คำ ผกา | ใครกันจะชังชาติ

คำ ผกา

มีคำพูดของใครก็ไม่รู้ที่คนแชร์ต่อๆ กันมาทางโซเชียลมีเดียเรื่อง “หนึ่งสมองสองระบบ” เรื่องความลักลั่นของคนไทยต่อการประท้วงที่ฮ่องกง

เมื่ออ่านแล้วถึงกับต้องอุทานว่า – เออ คิดได้ไงเนี่ย

สำนวนหนึ่งสมองสองระบบ ล้อไปกับคำว่า “หนึ่งประเทศสองระบบ” อันหมายถึงความสัมพันธ์ของจีนกับฮ่องกง ที่ใครๆ ก็รู้ว่า แม้ฮ่องกงจะถูกส่งมอบให้จีนแล้ว แต่ฮ่องกงยังมี “ระบบ” การบริหารราชการและกฎหมายเป็นของตนเอง

พูดง่ายๆ ว่า ฮ่องกงในฐานะอดีตอาณานิคมของอังกฤษ พูดภาษากวางตุ้ง ยังคงเป็นฮ่องกงที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัย (อันหมายถึงจีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์)

คนฮ่องกงจึงเรียกตัวเองว่า Hongonger ไม่ได้เรียกตัวเองว่า Chinese

และถึงที่สุดฉันคิดว่าคนฮ่องกงไม่ได้อยากถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจีน

สัญญาที่ต้องส่งคืนฮ่องกงให้กับจีนก็เป็นสัญญาที่คนฮ่องกงที่ออกมาประท้วงกันอยู่บนถนนตอนนี้อยากจะบอกว่า มันเป็นสัญญาระหว่างอังกฤษกับจีน อันลูกหลานชาวฮ่องกงไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ได้รู้ไม่เห็น แต่ต้องยอมรับชะตากรรมอันนั้นไปโดยปริยาย

แต่สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างพอรับได้ก็คือเงื่อนไขที่จีนจะยอมให้ฮ่องกงเป็นฮ่องกง เป็นเขตปกครองพิเศษ

พูดกันแบบนี้หลายคนอาจจะส่ายหัวแล้วบอกว่า คนฮ่องกงจะมาเรียกตัวเองว่า Hongonger ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็น Chinese ได้ยังไง ในเมื่อตัวก็เป็นคน “จีน”

เห็นๆ แบบนี้เรียกว่าลืมรากเหง้า ทรยศต่อบรรพชนหรือเปล่า?

คนที่พูดเช่นนี้คงไม่เข้าใจคำว่าชาติ และเชื้อชาติ เพราะหากจะเหมาว่าคน “เชื้อจีน” ทุกคนบนโลกใบนี้คือ Chinese อันเป็นของ China เท่านั้นเสียแล้ว เราจะไล่ให้คนสิงคโปร์เชื้อสายจีนต้องกลับไปอยู่เมืองจีน ไปเสียภาษีให้รัฐบาลจีนอย่างนั้นหรือ? คำตอบก็คือไม่ใช่!

ดังนั้น การมีเชื้อสายจีนจึงไม่ได้เท่ากับการมีสัญชาติจีน

ฉันใดก็ฉันนั้น ด้วยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ บรรดา Hongonger ทั้งหลายก็มองว่าในทางเชื้อชาติตนเองมีเชื้อชาติจีน แต่ในทางอัตลักษณ์ทางการเมือง (โดยทั่วไปเรียกว่าสัญชาติ) พวกเขาคือ “คนฮ่องกง”

ความยากของคนฮ่องกงนั้นจะคล้ายกับไต้หวัน คือ ทั้งคนไต้หวันและคนฮ่องกงมีสำนึกแห่งความเป็น “ชาติ” ร่วมกัน เช่น คนไต้หวันก็ไม่บอกว่าตัวเองเป็น Chinese แต่เป็น Taiwanese

คนฮ่องกงก็บอกว่าตัวเองไม่ใช่ Chinese แต่เป็น Hongonger แต่ในความมี “ชาติ” นี้ ทั้งคนฮ่องกงและคนไต้หวันไม่มี “ประเทศ”

กรณีไต้หวัน แม้จะมีองค์ประกอบทุกอย่างครบถ้วนในความเป็น “ประเทศ” แต่สถานะของประเทศไต้หวันยังไม่ได้รับการรับรองจาก UN

และการเมืองในไต้หวันยังผันผวนระหว่างพรรคการเมืองฝั่งที่ต้องการให้ไต้หวันไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจีน กับพรรคการเมืองที่ไม่ต้องการผลักดันให้ไต้หวันได้กลายเป็นประเทศอันมีที่นั่งใน UN อย่างเป็นทางการ และไม่ยอมรับการไปรวมกับจีนอย่างเด็ดขาด

(กรณีประท้วงที่ฮ่องกงครานี้ส่งผลให้พรรคการเมืองที่ไม่ยอมให้ไต้หวันกลายเป็น “จีน” ได้รับคะแนนนิยมพุ่งขึ้นทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้กระแสของพรรคก๊กมินตั๋งที่สนับสนุนการเข้าไปอยู่กับจีนมีคะแนนนิยมมากกว่า)

ฮ่องกงนั้นแม้จะถูกส่งมอบให้จีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างถูกต้องตามกฎหมายและอย่างเป็นทางการ แต่อย่าลืมว่าสิ่งนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1997 ทว่า การส่งคืนให้จีนนั้นอยู่บนเงื่อนไขว่า จีนจะคงไว้ซึ่งสิทธิต่างๆ การปกครองตนเอง กฎหมาย สภา ฯลฯ

พูดภาษาชาวบ้านคือ ฮ่องกงเป็นของจีนทางนิตินัย แต่ทางพฤตินัย ฮ่องกงยังคงไว้ซึ่งเอกราชของตนเองครบถ้วนทุกประการ

และนี่คือสิ่งที่ฉันเรียกฮ่องกงว่าเป็น “ชาติ” ที่ไม่มีประเทศ (ของตนเอง) เป็น Nation without Country

ดังนั้น ใครก็ตามที่บอกว่าคนฮ่องกงทรยศต่อบรรพชนชาวจีน ลืมรากเหง้าความเป็นจีน จึงเป็นความรู้ความเข้าใจที่ผิดทั้งเพ

เพราะเขาไม่ใช่ชาวจีน ไม่เคยเป็นชาวจีน

แต่พวกเขาคือชาวฮ่องกง บรรพชนของพวกเขาก็คือคนฮ่องกงเชื้อสายจีน ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องจีนแผ่นดินใหญ่สักกี่มากน้อย เช่นเดียวกับคนเชื้อสายจีนอีกมากมายในโลกนี้ รวมทั้งคนเชื้อสายจีนสัญชาติไทยจำนวนมาก ที่ก็ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับจีนสักกระผีกริ้น

การออกมาประท้วงของคนฮ่องกงโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวบนประเด็นว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นเป็นแค่ฟางเส้นสุดท้าย เพราะหลังจากคนฮ่องกงเห็นว่าจีนไม่ได้รักษาสัญญาเรื่องหนึ่งประเทศสองระบบ แต่พยายามเข้ามาแทรกแซง

ถ้าเราติดตามเรื่องฮ่องกงมาพอสมควรจะจำเรื่องชาวฮ่องกงประท้วงเกี่ยวกับเนื้อหาในแบบเรียนที่มีการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อให้เด็กๆ ชาวฮ่องกงซาบซึ้งกับความเป็นจีน

หรือถ้าใครไปมิวเซียมที่ฮ่องกงจะเห็นประวัติศาสตร์ที่ถูกนำเสนอในมิวเซียมมีเนื้อหาที่ “โปร” จีนมากขึ้น

แต่นั่นยังเป็นเรื่อง soft power ในทางการเมือง นักกิจกรรม เจ้าของร้านหนังสือชาวฮ่องกงหายตัวไป มีการแทรกแซงสภานิติบัญญัติ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นข่าวนักการเมืองรุ่นใหม่ และนักกิจกรรมทางการเมืองมีความผิดติดคุกกันไปหลายคน

หรือ ส.ส.ของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในครั้งปฏิวัติร่มก็ถูกเพิกถอนสิทธิ ถูกถอดถอนจากการเป็น ส.ส.

ดังนั้น การออกมาประท้วงของคนฮ่องกงจึงไม่ใช่แค่การประท้วงไม่ให้ผ่านกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ลึกๆ แล้ว มันคือประท้วงเพื่อรักษา “เอกราช” ของฮ่องกงภายใต้เงื่อนไขหนึ่งประเทศสองระบบนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งของรัฐบาลจีนกับฮ่องกงจะลงเอยในรูปแบบไหน เราก็คงได้แต่เฝ้าติดตามในฐานะคนนอก ทว่า สิ่งที่เกี่ยวกับ “คนใน” อันฉันเห็นว่าน่าสนใจคือ ปฏิกิริยาของคนไทยต่อการประท้วงที่ฮ่องกง

เรื่องอันน่าอะเมซิ่งไทยแลนด์ที่สุดสำหรับฉันคือ เมื่อครั้งปฏิวัติร่ม ถ้าฉันจำไม่ผิด คนชั้นกลางไทยจำนวนไม่น้อย รวมไปถึงคนที่ร่วมชัตดาวน์กรุงเทพฯ ต่างก็ส่งใจไปช่วยกลุ่มผู้ประท้วงชาวฮ่องกง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังสร้างความชอบธรรมให้กับการปิดเมืองของตัวเองว่า ดูสิ ที่ฮ่องกง ประชาชนก็ออกมาประท้วงเหมือนเราเลย นี่แหละ ความสวยงามของพลังประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

โดยลืมข้อเท็จจริงที่ว่า การชัตดาวน์กรุงเทพฯ นั้นเป็นการปฏิเสธกระบวนการประชาธิปไตย นั่นคือ การเลือกตั้งใหม่หลังจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยอมประกาศยุบสภา จนกลายเป็นเงื่อนไขของการรัฐประหารครั้งล่าสุดของประเทศไทย ตรงกันข้ามกับการปฏิวัติร่มที่ชัดเจนว่าประท้วงเพื่อสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ประท้วงเพื่อจะไม่ถูกแทรกแซงโดยจีน (ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย)

ตัดภาพมาที่การประท้วงฮ่องกงล่าสุด จะด้วยเหตุที่โจชัว หว่อง หน้าคล้ายเนติวิทย์ หรือจะด้วยที่เนติวิทย์เคยชวนโจชัว หว่อง มาพูดในงานเสวนา ซึ่งสุดท้ายมาถึงแค่สนามบินสุวรรณภูมิ (ถ้าจำไม่ได้ อ่านข่าวนี้ https://www.thairath.co.th/content/744566 “โจชัว หว่อง กลับถึงฮ่องกง เผยถูก ตม.ไทยตัดขาดจากโลกภายนอก 12 ชั่วโมง”)

หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ไม่อาจรู้ได้ ที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งเชียร์ให้รัฐบาลจีนออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมที่ฮ่องกง หรือพยายามออกมาอธิบายการประท้วงของคนฮ่องกงว่า เป็นเรื่องของคนหนุ่มสาวห้าวเป้งที่เครียดกับสภาวะเศรษฐกิจ ไม่รู้จะโทษใครก็เลยไปโทษรัฐบาลจีน เป็นแค่เรื่องที่เผอิญจีนเขาเก่ง เขาขยัน เขารวย เขาเลยรุกคืบเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงได้

คนฮ่องกงที่สบายจนเคยตัวแต่กลับจนลงก็เลยไม่พอใจจีน คนหนุ่มสาวฮ่องกงไม่เข้าใจกฎหมายถูกหลอกให้ออกมาประท้วง จะมาให้กฎหมู่เหนือกฎหมาย ทำลายทรัพย์สินราชการ ในขณะที่ผู้นำจีนเป็นผู้มีคุณธรรม กอปรไปด้วยคุณงามความดี มีความรู้ความสามารถ ใดๆ ที่ผู้นำจีนเขาทำแม้จะดูว่ารุนแรงแต่ก็อยู่ในกรอบของกฎหมาย และเพื่อดำรงไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติ

ล่าสุด อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า ผู้ประท้วงฮ่องกงเป็นพวกชังชาติ หลงใหลในประชาธิปไตย ลืมรากเหง้าของตัวเอง https://siamrath.co.th/n/97550

กลับไปที่ฉันบอกว่า เรื่องระหว่างฮ่องกงกับจีนจะเป็นอย่างไร เราในฐานะ “คนนอก” ไม่อาจจะรู้ได้ แต่จากปฏิกิริยาคนไทยบางกลุ่มที่มองการประท้วงของคนฮ่องกงว่าเป็นการ “ชังชาติ”

เป็นกลุ่มคนที่ก่อความวุ่นวาย ไม่เคารพกฎหมาย สุดท้ายมันสะท้อนให้เห็นสภาวะของสังคมไทยที่ถูกล้างสมองให้เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งชั่วร้าย ประชาธิปไตยอยู่ตรงกันข้ามกับรากเหง้าของความเป็นไทย

การเรียกร้องประชาธิปไตยมีค่าเท่ากับการทำลายรากเหง้าและความเป็นไทยไปโดยปริยาย

สุดท้ายการเรียกร้องประชาธิปไตยถูกทำให้มีค่าเท่ากับการ “ชังชาติ”

ฉันเห็นว่าเราไม่ควรปล่อยให้ชุดความคิดแบบนี้ลอยนวลอยู่เนียนๆ ในสังคมไทยเพราะมันอันตรายต่อสิทธิ เสรีภาพ อีกทั้งสติปัญญาของประชาชนคนไทยอย่างยิ่ง

ความเป็นไทยไม่ใช่สิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่อะไรเลยนอกระบบการเมืองที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการบริหารจัดการตนเองผ่านการเลือกตั้ง ผ่านระบบรัฐสภา

คนที่เรียกร้องประชาธิปไตยล้วนแต่เป็นคนที่รักชาติ เพราะหากพวกเขาชังชาติ พวกเขาจะไม่ทำอะไรเลยนอกจากหาทางเอาตัวเองให้รอดไปตามลำพัง เช่น ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน เก็บเงิน ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ไหลไปตามกระแสแบบที่เรียกกันว่า “อยู่เป็น”

ผู้ประท้วงฮ่องกงก็เช่นกัน ที่พวกเขาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายออกมาประท้วง แทนที่จะนอนสบายๆ อยู่ที่บ้าน ก็เพราะเขา “รักชาติ” เพราะพวกเขาห่วงกังวลถึงอนาคตลูกหลานของพวกเขา พวกเขาจึงต้องออกมาประท้วง

ตรงกันข้ามถ้าพวกเขาชังชาติ แทนการประท้วง พวกเขาน่าจะหาทางเก็บเงินแล้วย้ายไปอยู่แคนาดาแบบชาวฮ่องกงที่ร่ำรวยทั้งหลาย

พูดอีกอย่างว่า บางที “ความจน” ก็ทำให้เราต้อง “รักชาติ” เพราะเราไม่มีที่อื่นจะให้ย้ายไปไหน ไม่ใช่มหาเศรษฐีที่มีบ้านอยู่นิวยอร์กหลังหนึ่ง ลอนดอนหลังหนึ่ง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่งอีกที่ละหลังหรือหลายหลัง

ดังนั้น คนที่จนและไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก เขาไม่อาจจะเป็นผู้ “ชังชาติ” ได้เลย