สุรชาติ บำรุงสุข | ฤดูใบไม้ผลิที่ฮ่องกง 2019! เอาประชาธิปไตย ไม่เอาจีน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เหนือสิ่งอื่นใด ปักกิ่งกลัวว่าถ้าปล่อยมือจากฮ่องกงแล้ว ฮ่องกงจะเลือกผู้นำที่เป็นประชาธิปไตย และอาจจะนำไปสู่การจัดตั้งขบวนการที่จะแยกตัวออกจากการควบคุมของจีน”

Jonathan Kaiman, The Guardian, 30 September 2014

เมื่อ “ขบวนการร่ม” ของคนหนุ่มสาวฮ่องกงเปิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในตอนกลางปี 2014 สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติระหว่างฮ่องกงกับจีนอย่างชัดเจน แม้จีนจะประกาศหลักการในการปกครองฮ่องกงว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งเป็นเรื่องง่ายในทางทฤษฎี

โดยรัฐบาลปักกิ่งรับผิดชอบต่อการต่างประเทศและการป้องกันประเทศของฮ่องกง

และขณะเดียวกันก็จะยอมรับต่อการปกครองตนเองและสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกง ซึ่งรวมถึงระบบตุลาการและสื่อมวลชนที่เป็นอิสระ

แต่ดูเหมือนว่าท่าทีที่แท้จริงของรัฐบาลไม่ได้เป็นเช่นนั้น ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่เองไม่ไว้ใจกับรัฐบาลจีน

และกังวลอย่างมากกับการแทรกแซงของจีน

หรือเป็นความกังวลว่าในที่สุดแล้วรัฐบาลปักกิ่งจะไม่ยอมรับหลักการที่ตกลงกันไว้ในการส่งมอบฮ่องกงในปี 1997

การแทรกแซงจากปักกิ่ง

สําหรับการปกครองฮ่องกงนั้น ผู้บริหารสูงสุดจะมาจากการเลือกสรรของ “คณะผู้เลือก” (nominating committee) จำนวน 1,200 คน ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพวก “นิยมจีน”

จึงไม่แปลกที่ผลการเลือกตั้งจะได้ผู้ที่เป็นพวกนิยมจีนขึ้นเป็นผู้บริหาร

แต่รัฐบาลปักกิ่งได้สัญญาว่าการได้มาผู้บริหารนี้ในปี 2017 จะมาจากการเลือกตั้ง

แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ทุกฝ่ายรับรู้ไม่แตกต่างกันว่ารัฐบาลจีนไม่สามารถปล่อยการควบคุมฮ่องกงให้หลุดจากมือได้เลย

และยิ่งในภาวะที่จีนเองก็กำลังเผชิญกับการขยายตัวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เกิดขึ้นในภาคตะวันตก

ไม่ว่าจะเป็นขบวนในทิเบตหรือในซินเจียงด้วยแล้ว การจะยอมปล่อยให้ขบวนการเมืองในฮ่องกงประสบความสำเร็จ จนอาจกลายเป็นขบวนการเรียกร้องเอกราชใหม่ในอนาคตนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่อาจที่0tยินยอมให้เกิดขึ้นได้เลย

ฉะนั้น หากจะมีผู้ลงสมัครเป็นผู้บริหารสูงสุดของหมู่เกาะแห่งนี้ด้วยแล้ว พวกเขาย่อมจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากจีนอย่างแน่นอน

ซึ่งก็จะมีแต่ผู้ที่รัฐบาลปักกิ่งมองว่าเป็น “ผู้รักชาติ” เท่านั้นที่จะลงสมัครได้

ดังนั้น ไม่ว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่จะมีข้อเรียกร้องอย่างใดในเรื่องนี้ที่ต่างไปจากรัฐบาลปักกิ่ง ก็คาดเดาได้ว่าจีนไม่มีทางที่จะยอมรับต่อข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้เลย

หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า จีนไม่มีทางที่จะปล่อยให้ฮ่องกงเป็นประชาธิปไตย

เพราะประชาธิปไตยไม่เพียงแต่จะทำให้ฮ่องกงแยกตัวออกจากการควบคุมของจีน

หรืออย่างน้อยก็จะทำให้อำนาจการควบคุมของจีนลดลง

ทั้งยังอาจเป็นการสร้าง “ตัวอย่างทางการเมือง” ให้แก่พื้นที่การปกครองอื่นของจีน ที่อยากมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

โจทย์การเมืองชุดนี้ไม่ง่ายสำหรับฮ่องกงและจีน และเป็นโจทย์ที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าไม่ได้ด้วย

สำหรับนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยฮ่องกงแล้ว บทเรียนที่พวกเขาเห็นจากการเรียกร้องประชาธิปไตยในจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 4 มิถุนายน 1989 ก็คือ รัฐบาลจีนไม่ยอมทนต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย

และพร้อมที่จะส่งกำลังพลของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) เข้าทำการล้อมปราบนักศึกษา ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมด้วยการใช้อาวุธจริง

โดยมิได้คำนึงว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นการชุมนุมอย่างสันติ บทเรียนเช่นนี้ทำให้แกนนำการชุมนุมอดกังวลถึง “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” ที่จะเกิดเทียนอันเหมินขนาดเล็ก (mini-Tiananmen) ที่ฮ่องกงไม่ได้

เพราะในฮ่องกงเองมีที่ตั้งของหน่วยทหารของจีนอยู่ด้วย

และหลายฝ่ายเกรงว่ารัฐบาลปักกิ่งจะออกคำสั่งให้หน่วยทหารนี้ทำการล้อมปราบฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกง ดังเช่นที่เคยmeที่เทียนอันเหมินมาแล้ว

แต่ผู้บริหารฮ่องกงยืนยันเสมอว่าจะไม่มีการเรียกกำลังทหารเข้ามาจัดการกับการชุมนุมเป็นอันขาด

แน่นอนว่าหากมองจากมุมของผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศแล้ว ทุกคนตระหนักดีว่าการตัดสินใจล้อมปราบผู้ประท้วงที่ฮ่องกง จะมีผลแตกต่างอย่างมากกับการปิดล้อมและปราบปรามที่ปักกิ่ง

เพราะในเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินนั้นเป็นเรื่องที่เกิดภายในประเทศ แต่สุดท้ายแล้วหากรัฐบาลจีนไม่สามารถทนกับการประท้วงที่ฮ่องกงได้ ก็อาจจะนำไปสู่การปราบปรามครั้งใหญ่ได้ไม่ยากนัก

แต่หากเกิดการปราบปรามขึ้นจริง ก็จะเป็นภาพลบอย่างมากกับรัฐบาลจีน และจะกลายเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า จีนไม่พร้อมที่เป็นรัฐมหาอำนาจที่จะอยู่ในประชาคมระหว่างประเทศในแบบที่เป็นมาตรฐานสากล

หากเป็นเพียงรัฐบาลอำนาจนิยมที่อยู่ได้ด้วยการปราบปรามผู้เห็นต่าง

และอย่างน้อยจะเห็นได้ว่าการล้อมปราบที่เทียนอันเหมินกลายเป็นตราบาปสำคัญที่รัฐบาลปักกิ่งไม่อาจลบเลือนได้

จีนกับปัญหาฮ่องกง

หากมองจากมุมของสื่อที่ปักกิ่งแล้ว เห็นได้ชัดมีความพยายามที่จะเซ็นเซอร์ข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ฮ่องกง

ซึ่งว่าที่จริงแล้ว การประท้วงอื่นๆ ในจีนเอง ก็มักจะถูกปิดข่าวไม่แตกต่างกัน รัฐบาลจีนมีนโยบายที่ชัดเจนที่ไม่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ถึงการต่อต้านรัฐบาล และหากเป็นสื่อของรัฐแล้ว พวกเขามีท่าทีแบบเดินตามแนวทางของพรรค ที่ไม่ยอมรับการประท้วงที่ฮ่องกง

สื่อรัฐถือว่าจะต้องนำเสนอสองประเด็นหลักคือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม

แต่หากเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับแนวทางของพรรคแล้ว สื่ออีกส่วนก็จะไม่นำเสนอเรื่องราวการประท้วงเป็นอันขาด

หรืออาจจะเป็นไปในแบบของการเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะไม่ต้องการมีปัญหากับรัฐบาล

ข่าวการชุมนุมที่ฮ่องกงจึงแทบไม่เป็นที่รับรู้สำหรับชาวจีนแผ่นดินใหญ่แต่อย่างใด

หรือในบางกรณีการประท้วงเช่นนี้ถูกทำให้เป็นเรื่องของ “ผู้ไม่รักชาติ” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเสมอจากฝ่ายรัฐ เพื่อให้ประชาชนจีนและรวมถึงพวกฮ่องกงนิยมจีนมีทัศนะต่อต้านการประท้วง หรือไม่ก็ถูกสร้างว่าเป็นเรื่อง “การแทรกแซงจากต่างชาติ” ที่มีรัฐฝ่ายตรงข้ามภายนอกเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน

เพราะการถูกแทรกแซงจากภายนอกเป็นประเด็นสำคัญในประวัติศาสตร์จีนเสมอ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว โอกาสที่จีนจะทำให้ชาวฮ่องกงเชื่อมั่นว่ารัฐบาลปักกิ่งเคารพต่อหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” จึงเป็นไปได้ยาก

ซึ่งการสูญเสียโอกาสเช่นนี้จะยังกลายเป็นปัญหาสะสมในระยะยาว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่แล้ว พวกเขาไม่เชื่อใจรัฐบาลจีนแต่อย่างใด

และความไม่ไว้วางใจเช่นนี้ถูกตอกย้ำจากการปฏิบัติของรัฐบาลจีนต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองที่เป็นข่าวเสมอมา

ประกอบกับคนรุ่นใหม่มองว่ารัฐบาลจีนพยายามขยายอิทธิพลในการควบคุมฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะลดอำนาจการควบคุมลง

และยอมที่จะให้ฮ่องกงเดินไปภายใต้ความเป็นอีกระบบที่แตกต่างจากจีน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขามองว่า ตราบเท่าที่การเลือกผู้บริหารสูงสุดยังอยู่ภายใต้การควบคุมของสายนิยมจีนในฮ่องกงแล้ว โอกาสที่การปกครองเกาะนี้เป็นอีกระบบหนึ่งนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ประเด็นเช่นนี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับปักกิ่ง และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการสร้างประชาธิปไตยของฮ่องกงด้วย

นอกจากนี้ คู่ขนานกับกรณีของชาวฮ่องกงก็คือกรณีไต้หวัน โดยในช่วงเดือนกันยายน 2014 ผู้นำจีนได้เสนอการรวมชาติแก่ไต้หวัน ภายใต้หลักการเดียวกับฮ่องกง

แต่เมื่อเกิดปัญหาฮ่องกงขึ้น ผู้นำไต้หวันได้ตอบปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลจีนทันที

เพราะการแสดงออกของรัฐบาลจีนทำให้หลายคนสรุปว่า หลักการ “สองประเทศ หนึ่งระบบ” นั้น เป็นแต่เพียงหลักนโยบายที่ปักกิ่งไม่ได้นำมาปฏิบัติอย่างแท้จริง

แน่นอนว่าไต้หวันติดตามสถานการณ์ในฮ่องกงอย่างใกล้ชิด ยิ่งติดตามก็ยิ่งมีข้อสรุปที่=yดเจนว่า การรวมชาติกับจีนแผ่นดินใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

ปัญหาเช่นนี้สำหรับปักกิ่งแล้ว เป็นประเด็นไม่ง่ายเลยในการจัดการให้การประท้วงยุติลงได้อย่างแท้จริง เพราะข้อเรียกร้องให้เกิดการสร้างประชาธิปไตยในฮ่องกงนั้น ไม่เพียงแต่จะกระทบกับหลักการของระบอบการปกครองแบบพรรคเดียวของรัฐบาลจีนเท่านั้น หากยังกระทบกับสถานะของบรรดาชนชั้นนำของฮ่องกงเอง ซึ่งพวกเขาในวันนี้มีทิศทางนิยมจีน และสนับสนุนบทบาทของรัฐบาลปักกิ่งในฮ่องกง สภาวะเช่นนี้ทำให้ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่จะมีการปฏิรูปการเมืองฮ่องกงนั้นเป็นสิ่งที่เกิดได้ยาก

ดังนั้น ในสภาวะที่รัฐบาลจีนมีความมั่งคั่งอย่างมากจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และสามารถใช้ความมั่”คั่งเช่นนี้สร้างอำนาจทางการเมืองของปักกิ่งผ่านชนชั้นนำและบรรดาเศรษฐีด้านการเงินของฮ่องกง

ฉะนั้น แม้จีนจะสามารถ “ซื้อ” อำนาจเช่นนั้นได้จริง แต่รัฐบาลปักกิ่งกลับไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมให้แก่ประชาชนทั่วไป และที่สำคัญ ชาวฮ่องกงรู้สึกมากขึ้นว่า พวกเขากำลังเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่ไม่เข้าใจคำว่า “ความยืดหยุ่น” และ “การประนีประนอม”

หรือดังที่ Wu”er Kaixi เขียนในบทความว่า “รัฐบาลจีนไม่มีสองคำนี้ในพจนานุกรม”

เพราะผู้นำจีนเชื่อว่า หากประนีประนอมสักเพียงเล็กน้อย ก็จะเป็นช่องทางให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลฉวยโอกาสมากขึ้นเหมือนเช่นในปี 1989 อีกทั้งมองว่า การแสดงออกในลักษณะของการประนีประนอมจะเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ

จากเทียนอันเหมินถึงฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม มีการเปรียบเทียบระหว่างการประท้วงที่เทียนอันเหมินกับที่ฮ่องกง ซึ่งว่าที่จริงแล้วมีความแตกต่างกันอย่างมาก

เพราะคนหนุ่มสาวที่ฮ่องกงสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่านักศึกษาที่ปักกิ่ง และสามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้มากกว่าที่ปักกิ่งอย่างเปรียบเทียบไม่ได้

ขณะเดียวกันข้อเรียกร้องที่ฮ่องกงมีประเด็นเฉพาะ ในขณะที่ปักกิ่งข้อเรียกร้องคือการเปิดประเทศจีนให้เป็นประชาธิปไตย และมีนัยถึงการมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและการติดต่อกับโลกภายนอกอย่างเสรี

ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งไม่มีทางยอมรับต่อข้อเรียกร้องเช่นนี้ได้เลย

แต่คนฮ่องกงมีความเห็นใจและสนับสนุนการเรียกร้องของคนหนุ่มสาวที่จะมีสิทธิเลือกผู้นำของพวกเขา และเข้าร่วมการประท้วงเป็นจำนวนมหาศาล

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนสนใจแต่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก

และเชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับสังคมจีน

ที่สำคัญคือ ปักกิ่งไม่เตรียมการสำหรับการปฏิรูปการเมืองแต่อย่างใด และพวกเขาไม่เตรียมที่จะตอบข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เกิดเลย เหตุการณ์ที่ฮ่องกงเป็นคำตอบที่ยืนยันถึงสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี และยังอาจสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ละเอียดอ่อนของรัฐบาลปักกิ่งต่อปัญหาฮ่องกงอีกด้วย

ในที่สุดปัญหาความขัดแย้งระหว่างปักกิ่งกับฮ่องกงเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2019 เมื่อรัฐบาลฮ่องกงได้เสนอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีน

กฎหมายนี้จะเกิดด้วยแรงผลักจากรัฐบาลจีน หรือจากแรงดันจากสายจีนในรัฐสภาฮ่องกงก็ตาม

แต่สำหรับคนฮ่องกงแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของจีนที่กำลังมีมากขึ้นเท่านั้น

หากยังสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารสูงสุดไม่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวฮ่องกง และเห็นว่ากฎหมายนี้จะเป็นช่องทางให้รัฐบาลปักกิ่งนำเอาตัวผู้เห็นต่างทางการเมืองจากฮ่องกงไปลงโทษที่จีน การประท้วงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เป็นอีกครั้งที่คนหนุ่มสาวฮ่องกงเป็นจำนวนมากพร้อมกับผู้สนับสนุนที่มาจากสาขาอาชีพต่างๆ ตัดสินใจออกมาบนถนนอีกครั้ง (หลังจากการประท้วงใหญ่ในปี 2014)

และพวกเขายังเลือกที่จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยจัดการประท้วงในวาระครบรอบการส่งมอบฮ่องกงที่เกิดขึ้นในปี 1997 อันเสมือนกับการส่งสัญญาณว่า 22 ปีที่ต้องมาอยู่กับจีนนั้น พวกเขาไม่ต้องการอยู่แบบมี “สิทธิ [ทางการเมือง] ภายใต้การคุกคาม” (ชื่อบทความของ Verna Yu ในเดอะการ์เดียน)

กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงกลายเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้คนหนุ่มสาวและคนโดยทั่วไปไม่พอใจและออกมาประท้วง

พวกเขามองว่ารัฐบาลกำลังละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวฮ่องกง

และแรงกระตุ้นครั้งนี้ยังมาจากปัญหาเดิมที่รัฐบาลจีนในปี 2014 ไม่ยอมที่จะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง

เหตุครั้งนั้นนำไปสู่ “การปฏิวัติร่ม” ที่แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ทิ้งเชื้อแห่งความไม่พอใจรัฐบาลไว้เป็นทุนเดิม

ดังนั้น เมื่อร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกมา จึงส่งผลให้ “ไฟแห่งการประท้วง” ในหมู่คนหนุ่มสาวจึงถูกจุดขึ้นอีกครั้งในปี 2019 และเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ของชาวฮ่องกง

จนต้องถือเป็น “วิกฤตการเมือง” ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ฮ่องกง

ในที่สุด แคร์รี่ แลม (Carrie Lam) ได้ประกาศอย่างชัดเจนในวันอังคารที่ 9 กรกฎาคมนี้ว่า “ร่างกฎหมาย [ส่งผู้ร้ายข้ามแดน] ตายแล้ว”

ไม่มีใครตอบได้ว่า นับจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นอีก เพราะสิ่งที่คนหนุ่มสาวฮ่องกงเรียกร้องไม่ใช่เพียงการถอนร่างกฎหมายเท่านั้น

หากแต่พวกเขากำลังร้องหาการปฏิรูปการเมือง และดังที่กล่าวแล้ว ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่ได้เตรียมคำตอบไว้เลย!