โค้ดดิ้ง เป็นเรื่องไม่ยาก | มนัส สัตยารักษ์

โค้ดดิ้ง เป็นเรื่องไม่ยาก

พลันที่คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.กระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวเรื่องจะให้เด็กไทยเรียนรู้ถึงภาษาคอมพิวเตอร์ที่เรียกกันว่า “โค้ดดิ้ง” หรือ coding เป็นภาษาที่ 3 เพื่อปั้นเด็กไทยตั้งแต่ระดับประถม ให้เด็กไทยมีตรรกะและพร้อมที่จะก้าวสู่ยุคดิจิตอลที่กำลังมาถึง

ก็มีเสียงสนับสนุนกันอื้ออึงเป็นส่วนใหญ่กว่า 99 เปอร์เซ็นต์ มีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ที่ท้วงติงและคัดค้าน

สาเหตุที่คัดค้านก็น่าจะด้วยยังเข้าใจผิดคิดว่า โค้ดดิ้งคือการเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชาวบ้านยังยากจนไม่มีปัญญาซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ลูกหลาน

อีกเหตุผลหนึ่ง (พบในโซเชียลมีเดีย) ก็คือ คุณหญิงกัลยาเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่พวกเขาถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม (กับประชาธิปไตย)!

แต่คนไทยที่มีลูกมีหลานต่างให้ความสนใจความคิดของคุณหญิง เพราะเราต้องการให้ลูกหลานของเราคิดเป็นระบบ มีทักษะการแก้ปัญหา สามารถแยกปัญหาหาออกเป็นส่วนๆ เพื่อแก้ไปทีละเปลาะ (ตามโครงสร้างของโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ให้เด็กเข้าใจตรรกะ รู้จักเหตุผล

บ้านเมืองเรายุคนี้วุ่นวายเพราะผู้ใหญ่หลายคนตรรกะบิดเบี้ยว

การเรียนโค้ดดิ้งไม่ใช่เรียนเขียนโปรแกรมคอมพิเตอร์ (โดยตรง) ดังนั้น จึงยังไม่จำเป็นต้อง ใช้คอมพิวเตอร์ เราเพียงอบรมครูให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ให้ความรู้เรื่องโค้ดดิ้งแก่เด็กไปอย่างทั่วถึงเสมอกันแม้จะอยู่ถึงหลังเขาก็ตาม

บิล เกตส์ (ผู้ครีเอตไมโครซอฟต์) กล่าวว่า “ผมอายุ 13 ตอนที่ได้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก” เขาให้สัมภาษณ์ CNN พูดถึงคอมพิวเตอร์โค้ดดิ้งว่า “More kids should learn to program.”

สตีฟ จ็อบส์ (ผู้ครีเอตแอปเปิล) พูดว่า “ทุกคนในประเทศควรเรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพราะมันสอนวิธีคิดด้วยว่าควรคิดอย่างไร”

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (ผู้ครีเอตเฟซบุ๊ก) พูดยาวถึงเรื่องโค้ดดิ้ง สรุปว่า “วิทยาการคอมพิวเตอร์ทั้งหมดมาจากการเรียนรู้เรื่องโคดดิ้งและการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ออกคำสั่งต่างๆ เพื่อสร้างนวัตกรรม”

บุคคลในวงการเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นเอ็นจิเนียร์ โปรแกรมเมอร์ ผู้ผลิต ผู้ค้า หรือแม้แต่ “ผู้ใช้” ต่างพูดว่า “เป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้”

ชีวิตในอนาคตไม่เพียงแต่แค่กดเอทีเอ็มและใช้โทรศัพท์มือถือเท่านั้น โลกกำลังเดินหน้าไปสู่ยุคของรถไฟฟ้า โดรนหรือยานบินไม่มีคนขับ รถยนต์และเครื่องบินไร้คนขับ สมองกลหรือ AI และหุ่นยนต์ ฯลฯ และต่อไปก็จะเป็นยุคที่ไม่ต้องใช้ธนบัตร

ทั้งหมดล้วนสั่งการโดยโค้ดหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ผมไม่แน่ใจว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ก่อนหน้าคุณหญิงกัลยาจะมาเป็น รมช.) ได้มีนโยบายเกี่ยวกับการเรียนโค้ดดิ้งเป็นภาษาที่ 3 หรือเปล่า แต่คิดว่าถึงมีก็ไม่ได้หวังผลอย่างที่คุณหญิงกัลยาแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์

จำได้แต่ว่าในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี มีข่าวฮือฮาในนโยบาย “ให้เด็กมีไอแพด (iPad) คนละเครื่อง” หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้ติดตามความคืบหน้าว่าผลเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนใน กทม. (อย่างเช่นที่โรงเรียนราชินีบน ที่หลานของผมเรียนชั้นประถม 2 อยู่) เปิดหลักสูตร “เทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงนวัตกรรม” โดย ดร.พิรุณ ศิริสักดิ์ เป็นวิทยากร ประกอบด้วยครูวิทยาการการคำนวณอีก 2 ท่าน เปิดโอกาสให้ผู้สนใจลงทะเบียนเรียน

รายละเอียดในเอกสารมีว่า “ระดับชั้น : ประถมศึกษา, มัธยมศึกษาตอนต้น, มัธยมศึกษาตอนปลาย”

“เหมาะสำหรับ : หัวหน้ากลุ่มสาระวิชา, ครู, ศึกษานิเทศก์”

“ศาสตร์การสอน : ทักษะศตวรรษที่ 21, การจัดการชั้นเรียน, จิตวิทยาแนะแนว/จิตวิทยาการเรียนรู้, การวัดและประเมินผลการเรียนรู้, การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการเรียนรู้”

ผมคาดว่า หลานชั้นประถมของผมคงได้เรียนรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลด้วย

และเชื่อว่า การเรียนรู้เรื่องโค้ดดิ้งที่จะไปให้ถึงโรงเรียนเด็กหลังเขา เป็นความจริงในอนาคตอันใกล้

เมื่อตอนที่ผมอายุ 50 ปี (หรือ 32 ปีมาแล้ว) ผมขับรถไปเกิดอุบัติพลิกคว่ำที่อำเภอละแม จังหวัดชุมพร กระดูกคอแตกหัก 3 ข้อ ผมตัดสินใจกลับไปผ่าตัดและรักษาตัวที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ แพทย์ประเมินว่าผมต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนจึงจะกลับไปทำงานได้เหมือนเดิม

เพื่อนผมคนหนึ่งแนะนำว่า 3 เดือนนี้จะเป็น “สามเดือนทอง” ถ้าหากผมได้อ่าน Programming with dBASE III Plus ของ Ashton Tate

แอชตัน เทท ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ผม-ซึ่งไม่เอาไหนในภาษาอังกฤษ รวมทั้งไม่มีพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์-นอนอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วพบว่า

“โค้ดดิ้งและโปรแกรมมิ่งเป็นเรื่องไม่ยากที่จะเข้าใจ”

คำที่เขาใช้ในหนังสือหลายคำดูเหมือนจะกลายเป็นภาษาไทยไปโดยที่ไม่ต้องเปิดดิกชันนารี เมื่อเราเรียนเรื่องข้อมูล เราก็รู้จักคำว่า record, field, line และ column ฯลฯ ราวกับเป็นภาษาของเราเอง เมื่อเราศึกษาถึงโครงสร้าง หรือ structure ของโปรแกรม เราก็เข้าใจคำว่า set, memory, variable, looping, do while และ enddo ฯลฯ ไปโดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทย

ภาษาจะเป็นดังที่ท่านอาจารย์ชยสาโรเทศน์ไว้…ภาษาคือสะพาน ไม่ใช่กำแพง

แม้ผมจะเขียนโปรแกรมได้ไม่มาก แต่การได้อ่าน Programming แล้วผมเป็นคนมีตรรกะมาก ผมเข้าใจคำว่า logic หรือตรรกะ เป็นคนมีเหตุมีผลโดยไม่ต้องเรียนตรรกศาสตร์ และรู้วิธีแก้ปัญหาเป็นเปลาะๆ (Programming in nutshell) โดยไม่สับสน

ผมเห็นว่าการเมืองไทยสับสนวุ่นวายเพราะนักการเมืองขาดตรรกะ ทะเลาะและแบ่งฝ่ายห้ำหั่นกัน สร้างวิวาทะ สร้างข่าวปลอมในโซเชียลมีเดีย ใส่ร้ายและกล่าวหากันจนรกศาล และต้องมีรัฐประหาร!

จำได้ว่าบรรทัดแรกของโปรแกรมที่ผมเรียนและเขียน เริ่มด้วยคำว่า set environment เราจะเซ็ตสิ่งที่ไม่ใช่ตัวแปรไว้เสมือนบอกลักษณะ ขอบเขตและทิศทางของโปรแกรม เช่น เราจะ “พิมพ์รายงานด้วยกระดาษ A4 อักษรขนาด 18 พอยต์” เป็นต้น

รัฐธรรมนูญสำหรับบริหารประเทศ คล้ายโปรแกรม (แต่ไม่ใช่โปรแกรมคอมพิวเตอร์) จึงไม่ได้ set environment ไว้ว่า “ประเทศไทย ปี 2562”

จึงมีพรรคการเมืองหัวก้าวหน้าบางพรรคฝันที่จะใช้ระบบของ “ประเทศฝรั่งเศส ปี 2475”