สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง /บริการแพทย์แผนไทย กับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ … ‘บัตรทอง’

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

บริการแพทย์แผนไทย

กับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

… ‘บัตรทอง’

 

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีชื่อเล่นเรียกกันว่า “บัตรทอง” แต่ชาวบ้านจะคุ้นชื่อตามนโยบายการเมืองว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้เก็บเงินทองอะไร ปัจจุบันคนเจ็บไข้ได้ป่วยทั่วประเทศประมาณ 48 ล้านคนมีสิทธิได้ใช้ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

เมื่อตอนเริ่มต้นปี 2545 สิทธิการใช้บริการสาธารณสุขนั้นยังไม่ครอบคลุมการบริการการแพทย์แผนไทยแต่อย่างใด

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2550 ได้ริเริ่มการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นการพึ่งตนเองด้านสุขภาพในระบบบริการสาธารณสุขของชาติ

เวลานั้นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตัดสินใจสนับสนุนการบริการแพทย์แผนไทย ซึ่งต้องคำนวณเป็นรายหัวประชากรที่มีสิทธิในปี 2550 ประมาณ 54 ล้านคน โดยให้เงินบริการแพทย์แผนไทย 50 สตางค์ต่อหัวประชากร

รวมทั้งประเทศได้งบฯ กองทุนแพทย์แผนไทย 28.2 ล้านบาท

สมัยนั้นมีคนล้อกันเล่นๆ ว่า งบฯ แพทย์แผนไทยเป็นงบฯ ไม่ครบบาท (เพราะได้แค่ห้าสิบสตางค์เท่านั้น ฮา)

ในปีถัดมาได้เพิ่มอีก 1 เท่าตัว คือได้มาครบบาท!

หลังจากนั้นในบางปีก็ไม่ได้ขึ้นบางปีก็ได้ขึ้น

จนปีงบประมาณ 2562 ได้รับงบฯ ต่อประชากร คนละ 11.61 บาท

และข่าวดีในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจะเริ่มใช้เดือนตุลาคมนี้ ได้รับเพิ่มเป็น 14.8 บาท

คนทั่วไปอาจไม่รู้ว่ามีสิทธิบัตรทองกับการบริการแพทย์แผนไทยอยู่ และไม่รู้ว่าสิทธินั้นมีอะไรบ้าง

จึงขอแนะนำให้เรารู้จักและส่งเสริมให้ไปใช้

 

การสนับสนุนนี้ไม่ได้สนับสนุนให้ป่วยไข้นะ

แต่เชียร์ให้ใช้เมื่อยามจำเป็น และสิทธิการแพทย์แผนไทยยังเป็นการบริการที่เข้าข่ายส่งเสริมสุขภาพด้วย คือ คุณแม่หลังคลอดบุตรที่มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้าแพ็กเกจอยู่ไฟหลังคลอดตามหน่วยบริการที่มีแพทย์แผนไทยได้เลย ซึ่งให้บริการตามหลักภูมิปัญญาดั้งเดิมตั้งแต่ นวด อบ ประคบ เข้ากระโจม ทับหม้อเกลือ ช่วยให้แม่หลังคลอดมีสุขภาพที่ดีและช่วยกระตุ้นน้ำนมให้มีมากขึ้นด้วย

สิทธิบัตรทองยังใช้สำหรับความป่วยไข้ที่จำเป็นต้องได้รับการนวดไทยแก้อาการต่างๆ ได้ และถ้าต้องได้รับยาก็สามารถเบิกได้ตามรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นยาบัญชีจากสมุนไพร รวม 74 รายการ แยกเป็นยาแผนไทยหรือยาแผนโบราณจำนวน 50 รายการ

เช่น ยารักษากลุ่มอาการไหลเวียนโลหิตหรือแก้ลม เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกมาก เช่น ใครมีไข้ ขอรับยาจันทน์ลีลาลดไข้ได้ตามสิทธิ ยาธาตุอบเชย ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร สตรีคนใดประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดประจำเดือน ตำรับยาดั้งเดิมชื่อ ยาเลือดงามก็อยู่ในสิทธิประโยชน์ให้สตรีทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงยาได้

กลุ่มยาในบัญชียาหลักที่เรียกว่า ยาพัฒนาจากสมุนไพรอีก 24 รายการ ก็อยู่ในสิทธิบัตรทอง เช่น ยาขมิ้นชัน แก้อาการท้องอืดเฟ้อ อาการโรคกระเพาะอาหาร ยาฟ้าทะลายโจร บรรเทาการเจ็บคอและเป็นหวัด ยาเถาวัลย์เปรียง บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ

รวมถึงยาถอนพิษเบื่อเมาที่ใช้รางจืดก็ใช้ได้

หรือใครอยากเลิกบุหรี่ ยาหญ้าดอกขาวช่วยลดความอยากบุหรี่ก็อยู่ในบัญชียาที่บัตรทองดูแลทุกคน รายการยา 74 รายการพอจะครอบคลุมอาการไม่สบายที่คนไทยจำเป็นต้องรักษาได้พอสมควร

แต่ก็ยังควรพัฒนาเพิ่มรายการยาในบัญชียาหลักมากขึ้นให้ได้สัก 100 รายการ

 

กล่าวโดยสรุป ปัจจุบันสิทธิบัตรทองให้บริการผู้ป่วย ตั้งแต่การนวดไทย อบ ประคบ อยู่ไฟหลังคลอด และจ่ายยาให้คนไข้ตามรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ

ซึ่งทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังไม่หยุดไว้เพียงเท่านี้

ในการรับฟังความคิดเห็นประจำปี 2562 ซึ่งทางมูลนิธิสุขภาพไทยมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปพัฒนาระบบบริการแพทย์แผนไทยให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้น มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ

แต่ขอนำมาเสนอไว้บางประเด็นให้ช่วยกันขับเคลื่อน เช่น

ประการแรก การเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ของบริการแพทย์แผนไทยที่ให้แพทย์แผนไทยจ่ายยาปรุงเฉพาะราย เนื่องจากในเวลานี้สิทธิของราชการซึ่งกรมบัญชีกลางให้สิทธิเบิกค่ายาที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค ยาแผนไทย “รายการยาที่ปรุงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย” ได้ โดยให้เป็นไปตามการสั่งใช้ยาของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย

หากมองในแง่ความเท่าเทียมของสิทธิประโยชน์หรือเป็นสวัสดิการรักษาพยาบาล ก็ควรจะให้สิทธิบัตรทองสามารถสั่งจ่ายยาปรุงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายได้ ซึ่งการจ่ายยาทำนองนี้อยู่บนหลักวิชาความรู้ของการแพทย์แผนไทย

ประการที่สอง การเพิ่มเติมบริการหัตถการการแพทย์แผนไทยตามความจำเป็นด้านสุขภาพ เพื่อการเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทยที่มีคุณภาพและตามมาตรฐานวิชาชีพ เช่น หัตถการพอกยาเพื่อลดอาการปวดและอาการอักเสบ ซึ่งปัจจุบันนี้ในโรงพยาบาลหลายแห่งให้บริการพอกยาที่เข่า เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดกันแล้ว

และการใช้ยาสมุนไพรสำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ที่มีโรงพยาบาลบางแห่งช่วยเหลือผู้ป่วย แต่ยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของบัตรทอง การเพิ่มสิทธิเช่นนี้ก็จะช่วยผู้ป่วยได้อย่างมาก

และในการรับฟังความเห็นได้เสนอให้ สปสช. ที่บริหารจัดการกองทุนสุขภาพ ที่มีตั้งแต่ “กองทุนสุขภาพตำบล” และ “กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” (Long Term Care: LTC) ซึ่ง สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น หากมียุทธศาสตร์เชิงรุก ระบุให้ภายใน 3 ปีนี้ ขอให้งบประมาณกองทุนเพียงร้อยละ 10-15 สนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน เพื่อการส่งเสริม ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ ก็จะลดภาระค่าใช้จ่ายในระบบบริการและช่วยให้ประชนชนสามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้

 

ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวในงานรับฟังความคิดเห็นทั่วไประดับประเทศว่า

“ปัจจุบันระบบ (บัตรทอง) มีความก้าวหน้ามาก และจะทำให้ระบบดีขึ้น ยืนยันรัฐบาลนี้ไม่มีแนวคิดเรื่องการร่วมจ่าย จึงไม่ต้องกังวล ระบบหลักประกันฯ จะยังอยู่ต่อไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง และจะทำให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมมากขึ้น”

การบริการแพทย์แผนไทยก็น่าจะได้รับการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นแน่นอน