คุยกับทูต โลเรนโซ กาลันตี อิตาลีจับมือไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งกระชับสัมพันธ์กับอาเซียน

คุยกับทูต โลเรนโซ กาลันตี อิตาลีจับมือไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งกระชับสัมพันธ์กับอาเซียน (2)

“ผมเกิดที่เมืองสตุตการ์ต (Stuttgart) ประเทศเยอรมนี แต่มาโตที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี เนื่องจากคุณแม่เป็นชาวเยอรมัน ส่วนคุณพ่อเป็นวิศวกรชาวอิตาเลียนจากเมืองเวเนโต (Veneto) ครอบครัวของเราได้ย้ายจากสตุตการ์ตไปอยู่ที่ฟลอเรนซ์เมื่อผมมีอายุเพียงหนึ่งปี ผมจึงได้เล่าเรียนตั้งแต่ชั้นประถมจนสำเร็จการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิตที่เมืองนี้”

นายโลเรนโซ กาลันตี (H.E.Mr.Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย เล่าถึงความเป็นมาก่อนมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย

“หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในปี ค.ศ.1993 ผมสมัครสอบเข้ารับราชการที่กระทรวงต่างประเทศอิตาลีและได้เข้าทำงานที่แผนกวัฒนธรรม จึงต้องย้ายที่พักจากเมืองฟลอเรนซ์ไปอยู่ที่กรุงโรม และแต่งงานในปีเดียวกัน”

“แต่ทำงานได้เพียงปีเดียวก็ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารในกองทัพอากาศตามกฎระเบียบของอิตาลีในเวลานั้นหนึ่งปี แล้วจึงได้กลับมาทำงานที่กองข่าว กระทรวงต่างประเทศ ปี ค.ศ.1995”

“ไปทำงานในต่างประเทศครั้งแรกตำแหน่งเลขานุการเอกประจำสถานทูตอิตาลี ณ กรุงดามัสกัส (Damascus) ประเทศซีเรีย ดูแลงานทางด้านการค้า การพัฒนาความร่วมมือ และงานกงสุลเป็นหลัก ซีเรียเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ช่วงที่ผมอยู่ ก่อนการเกิดสงครามกลางเมือง เป็นประเทศที่มีความสวยงาม ร่มเย็น ปลอดภัย และสงบสุข”

“จากซีเรียผมย้ายไปประจำสถานทูตอิตาลี ณ กรุงดาการ์ (Dakar) ประเทศเซเนกัล (Senegal) ตำแหน่งรักษาการแทนที่ปรึกษาและรองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต (Acting as Counsellor and Deputy Head of Mission) และเนื่องจากสถานทูตของเราเป็นศูนย์กลางแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 7 ประเทศคือ ประเทศเซเนกัล (Senegal) เคปเวิร์ด (Capo Verde) แกมเบีย (Gambia) กินีบิสเซา (Guinea Bissau) กินีโกนากรี (Guinea Conakry) มาลี (Mali) และมอริเตเนีย (Mauritania) ทำให้ผมเดินทางค่อนข้างมากในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ระหว่างปี ค.ศ. 2001-2005”

“หลังออกจากเซเนกัล ผมกลับไปประจำที่กระทรวงต่างประเทศในกรุงโรม และได้รับมอบหมายให้ทำงานในกรมนวัตกรรม งบประมาณ และทรัพยากรบุคคล (Directorate General for Human Resources, Budget and Innovation) ต่อมาได้เป็นหัวหน้าสำนักเลขาธิการ (Head of the Office of the Secretary General)”

“นับเป็นช่วงเวลาที่งานทุกอย่างน่าสนใจไปหมดสำหรับผม”

“ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาเอก (First Counsellor) สถานทูตอิตาลีประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ การค้า และวิทยาศาสตร์ เราพักอยู่ที่เบเธสดา (Bethesda) ในรัฐแมรี่แลนด์ ระหว่างปี ค.ศ.2010 ถึง 2014 อันเป็นช่วงแห่งการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโอบามา”

ท่านทูตโลเรนโซ กาลันตี เสริมว่า

“ด้วยหน้าที่ในความรับผิดชอบ เปิดโอกาสให้ผมได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ และชุมชนต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาในรูปแบบที่น่าสนใจ เพราะผมให้ความสำคัญในการจัดการกับภาคธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมการมีรสนิยม ไลฟ์สไตล์ และเทคโนโลยีในแบบฉบับของอิตาลีตลอดมา”

เมื่อหมดวาระที่สหรัฐ ท่านทูตกลับไปที่กระทรวงในปี ค.ศ.2014 และได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่คณะทำงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของอิตาลี ส.ว.เบเนเด็ตโต เดลลา เวโดวา (Head of the Office of the Under Secretary for Foreign Affairs and International Cooperation Sen. Benedetto Della Vedova)

ตำแหน่งต่อมาคือ อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม (Minister Plenipotentiary) ก่อนได้รับการแต่งตั้งในปี ค.ศ.2018 ขึ้นเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย โดยมีเขตอาณาครอบคลุมราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

“ผมทำงานในหลายส่วนของโลก เริ่มต้นจากตะวันออกกลาง ต่อมาที่แอฟริกาตะวันตก และวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ปฏิบัติงานในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ได้ไปเยือนเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างมาก” ท่านทูตโลเรนโซ  กาลันตี ชี้แจง

“การได้รับตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในสามประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่เรามีความสัมพันธ์กันอย่างกว้างขวางมากที่สุด และผมพยายามอย่างเต็มที่ที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาวต่อไป เพราะอิตาลีมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับอาเซียน (ASEAN) และเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องสร้างความสัมพันธ์กับชาติสมาชิกอาเซียน”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเมตตาให้ นายโลเรนโซ กาลันตี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำราชอาณาจักรไทยเฝ้าถวายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญในเวทีโลก จากการที่มีประชากรรวมกันแล้วกว่า 600 ล้านคน มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเพราะเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของโลก โดยผลิตอาหารและสินค้าเกษตรจำนวนมาก และยังเป็นแหล่งทรัพยากรเชื้อเพลิงซึ่งมีมากในประเทศบรูไนและมาเลเซีย

อาเซียนเป็นทั้งตลาดที่มีกำลังสูง มีแนวโน้มขยายตัวได้มาก และเป็นตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ อีกทั้งค่าแรงไม่สูง ซึ่งนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนนานแล้ว

อาเซียนมีประเทศสิงคโปร์ที่มีเศรษฐกิจที่มั่นคง และเป็นศูนย์กลางทางการเงินการลงทุนของภูมิภาค มีประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมีความใกล้ชิดกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ในโลก ซึ่งเป็นผลดีต่อการขยายตลาดในประเทศมุสลิมทั่วโลก

อาเซียนมีความสำคัญทางการเมือง มีบทบาทด้านการเมืองในระดับโลก ในการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อสร้างสันติภาพของสหภาพของสหประชาชาติ เช่น การเข้าร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติในปฏิบัติการต่างๆ การให้ความร่วมมือช่วยเหลือผู้อพยพจากการขัดแย้งทางการเมือง

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ประเทศไทยมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลกเพราะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่น่าอยู่ ทั้งบรรยากาศและธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยมีอัธยาศัยไมตรีอันดีงาม ส่วนชุมชนทางการทูตที่กรุงเทพฯ ก็เต็มไปด้วยพลัง ไม่หยุดนิ่ง มีกิจกรรม มีการปฏิบัติ มีความเชื่อมโยงแบบปฏิสัมพันธ์กับสังคมอยู่ตลอดเวลา”

ท่านทูตโลเรนโซ กาลันตี กล่าวเพิ่มเติมว่า

“อย่างไรก็ตาม เราต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กันทั้งสองทาง คือการค้าและการลงทุน ผมมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการเน้นคือความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะเป็นวิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับอนาคต ไม่ใช่เฉพาะเพียงปัจจุบันเท่านั้น เช่นเดียวกับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในหมู่คนหนุ่มสาวรุ่นต่อๆ ไป เพราะเรามีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกัน ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ผมต้องการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเมตตาให้ นายโลเรนโซ กาลันตี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำราชอาณาจักรไทยเฝ้าถวายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

“นอกจากนี้ เราต้องการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือที่มาจากความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวด้วย เพราะทั้งอิตาลีและไทยต่างเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เราสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันเพื่อได้แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ”

  • ปัจจุบันการท่องเที่ยวกลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรม อันนำไปสู่การพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นต้องเคารพ เรียนรู้ และเข้าใจวัฒนธรรมของกันและกัน เพื่อให้เกิดมิตรภาพและสันติภาพระหว่างกันอย่างยั่งยืน