สรุปว่าจะ ‘ลด-เลิก’ ความปลอดภัยทั้งหมด?/บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

สรุปว่าจะ ‘ลด-เลิก’

ความปลอดภัยทั้งหมด?

กระทรวงคมนาคมในยุคหลังเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้อยู่ในมือพรรคพลังประชารัฐอีกต่อไป หากแต่อยู่ในมือพรรคร่วมรัฐบาลที่มีอำนาจต่อรองสูงตั้งแต่ช่วงตั้งรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย มีหลายนโยบายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

จนเกิดคำถามว่าจะลด-เลิก ความปลอดภัยในด้านการคมนาคมขนส่งหรือไม่

ดังจะเห็นได้จากการไม่บังคับให้รถตู้ต้องเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัส ขยายอายุรถตู้จาก 10 เป็น 12 ปี เป็นต้น

การเกิดอุบัติเหตุบ่อยและร้ายแรงของรถตู้ ซึ่งหลายครั้งทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตเกือบทั้งคัน เพราะลักษณะทางกายภาพของรถตู้มีความปลอดภัยน้อย ทั้งเรื่องประตูทางออก ถังและท่อน้ำมันซึ่งติดตั้งในจุดที่ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ได้ง่ายเมื่อชน ทำให้รัฐบาลในยุค คสช.จัดการแก้ปัญหาด้วยการกำหนดให้รถตู้ต้องเปลี่ยนไปเป็นรถไมโครบัส

ซึ่งตามนโยบาย คสช.รถตู้ต้องเปลี่ยนไปเป็นไมโครบัสทั้งหมดตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งครบกำหนดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อ้างว่าเหตุที่ไม่บังคับให้เปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสเพราะมีต้นทุนสูงกว่ารถตู้ เป็นภาระผู้ประกอบการและอาจทำให้ค่าโดยสารแพงขึ้น

อันที่จริงผู้ประกอบการขอขยายอายุการใช้งานรถตู้จาก 10 เป็น 15 ปีด้วยซ้ำไป พร้อมกับขอให้ยกเลิกการติดจีพีเอสในรถตู้รับจ้างประเภทไม่ประจำทางด้วย

ซึ่งในส่วนของการขยายอายุ 15 ปีนั้น นายศักดิ์สยามไม่ได้ปฏิเสธ เพียงแต่ระยะแรกต่ออายุให้ถึง 12 ปีก่อน และให้กรมการขนส่งฯ ไปศึกษามา เช่นเดียวกับการยกเลิกติดตั้งจีพีเอส

ดังนั้น ก็อาจหมายความว่าถ้าสังคมเผลอเมื่อไหร่ รัฐมนตรีคมนาคมก็อาจขยายเวลาให้ถึง 15 ปีและไม่ต้องติดจีพีเอส

ผู้ประกอบการอ้างหน้าตาเฉยว่า การติดจีพีเอสเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและขาดอิสรภาพในการเดินทาง อีกทั้งไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุได้

 

ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ระบุว่า สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้เกี่ยวข้องกับยานพาหนะโดยตรง เพราะเป็นรถที่ทำความเร็วได้มาก ทำให้ผู้ขับใช้ความเร็วสูงเพื่อทำรอบ ต่างจากรถไมโครบัสที่แซงได้ช้ากว่า ที่สำคัญกว่านั้น ถังและท่อน้ำมันรถตู้ซึ่งอยู่ด้านหน้าจะแตกง่ายเมื่อเกิดการชนทำให้เพลิงลุกไหม้ได้ง่าย และผู้โดยสารหนีได้ยาก

ส่วนไมโครบัสนั้น ผู้โดยสารมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า เพราะมีพื้นที่ภายในมากกว่า มีทางเดินตรงกลาง มีหน้าต่างใหญ่กว่าและมีประตูฉุกเฉินอยู่ด้านขวาและบนหลังคา สามารถหนีออกจากรถได้ง่ายกว่ารถตู้

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า การเมืองหลังเลือกตั้ง ไม่ได้ทำให้อะไรมีคุณภาพดีขึ้นมากนัก ออกแนวถอยหลังเข้าคลองมากกว่า เพราะว่าต้องตามใจกลุ่มที่เป็นฐานเสียงทุกอย่าง แม้จะรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ดีแต่ก็ไม่กล้าขัดใจ หรือยืนหยัดเพื่อทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น

รู้ทั้งรู้ว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทยนั้นมาจากพฤติกรรมผู้ขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจร ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้โดยสาร แทนที่จะไปเข้มงวดกวดขันวินัยและจิตสำนึกผู้ขับขี่รถสาธารณะและผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐานเสียก่อน แต่กลับมาผ่อนผันกฎระเบียบที่เอื้อผู้ประกอบการและคนขับรถสาธารณะเป็นอันดับแรก

นอกจากนั้น ยังอนุมัติให้ขึ้นค่าแท็กซี่ 1-10 กิโลเมตรแรก จาก 6 บาท เป็น 6.50 บาทต่อกิโลเมตร หากรถติดปรับขึ้นจากนาทีละ 2 บาท เป็น 3 บาท ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมพิเศษ (เซอร์ชาร์จ) เมื่อใช้บริการจากสนามบิน จาก 50 เป็น 70-90 บาท

ทำเอาคนกรุงเทพฯ งงกันพักใหญ่ว่าอยู่ๆ มาได้ไง ไม่มีการถามไถ่อะไรจากภาคประชาชนเลย

 

หากคิดในเชิงการเมือง เป็นไปได้ที่นายศักดิ์สยามต้องเอาใจคนขับแท็กซี่ ซึ่งอนุมานว่าส่วนใหญ่เป็นคนอีสานหรือคนต่างจังหวัดที่เป็นฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทย ส่วนคนกรุงเทพฯ จะเดือดร้อนก็ช่างปะไรเพราะพรรคไม่มี ส.ส.แม้แต่คนเดียวในกรุงเทพฯ

คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรคอนาคตใหม่กับพลังประชารัฐ ที่ได้ ส.ส.ใกล้เคียงสูสีกันในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย อ้างว่าการอนุมัติให้ขึ้นราคาก็เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนเชื้อเพลิง ส่วนการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมพิเศษจากสนามบินนั้น ก็อ้างว่าเป็นเพราะต้นทุนของคนขับแท็กซี่เพิ่มขึ้น ทั้งการตีรถเปล่าไปยังสนามบินสุวรรณภูมิและค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าของสนามบินซึ่งก็คือบริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.)

อันที่จริง หากพิจารณาตามที่นายศักดิ์สยามอ้างมา มีหนทางที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้แท็กซี่ไม่ต้องขึ้นค่าเซอร์ชาร์จ ก็คือ ทอท.เก็บค่าใช้จ่ายจากแท็กซี่น้อยลงได้หรือไม่ ซึ่งไม่มีรายละเอียดว่าปัจจุบัน แท็กซี่ต้องจ่ายให้กับ ทอท.เท่าไหร่ เพราะเงินส่วนนี้เป็นปัญหาคลาสสิค เกิดข้อสงสัยกันมานานว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้ต้องเก็บเซอร์ชาร์จจากผู้โดยสารสูง

ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าของสนามบินทั่วประเทศถึง 6 แห่ง (รวมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ) และมีรายได้มหาศาลอยู่แล้ว (มีมูลค่าตามราคาตลาดเกือบ 1 ล้านล้านบาท) จากธุรกิจท่องเที่ยวและการบินบูม

หากจะพิจารณาลดส่วนนี้ให้กับแท็กซี่ เพื่อจะได้ไม่ต้องปรับขึ้นค่าเซอร์ชาร์จทำได้หรือไม่

 

อย่างที่ทราบกันหลังเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐสูญเสียกระทรวงเกรดเอไปอยู่ในมือพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์หมด

จึงควบคุมสถานการณ์ลำบาก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่ง สิทธิและความปลอดภัยผู้โดยสาร

พรรคร่วมแต่ละพรรคก็คงจัดทำนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อฐานเสียงตัวเองก่อน

อาจมีลักษณะเน้นเฉพาะพื้นที่หนึ่ง ละเลยอีกพื้นที่หนึ่ง

อย่างการขึ้นค่าแท็กซี่ เห็นชัดว่าพรรคภูมิใจไทยไม่แคร์คนกรุงเทพฯ ที่เป็นผู้ใช้บริการ เพราะว่าไม่ใช่ฐานเสียงตัวเอง

ฐานเสียงคือคนขับแท็กซี่ต่างหาก

ทั้งที่ปัญหาหลักของแท็กซี่คือการปฏิเสธผู้โดยสาร การโกงมิเตอร์ การไม่กดมิเตอร์

บางทีก็ปล้นฆ่าผู้โดยสาร ยังไม่สามารถแก้ไขให้บรรเทาลงได้เลย