ในประเทศ / ยิ่งทุบ ยิ่งหวาน

ในประเทศ

 

ยิ่งทุบ

ยิ่งหวาน

 

ต้องยอมรับการเข้าบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่ราบรื่นอย่างยิ่ง

ตั้งแต่ปัญหายากๆ อย่างปัญหาเศรษฐกิจ ที่ตกต่ำเกินความคาดหมาย

ปัญหาทางการเมืองก็มีมากมาย ตั้งแต่การมีเสียงปริ่มน้ำในสภา ทำให้พ่ายฝ่ายค้านมาแล้วถึง 2 ครั้ง และมีแนวโน้มที่จะเกิดต่อไป

ปัญหาที่ค้างคามาตั้งแต่การเลือกตั้ง นั่นคือ คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่

ต่อเนื่องมาถึงปัญหาการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

รวมถึงการแถลงนโยบายที่ไม่ระบุแหล่งที่มาของเงินตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเช่นกัน

ปัญหาทางความมั่นคง กรณีเกิดเหตุระเบิดต่อเนื่องหลายจุดในพื้นที่ราชการและธุรกิจ ที่จนบัดนี้ยังขยายผลไปถึงมาสเตอร์มายด์ยังไม่ได้

เป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้รุมเร้ารัฐบาลยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะไม่มีเวลาหายใจหายคอ

และนำไปสู่การประเมินอายุของรัฐบาลว่าอาจจะไม่ยาวนาน

“อุบัติเหตุ” สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

 

ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศจะขอรับผิดชอบเพียงคนเดียว กรณีปัญหาการถวายสัตย์ ก็ถูกตีความในทันทีว่า พล.อ.ประยุทธ์ถอดใจจะลาออก

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาให้ความมั่นใจในเวลาต่อมาว่า ไม่เคยคิดลาออก

พร้อมจะเดินหน้าทำงานต่อไป

และแปรวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการออกเดินสายตรวจงานพื้นที่ต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการออกไปพบปะประชาชนแล้ว

ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ยกเป็นข้ออ้างไม่เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร

โดยเฉพาะการตอบกระทู้สด กรณีการถวายสัตย์

ซึ่งนอกจากจะเลี่ยงการถูกฝ่ายค้านรุม “ทุบ” แล้ว

ยังเป็นการซื้อเวลา เพื่อที่จะให้เรื่องการถวายสัตย์ไปเข้าสู่กระบวนการอื่นนอกเหนือจากสภา นั่นคือ ให้เรื่องไปสู่ผู้ตรวจการรัฐสภา ที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้ว่าควรจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

หากส่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็จะใช้เป็นเหตุผลบอกสภาว่าไม่มีอะไรชี้แจงเพราะต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน

ซึ่งกว่าจะถึง “จังหวะ” นั้น เรื่องที่ร้อนก็น่าจะเย็นลง

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ก็ใช้โอกาสสร้าง “วาระงาน” ในต่างจังหวัด ที่จะไปตรวจอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าประชุมสภา

ขณะเดียวกันก็เร่งหาทางปิดจุดอ่อนที่เกิดขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ว่ารัฐบาลของตนจะเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง

 

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปตรวจปัญหาความแห้งแล้งที่ จ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์

ซึ่ง ณ ที่นั่น พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้โอกาสสร้างจุดแข็งให้ตนเองหลายจุดแข็ง

นับตั้งแต่การสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล โดยกล่าวกับประชาชนที่มาต้อนรับว่า

“พูดก็เหนื่อยเหลือเกิน พอทำเหนื่อยกว่าอีก เหนื่อยมา 5 ปีแล้ว เดี๋ยวจะหาว่าผมมาบ่น ผมไม่ได้มาบ่น เขาบอกว่าบ่นมากก็ให้ออกไปสิ แหม ทำไมใจร้ายกับผมจริงๆ วันนี้เรามาช่วยทำงานในรัฐบาลใหม่ ไม่ได้บ่นอย่างนั้น แต่บางทีผมบ่นตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับใครเลยสักคน”

“ผมยังไม่ลาออกแน่นอน ไม่มีลาออก”

“เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมเหมือนกระท้อน ยิ่งทุบ ยิ่งตี ยิ่งอร่อย ยิ่งหวาน ผมชอบ”

ถือเป็นการสยบข่าวลือเรื่องลาออกอีกครั้ง

และครานี้ยังเปรียบตนเองเป็น “กระท้อน” ที่ยิ่งทุบ ยิ่งหวาน

เหมือนเป็นการส่งสัญญาณไปยังฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้าน ว่ายิ่งถูกโจมตี ยิ่งแข็งแกร่ง

แต่ก็มีเสียงนินทามาจากฝ่ายค้านว่า ปากบอกว่าไม่กลัวการถูกทุบ

แล้วไฉนจึงทำทุกวิถีทางที่จะไม่เข้าประชุมสภา

จนทำให้ดูเหมือนพูดอย่าง (ไม่กลัวถูกทุบ) แต่ทำอย่าง (หนีสภาไม่ยอมตอบกระทู้เพราะกลัวถูกทุบ)

 

นอกจากนี้ การเดินทางไป จ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์ครั้งนี้

ดูเหมือนจะจงใจให้สื่อมวลชนและประชาชนเห็นภาพ “นักการเมือง” ที่มาต้อนรับ

ซึ่งปรากฏว่า มิได้มีเพียง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐหรือภูมิใจไทยเท่านั้น

หากยังมี ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ที่มาจากพรรคเพื่อไทยร่วมต้อนรับด้วย

นั่นคือ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ส.ส.สุรินทร์

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ดูเหมือนจะพยายามขับเน้นภาพนี้

โดยบอกว่า “ผมไม่มีพรรค ต้องช่วยกัน ทุกอย่างจะเดินไปได้ จะทะเลาะกันทำไม ผมไม่อยากจะสู้กับใคร”

และยังเปิดโอกาสให้ ส.ส.แสดงความเห็นและเสนอปัญหาในพื้นที่

ซึ่งนายตี๋ใหญ่ก็ตอบสนอง โดยกล่าวว่า “ขอบคุณนายกฯ โดยถ้างบประมาณปี 2563 จ.สุรินทร์ได้ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท ผมจะยกมือไม่สวนนายกฯ จะสนับสนุนเพราะประชาชนไม่ได้เลือกผมมาเป็นฝ่ายค้าน แต่เลือกมาเป็นผู้แทนราษฎร สิ่งไหนดีก็สนับสนุน สิ่งไหนไม่ดีก็ว่ากันไปในสภา”

ทำให้นายกฯ กล่าวว่า “ดีแล้ว อันไหนไม่ดีก็บอกกัน เรื่องอื่นก็รับอยู่แล้ว ขับเคลื่อนงบประมาณปี 2563 ต้องช่วยกัน สนับสนุนให้ผ่าน เพราะถ้าไม่ได้ งบประมาณไม่ออก พวกคุณเดือดร้อน ที่ขอมาก็จะไม่ได้กันหมดและล่าช้าออกไปอีก เวลานี้ทุกอย่างมันช้าออกไป ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่เพราะผมดึงไว้ จะไปดึงทำไม เดี๋ยวก็ไปดึงกันในสภาอีก ว่าไงพรรคเพื่อไทยไม่ไล่นายกฯ ออกนะ แค่อยากบอกให้รู้ว่าอะไรคืออะไรเท่านั้นเอง พี่น้องไม่มีใครมาแบ่งแยกเราได้ เราต้องรักกัน รอยยิ้มที่เห็นเป็นรอยยิ้มที่ผมเห็นและมีความสุข และผมจะอนุมัติให้ทุกเรื่อง การทำงานจะต้องไปด้วยกันทุกกระทรวง อะไรที่ไม่ดีอย่าว่ากัน ส่งมาแล้วก็ต้องตรวจสอบ”

ซึ่งนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม กล่าวเสริมว่า “ยกมือให้นายกฯ ล้านเปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีการลงชื่อขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ผมยังบอกว่าลงทำบ้าอะไร พวกมึงบ้าหรือเปล่า เขายังไม่ทำอะไรไปลงชื่อกันแล้ว ไปดูได้เลยไม่มีชื่อผม”

ด้านนายตี๋ใหญ่ตอบว่า นายกฯ อย่ายุบสภา อยู่ให้เกิน 4 ปี ขณะที่นายกฯ กล่าวว่า “จะยุบได้ยังไง ยังไม่ทันได้ทำงานเลย”

 

ท่าทีถ้อยอาศัยกันและกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคฝ่ายค้านข้างต้น

เป็นสิ่งที่รัฐบาลเสียง “ปริ่ม” น้ำต้องการอย่างยิ่ง

เพราะ “สัมพันธ์ที่ดี” นี้เป็นสัญญาณในเชิงบวก ที่พรรครัฐบาลพยายามเปิดต้อนรับพรรคฝ่ายค้าน

ด้วยหนึ่งเสียงที่เข้ามาสนับสนุน มีความหมายทางการเมืองยิ่ง

การที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าไปรับตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ก็เพราะเป้าหมายนี้

นั่นคือเข้าไปเพื่อใช้บารมีสร้างเอกภาพในพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล

ขณะเดียวกันยังทอดไมตรีไปยังพรรคฝ่ายค้าน

ดังที่ทำกับ ส.ส.เพื่อไทยใน จ.สุรินทร์ และภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป้าหมายสุดท้าย นั่นคือ “ดูด” เอา ส.ส.เหล่านี้มาร่วมรัฐบาล

เพื่อแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำ

ซึ่งนอกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว ตอนนี้ก็มุ่งไปยังพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่มีแนวโน้มว่าจะดึง 4 ส.ส. จาก 6 ส.ส. เข้ามาร่วมสนับสนุนรัฐบาล

โดยนายนิยม วิวรรธนดิฐกุล รองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่รับว่า นอกจากตนแล้ว นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรค ที่ยังคงอยู่กับพรรคต่อไปแล้ว ยอมรับว่าพรรคเราที่มี ส.ส. 6 คนนั้น มีบางส่วนจะย้ายไปร่วมงานกับรัฐบาล แต่ตนและนายมิ่งขวัญนั้นจะยังคงทำงานเป็นฝ่ายค้านต่อไป

ภาวะ “ดูด” นั้นย่อมจะทำให้เสียงรัฐบาลแข็งแกร่งขึ้น

และเชื่อว่าจะเป็น “ยุทธวิธี” ที่แซะเข้าไปยังพรรคฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่อง

แน่นอน หากฝ่ายค้านรับมือไม่ดี มีโอกาสสูญเสีย ส.ส.ไปจำนวนไม่น้อย

เพราะฟากพรรครัฐบาลมากด้วยอำนาจ ทุน และผลประโยชน์ต่างๆ

 

อย่างปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบมากถึง 3.6 แสนล้านบาท

ซึ่งแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ต่างจากประชานิยมเดิม เพราะเป็นการแจกเงินลงไปกลุ่มคนชั้นล่าง

แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ตอบโต้ ว่าทำไมถึงใช้คำว่าแจกเงิน แจกยังไง ไม่ได้แจกเงิน

แต่เป็นมาตรการทางการเงินการคลังของกระทรวงการคลังที่ออกมา โดยหารือร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายคน

เป็นการแก้ปัญหาภาคเกษตรกร การใช้จ่ายภาคอุปโภคบริโภค เรื่องการท่องเที่ยว

การใช้เงินก็ใช้จำนวนน้อย หลายคนบอกว่าใช้ 3 แสนล้านบาท จริงๆ แล้วใช้เงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้นเอง

ที่เหลือเป็นมาตรการทางภาษี การลดภาษี ชะลอการชำระหนี้ต่างๆ ถ้าคิดรวมเหล่านี้ด้วย ก็เป็นมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาทก็ใช่ แต่ถ้าใครไม่ใช้ ไม่กู้ ก็ไม่ต้องไปเสียเงินตรงนี้ เป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างกัน

พล.อ.ประยุทธ์ได้ย้อนกลับมาที่สื่อว่า “ขอร้องสื่อมวลชนให้ช่วยกันนำเสนอแต่สิ่งดีๆ บ้าง อย่าไปมัวมองประเด็นทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ขอความกรุณาให้ช่วยกันหน่อย ไม่มีใครทำได้แต่เพียงลำพัง จึงต้องแก้ไขที่ตัวเอง ช่วยครอบครัวและสังคม”

ถือเป็นการพยายามปกป้องและสร้างความชอบธรรมต่อแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

ซึ่งก็คงต้องติดตามดูต่อไปว่า จะเกิดมรรคผลทั้งต่อการเมือง เศรษฐกิจ มากน้อยเพียงใด

แต่สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ดูเหมือนกลับมาสู่ความมั่นใจในแนวทางของตนอีกครั้ง

คือถึงจะมีการจ้องโจมตีมาก

แต่ก็เป็นเหมือนการทุบกระท้อน

ที่ยิ่งทุบ ยิ่งหวาน–ไม่นำไปสู่การเน่าในแต่อย่างใด!!