ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
ประชาธิปไตยใหม่ (3)
(เรียบเรียงจากคำบรรยายหัวข้อ “ประชาธิปไตยใหม่และเสรีนิยมใหม่” ในการอบรมโครงการโรงเรียนนักข่าวของศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมืองหรือ TCIJ เมื่อ 14 มิถุนายน ศกนี้)
การแยกข้างของเสรีนิยมกับประชาธิปไตย
ทําไมเสรีประชาธิปไตยจึงเกิดวิกฤต?
หลังจากที่มันรุ่งโรจน์ช่วงหลังสงครามเย็นเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย จีนหันมาเดินแนวทางทุนนิยม ผู้คนพากันปลาบปลื้มระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยมาก คิดว่านี่คือคำตอบสุดท้ายทางการเมืองของมนุษยชาติ ไม่มีระบอบอื่นใดเป็นคู่แข่งแล้ว
แต่ภายในชั่วเวลา 10 ปีหลังจากนั้น มันเกิดปัญหาขึ้นทั่วโลก ถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ 18-19 ติดต่อกันที่องค์การ Freedom House ซึ่งมีหน้าที่วัดปรอทเสรีนิยมและประชาธิปไตยทั่วโลกบอกว่า เสรีนิยมและประชาธิปไตยตกต่ำมาตลอด 19 ปี
คำถามคือมันเกิดอะไรขึ้น?
สิ่งที่เกิดขึ้นคือเสรีนิยมกับประชาธิปไตยมันแยกข้างออกห่างต่างหากจากกัน พอมันแยกข้าง แทนที่คุณจะได้เสรีนิยมประชาธิปไตย คุณได้เสรีนิยมแต่เสียประชาธิปไตยไป มันจึงไม่เป็นประชาธิปไตย (undemocratic liberalism)
ส่วนพวกที่แยกประชาธิปไตยไป คุณก็จะได้ประชาธิปไตย แต่เสียเสรีนิยม (illiberal democracy)
ขอให้ลองดูตัวอย่างทางอเมริกา
ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นสู่ตำแหน่งนั้น สหรัฐอยู่ใต้การปกครองโดยประธานาธิบดีพรรคเดโมแครตติดต่อกันหลายปี มันกลายเป็นสังคมที่ประชาธิปไตยไส้กลวง (hollowed-out democracy)
กล่าวคือ ยอมรับแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เต็มตัว แล้วบรรดาคนงาน คนชั้นกลางในอเมริกาพบว่าภายใต้ระเบียบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ทุนใหญ่ทั้งหลายหนีไปลงทุนในจีนในเม็กซิโกและที่อื่นๆ ซึ่งอัตราค่าจ้างต่ำกว่าหมด พวกเขากลายเป็นคนตกงาน
กล่าวคือ ถึงแม้สหรัฐจะมีประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งอยู่ แต่ไม่ว่าจะเลือกพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกันขึ้นมาเป็นรัฐบาล ต่างก็เดินตามแนวทางเสรีนิยมใหม่เหมือนกัน ปล่อยให้ทุนหนีไปต่างประเทศตลอดเวลา
ทิ้งให้ผู้คนตกงานอยู่ในอเมริกา
หนักกว่านั้นคือเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าไปกำหนดนโยบาย แต่ถูกกำหนดโดยกลุ่มทุนใหญ่ จึงเป็นเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ของชนชั้นนำเท่านั้น
อันนี้คือภาวะก่อนทรัมป์ขึ้นสู่อำนาจที่เรียกได้ว่าเสรีนิยมที่ไม่ประชาธิปไตยหรือ undemocratic liberalism
ทรัมป์ชนะเลือกตั้งขึ้นมาได้เพราะเขาเล่นบทกบฏ
เขาประกาศว่าไม่เอาโลกาภิวัตน์ ไม่เอาเสรีนิยมใหม่ ฐานเสียงคือคนอเมริกันที่ตกงาน ตกชั้นฐานะไป เพราะนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านี้
ทรัมป์ประกาศว่าเขารักคนเหล่านี้ รักคนที่ไม่มีการศึกษา เพราะนี่คือคนที่ถูกรัฐบาลก่อนหน้านี้ทอดทิ้งในแง่เศรษฐกิจ ก็เลยกลายเป็นประชานิยมทางการเมืองหรือ political populism
สังเกตหรือไม่ครับ พอรัฐบาลเดโมแครตก่อนหน้านั้นแยกประชาธิปไตยออกไป เหลือแต่เสรีนิยม มันก็ทำให้ประชาธิปไตยหมดความหมาย เป็นเสรีนิยมที่ไม่ประชาธิปไตยหรือ undemocratic liberalism คือเลือกใครก็ได้นโยบายแบบเก่าหมด ต่างกันไม่มาก
และพอถึงจุดหนึ่งมันก็พลิก
ได้ทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดีผ่านการเลือกตั้ง โดยใช้ประชานิยมทางการเมือง
ถึงจุดนั้นคุณกลับได้ illiberal democracy คือประชาธิปไตยไม่เสรี
ทรัมป์มาโดยคนที่ตกรถไฟเศรษฐกิจขบวนเสรีนิยมใหม่ ทรัมป์มาจากกระแสประชาธิปไตย
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งทรัมป์ก็เริ่มจำกัดสิทธิเสรีภาพของฝ่ายค้านและสื่อมวลชนที่เห็นต่างจากจน
ประเด็นสำคัญตรงนี้ก็คือพอเสรีนิยมกับประชาธิปไตยแยกข้างกันอยู่สักพักมันจะพลิกกลับ กลายไปเป็นอีกฝั่งหนึ่ง พูดอีกอย่างก็คือ ทั้งเสรีนิยมที่ไม่ประชาธิปไตย (undemocratic liberalism) และประชาธิปไตยไม่เสรี (illiberal democracy) ต่างก็ไม่มั่นคงทั้งคู่
พอเสรีนิยมขาดประชาธิปไตยไป มันก็เสรีต่อได้อีกไม่นาน ในทำนองเดียวกันแต่กลับกัน
พอประชาธิปไตยขาดเสรีนิยมไป มันก็ประชาธิปไตยต่อได้อีกไม่นานเช่นกัน
มันจะเสื่อม และนำไปสู่การสูญเสียทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตยทั้งคู่ไปด้วยกัน
มาดูฝั่งไทยในสมัยรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร บ้าง
ระบอบประชาธิปไตยแต่เดิมของเราเป็นประชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจนำ แนวนโยบายโดยทั่วไปของรัฐบาลชุดต่างๆ จะไม่ทำให้คนชั้นสูงเดือดร้อน
จะไม่มีการกระจายงบประมาณและทรัพยากรไปช่วยคนชั้นล่างมากเกินไป แต่พอทักษิณขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็กระจายรายได้ สร้างโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ดึงงบฯ ส่วนกลางกระจายไปให้ชาวบ้านข้างล่าง ทำให้เป็นที่นิยมมาก
พอทำไปได้สักพัก ชนชั้นกลาง ชนชั้นนำก็เริ่มไม่พอใจ วิพากษ์วิจารณ์ว่าแทนที่จะเอางบประมาณไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เศรษฐกิจพัฒนาก้าวหน้าต่อไป กลับเอาไปให้คนบ้านนอกพวกนั้น บ้านเมืองไม่ได้พัฒนา
รัฐบาลทักษิณเอาแต่เห็นแก่คะแนนเสียงเลือกตั้งของตน ฯลฯ
แบบแผนเศรษฐกิจ การเมืองที่เราพอจับเค้าได้ก็คือ ถ้าคุณเดินนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ (economic populism) ไปถึงจุดหนึ่ง คุณจะถูกชนชั้นกลางและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่สูญเสียประโยชน์และโอกาสต่อต้าน แล้วจากนั้นคุณก็จำจะต้องเริ่มจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของฝ่ายค้านเสียงข้างน้อย
และพอเอาไม่อยู่ก็หันไปใช้กระบวนท่าประชานิยมทางการเมือง (political populism) คือปลุกม็อบ แล้วแบ่งประเทศเป็นประชาชนฝั่งเราที่เรียกว่าไพร่ กับพวกชนชั้นนำที่เรียกว่าอำมาตย์ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นการเมืองจะเดือดพล่านมาก
ในกรณีของทักษิณก็จบลงด้วยรัฐประหาร คปค. 19 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งทำให้พลิกกลับจาก illiberal democracy (ระบอบทักษิณ = ประชาธิปไตยไม่เสรี) ไปเป็น undemocratic liberalism (ระบอบ คปค. = เสรีนิยมที่ไม่ประชาธิปไตย) คือทำลายประชาธิปไตยลงไป โดยขยายสิทธิเสรีภาพของชนชั้นกลางและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจซึ่งคัดค้านระบอบทักษิณ
แต่แล้วระเบียบอำนาจนี้สุดท้ายก็ไม่ยั่งยืนเพราะในที่สุดเสรีนิยมกับประชาธิปไตยต้องการกันและกัน และหลังผ่านการขัดแย้งในแบบแผนทำนองนี้มาราวสิบกว่าปีสุดท้ายประเทศไทยเราก็ไม่ได้ทั้งประชาธิปไตยและเสรีนิยม ดังการปกครองในระบอบ คสช.ที่ผ่านมา
ผมคิดว่าระเบียบการเมืองแบบ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ทำลายทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตย ไม่มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในการออกกฎหมาย สิทธิ เสรีภาพ ถูกริบ ลิดรอนไปเรื่อยๆ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
เกมประชาธิปไตยใหม่คือการนิยามว่าใครคือประชาชน
เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ว่าประเทศไทยเคยเป็นประชาธิปไตยเต็มตัวหรือไม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แต่พูดได้ว่าในหลายสิบปีที่ผ่านมีกระบวนการสร้างประชาธิปไตยให้แผ่กว้างออกไปหรือ Democratization คือประชาชนได้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นๆ ผมอยากเสนอแนะว่าสิ่งแรกที่ควรทำเวลาคิดถึงประชาธิปไตยคือเลิกคิดถึงมันเป็นของสำเร็จรูป (thing) แต่ให้คิดถึงมันเป็นกระบวนการ (process)
หัวใจของประชาธิปไตย (democracy) คือคำว่า ประชาชน (demos) ทว่า “ประชาชน” เอาเข้าจริงเป็นคำกลวงเปล่า (empty signifier) แปลว่ามันอยู่ที่คุณจะแต่งตั้งหรือนิยามใครบ้างให้เป็นประชาชน
ส่วนประชานิยม (populism) เป็นยุทธศาสตร์ทางวาทกรรม (discursive strategy) เพื่อสถาปนาแนวพรมแดนทางการเมืองขึ้นมาระหว่างพวกต่ำต้อยด้อยฐานะกับพวกคณาธิปไตย
ดังนั้น เวลาที่คุณเล่นเกมประชาธิปไตย สิ่งแรกที่คุณควรทำคือต้องนิยามก่อนว่าประชาชนของคุณหมายถึงใครบ้าง? นั่นคือพวกของคุณ ส่วนคนที่ถูกคุณตัดออกไปว่าไม่ใช่ประชาชน นั่นคือปรปักษ์ผู้อยู่ตรงข้ามกับประชาชน ประชานิยมก็คือการเล่นเกมนี้
ยกตัวอย่างเช่น ช่วงพุทธทศวรรษ 2490 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนิยามประชาชนว่าคือกรรมกร ชาวนา นายทุนน้อย นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ถ้าคุณอยู่ในอันหนึ่งอันใดในนี้คุณคือประชาชน พวกที่เหลือ เช่น จักรวรรดินิยมอเมริกา ศักดินานิยม ทุนนิยมขุนนาง คือชนชั้นปกครอง แล้ว พคท.ก็รวมพลังประชาชนทำการปฏิวัติเพื่อโค่นชนชั้นปกครอง จะเห็นได้ว่ามันเริ่มจากการนิยามก่อนว่าใครคือประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประชาธิปไตย เจ้าของอำนาจและใครที่ไม่ใช่ประชาชน
ตัวอย่างในระยะใกล้คือ “ประชาชน 19 ล้านเสียง” ของทักษิณ, “ประชาชน” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, “มวลมหาประชาชน” ของ กปปส., ประชาชนของพระราชา, “ประชาชน” ที่ถูกอ้างช่วงเลือกตั้งว่าประชาชน 1 คนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง, การหันไปเน้นคำว่า “พลเมือง” แทน “ประชาชน” หรือ “ราษฎร” ของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ฯลฯ
นี่คือตัวอย่างของการกำหนดนิยามของ “ประชาชน” ขึ้นมาใหม่เพื่อรวมพวกและกำหนดปรปักษ์ในระยะใกล้ ซึ่งจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
ถ้าคุณจะเล่นเกมประชาธิปไตยใหม่ คุณเล่นแบบนี้ แทนที่คุณจะปล่อยให้คนอื่นนิยาม คุณควรนิยามเอง หรืออย่างน้อยคุณตั้งคำถามนี้กับคนที่นิยาม “ประชาชน” ทั้งหลาย