยุโรปไม่ยอมทำข้อตกลงการค้าใหม่กับสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ยุโรปกล่าวว่า ตนเองพร้อมที่จะลดภาษีนำเข้ารถจากสหรัฐ และบริษัทผลิตรถยนต์ของตนในสหรัฐได้สร้างงานในสหรัฐสูงถึง 120,000 ตำแหน่ง และสหภาพยุโรปมีอุตสาหกรรมที่เข็งแรงมาก เป็นผู้ส่งออกรถยนต์มากกว่านำเข้าอยู่แล้ว

ต่างกับสหรัฐที่นำเข้ารถยนต์นั่งมากกว่าส่งออกหลายเท่าตัว

ถ้าหากสหรัฐจะขึ้นอัตราภาษีรถยนต์และอุปกรณ์แบบไม่ฟังเสียง ก็จะตอบโต้อย่างฉับพลัน

5) การเก็บภาษีดิจิตอลของฝรั่งเศส ในสหภาพยุโรปมีการพูดถึงจัดระเบียบภาษีดิจิตอลของบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจนานแล้ว มีอังกฤษเป็นผู้ออกหน้า เหตุที่ต้องจัดระเบียบก็เพราะว่าบริษัทที่มาให้บริการดิจิตอลในยุโรป ที่สำคัญเป็นบริษัทใหญ่ อย่างเช่น กูเกิล อเมซอน เฟซบุ๊ก และแอปเปิ้ล มีสำนักงานใหญ่ตั้งตามประเทศต่างๆ และประเทศในอียูก็มีการเก็บภาษีนี้ไม่เท่ากัน

เปิดช่องให้บริษัททั้งหลายใช้เครื่องมือทางการบัญชี แจ้งรายได้ในประเทศ ที่เก็บภาษีต่ำ ผ่านการกำหนดราคาโอนระหว่างผู้ค้าที่มีความสัมพันธ์กัน ที่ผิดจากราคาตลาด และใช้นิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ทำให้สามารถเสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริงเป็นอันมาก

แต่การดำเนินการล่าช้าเนื่องจากมีปัญหาในรายละเอียดว่าจะจัดระเบียบอย่างไรดี และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากว่าหลายประเทศกลัวว่าสหรัฐจะตอบโต้ กลายเป็นว่าฝรั่งเศสลงมือปฏิบัติก่อนใคร โดยรัฐสภาออกกฎหมายปรับการเก็บภาษีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่มหลายร้อยล้านยูโร (ดูบทความของ Andrew Lascaleia ชื่อ Breaking Down France”s Digital Tax ใน atlanticcouncil.org 09/08/2019)

สหรัฐเห็นว่าเป็นกฎหมายที่มุ่งกีดกันบริษัทที่ให้บริการดิจิตอล สหรัฐตอบโต้ด้วยการสั่งตรวจสอบการเก็บภาษีแบบใหม่นี้ ทั้งทรัมป์ขู่ว่าจะเก็บภาษีไวน์ เนยแข็ง และน้ำหอมจากฝรั่งเศส อนึ่ง การเลี่ยงภาษีหรือการพยายามเสียภาษีให้น้อยที่สุดของบรรษัทข้ามชาติโดยวิธีนี้กระทำกันทั่วไป

6) การสร้างเครื่องมือสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเงินตราทางการค้า (INSTEX) โดยมีเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษออกหน้า เพื่อการส่งเงินในการค้าระหว่างอียูและอิหร่านโดยไม่ใช้เงินดอลลาร์ซึ่งถูกแซงก์ชั่นโดยสหรัฐ เป็นการรักษาข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านไว้ ขณะที่สหรัฐฉีกทิ้ง

การสร้างเครื่องมือนี้ นับว่าเป็นการต่อต้านนโยบายการค้าต่างประเทศของสหรัฐอย่างซึ่งหน้าที่สุด ทั้งนี้เพราะสหรัฐต้องการกดดันขั้นสูงสุดต่ออิหร่าน เพื่อเป้าหมายอย่างหนึ่ง คือการควบคุมการค้าน้ำมันในรูปเงินดอลลาร์

แต่การงัดข้อในประเด็นนี้ถูกกลบเกลื่อนไว้ด้วยท่าทีของสหภาพยุโรป ที่ขณะนี้แสดงอาการเหมือนกลัวเกรงสหรัฐอยู่ เพราะเศรษฐกิจการเงินของยุโรปนั้นพึ่งพิงกับสหรัฐแน่นแฟ้นจนยากที่จะปลีกตัวออกมา

เงินยูโรที่เป็นที่ยอมรับสูงของโลกรองจากดอลลาร์สหรัฐก็แสดงตัวเหมือนเป็นตัวเสริมมากกว่าเป็นปรปักษ์ ทั้งยุโรปต้องอยู่ในร่มธงนิวเคลียร์สหรัฐเพื่อความมั่นคง

การสร้างเครื่องมือดังกล่าวนั้น ยุโรปสามารถทำได้ง่าย เพราะมีเงินยูโรที่เป็นที่ยอมรับของชาวโลก และมีระบบดาวเทียมนำร่อง “กาลิเลโอ” ของตนอยู่แล้ว ปฏิบัติการขั้นต้นกล่าวว่าจะจำกัดในการค้ายารักษาโรคและสินค้าเกษตร ต่อไปจะรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นรวมทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม เครื่องมืออินสเตกซ์ของยุโรปสามารถขยายไปไม่เพียงการค้ากับอิหร่าน แต่ใช้กับประเทศอื่นทั่วโลกรวมทั้งจีนและรัสเซียที่ต้องการมีการชำระบัญชีที่มีเงินยูโรเป็นฐาน ซึ่งจะเป็นการคุกคามต่อความเป็นใหญ่ของดอลลาร์สหรัฐเป็นอันมาก

มีข้อสังเกตว่า แม้ทรัมป์จะโจมตียุโรปว่าร้ายกว่าจีนในการกีดกันทางการค้าและหาประโยชน์จากสหรัฐ

แต่สหรัฐก็ยังคงปฏิบัติต่อยุโรปอย่างนุ่มนวลกว่า เพราะว่าเป็นพันธมิตรแน่นแฟ้น

เป็นหนึ่งเดียวทางเชื้อชาติ สีผิว และวัฒนธรรม

ชาวอเมริกันก็อพยพมาจากยุโรปรวมทั้งบรรพบุรุษของทรัมป์

มูลค่าการขึ้นอัตราภาษีต่อยุโรปอยู่ในหลักหมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ของจีนสูงหลายแสนล้านดอลลาร์ การขึ้นอัตราภาษีนี้กระทบต่อเยอรมนีที่เป็นแกนหลักทางอุตสาหกรรมและเป็นประเทศใหญ่ที่สุดของยุโรป

อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางความสัมพันธ์สหรัฐ-ยุโรปได้รุนแรง

สงครามการค้าญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

เกิดสงครามการค้าย่อยระดับภูมิภาคระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีที่ปะทุขึ้นและลุกลามไปอย่างรวดเร็วแบบคาดไม่ถึง การจะเข้าใจกรณีนี้ได้ก็โดยการเห็นเหตุปัจจัยพื้นฐานของสงครามการค้า

เหตุปัจจัยพื้นฐานของสงครามการค้า ได้แก่

ก) เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง ยาวนาน

ข) ชาติต่างๆ ดิ้นรนเอาตัวรอด ยึดถือลัทธิชาตินิยม ถือผลประโยชน์ของตนเหนือชาติอื่น ปฏิบัติ “นโยบายผลักเพื่อนบ้านเป็นขอทาน” นั่นคือ การแก้ปัญหาของตนเองโดยโยนความเดือดร้อนและความยากจนลงให้แก่ผู้อื่น

ค) ขาดคนกลางไกล่เกลี่ย

สงครามการค้าญี่ปุ่น-เกาหลีใต้เข้าเกณฑ์ทั้งสามข้อ คือ เกิดวิกฤติการเงินรุนแรงปี 2008 กระทบไปทั้งโลก แม้พยายามร่วมมือกันแก้ไขหลายกระบวนท่าแต่ก็ฟื้นตัวแบบปลอมๆ ได้แก่ ฟื้นแต่ชั้นบน ข้างล่างผอมโซแบกหนี้สินหนัก เกิดความไม่พอใจในวงกว้าง ทำให้ทั้งระบบพังลงได้

เกาหลีใต้ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง จนก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับสี่ของเอเชีย พบว่าเศรษฐกิจของตนชะลอตัวอย่างหนัก อัตราการขยายตัวต่ำในรอบ 6 ปี

ส่วนที่ญี่ปุ่นในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2019 การส่งออกของญี่ปุ่นลดต่อเนื่องกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

ในด้านลัทธิชาตินิยม เกาหลีใต้ใช้ลัทธิชาตินิยมในการพัฒนาเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมของตนเป็นเวลานานหลายสิบปี โดยเฉพาะการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ใช้สินค้าเกาหลี และก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของญี่ปุ่นในการผลิตสินค้าไฮเทค มีเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น มีการคำนวณว่าในปี 2018 เศรษฐกิจเกาหลีใต้โตอัตราร้อยละ 2.7 ถ้าหักมูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะเหลือเพียงร้อยละ 1.4

ทางด้านญี่ปุ่นที่ถูกรุกไล่ในประเด็นหญิงบริการและแรงงานทาสเกาหลีตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และต้องเผชิญการแข่งขันการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากทั้งสหรัฐและเกาหลีใต้ คิดจะเอาคืนกับเกาหลีใต้ที่มีขนาดและกำลังน้อยกว่าสามารถมีชัยชนะได้

ญี่ปุ่นเดินหน้าด้วยการควบคุมการส่งออกเคมีภัณฑ์ขั้นสูงที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ กระทบต่อบริษัทใหญ่ของเกาหลีด้านนี้ เช่น บริษัทซัมซุง และเอสเค ไฮนิกซ์ และต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเศรษฐกิจเกาหลีโดยรวมรุนแรง ต่อมายังถอนเกาหลีใต้ออกจาก “บัญชีขาว” ซึ่งประเทศที่อยู่ในบัญชีนี้จะได้รับการปฏิบัติผ่อนปรนเป็นพิเศษในการค้า

เกาหลีใต้ด้านหนึ่งปลุกลัทธิชาตินิยมต่อต้านญี่ปุ่นให้สูงขึ้นอีก อีกด้านหนึ่งขอให้สหรัฐช่วยไกล่เกลี่ย แต่ไม่เป็นผล สหรัฐทั้งไม่เต็มใจและไม่สามารถทำได้เช่นนั้น ความขัดแย้งขยายตัวถึงขั้นมีการข่มขู่จะเลิกความร่วมมือในงานข่าวกรอง ซึ่งจะกระทบต่อแผนการต่อต้านเกาหลีเหนือและการปิดล้อมจีน กระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐโดยตรง (ดูบทวิเคราะห์ของ Motoko Rich และคณะ ชื่อ As Japan and South Korea Feud Intensifies, U.S. Seems Unwilling, or Unable. To Help ใน nytimes.com 04/08/2019)

กรณีของเกาหลีใต้ให้บทเรียนว่า ในยามที่สถานการณ์ไม่แน่นอน ความจำเป็นในการสร้างอุตสาหกรรมครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำยิ่งเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้เข้มแข็งที่ปลายน้ำ แต่ที่ต้นน้ำมีเคมีภัณฑ์ไฮเทคเป็นต้นปล่อยให้ญี่ปุ่นเข้าควบคุม เมื่อถูกบีบเข้าก็เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ และต้องใช้เวลานานในการแก้ไข

แต่ถ้าทุกประเทศพยายามสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้ครบวงจรไปทั้งหมดก็จะเป็นการบีบรัดการผลิตของตนเอง ทำให้โซ่อุปทานโลกอ่อนแอ และบางเรื่องที่เป็นทรัพยากรแร่ธาตุพลังงาน แต่ละประเทศมีมากน้อยต่างกัน จำต้องพึ่งพากัน

สำหรับจีนมีวัตถุดิบกลุ่มหนึ่งเรียกว่าแร่ธาตุหายาก (มีอยู่ 17 ธาตุ) สามารถผลิตและส่งออกมากกว่าทุกชาติรวมกัน เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์และสินค้าไฮเทคจำนวนมาก ตั้งแต่สมาร์ตโฟน ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องบิน แสงเลเซอร์ และอุปกรณ์ทางทหาร

วิเคราะห์กันว่าเป็นอาวุธทำลายสูงที่จีนใช้ทำสงครามการค้ากับสหรัฐได้ แต่ยังไม่ได้ใช้ เพียงแต่ควบคุมการส่งออกเข้มงวดขึ้น กระนั้นก็ทำให้แร่ธาตุหายากเหล่านี้มีราคาสูงขึ้นมากในตลาดโลก

นอกจากนี้ จีนยังได้พัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำ ไม่ได้ส่งออกแร่ธาตุหายากเป็นวัตถุดิบอย่างเดียว แต่นำมาสร้างเป็นอุปกรณ์ เช่น แม่เหล็กแร่ธาตุหายากที่นำมาใช้ในการผลิตของใช้จำนวนมาก ในปี 2018 สหรัฐได้นำเข้าแม่เหล็กแร่ธาตุหายากจากจีนมูลค่าถึง 250 ล้านดอลลาร์ สงครามการค้าสหรัฐ-จีนยังมีเรื่องพลิกผันน่าหวาดเสียวกว่าที่ผ่านมาอีกมาก

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเจรจาสงบศึกการค้าสหรัฐ-จีนที่ร่อแร่ และการขยายตัวของสงครามการค้าสหรัฐ-จีนสู่สงครามการค้าโลก