“สิระ เจนจาคะ” กร่างเกินพิกัด ใหญ่ขย่ม ตร.ภูเก็ต “บิ๊กตู่-พปชร.” รีบอบรม ผวา “วูบ”

จากกรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐ ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารชุดบนที่ดินที่อาจได้รับเอกสารสิทธิ์ไม่ชอบที่ จ.ภูเก็ต แต่โฟกัสกลับหลุดไปยังเรื่องอื่น เมื่อคนเสียงดังอย่าง “สิระ” ได้แสดงท่าทีที่ไม่เหมาะสมกับนายตำรวจ สภ.กะรน จ.ภูเก็ต

จากคลิปนายตำรวจได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการทำงาน ทำให้เกิดการโต้แย้งกัน จนทำให้มีการแชร์คลิปดังกล่าว เกิดเสียงวิจารณ์ต่อนายสิระต่อพฤติกรรมที่เกิดขึ้น

ช่วงหนึ่งในคลิป นายสิระได้พูดว่า “ไม่มีเวลาแต่มีเวลามานั่งกินกาแฟ” โดยนายตำรวจระบุว่า “มาที่นี่หลังจากตรวจที่พระใหญ่เสร็จแล้ว และลูกน้องอยู่บริเวณนี้” แต่นายสิระได้พูดขัดว่า “แต่มีเวลามานั่งกินกาแฟ ผิดชัดเจน” ซึ่งนายตำรวจได้ตอบกลับว่า “ก็ใช่ไง เพราะว่าผมตรวจ”

แต่นายสิระเสียงดังใส่ว่า “อย่ามาขึ้นเสียงผม มีประโยชน์ไหม ขึ้นเสียงกับผมมีประโยชน์อะไรไหม” นายตำรวจตอบกลับว่า “ผมชี้แจงให้ฟัง ผมไม่ได้ขึ้นเสียง” ก่อนจะมีคนมาดึงแขนนายตำรวจออกไป พร้อมกับพูดคุยด้วย

แต่นายสิระได้ตามไปพูดว่า “คุณขึ้นเสียงกับผมได้ยังไง ไอ้น้อง ผมมาทำงานเพื่อบ้านเมือง มาขึ้นเสียงทำไม” ซึ่งนายตำรวจยืนยันว่า “ไม่ได้ขึ้นเสียง”

หลังจากนั้นนายสิระได้หันไปถาม ส.ส.ที่มาด้วยว่า “แล้วขึ้นเสียงอะไรเมื่อกี้นี้ ก็เห็นอยู่ ขึ้นไหม เกรงใจ ส.ส.ด้วย 4 คนที่ยืนอยู่ เดี๋ยวเจอกัน” จากนั้นนายตำรวจบอกว่า “ถ้าเมื่อกี้ขึ้นเสียง ก็ขอโทษ”

แต่นายสิระถามกลับ “ขอโทษยังไง เขาขอโทษกันยังไงคนไทย” สุดท้ายนายตำรวจได้ยกมือวันทยหัตถ์และพูดว่า “ถ้าผมได้กล่าววาจาที่ไม่ถูกต้อง ก็ขออนุญาตขออภัย ณ ที่นี้ด้วย”

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน นายสิระได้เข้าสู่วงการมวย ในฐานะหัวหน้าค่าย “ส.สิระดา” ซึ่งแฟนมวยรู้จักในนาม “เสี่ยวอลโว่” เพราะเป็นผู้นำเข้ารถจากต่างประเทศ โดยนายสิระอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “วังจั่นน้อย ส.สิระดา”

จากนั้นได้มาทำธุรกิจบ้านทรงไทยริมถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งช่วงที่อดีตหลวงปู่พุทธะอิสระตั้งเวทีชุมนุม กปปส. ที่แจ้งวัฒนะ ได้เข้ามาใช้บ้านเรือนไทยเป็นที่พัก และนายสิระยังรับหน้าที่เป็นทนายความให้อดีตหลวงปู่พุทธะอิสระ เพราะในอดีตเคยเป็นเจ้าของสำนักงานทนายความ โดยนายสิระถือเป็นศิษย์เอกอดีตหลวงปู่พุทธะอิสระด้วย

ทั้งนี้ นายสิระเข้าสู่ถนนการเมืองปี 2554 โดยลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรครักษ์สันติ พื้นที่เขต 11 หลักสี่-ดอนเมือง แต่ไปไม่ถึงฝัน

ต่อมาหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นายสิระได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และเคยเป็นข่าวดังที่นำเงิน 1.7 ล้านบาทมาคืนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หลังประกาศคืนเงิน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญถูกโหวตคว่ำในชั้น สปช. แต่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่มีระเบียบคืนเงิน จึงนำเงินไปบริจาคโดยเปิดโอกาสให้มูลนิธิและองค์กรสาธารณะทั่วประเทศส่งคำร้องมา

ช่วงกลางปี 2561 ที่พรรคพลังประชารัฐได้กำเนิดขึ้นมา นายสิระได้แถลงข่าวร่วมกับนายภิรมย์ พลวิเศษ แกนนำกลุ่มสามมิตร ได้ใช้บ้านทรงไทยที่แจ้งวัฒนะเป็นที่ตั้งของกลุ่มสามมิตรเพื่อจัดหาสมาชิกไปทำงานการเมือง

ทำให้นายสิระได้ชื่อว่าเป็น “กลุ่มสามมิตร” อีกก๊กหนึ่งในพรรคพลังประชารัฐไปด้วย

จนสุดท้ายนายสิระได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 9 หลักสี่ แล้วเอาชนะนายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย ได้เป็น ส.ส. ตามที่ตั้งใจไว้

 

ทว่าเสียงวิจารณ์กรณีนายสิระกับนายตำรวจ สะเทือนมาถึงพรรคพลังประชารัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค ถึงกับย้ำว่าจะต้องพูดคุยกับนายสิระ พร้อมชี้ว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของนายสิระที่ลงพื้นที่ไป

กระแสนี้กลับเกินจะต้านยิ่งขึ้น ทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลสำคัญของพรรคพลังประชารัฐยังต้องออกมาปรามนายสิระถึงสิ่งที่เกิดขึ้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า อย่าให้เกิดขึ้นอีก และสอนมวยนายสิระให้ทราบถึงขั้นตอนกระบวนการตามกฎหมาย

“เห็นว่าการทำงานของตำรวจต้องเห็นใจเขาเพราะงานก็เยอะ และไม่มีกติกาว่าถ้า ส.ส.ไปลงพื้นที่ต้องมีคนไปดูแล ถ้าอยากให้ดูแลและกลัวอันตรายให้ทำหนังสือขอตำรวจ ซึ่งนายสิระอาจจะไม่เข้าใจกฎข้อนี้หรือเปล่า ส่วนการจะให้ตำรวจไปจับคนนั้นคนนี้ไม่ได้ จะต้องมีกระบวนการขั้นตอนหรือเปล่า ต้องมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ และมีการตัดสินคดีขั้นต้นไปแล้วหรือไม่อย่างไรถึงจับกุมได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปมองว่าคนนั้นหรือคนนี้ผิดแล้วไปจับเลย ทำไม่ได้ และผมไม่ได้แก้ตัวแทนใคร เพียงแต่ต้องหาทางเจอกันให้ได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“ก็ขอให้ลดบ้าง อย่างนี้อย่าทำเลย ผมไม่เห็นชอบด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“บางเรื่องถ้าชี้แจงได้ รับฟังได้ก็จบไป และอย่าให้เกิดขึ้นอีก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ด้านนายนัทธี ถิ่นสาคู ส.ส.ภูเก็ต พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่าพรรคและตนไม่มีส่วนรู้เห็น แต่ในส่วน ส.ส. คงเป็นเรื่องส่วนตัวของ ส.ส.ที่ต้องรับผิดชอบเอง ซึ่งการลงพื้นที่ไปของนายสิระ ไม่ได้มีการประสานงานมาที่ตนก่อนจะลงพื้นที่

โดยเรื่องการสร้างอาคารชุดอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการตรวจสอบ ทั้งเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่มีการฟ้องร้องอยู่ที่ศาลและการออกใบอนุญาตก่อสร้าง โดยทางผู้ว่าฯ ภูเก็ตก็ได้สั่งสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม นายสิระชี้แจงว่า ก่อนเดินทางไปได้ประสานกับทางผู้ว่าฯ ไว้แล้ว แต่ปรากฏว่าขณะที่ไปตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่งดื่มกาแฟอยู่ในสำนักงานก่อสร้างแห่งนี้ จึงรู้สึกว่าเรามาทำงาน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับนั่งดื่มกาแฟในที่ดินพิพาทแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว ตอนนั้นก็มีคำถามว่าตำรวจทำหน้าที่ของเขาหรือยัง หากเขาปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนอยู่ตนจะไม่ยุ่งเลย พร้อมชี้แจงถึงการลงพื้นที่นอกเขตว่า แม้ตนเป็น ส.ส.เขตหลักสี่ แต่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความเดือดร้อนของประชาชน ถ้าตนรู้ปัญหา ก็ต้องมาช่วย

“การพูดเสียงดัง เป็นเรื่องปกติ นี่คือผม ประชาชนไม่เข้าใจไม่เป็นไร มีคนขู่ปองร้ายผม ในการเข้ามาทำเรื่องที่ดิน ขณะนี้ได้มีการปรับความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่แล้ว เขาขอโทษ กอดคอจับมือเป็นน้องคนหนึ่ง ไม่มีอะไร ไม่ได้ติดใจ แต่ขอให้มีความตั้งใจช่วยสนับสนุนงานของราชการด้วย” นายสิระกล่าว

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องรีบออกมา “ตัดไฟแต่ต้นลม” แม้จะเป็นเรื่องของนายสิระ แต่ก็สะเทือนมาถึงพรรค เพราะนายสิระเป็น ส.ส.ของพรรค ที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องออกมาปรามไม่สวนกระแสสังคม ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำรัฐบาล

ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อเรตติ้งรัฐบาลและภาพลักษณ์ของพรรคตามมาด้วย

 

ทั้งนี้ ประเด็นของนายสิระเกิดขึ้นในการเมืองยุคโซเชียล ทำให้ ส.ส.ต้องระวังตัวเองมากขึ้น ทั้งความรอบคอบและสำรวม จน พล.อ.ประยุทธ์ออกมาปรามลูกพรรคอ้อมๆ ผ่านการสื่อสารกับนายสิระว่า “อย่าให้เกิดขึ้นอีก” พร้อมทั้งการรักษาความสัมพันธ์กับประชาชนและสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการเลือกตั้งที่จะมีต่อไปในอนาคต

รวมทั้งเสถียรภาพของรัฐบาลที่ พล.อ.ประวิตรในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค ตั้งเป้าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคจะต้องได้ ส.ส.ครึ่งหนึ่ง จะต้องรักษาฐานเดิมไว้ให้ได้ อีกทั้งจะพยายามทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ครบวาระ 4 ปี

ดังนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร รีบออกมาปรามและอบรมนายสิระ จึงเป็นจุดสำคัญที่ผวา “วูบ” เพราะงานนี้ไม่ได้วูบแค่นายสิระ แต่จะวูบไปทั้งขบวน เพราะสังคมไม่ได้ต้องการแค่ ส.ส.ที่เก่ง หรือพรรคที่มีนโยบายที่ดี แต่ ส.ส.ต้องมีมาตรฐานจริยธรรมที่ดี

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ต้องมองข้ามช็อตอีกว่ามี “การเมืองเจือปน” หรือไม่ ทั้งในพรรคที่แบ่งเป็นก๊ก และนอกพรรคที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน