ต่างประเทศ : วิสัยทัศน์สิงคโปร์ ในสุนทรพจน์เอ็นดีอาร์ของลี เซียน ลุง

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวสุนทรพจน์ “เนชั่นแนลเดย์แรลลี่” (เอ็นดีอาร์) การแถลงนโยบายประจำปีของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่จัดขึ้นทุกปีในวันอาทิตย์แรก หรืออาทิตย์ที่สองหลังวันชาติสิงคโปร์ ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา

การกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำสิงคโปร์ ที่เปรียบได้กับสุนทรพจน์ “สเตตออฟเดอะยูเนี่ยน” ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นการแสดงวิสัยทัศน์ถึงนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล รวมไปถึงความท้าทายที่ประเทศต้องเผชิญ

ซึ่งนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ได้วางเป้าหมายถึงอนาคตไม่ใช่เพียงแค่ปีหรือสองปี ไม่ใช่แค่ 10 หรือ 20 ปี แต่มองไกลไปถึง 50 ถึง 100 ปีเลยทีเดียว

ประเด็นสำคัญที่ลีกล่าวในสุนทรพจน์เอ็นดีอาร์ มีตั้งแต่ประเด็นด้านการศึกษา ผู้สูงอายุ รวมถึงแผนระยะยาว อย่างการต่อสู้กับภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เรื่อยไปจนถึงเรื่องแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม

 

แม้องค์กรช่วยเหลือเด็กจะจัดให้สิงคโปร์เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการเติบโตของเด็ก ขณะที่ธนาคารโลกจัดให้สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 1 ของ “ฮิวแมนแคปปิตอลอินเด็กซ์” หรือดัชนีทุนมนุษย์ ที่วัดระดับความรู้ ทักษะ และสุขภาพของเด็กที่จะได้รับเมื่อมีอายุได้ 18 ปี

แต่ผู้นำสิงคโปร์ยังคงให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยนอกจากการศึกษาในโรงเรียนที่รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนให้เกือบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ทว่าสุนทรพจน์เอ็นดีอาร์ยังคงเน้นย้ำไปที่การลดค่าใช้จ่ายสำหรับลูกหลานก่อนวัยเรียน

โดยเตรียมเพิ่มเพดานรายได้ครอบครัวที่จะได้รับเงินอุดหนุนขึ้นเกือบสองเท่า ส่งผลให้ผู้ที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐจะมีเพิ่มขึ้นอีกถึง 30,000 หลังคาเรือน

นอกจากนี้ ยังเล็งเพิ่มการอุดหนุนศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนเพิ่มขึ้นจาก 50 เปอร์เซ็นต์เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ และประกาศโครงการ KidSTART โครงการช่วยเหลือเด็ก 1,000 คนจากครอบครัวด้อยโอกาส ที่เริ่มโครงการนำร่องไปเมื่อ 3 ปีก่อน โดยเตรียมที่จะขยายเพิ่มเป็น 5,000 คนภายใน 3 ปี

โดยในส่วนของนโยบายด้านการศึกษานี้ใช้งบฯ 1,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 22,000 ล้านบาท

และจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

นอกจากการศึกษาของเด็กเล็กแล้ว ลียังเน้นย้ำถึงนโยบายสำหรับเด็กระดับอุดมศึกษา โดยประกาศเพิ่มทุนการศึกษาของรัฐ รวมไปถึงลดค่าเทอมมหาวิทยาลัยของรัฐสองแห่งลงด้วย

อีกนโยบายที่ลีเน้นย้ำคือกลุ่มผู้สูงอายุ ผลจากการที่ชาวสิงคโปร์มีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นอยู่ที่ 85 ปี ส่งผลให้ลีประกาศนโยบายขยายวัยเกษียณออกไปจากเดิม 62 ปี เป็น 63 ปีภายในปี 2022 และ 65 ปีในปี 2030

ขณะเพดานอายุที่นายจ้างสามารถจ้างต่อได้จะเพิ่มขึ้นจาก 67 เป็น 68 ปี ในปี 2022 และเพิ่มขึ้นเป็น 70 ปีในปี 2030 นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ สำหรับวัยสูงอายุ เช่น เพิ่มเพดานอายุในการรับเงินสมทบนายจ้างเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนในการย้ายท่าเรือหลักของสิงคโปร์อย่าง “บรานีเทอร์มินอล” และ “ปาร์เซอร์ปันจัง” ในปี 2027 และ 2040 ตามลำดับ เพื่อก่อสร้างพื้นที่เมืองแห่งใหม่ของสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ การท่องเที่ยว

รวมไปถึงที่อยู่อาศัยของแรงงานที่มีส่วนสำคัญในการสร้างประเทศสิงคโปร์ในช่วงที่ผ่านมาด้วย

 

วิสัยทัศน์ข้างต้นเรียกได้ว่าเป็นแผนระยะสั้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า แต่สุนทรพจน์เอ็นดีอาร์ของลี แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ไกลยิ่งกว่านั้นด้วยแผนต่อเนื่องยาวนาน 50-100 ปี และวางงบประมาณเอาไว้มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 2.2 ล้านล้านบาทในการรับมือกับ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มสูงขึ้น” ผลจากภาวะโลกร้อน

นายกรัฐมนตรีลีระบุถึงการก่อตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยภูมิอากาศสิงคโปร์ (ซีซีอาร์เอส) ตั้งขึ้นเพื่อศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งซีซีอาร์เอสก็ได้ค้นพบแล้วว่าสิงคโปร์นั้นเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าหลายๆ ชาติในโลกเนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตรพอดิบพอดี

นอกจากนั้น สิงคโปร์จะเพิ่มมาตรการต่อสู้กับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยการออกกฎหมายกำหนดให้อาคารบ้านเรือนที่จะสร้างใหม่จะต้องสร้างอยู่บนรากฐานที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 4 เมตร จากเดิม 3 เมตรด้วย

มาตรการรับมือระดับน้ำสูงขึ้นยังรวมไปถึงการป้องกันชายฝั่งที่ลีประกาศจะเพิ่มประสิทธิภาพของอ่างเก็บน้ำ “เดอะมารินารีเซอร์วาร์” และเขื่อน “มารินาบาราจ” ให้ดีมากยิ่งขึ้นกรณีรับมือกับฝนรวมถึงระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงในอนาคต

นอกจากนี้ ยังประกาศแผนในการก่อสร้าง “โพลเดอร์” การสร้างเขื่อนพื้นที่ปิดล้อมนอกชายฝั่งและระบายน้ำออก ที่นำแบบมาจากระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งนอกจากจะสามารถแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงเข้าท่วมพื้นที่ตัวเมืองได้แล้ว ยังได้พื้นที่ราบมาใช้ประโยชน์เพิ่มเติมด้วย

ปัจจุบันสิงคโปร์อยู่ระหว่างการสร้าง “โพลเดอร์” ขนาดเล็กเพื่อทดสอบและเรียนรู้การบริหารจัดการในพื้นที่ “ปุเลา เตกง” โดยพื้นที่ลุ่มที่ได้เพิ่มขึ้นจะนำไปใช้สำหรับการฝึกของทหารกองทัพบกสิงคโปร์ (เอสเอเอฟ) ด้วยในตัว

อีกมาตรการในการรับมือระดับน้ำเพิ่มสูง ลีระบุถึงแผนในการกั้นเขื่อนระหว่างเกาะนอกชายฝั่งเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่แห่งใหม่ เช่นเดียวกันกับ “เดอะมารินารีเซอร์วาร์” สำหรับแก้ปัญหาน้ำท่วม รวมไปถึงเป็นแหล่งน้ำจืดให้กับประเทศ

 

ลีเซียน ลุง กล่าวปิดสุนทรพจน์ประจำปี 2019 ว่า แผนอันทะเยอทะยานเหล่านี้ไม่สามารถทำสำเร็จได้ภายใน 10 ปี หรือแม้แต่ภายในชั่วชีวิตคนยุคเดียว แต่มีพื้นที่สำหรับคนรุ่นหลังให้ได้เติมเต็มความหวังและความฝันต่อไป

“ทีมของผมและผมจะทำงานร่วมกับคุณในการสร้างอัญมณีของชาติ เพื่อให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา เติบโตอยู่เสมอ เป็นประเทศที่มอบโอกาสให้กับทุกคน และลูกหลานของเราจะมีอนาคตที่สดใส”

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวปิดท้าย