ต่างประเทศอินโดจีน : เมื่อเวียตนามเผชิญสังคมชราลง

ด๋าว ง็อก ดุง รัฐมนตรีแรงงาน, กิจการทหารผ่านศึกและกิจการสังคมของเวียดนามบอกเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ว่า เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา เวียดนามมีประชากรสูงอายุ คือผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไปรวมแล้ว 11.3 ล้านคน

เมื่อจำนวนประชากรทั้งประเทศของเวียดนามในเวลานี้อยู่ที่ 96.2 ล้านคน จำนวนดังกล่าวจึงคิดเป็นสัดส่วน 11.7 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด

นั่นหมายความว่า ประเทศเวียดนามได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุแล้วตามเกณฑ์ที่สหประชาชาติกำหนดเอาไว้

 

ยูเอ็นกำหนดการเป็นสังคมสูงอายุของประเทศใดประเทศหนึ่งเอาไว้ 3 ระดับด้วยกัน ระดับแรกคือระดับ “เข้าสู่สังคมสูงอายุ” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Aging society” อันหมายถึงประเทศที่มีประชากรสูงอายุเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

ระดับที่สองของสังคมสูงอายุตามที่ยูเอ็นกำหนดไว้คือระดับ “สังคมสูงอายุสมบูรณ์” หรือ “Aged society” ซึ่งต้องมีสัดส่วนประชากรที่มีวัยเกิน 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

สุดท้ายเป็นระดับ “สังคมสูงอายุเต็มที่” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Super-aged society” หมายถึงประเทศนั้นๆ ต้องมีประชากรที่มีอายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด

ข้อมูลที่รัฐมนตรีด๋าวให้เพิ่มเติมเอาไว้อย่างน่าสนใจ บอกด้วยว่า จากจำนวนประชากรสูงอายุ 11.3 ล้านคนนั้น เดิมเคยเป็นข้าราชการเพียง 1.2 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่เดิมเคยเป็นแรงงานอยู่ในตลาดแรงงาน

นั่นหมายถึงว่า ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุเหล่านี้ คือคนที่อยู่ในชนบท เป็นเกษตรกรในชนบท

 

ที่ต้องหยิบเรื่องนี้มาพูดนั้น ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงตัวผู้สูงอายุเองก็เป็นปัญหา การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุยังเป็นปัญหาของสังคมอีกด้วย

ที่สำคัญ ยูเอ็นคาดการณ์เอาไว้ว่าสัดส่วนประชากรสูงอายุของเวียดนามจะยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยประเมินไว้ว่า ในปี 2030 สัดส่วนของประชากรวัย 65 ปีขึ้นไปของเวียดนามจะเพิ่มเป็น 12.9 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

พอบรรลุถึงกึ่งศตวรรษนี้ คือในปี 2050 เวียดนามก็จะกลายเป็นชาติสังคมสูงอายุสมบูรณ์ กล่าวคือ มีประชากรวัย 65 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

ข้อสังเกตต่อไปของท่านรัฐมนตรีต่อกลุ่มประชากรในช่วงอายุที่เป็นผู้สูงอายุนี้ก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุเวียดนามยังจัดว่า “ยากจนกว่า” เมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรในช่วงอายุอื่นๆ ของประเทศ

คนเหล่านี้มีรายได้จากสวัสดิการสังคม ที่รัฐจัดหาให้เป็นรายเดือน เดือนละ 270,000 ด่อง หรือตกประมาณ 490 บาท จัดเป็นรายได้ต่ำกว่าระดับเส้นแบ่งความยากจนของเวียดนามด้วยซ้ำไป ถ้าในเมืองรายได้รับนี้คิดเป็นเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้คนจนเมือง หรือเท่ากับ 40 เปอร์เซ็นต์สำหรับคนจนในชนบทเท่านั้นเอง

เงินก้อนดังกล่าวมาจากกองทุนประกันสังคมของรัฐซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะหาทางเพิ่มให้มากขึ้น ปัญหาก็คือ เมื่อผู้คนชราภาพมากขึ้น เงินก็ยิ่งต้องแจกจ่ายออกไปมากขึ้น

รัฐมนตรีด๋าวบอกว่า ถ้าอัตราประชากรสูงอายุยังเพิ่มมากขึ้นเหมือนที่เป็นอยู่นี้ ถึงแค่ปี 2020 นี้ กองทุนประกันสังคมที่ว่าก็จะตกอยู่ในภาวะ “ลำบาก” พอถึงแค่ปี 2037 ถัดออกไปเพียงไม่กี่ปีก็จะหมดสภาพ ไม่เหลือเงินเป็นกองทุนอีกต่อไป

 

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมรัฐบาลถึงตราข้อบังคับใหม่ ประกาศใช้เมื่อ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา อนุญาตให้บรรดาศาสตราจารย์ทั้งหลายขยายระยะเวลาเกษียณอายุออกไปได้ 10 ปี ถ้าเป็นชายก็ครบเกษียณเมื่ออายุ 70 ปี ถ้าเป็นหญิงก็ 65 ปี รองศาสตราจารย์เวลาเกษียณยืดออกไปอีก 7 ปี แพทย์และผู้เชี่ยวชาญงานอาชีพสาขาต่างๆ ขยายออกไปอีก 5 ปี

เกณฑ์เกษียณอายุปกติเดิมที่เวียดนามกำหนดไว้สำหรับเพศชายที่ 60 ปี เพศหญิงที่ 55 ปี

แต่นั่นอาจยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ รัฐบาลกำลังหาแนวทางอื่นๆ อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการส่งเสริมสตาร์ตอัพสำหรับผู้สูงอายุที่ญี่ปุ่นนำมาใช้

เพื่อไม่ให้การชราลงกลายเป็นปัญหาทั้งของสังคมและของตนเองนั่นเอง