โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม พระป่าศิษย์หลวงปู่มั่น

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม

พระป่าศิษย์หลวงปู่มั่น

“หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม” พระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดัง อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าอรัญญวิเวก บ้านข่า ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม พระเถระชื่อดังรูปหนึ่งของไทยที่มีสาธุชนให้ความเลื่อมใสศรัทธา

เป็นกัมมัฏฐานศิษย์เอกหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า ที่ติดตามพระอาจารย์ เผยแผ่ธรรมคำสอน ตลอดจนร่วมเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาทั่วทุกหนทุกแห่งทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน

อีกทั้งยังเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ด้วย

ทั้งนี้ ก่อนที่หลวงปู่ตื้อจะมรณภาพได้ 1 ปี ในปี พ.ศ.2516 กองบัญชาการทหารสูงสุดได้จัดสร้างวัตถุมงคลเป็น “เหรียญหลวงปู่ตื้อ รุ่น พ.ศ.2516” เพื่อไว้แจกจ่ายกำลังพลกองบัญชาการทหารสูงสุด

เซียนพระเรียกขานเหรียญรุ่นนี้ว่า “เหรียญหลังบาตร”

 

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง ขอบเหรียญมีเส้นสันนูน จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำ แต่ไม่ทราบจำนวนที่จัดสร้างแน่ชัด

ด้านหน้า ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนหลวงปู่ตื้อเต็มองค์ ห้อยลูกประคำนั่งท่าขัดสมาธิบนอาสนะ บริเวณอังสะตอกโค้ดตัว ต คล้ายเลข ๓ ไทย หมายถึง ตื้อ ด้านล่างสลักตัวหนังสือคำว่า หลวงพ่อตื้อ อจลธมฺโม

ด้านหลัง มีเส้นสันขอบหนา ใต้หูห่วงมีชุดอัฐบริขาร ประกอบด้วย บาตร ร่ม และกาน้ำ ถัดลงมาสลักอักขระ 3 บรรทัด ใกล้ขอบเหรียญจากซ้ายไปขวาสลักตัวหนังสือคำว่า วัดป่าอรัญญวิเวก บ้านข่า ต.ท่าบ่อ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

หลวงปู่ตื้ออธิษฐานปลุกเสกเดี่ยว พร้อมเหรียญชนิดกลมรุ่นแรก ที่โรงเรียนจ่าอากาศดอนเมืองจัดสร้าง เหรียญรุ่นดังกล่าวมีพุทธคุณโดดเด่นครบรอบด้าน ทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง

ปัจจุบันนี้เหรียญรุ่นดังกล่าวหาได้ยากแล้ว

เหรียญรุ่นหลังบาตร หลวงปู่ตื้อ (หน้า-หลัง)

 

เกิดในสกุลปลิปัตต์ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2431 เป็นชาวบ้านข่า ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม บิดา-มารดาชื่อ นายปา และนางปัตต์ ปลิปัตต์ มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 7 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5

ในช่วงเยาว์วัย อาศัยวัดเป็นลูกศิษย์วัด ด้วยอุปนิสัยรักสงบ จึงเข้าพิธีบรรพชา

ครั้นอายุ 21 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบทครั้งแรกในฝ่ายมหานิกาย มีพระอุปัชฌาย์คาน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์

ด้วยนิสัยใฝ่ศึกษาเล่าเรียนและชอบค้นคว้า หลังจากออกพรรษาได้เดือนเศษ ท่านได้เดินเท้าระยะทาง 51 กิโลเมตรไปศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม ทั้งนักธรรมและบาลีที่วัดโพธิ์ชัย อ.ท่าอุเทน ที่มีชื่อเสียงมากขณะนั้น

ใช้เวลา 4 ปีเต็ม

 

หลังกลับมาอยู่วัดได้เพียง 3 วัน ชักชวนพระภิกษุรูปหนึ่งออกธุดงค์มุ่งหน้าไป จ.อุดรธานี แต่พระรูปดังกล่าวเปลี่ยนใจกลับวัด

เดินธุดงค์เส้นทางสายบรรลุธรรม แวะพักทำกัมมัฏฐานที่พระบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ผ่าน จ.หนองคาย ไปฝั่ง สปป.ลาว นครเวียงจันทน์ ก่อนมุ่งหน้าไปบำเพ็ญเพียรภาวนาที่เชิงภูเขาควาย ที่เต็มไปด้วยป่าทึบและภยันตรายเป็นเวลา 4 เดือนเต็ม

จากนั้นเดินทางต่อไปยังหลวงพระบาง ผ่านเมืองแมด เมืองกาสี และเข้าสู่เขตเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ได้เรียนคาถาอาคมในการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยกับพระพม่า ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น แต่ละวันจะเดินทางเฉลี่ย 7-10 กิโลเมตร

ก่อนมุ่งหน้ากลับเข้าประเทศไทย มุ่งหน้าสู่ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากทราบว่าขณะนั้นพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) มาพำนักสอนและอบรมกัมมัฏฐาน

หลังไปกราบพระอาจารย์มั่นที่วัดเจดีย์หลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จึงญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุต โดยมีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูศรีพิศาลสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูนพีสีฯ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลวงปู่ตื้อชอบอากาศทางภาคเหนือ เพราะสามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้โดยสงบ

ต่อมาได้สร้างวัดป่ากัมมัฏฐานขึ้นหลายแห่งคือ วัดป่าดาราภิรมย์ อ.แม่ริม, วัดป่าสามัคคีธรรม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งวัดป่าที่ อ.แม่แตงแห่งนี้เป็นวัดที่พระอาจารย์ตื้ออยู่จำพรรษานานที่สุด

ขณะธุดงค์กับพระอาจารย์มั่นไปตามสถานที่ต่างๆ จนพระอาจารย์มั่นกลับอีสานแล้ว แต่หลวงปู่ตื้อกลับเดินธุดงค์ต่อเป็นเวลานานกว่า 50 ปี

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2514 หลังจากออกพรรษา ลูกหลานและทายกทายิกาชาวนครพนมได้ไปกราบอาราธนานิมนต์ให้กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าอรัญญ;bเวก ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

 

เมื่อกลับสู่มาตุภูมิ ได้นำช่างมาก่อสร้างเจดีย์ สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2516 และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมจัดงานฉลองสมโภช บวชชีพราหมณ์ 230 คน ตลอดจนแสดงธรรมโปรดญาติโยมไม่ว่างเว้น และอบรมพระภิกษุ-สามเณรให้รู้จักปฏิบัติกัมมัฏฐานอย่างแท้จริง

วันที่ 19 กรกฎาคม 2517 หลังจากเทศนาให้โอวาทพระภิกษุ-สามเณรจากต่างวัดที่มาถวายสักการะ หลวงปู่ตื้อได้หมดลม เนื่องจากร่างกายอ่อนเพลีย มรณภาพลงอย่างสงบ เวลา 19.05 น.

สิริอายุ 86 ปี พรรษา 65