มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส /งานเลี้ยงผู้สูงวัย

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

งานเลี้ยงผู้สูงวัย

 

เมื่อเร็วๆ นี้ไปร่วมงานสังสรรค์กับเพื่อนๆ ที่เป็นน้องใหม่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว

นอกจากรับประทานอาหารร่วมกัน ยังมีการร้องเพลง เต้นรำ เป็นที่สนุกสนาน ด้วยบทเพลงและจังหวะ พาย้อนยุคไปสมัยที่ทุกคนยังเป็นหนุ่มเป็นสาว

ผู้มาร่วมงานคงจะมีจำนวนกว่าพันคน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ผู้ชายเลยเป็นชนกลุ่มน้อย ต่างไปจากอดีต สมัยที่นิสิตชายเคยเป็นเสียงข้างมาก

ซึ่งเรื่องนี้ ช่วยยืนยันว่า ใครเป็นพวกแก่ง่าย ตายยาก

ตรงกับสถิติที่ ส.ส.ส. รวบรวมไว้เมื่อปี 2560 ว่า จำนวนผู้สูงวัย คือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วทั้งประเทศ มีอยู่ 11.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นเพศหญิง 6.22 ล้านคน มากกว่าเพศชายที่มีเพียง 5.08 ล้านคน มากกว่าล้านคน

สำหรับคนรุ่นเบบี้บูม กลุ่มเพศทางเลือก ยังไม่เป็นที่ยอมรับ แม้ยังไม่แสดงออก เหมือนคนรุ่นเจนทั้งหลาย จึงไม่ค่อยเห็นผู้ร่วมงานที่เลือกเพศไม่ตรงกับสภาพ

แต่เชื่อว่าคงมีอยู่บ้าง

 

เนื่องจากเป็นงานครบรอบห้าสิบปีของการเป็นน้องใหม่จุฬาฯ รุ่น 2512 ดังนั้น ผู้ร่วมงานทุกคนจึงเป็นผู้สูงวัย ที่อายุใกล้เจ็ดสิบปี ผู้จัดงานจึงใช้ไม้ตาย ประชาสัมพันธ์ให้รีบมาร่วมงาน ก่อนที่จะมาร่วมงานไม่ได้

จำนวนผู้ร่วมงานเป็นพันในวันนั้น น่าจะไม่ถึงครึ่งของเพื่อนร่วมรุ่นทั้งหมด เพราะยังมีเพื่อนที่ไม่ได้ร่วมงาน ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่นว่า บ้านอยู่ไกล อยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ไม่มีลูกหลานมารับ-ส่งหรือมาเป็นเพื่อน เจ็บไข้ไม่สบาย จนถึงประเภทนอนติดเตียง และพวกที่เสียชีวิตแล้ว มาร่วมงานไม่ได้แน่นอน

เพื่อนที่มาร่วมงานวันนั้น เป็นผู้สูงวัยที่ยังมีสุขภาพดี แข็งแรง จึงเดินเล่นเต้นรำได้อย่างสนุกสนาน สุขภาพสมองยังดี จึงจำเพื่อนๆ และพูดคุยถึงเรื่องเก่าๆ ได้ไม่รู้จบ

เพื่อนที่มาร่วมงานวันนั้น จึงสะท้อนภาพผู้สูงวัย กลุ่มที่มีอายุประมาณ 70 ปี สุขภาพแข็งแรง ไม่ต้องมีเครื่องช่วยพยุง สมองคงยังปกติ ส่วนหนึ่งมีคู่ชีวิตหรือลูกหลานมาด้วย หรือคอยดูแลอยู่ที่บ้าน ส่วนหนึ่งคู่ชีวิตจากไปก่อน หรือไม่เคยมี และอยู่คนเดียว

จึงต้องมางานพร้อมกับเพื่อนๆ

 

เมื่อนำไปเทียบเคียงกับสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่แสดงจำนวนประชากรไทยเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2561 พบว่า จำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุระหว่าง 67-70 ปี มีอยู่ 5,745,567 คน คิดเป็นร้อยละ 58 ของจำนวนผู้สูงวัยทั้งหมด

จำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุระหว่าง 71-80 ปี มีอยู่ 2,804,670 คน คิดเป็นร้อยละ 29 ของจำนวนผู้สูงวัยทั้งหมด จำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุระหว่าง 81-90 ปี มีอยู่ 1,174,976 คน คิดเป็นร้อยละ 12 ของจำนวนผู้สูงวัยทั้งหมด

จำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุระหว่าง 91-100 ปี มีอยู่ 108,028 คน และจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปมีอยู่ 13,655 คน และรวมกันได้แล้วเท่ากับร้อยละ 1 ของจำนวนผู้สูงวัยทั้งหมด

ถ้าคิดง่ายๆ ในบ้านเราตอนนี้ สัดส่วนผู้สูงวัยที่มีอายุระหว่าง 61-70 ปี, 71-80 ปี และ 80 ปีขึ้นไป เท่ากับ 6 : 3 : 1

นั่นหมายความว่าเพื่อนๆ ที่ไปร่วมงาน อยู่ในกลุ่มแรกที่มีจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น

 

ทุกวันนี้กระแสผู้สูงวัยมาแรง จึงมีผู้เชี่ยวชาญขยันออกมาแนะนำ อาจารย์ขยันทำวิจัยมาเสนอแนะ นักการตลาดขยันเสนอสินค้าและบริการ และข้าราชการขยันตั้งงบประมาณและใช้จ่ายมากมาย แต่ก็จะหมายรวม หรือพูดรวมๆ ไม่ได้แยกกลุ่มผู้สูงวัย

ทั้งที่จำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ผู้สูงวัยแต่ละช่วงอายุ แต่ละเพศสภาพ ล้วนแตกต่างกัน ความต้องการช่วยเหลือในเรื่องสุขอนามัย เศรษฐกิจ สังคม และการแพทย์ ล้วนต่างกัน ทำให้แนวคิด การจัดการ ไปจนถึงการดูแลต่างกัน

ทุกวันนี้มีผู้คนหลายกลุ่มออกมาเรียกร้องสิทธิในเรื่องต่างๆ

ผู้เขียนจึงขอเป็นตัวแทน เพื่อนร่วมรุ่น ส่งเสียงว่า ผู้สูงวัยนั้น มีจำนวนมาก หลากหลายเพศ สภาพร่างกาย สภาพสมอง สภาพเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว รวมทั้งภูมิลำเนาต่างกัน

จึงควรได้รับการดูแล แนะนำ ช่วยเหลือ อย่างเหมาะสมและต่างกัน