สุจิตต์ วงษ์เทศ /ทวารวดีอยู่ละโว้ (ลพบุรี) เมืองที่ชุมนุมพระธาตุ

เหรียญเงินมีตัวอักษรว่า "ทวารวดี" พบที่เมืองโบราณอู่ตะเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท (ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ทวารวดีอยู่ละโว้ (ลพบุรี)

เมืองที่ชุมนุมพระธาตุ

 

ทวารวดีมีความสำคัญและทรงอิทธิพลมากในประวัติศาสตร์ไทย เพราะ (1) ถูกสถาปนาจากคนชั้นนำที่เลื่อมใสแนวคิดแบบอาณานิคมในศตวรรษก่อนๆ และ (2) ถูกโฆษณาเกินจริงเพื่อครอบงำให้เชื่ออย่างเชื่องๆ อย่างน้อย 3 เรื่อง ซึ่งมีปัญหามากต้องทบทวนใหม่อย่างรอบคอบ ได้แก่

  1. อาณาจักรทวารวดีเก่าสุดและแรกสุดในไทย ระหว่าง พ.ศ.1100-1600
  2. อาณาจักรทวารวดีเรืองอำนาจกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศไทย ด้วยหลักฐานด้านเดียวจากศิลปกรรม
  3. อาณาจักรทวารวดีนับถือพุทธ มีศูนย์กลางของอำนาจอยู่เมืองนครปฐมโบราณ จ.นครปฐม

ทั้งหมดมีผู้คิดต่าง จะสรุปอย่างย่อที่สุด ดังนี้

 

ทวารวดีอยู่ลพบุรี

 

ทวารวดีอยู่ละโว้ (ลพบุรี) พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร เขียนบอกไว้ในหนังสือ สุโขทัยเมืองพระร่วง (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2562) ดังนี้

“กรุงศรีอยุธยา ที่สืบเนื่องต่อมาจากรัฐโบราณทวารวดี หรือที่ต่อมาคือเมืองละโว้ หรือลพบุรี” [หน้า 7]

“กรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีประวัติการสืบเนื่องมาจากบ้านเมืองเก่าแก่แต่สมัยโบราณ เช่น เมืองละโว้ หรือลพบุรี ซึ่งแต่ดั้งเดิมชื่อว่าเมืองทวารวดี—-” [หน้า 50]

“ทวารวดี” คือ เมืองละโว้ (ลพบุรี) ตรงตามตำแหน่งที่จดหมายเหตุจีน 2 ฉบับ บอกไว้เรื่อง “โตโลโปตี” ซึ่ง มานิต วัลลิโภดม นักปราชญ์สยาม (อดีตข้าราชการผู้ใหญ่ของกรมศิลปากร) เคยอธิบายบอกไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2515 (47 ปีมาแล้ว) พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ของกรมศิลปากร

“ทวารวดี เมืองที่ชุมนุมพระธาตุ” อยู่ละโว้ (ลพบุรี) พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เขียนไว้ในนิตยสารศิลปากร [ปีที่ 61 ฉบับที่ 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์) 2561 หน้า 49-55] จะสรุปสั้นๆ ดังนี้

ทวารวดีเป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะ [อวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ (พระนารายณ์) ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู]

เมืองละโว้ยกย่องพระกฤษณะ [สืบเนื่องจากเมืองศรีเทพ (เพชรบูรณ์)] จึงยืมมาใช้เป็นอีกชื่อหนึ่ง (ของละโว้) ว่าเมืองทวารวดี

จารึกวัดศรีชุม (จารึกสุโขทัย หลักที่ 2) เรียกเมืองทวารวดีที่ละโว้ ว่า “นครพระกริส” หมายถึง นครของพระกฤษณะ ซึ่งมีสถูปใหญ่เรียก “พระธม” เป็นที่ชุมนุมพระธาตุ

เมืองละโว้มีอีกชื่อว่าเมืองทวารวดี ชื่อนี้สืบเนื่องต่อมาจนถึงกรุงศรีอยุธยาว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”

 

…………………………………………………………………………………

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ย้ำว่า

“ศิลปะทวารวดี” เป็นชื่อที่สมมติขึ้นใหม่โดยนักวิชาการทางโบราณคดีรุ่นแรกๆ ของไทย ไม่อาจใช้เป็นเครื่องชี้บอกที่ตั้งของเมืองทวารวดีได้ เพราะพบมากทั่วไปในภาคกลางและภาคอื่นๆ

เหรียญเงินมีตัวอักษรว่า “ทวารวดี” ก็ไม่อาจใช้เป็นเครื่องชี้บอกที่ตั้งของเมืองทวารวดีได้ เพราะจำนวนพบน้อย และขนาดเล็กที่คนสมัยนั้นพกพาเคลื่อนย้ายได้ง่ายๆ จึงพบทั้งที่นครปฐม, ชัยนาท และที่อื่นๆ อีกไม่น้อย

[จากบทความเรื่อง “ทวารวดี เมืองที่ชุมนุมพระธาตุ” ของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ 61 ฉบับที่ 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์) 2561 หน้า 49-55]

 

—————————-

หลักฐานจากเอกสารจีน

 

“ทวารวดี” มีหลักฐานตั้งต้น เป็นบันทึกของภิกษุจีน 2 รูป คือพระถังซัมจั๋ง (พ.ศ.1170-1188) กับพระอี้จิง (พ.ศ.1214-1238)

มีตอนหนึ่งกล่าวถึงบ้านเมืองตามแนวราบ (เส้นแวง) เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เรียงตามลำดับไปทางทิศตะวันออก (โดยประมาณ) เริ่มจากอินเดีย (และบังกลาเทศ) ดังนี้

ถัดไปมีชื่อ “ศรีเกษตร” (พม่า), ถัดไปมีชื่อ “เกียมลังเกีย” หรือ “ลังเกียฉู่” (ไทย), ถัดไปมีชื่อ “โตโลโปตี” (ไทย), ถัดไปมีชื่อ “อิศานปุระ” (กัมพูชา), ถัดไปมีชื่อ “จามปา”  หรือ “หลินยู่” (เวียดนาม)

ต่อมานักค้นคว้าวิชาการชาวยุโรป แปลบันทึกของภิกษุจีนเป็นภาษาตะวันตก แล้วสร้างนิยามคำอธิบายชื่อในบันทึกจีนว่า “โตโลโปตี” และ “ตุยโหโปตี้” ตรงกับ “ทวารวดี” หลังจากนั้นมีข้อสันนิษฐานต่างๆ นานา ที่เห็นพ้องต้องกันก็มี ต่างกันก็ไม่น้อย

 

โตโลโปตี ตรงกับ ทวารวดี

 

“โตโลโปตี” ในภาษาจีน ตรงกับคำในภาษาสันสกฤตว่า “ทวารวดี” เป็นความเห็นครั้งแรกสุด โดยแซมมวล บีล (นักวิชาการชาวอังกฤษ) เมื่อ พ.ศ.2427 (หรือ 135 ปีมาแล้ว นับถึง พ.ศ.2562) นักค้นคว้าส่วนมากเชื่อตามความเห็นนี้ตั้งแต่บัดนั้นจนปัจจุบัน

แต่ไม่ได้หมายความว่าถูกต้อง เป็นที่ยุติจนทักท้วงถกเถียงไม่ได้ เพราะต่อไปอาจมีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็ได้

 

ทวารวดี อยู่เมืองสุพรรณบุรี, เมืองนครปฐม

 

“กรุงทวารวดี” บางทีจะอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี หรือเมืองนครปฐม เป็นความเห็นครั้งแรกของยอร์ช เซเดส์ (นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส) เมื่อ พ.ศ.2472 (หรือ 90 ปีมาแล้ว นับถึง พ.ศ.2562)

“อาณาจักรทวารวดี” ถูกเรียกเป็นอาณาจักรครั้งแรก โดย ศ.ยอร์ช เซเดส์ ว่าเป็นอาณาจักรของพวกมอญ (เนื่องจากพบมากจารึกภาษามอญ) แล้วทำลําดับยุคสมัยของประวัติศาสตร์ไทยที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยทวารวดี ไล่เรียงตามลําดับจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นแนวคิดมีประสิทธิภาพ แล้วมีอิทธิพลสูงอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์โบราณคดีในไทยตราบจนทุกวันนี้

 

ไม่มี “อาณาจักร” ทวารวดี

 

“ทวารวดี” ไม่เป็นอาณาจักร ศาสตราจารย์ O.W. Walter แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐ และนักวิชาการนานาชาติร่วมกันคัดค้าน ยอร์ช เซเดส์ ตั้งแต่ราว พ.ศ.2522 (ราว 40 ปีมาแล้ว) ว่าความเป็นทวารวดีไม่ใช่อาณาจักรที่มีเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางในการปกครอง ซึ่งมีโครงสร้างทางอํานาจเป็นระบบแบบแผนกระชับ

แต่ทวารวดีเป็นการรวมกลุ่มและเครือข่ายของนครรัฐอย่างหลวมๆ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางการแต่งงานกินดองกัน ระหว่างกษัตริย์กับราชวงศ์ของแต่ละนครรัฐ ทําให้ความเป็นศูนย์กลางไปอยู่ที่กษัตริย์ของนครที่มากด้วยพระบารมี

“คําว่าอาณาจักร (kingdom) ก็ดี หรือจักรวรรดิ (empire) ก็ดี เป็นคําเรียกที่เหมาะสมกับบ้านเมืองขนาดใหญ่ เช่น อินเดียและจีน”

[ศรีศักร วัลลิโภดม เล่าไว้ในบทความเรื่อง “สหพันธรัฐทวารวดี” เมืองโบราณ ปีที่ 41 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) พ.ศ.2558 หน้า 30-31]

เมื่อไม่มีอาณาจักรทวารวดี ไม่มีอำนาจรวมศูนย์ ฉะนั้น สมัยทวารวดีก็ไม่มี ตลอดจนลำดับยุคสมัยของประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่จริง

 

ทวารวดี อยู่เมืองละโว้

 

มานิต วัลลิโภดม (นักปราชญ์สามัญชนชาวสยาม อดีตข้าราชการกรมศิลปากร) เขียนบทความวิชาการลงพิมพ์ เมื่อ พ.ศ.2515 ในนิตยสารศิลปากร (ของกรมศิลปากร) ว่า ทวารวดี ในเอกสารจีน ตรงกับเมืองละโว้ (ลพบุรี) ส่วน นครปฐม ตรงกับชื่อในเอกสารจีนเรียก “ลังเกียฉู่” (บางทีเรียก “หลั่งยะสิว”) หรือ “เกียมลังเกีย”

พิริยะ ไกรฤกษ์ เชื่อว่า ทวารวดีอยู่เมืองศรีเทพ (อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์) ซึ่งเข้ากันได้กับแนวคิดของมานิต วัลลิโภดม เพราะเมืองศรีเทพกับเมืองละโว้ เป็นเครือข่ายรัฐเครือญาติอยู่ลุ่มน้ำเดียวกัน

เมืองละโว้ (ลพบุรี) อยู่ฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา พูดเขมร เป็นขอม สืบเชื้อสายวงศ์ “รามาธิบดี” ไปสถาปนากรุงศรีอยุธยา (วงศ์พระราม) ขนานนามสืบเนื่องทวารวดีว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”

เมืองนครปฐม (โบราณ) อยู่ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา พูดหลากหลายภาษา แต่ต่อมาเป็น “สยาม” พูดไต-ไท สังกัดกลุ่มสุพรรณภูมิ ในตำนานว่าสืบเชื้อสาย “พระเจ้าอู่ทอง” แต่บางตำนานเรียก “ขุนบรม” ต่อมาเสวยราชย์กรุงศรีอยุธยาได้พระนาม “บรมราชา”