เมืองขุนแผนแคว้นโบราณ | เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

๐ จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงภพ เฉลิมลบล้ำเลิศระเหิดระหง

จึงตรัสสั่งขุนแผนแสนณรงค์ เอ็งจงออกไปกาญจน์บุรี

ราชการบ้านเมืองเอาใจใส่ ระวังระไวขอบเขตบุรีศรี

ตรวจตราด่านดงพงพี เอ็งไปจงดีอย่ามีภัย ฯ

เมืองกาญจน์เป็นเมืองด่าน คือด่านด้านตะวันตกของไทยติดเขตพม่าหรือเมียนมาในปัจจุบัน

“ตรวจตราด่านดงพงพี”

ด่านดงแต่โบราณก็คือ เจ็ดหัวเมืองมอญ มีเมืองสิงห์ เมืองลุ่มสุ่ม เมืองไทรโยค เมืองท่าตะกั่ว เมืองทองผาภูมิ เมืองท่าขนุน เมืองท่ากระดาน

หัวเมืองมอญ หมายถึง เขตแดน “ด่านดงพงพี” ในลุ่มน้ำแควน้อยและแควใหญ่นี้ล้วนเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติมอญทั้งสิ้น

เมืองท่ากระดาน อยู่ลำแควใหญ่ นอกนั้นอีกหกเมืองอยู่ลำแควน้อย

อาณาจักรมอญเป็นใหญ่มาก่อนจะเป็นประเทศพม่าหรือเมียนมาปัจจุบัน ก่อนนั้นเมืองหลวงของมอญก็คือหงสาวดี ชนเผ่าพม่าตีเมืองมอญได้จึงเปลี่ยนเมืองหลวงมาย่างกุ้ง กระทั่งเมืองเนปิดอว์ในปัจจุบัน

เมืองย่างกุ้งนั้นเองก็เป็นเมืองที่มีพระเจดีย์ชเวดากองซึ่งเป็นเจดีย์มอญมาแต่ครั้งต้นพุทธกาล

เมืองพม่ามีชนเผ่ามากมายหลากหลายนัก เช่น ชนเผ่าพยูแห่งเมืองพุกาม ซึ่งมาจากคำพยูคาม คือถิ่นของชาวพยู เมื่อเมืองมอญล่มด้วยพม่าครอบครอง ชาวมอญถูกเกณฑ์เป็นเชลยมาสร้างเจดีย์ที่พุกามจนพุกามลือเลื่องเป็นทุ่งเจดีย์ว่ามีหลายพันองค์ ก็ด้วยฝีมือชาวมอญนี่เอง

ชาวมอญชำนาญสร้างเจดีย์ด้วยอิฐ ดังเราเรียกอิฐว่า “อิฐมอญ” เป็นที่รู้กัน อิฐทวารวดีที่เก่าสุดนี่ก็อิฐมอญ

ดังนั้น แม้มอญจะไม่มีประเทศแล้ว หากแต่สิ่งที่คงความเป็นมอญของคนมอญที่ไม่มีวันล่มสลายเลยก็คือ “อารยธรรมมอญ” อันยังดำรงอยู่ในทุกวันนี้

พิเศษของเมืองมอญที่เป็น “ด่านดงพงพี” เจ็ดเมืองในเมืองกาญจน์นั้นมี “เมืองสิงห์” อยู่ริมน้ำแควน้อยด้วย

สำคัญของเมืองสิงห์คือ มีปราสาทเมืองสิงห์ ปราสาทที่สร้างด้วยศิลาแลง ซึ่งเป็นอิทธิพลการสร้างปราสาทมาจากอีกวิถีวัฒนธรรมหนึ่ง คือ เขมรอันสืบสาวยาวโยงไปถึงอาณาจักรเจนละจามปาในเวียดนามโน่น ย้อนไปได้ถึงปราสาทพราหมณันและเจดีย์บุโรพุทโธ และอินเดียใต้นั่น

นี่คือสองอารยธรรมสวนทางกันระหว่างอิฐกับหินมาบรรจบกันที่เมืองกาญจน์

เมืองกาญจน์มีเจดีย์และอิฐมอญยุคทวารวดี และมีปราสาทศิลาเมืองสิงห์

ฝากนักประวัติศาสตร์โบราณคดี ช่วยดูเส้นทางเผยแผ่ศาสนาสองเส้นทาง คือ จากอินเดียมาตะวันออกผ่านอารยธรรมมอญ และจากอินเดียใต้ด้วยปราสาทหิน มาลงเอยที่ปราสาทเมืองสิงห์แห่งเมืองสิงห์ หนึ่งในเจ็ดหัวเมืองมอญ อันตั้งอยู่ริมฝั่งแควน้อย แหล่งย่านบ้านเก่า ซึ่งเก่าก่อนย้อนยุคไปสามสี่พันปียุคหินใหม่โน่น

ชนชาติมอญจากสองลุ่มน้ำแควที่มีถึงเจ็ดเมืองดังเรียก “เจ็ดหัวเมืองมอญ” นี้จึงเป็นชนเผ่าดั้งเดิม อาจสืบเชื้อสายถึงชนเผ่าโบราณก่อนประวัติศาสตร์นั่นเลยก็ได้

ผู้รู้ท่านว่า ตระกูลของขุนแผน ขึ้นชื่อว่า “พลาย” นี่ก็เป็นตระกูลมอญโดยตรง ดังขุนแผนชื่อ “พลายแก้ว” ลูกชื่อ “พลายงาม” คือพระไวย และพลายชุมพล จนถึงพลายเพชร พลายบัว

ล้วนเผ่าพงศ์พลายตระกูลมอญทั้งสิ้น

พ่อแม่ของขุนแผนคือขุนไกรกับยายทองประศรี มีรกรากอยู่บ้านลาดหญ้า ซึ่งเป็นเมืองกาญจน์เก่าก่อนย้ายมาเป็นเมืองกาญจน์ปัจจุบัน

ลาดหญ้า ท่าเสาร์ชนไก่ นี่แหละเป็นถิ่นย่านบ้านขุนไกรยายทองประศรี

เมื่อขุนไกรถูกประหารด้วยโทษแทงควายล้มตายหน้าพระที่นั่ง ยายทองประศรีพาลูกคือพลายแก้วหนีมาเมืองกาญจน์ แม่ลูกไปถึงบ้านกาญจนบุรี ทองประศรีบอกลูกว่า พ่อเอ๋ย ในเมืองนี้มีคนที่คุ้นเคย แล้วเดินเลยไต่ถามเนื้อความไป ด้วยผัวเคยบอกเล่าแต่เก่าก่อน ว่าญาติมีที่ดอนเขาชนไก่ ครั้นไปพบพวกพ้องของขุนไกร เขาก็ทำเรือนให้มิได้ช้า

ถิ่นย่านบ้านขุนไกรที่เขาชนไก่นี้คือเมืองกาญจน์เก่า ชะรอยจะมีรากเหง้าเผ่าพงศ์มอญมาแต่เดิมด้วย ดังตั้งชื่อทายาทเป็นเผ่าพงศ์พลายนั้นเอง

ขุนแผนหรือพลายแก้วจึงมีความผูกพันกับเมืองกาญจน์มาแต่น้อยจนเติบใหญ่ แม้ตัวจะเกิดที่เมืองสุพรรณด้วยพ่อแม่มาตั้งบ้านอยู่สุพรรณก็ตาม แต่พลายแก้วมีชีวิตวัยเด็กอยู่เมืองกาญจน์จนอายุได้สิบห้าปี

อยู่มาจนเจ้าเจริญวัย อายุนั้นได้ถึงสิบห้า

ไม่วายคิดถึงพ่อที่มรณา แต่นึกนึกตรึกตรามากว่าปี

อยากจะเป็นทหารชาญชัย ให้เหมือนพ่อขุนไกรที่เป็นผี

จึงอ้อนวอนมารดาได้ปรานี ลูกนี้จะใคร่รู้วิชาการ

แม่ทองประศรีจึงพาลูกพลายแก้วไปบวชเณรเรียนวิชาที่วัดส้มใหญ่ มีขรัวบุญเป็นอาจารย์ วัดส้มใหญ่เวลานี้อยู่ที่บ้านหนองขาว ห่างจากเขาชนไก่ตัดตรงก็คงราวกว่าสิบกิโลเมตรกระมัง

จากนั้นเณรแก้วจึงย้ายมาเรียนต่อที่วัดป่าเลไลยก์กับสมภารมี จนเติบใหญ่เป็น “ขุนแผนแสนณรงค์” ดังกลอนวรรคข้างต้นนั้น

ขุนแผนยังวนเวียนกลับมาเมืองกาญจน์อยู่ตลอด โดยเฉพาะช่วงตอนตีดาบ ซื้อม้าหากุมาร ซึ่งเป็นตอนที่โลดโผนพิสดารนัก

กระทั่งพระพันวษาสั่งให้มาครองเมืองกาญจน์ในท้ายที่สุด ดังกลอนข้างต้นคือ

“เอ็งจงออกไปกาญจน์บุรี”

ดังตำแหน่งที่พระพันวษาตั้งไว้แต่เดิมหลังเผด็จศึกเมืองเหนือ คือ

“ขุนแผนให้ไปรั้งกาญจน์บุรี…”

และ

“ให้เป็นที่พระสุรินทฦๅชัย”

มีทำเนียบนามเจ้าเมืองกาญจน์ตำแหน่งนี้จารึกอยูจนปัจจุบัน

แผ่นดินแม่

๐ มิ่งเมืองกาญจน์ขวัญแคว้นแผ่นดินแม่

น้ำสองแควใหญ่น้อยเพียงพลอยสี

น้อยสีไพลใหญ่สีพลอยร้อยวารี

มิ่งนทีธารทองแม่กลองกาญจน์

แม่ร้อยรินลำนำดำเนินเนื่อง

แม่ให้เมืองเป็นเมืองทองผ่องผสาน

แม่ให้ศึกสงครามเป็นตำนาน

แม่ให้จิตวิญญาณแห่งวีรชน

ให้รักความเป็นธรรมความเป็นไท

นำเก่ารับใช้ใหม่ให้เป็นผล

สำนึกวิญญาณไทยใจสากล

นี้คือคนเมืองกาญจน์เมืองด่านชัย

กราบภูมิธรรมภูมิถิ่นแผ่นดินแม่

กราบสองแควใหญ่น้อยน้ำพลอยใส

กราบแม่กลองเมืองกาญจน์บันดาลใจ

กราบแม่ไท้ธรณินแผ่นดินทอง

พระมิ่งแม่มาตุคามอร่ามนิรันดร์

น้ำหนึ่งอัญมณีไม่มีหมอง

แผ่นดินแม่แผ่ภูมิธรรมคุ้มครอง

ประณมสองมือประทับกราบแผ่นดิน ฯ