ประวัติศาสตร์จากปลายปากกาสามัญชน อ่านเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย ความรู้ที่แอบซ่อนอยู่

ด้วยอัตราความเร็วของโลกที่หมุนไปสู่อนาคตอย่างเร็วรี่ บางทีเราก็มีคำถามกับตัวเองว่าจะมัวมานั่งอ่านประวัติศาสตร์อยู่ทำไม

แต่แล้วเราก็พบว่าการอ่านประวัติศาสตร์ก็ทำให้เรารู้ว่าที่เราติดกุกติดกักก้าวไปสู่อนาคตไม่ได้สักทีก็มีสาเหตุที่พบได้จากการอ่านประวัติศาสตร์นี่แหละ

หนังสือประวัติศาสตร์จากปลายปากกาสามัญชนเล่มหนึ่งที่ชื่อ “อุทิศเพื่อสยาม”

เป็นชีวิตของ อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม นพ.จอร์จ บี แมคฟาแลนด์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชคนแรก ที่เขียนโดย เบอร์ธ่า แมคฟาร์แลนด์

ส่งต่อมาจาก คุณจันทนา อูนากูล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้แปล

มาสู่มือของ คุณวิภาภรณ์ ปราโมช

มาถึงมือผู้เขียนเมื่อไม่นานมานี้

 

หนังสือเร้าความสนใจเมื่อมีคำนิยมของ รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้คนหลายคนที่ไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์หันมาสนใจ เพราะอาจารย์ได้ทำให้ตัวละครในประวัติศาสตร์โลดเต้นมีชีวิต มีเลือดเนื้อและสีสัน

อาจารย์ได้เขียนไว้ในคำนิยมตอนหนึ่งว่า “เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ผู้เขียนได้ฟื้นประวัติของบุคคลที่นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการนำพาสยามประเทศให้ก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่”

และก็เป็นเช่นนั้นจริงเมื่อได้อ่านเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ มิใช่เพียงหมอแมคฟาร์แลนด์เท่านั้นที่เป็นตัวจักรสำคัญขับเคลื่อนสยามในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อให้ก้าวผ่านมาสู่สมัยใหม่

แต่ยังหมายถึงบรรดามิชชันนารีชาวต่างชาติที่เข้ามาในสยามในห้วงเวลานั้นจำนวนสิบกว่าคนที่ทุ่มเททำงานด้วยความเชื่อมั่นในหนทางของพระเจ้าที่สอนว่า “จงอุทิศตนเพื่อผู้อื่น”

หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจถึงการเป็นคริสเตียนว่าหมายถึงการอุทิศตน พลอยทำให้เข้าใจคริสเตียนหลายคนที่เรารู้จักในปัจจุบันไปด้วย

และทำให้เรารู้ว่าการทำดีเพื่อคุณงามความดีโดยไม่หวังผลสิ่งใดยังมีในโลกนี้

 

มิชชันนารีส่วนมากที่เข้ามาในห้วงเวลานั้นหลายคนเป็นแพทย์ และทำไปทำมาก็แทบไม่ได้ทำหน้าที่ประกาศศาสนาเลย เพราะมีภารกิจด้านการรักษาพยาบาลชาวสยามมากเหลือล้น

บางคนมาสร้างโรงเรียน เป็นอันว่าโรงเรียนก็ดี สถานพยาบาลก็ดี ในยุคแรกของสยามสำเร็จได้ด้วยหยาดเหงื่อและแรงศรัทธาของมิชชันนารีเหล่านี้ เช่นเดียวกับโรงเรียนอย่าง อัสสัมชัญ กรุงเทพคริสเตียน วังหลังวัฒนา สุนันทาลัย (หรือราชินีในปัจจุบัน)

สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนทึ่งและคิดว่าเป็นสิ่งมี่ผู้ขียนสื่อออกมาได้อย่างงดงามคือความพากเพียรอุตสาหะ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคของมิชชันนารีโดยเฉพาะหมอจอร์จที่เป็นตัวเอกของเรื่อง

ตอนที่แซมูแอล พ่อของหมอจอร์จสร้างโรงเรียนที่เพชรบุรี ซึ่งเขาตั้งใจสร้างให้ดีกว่าบ้านพักและโบสถ์ มีการแกะสลักลายฉลุเหนือประตูและหน้าต่าง ต้องเริ่มจากการวาดลายลงบนกระดาษแผ่นเล็ก แล้วส่องไฟฉายเป็นเงาขยายขึ้น เพื่อจะได้ลอกลายลงบนกระดาษแผ่นใหญ่

ตัวแซมมูเอลพ่อของหมอจอร์จและเจนผู้เป็นแม่เป็นผู้ลากแบบตามเงา โดยมีจอร์จกับน้องสาวคอยถือตะเกียงส่องให้ เห็นภาพทั้งครอบครัวทำงานกันอย่างแข็งขัน

หากไม่มีศรัทธาและความมุ่งมั่น จะมีใครทำถึงขนาดนี้ไหม

ช่างเขียนไทยสมัยโบราณเมื่อจะทำงานก็คงทำได้ขนาดนี้เพราะมีศรัทธาและเป็นงานของช่าง แต่ครอบครัวแมคฟาร์แลนด์ไม่ใช่ช่าง แต่ก็ทำทุกอย่างโดยไม่เกี่ยงงอน เพื่อผลสำเร็จสุดท้าย

 

หมอจอร์จพระเอกของเรื่องเมื่อมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชใหม่ๆ ต้องทำงานท่ามกลางความขาดแคลนแสนสาหัส สาหัสทั้งเครื่องมือและเรื่องคน ที่โรงพยาบาลมีทั้งแผนกรักษาแผนตะวันตกที่หมอจอร์จดูแล และแผนกแผนไทย แข่งขันกันอยู่ในทีเพื่อเอาชนะใจและความเชื่อถือของคนไข้

ยาควินินเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง คุณหมอจอร์จก็สั่งมาไว้ที่แผนกยา แต่อยู่ดีๆ มันก็อันตรธานไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่มีเสียงร่ำลือว่า หมอยาแผนโบราณรักษาโรคร้ายได้ชะงัดขึ้นจนผิดสังเกต

คุณหมอจอร์จก็ไม่พูดอะไรเลย เพียงนำยาไปเก็บในตู้และล็อกกุญแจ เรื่องยานี้เป็นไพ่เด็ดของหมอฝรั่ง แต่เขาก็ไม่พูดอะไร ได้แต่อดทน

ส่วนเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือก็อนาถาจนหากเป็นคนที่ไม่สู้ก็คงจะถอดใจ หมอจอร์จได้เปรียบหมอไทยตรงที่สามารถผ่าตัดได้ก็จริง แต่การไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือก็ทำให้ท้อได้ คุณหมอต้องใช้เครื่องมือของตัวเอง ห้องผ่าตัดก็เล็กและไม่มีน้ำประปา ต้องตักน้ำจากแม่น้ำมาแกว่งให้ตกตะกอน และต้มบนเตาอั้งโล่ก่อนนำมาใช้

แสงที่ใช้ผ่าตัดเป็นแสงจากตะเกียง ไม่มีอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคให้เครื่องมือหรือผ้าพันแผลสะอาดปลอดเชื้อ

ผ้าพันแผลก็แสนจะหายาก ต้องนำไปซักในแม่น้ำ และเวียนกลับมาใช้อีก

นางพยาบาลผู้ช่วยไม่มี วิสัญญีแพทย์ก็ไม่มี คุณหมอต้องต่อสู้อย่างเดียวดาย พลาดไปอนาคตและชื่อเสียงก็ดับวูบ

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีผู้ทุจริตเอาเงินไป คุณหมอต้องไปกู้เงินมาจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่เงียบๆ เพราะหากเรื่องแพร่งพรายไป โรงพยาบาลก็จะเสียชื่อเสียง

 

มาถึงเรื่องการให้ยาคนไข้ก็เป็นเรื่องปวดเศียรเวียนเกล้า คนไทยอ่านหนังสือไม่ออก ฉลากยาจะเขียนไว้อย่างไรก็ไม่มีประโยชน์ ใช้จำเอาจากที่หมอบอก จำผิดจำถูกก็กินบ้างไม่กินบ้าง กินผิดไปบ้าง ที่พักคุณหมออยู่ใกล้โรงพยาบาลก็ต้องมาเยี่ยมคนไข้ ทำงานเกือบจะ 24 ชั่วโมง

หนังสือที่เขียนจากการค้นคว้าและความทรงจำของแหม่มเบอร์ธ่า ภรรยาคนที่สองของนายแพทย์ จอร์จ บี แมคฟาร์แลนด์ เล่มนี้ยังช่วยให้เราเห็นถึงสังคมไทยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่วังและพระมหากษัตริย์กับบุคคลระดับสูงที่รายล้อมพระองค์

ฝรั่งมิชชันนารีมีความสำคัญรองลงมาในเรื่องความเจริญก้าวหน้าของสยาม เพราะมีความรู้ในด้านต่างๆ ที่กษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้คำปรึกษา รวมทั้งเป็นผู้ลงมือปฏิบัติด้วย

ฝรั่งมีทั้งความรู้ ความมานะและยังมีความบริสุทธิ์ใจในการทำงานอีกด้วย

จากโรงพยาบาล มาถึงโรงเรียนแพทย์ จากโรงเรียนมาถึงกระทรวงธรรมการหรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ล้วนมี “ฝรั่ง” ทั้งสิ้นเป็นผู้วางรากฐาน

สำหรับคุณหมอจอร์จหรืออำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคมผู้ได้รับการกล่าวขานว่า “อิฐก้อนแรกของโรงเรียนแพทย์” ผู้นี้ก็คือตัวละครอย่างที่ รศ.ดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์ ได้เขียนไว้ในคำนิยมว่า “มือที่ผลักกงล้อประวัติศาสตร์ให้เปลี่ยนไปนั้นมีหลายเจ้าของ”

และ “หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการผลักดันกงล้อประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วคือกลุ่มมิชชันนารีโปรแตสแตนต์ โดยเฉพาะคณะอเมริกัน เพรสไบทีเรียน”

 

อาจารย์สุเนตรยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า ประวัติศาสตร์สามารถเขียนได้จากหลายมุม ขึ้นอยู่กับผู้เขียนเป็นใคร และมีวัตถุประสงค์อะไร สำหรับหนังสือเล่มนี้พูดได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ว่าด้วยชีวิตของสามัญชนและเขียนโดยสามัญชน

ประวัติศาสตร์ในหนังสือเล่มนี้จึงให้เรื่องราวของมนุษย์ปุถุชนสามัญ และได้ช่วยเปิดโลกให้ผู้อ่านได้รู้ในเรื่องอัศจรรย์ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน

นอกจากจะสะท้อนภาพของ “ฝรั่ง” หนังสือเล่มนี้ยังส่องสะท้อนภาพของ “คนไทย” ว่าเรามีอุปนิสัยและพฤติกรรมอย่างไรหรือที่เป็นอุปสรรคไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า

สิ่งเหล่านี้ที่เราต้องรู้ซ่อนอยู่ในแต่ละหน้า แต่ละบรรทัดของหนังสือเล่มนี้แล้ว