หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ /’โคลน’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือดาว - ช่วงฤดูฝน การเดินทางบนเส้นทางในป่า พบเจอกับเสือ คือเรื่องปกติ พวกมันเลือกที่จะใช้เส้นทางที่ไม่รกทึบเช่นกัน

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘โคลน’

สัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562

พายุฝนตกต่อเนื่อง แถบอำเภอสังขละบุรี ลำห้วยหลายสายมีกระแสน้ำหลาก

ฝนหนักเช่นนี้ ทำให้ผมนึกถึงการเดินทางในป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตก

“ด่าน” แรกที่ต้องผ่านไปให้ได้คือ เส้นทางซึ่งมีความยาวเพียง 12 กิโลเมตร

เป็นทางจากสำนักงานเขต ไปถึงหน่วยพิทักษ์ป่าที่ชื่อว่า หน่วยทิคอง

12 กิโลเมตร ด้วยสมรรถนะของรถยนต์ปัจจุบัน มอเตอร์ไซค์ หรือแม้แต่จักรยาน ในระยะทางแค่นี้ไม่ควรใช้เวลาเกินครึ่งชั่วโมง

แต่บนทางเส้นนี้ ผมเคยใช้เวลาถึง 18 ชั่วโมง และหลายครั้งที่ต้องนอนข้างๆ รถเพราะรถจมอยู่ในโคลน และเราอ่อนล้าเกินกว่าจะเอาขึ้นแล้ว

ถ้าเป็นช่วงฤดูแล้ง ฝนหายไปสักสองเดือนแล้ว เราก็อาจใช้เวลาเพียงสองชั่วโมง บางครั้งก็เร็วกว่านั้น

อย่างครั้งที่ผมนำลุงโส่ย คนงานในหน่วยทิคอง มาส่งที่สำนักงานเขต เพราะเขาปีนขึ้นไปตัดกอไผ่แล้วลื่น เท้าบาดเข้ากับไม้ไผ่เป็นแผลเหวอะ

หลังเกิดเหตุ ลุงโส่ยหายเข้าไปในห้องพัก ผมตามศุภกิจ หัวหน้าหน่วยเข้าไปดู

ในห้องสลัวๆ หน้าต่างปิดหมด ลุงโส่ยใช้ผ้าสีมอๆ พันเท้าไว้

“เอาผงชูรสใส่แล้ว เดี๋ยวเลือดก็หยุดไหล” ลุงโส่ยพูดเบาๆ

คนในป่าจำนวนไม่น้อยใช้ผงชูรสคล้ายยาวิเศษ นอกจากใส่อาหาร หลายคนใช้ใส่เพื่อห้ามเลือด

“ทหารฝั่งโน้นแถวชายแดนก็ใช้ผงชูรสนี่แหละเวลาบาดเจ็บ” ลุงโส่ยบอกข้อมูล

“ขอดูแผลหน่อย ถ้ายังไงก็ออกไปหาหมอที่คลิตี้” หัวหน้าหน่วยพูด

ลุงโส่ยแกะผ้าออก แผลลึกจนเห็นกระดูก เลือดยังไหลซึม สภาพแผลน่าจะเย็บไม่น้อยกว่า 10 เข็ม

ผมอาสาพาลุงโส่ยมาส่งที่เขต หัวหน้าหน่วย วิทยุแจ้งให้คนที่เขตรอรับต่อ

วันนั้น ผมทำเวลาได้ดี ระยะทาง 12 กิโลเมตร ผมใช้เวลาไป-กลับ 2 ชั่วโมง 20 นาที

นั่นคือ ในช่วงฤดูแล้ง หรือบางช่วงที่เส้นทางได้รับการปรับปรุงบ้าง หล่มลึกถูกแทร็กเตอร์เกรดจนราบเรียบ

ทางจะดี ดีอยู่ไม่นาน ครั้นเมื่อสายฝนเดินทางมาถึง

เส้นทางกลับสู่สภาพเดิม เส้นทางที่เปรียบเสมือนด่านขวาง ก็เต็มไปด้วยโคลน

 

เมื่อคนในป่าทุ่งใหญ่ออกมาในเมือง ไม่ว่าจะเป็นเมืองทองผาภูมิ หรือเมืองสังขละ ด้วยภารกิจต่างๆ ซื้อเสบียง, ซ่อมรถ, ซื้ออะไหล่ และอื่นๆ จิปาถะ

พวกเขาสังเกตได้ไม่ยาก นอกจากรถจะเปรอะเปื้อน คนก็มอมแมมไม่ต่างจากรถสักเท่าใด

ทำงานในป่านี้ สิ่งสำคัญที่ผมได้รับคือ ทักษะการขับรถบนเส้นทางอันเต็มไปด้วยอุปสรรค

ในการเดินทางไปหน่วยต่างๆ จากสำนักงานเขต เราหลีกเลี่ยงการไปเพียงรถคันเดียว

“คันเดียวมันเหงาครับ 2-3 คันอุ่นใจหน่อย” เจริญ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าจะแก ซึ่งอยู่ห่างไป 80 กิโลเมตรบอก

เขาทำงานในป่านี้มากว่า 20 ปี แม้จะจำหล่มได้ทุกหล่ม หินทุกก้อน เนินไหนลื่นไถล ช่วงไหนใช้เบรกไม่ได้ ต้องข้ามลำห้วยไลน์ไหน

แต่บางครั้งเขาใช้เวลา 10 วัน

“เสบียงที่เตรียมไปกินที่หน่วยไม่เหลือเลย ใช้หมดบนทางนี่แหละ” เขาเล่าขำๆ

“ฝนหนักๆ ข้ามห้วยไม่ได้ ต้องรอครับ ถ้าน้ำลึกท่วมฝากระโปรง พอข้ามได้ ลึกกว่านี้ไม่ไหว”

เจ้ากระทิงโทน รถคู่ใจเจริญ ได้รับการยอมรับว่าเก่งที่สุด

 

อีกคนหนึ่งคือ จิตติ หัวหน้าหน่วยมหาราช หรือหน่วยซ่งไท้เดิม เราเรียกกันอย่างติดปากว่า น้าติ

กับน้าติ เราพบกันครั้งแรกตั้งแต่ 30 ปีก่อน ผมเข้ามาดูนกในป่านี้ โดยอาศัยรถแลนด์ครุยเซอร์ ซึ่งมีชื่อว่า “อีแก่” ที่เข้ามาซื้อเสบียงในเมืองกาญจน์

น้ามืดคนขับ คนหลายคนนั่งทับกองสัมภาระ ผมนั่งร่วมไปกับน้าติ ที่เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น

ถึงวันนี้ “อีแก่” จอดอยู่ไม่ไกลจากป้อมยาม เป็นคล้ายดังอนุสรณ์ให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งมันได้ร่วมบุกเบิกมากับคนจำนวนหนึ่งอย่างโชกโชนเพียงใด

บุญชัย ที่ผมเรียกเขาว่า ช่างเทวดา เพราะซ่อม แก้ไข ดัดแปลงรถที่พังให้ออกจากป่าได้เสมอ

คนเหล่านี้นี่เอง ที่เปรียบเสมือนครูผู้สอน

ผมได้เรียนอย่างเข้มข้นจากพวกเขา

 

“สมัยนั้น พื้นที่ส่วนหนึ่งยังเป็นสีแดงอยู่เลยครับ” บุญชัยเล่า

ผมไปกินข้าวที่บ้านเขาบ่อยๆ

“ยังมีทหารป่าเคลื่อนไหวอยู่” บุญชัยร่วมบุกเบิกมากับหัวหน้าวีรวัตน์ หัวหน้าเขตคนแรก

“ผมเคยโดนข้อหาว่าช่วยเหลือจัดหาเสบียงให้คนที่เคลื่อนไหวอยู่ในป่า” หัวหน้าวีรวัตน์เคยเล่าแบบขำๆ

“จริงๆ น่ะ พวกเขาเอาข้าวมาให้พวกผม หน้าฝนออกไปซื้อเสบียงไม่ได้ ไม่งั้นบางครั้งจะแย่ ไม่มีข้าวกินกัน” หัวหน้าทุ่งใหญ่สมัยนั้นบอกความจริง

 

การได้ขับรถตามจิตติ, เจริญ, บุญชัย ไปบนหนทางที่พวกเขาใช้มากว่า 20 ปี คือโอกาสอันดี ทุกคนไม่เพียงมีทักษะการขับรถ การซ่อมแซม พวกเขาก็ทำได้ดีหากไม่หนักหนา ขนาดต้องยกเครื่องไปซ่อมในเมือง พวกเขาจะนำรถกลับมาเขตได้

หลายครั้งต้องใช้ไม้แทนแหนบ หรือดามแชสซีที่หัก ใช้ยางในรถมอเตอร์ไซค์ตัดเป็นชิ้นยาวๆ มัดคันชัก คันส่ง ที่หลุดหรือหัก

น้าติ คือมือหนึ่งของการขับรถบนทางเส้นนี้ เขาขับอย่างสุขุม รู้ว่าช่วงไหนต้องเร่ง ช่วงใดต้องผ่อน

ส่วนเจริญกับเจ้ากระทิงโทนของเขา ออกแนวระห่ำ

ซึ่งว่าตามจริง คนในหน่วยจะแก ก็รับทักษะนี้มาอย่างเคร่งครัด เช่นพิทักษ์ หัวหน้าหน่วยคนต่อจากเจริญ

บุญชัย ช่างฝีมือดี เขารักษาดูแลเจ้านิค รถผมเป็นอย่างดี

 

ทุกครั้งที่กลับถึงเขต เจ้านิคจะมีสภาพคล้ายผ่านศึกสงครามมา

เหมือนคนป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาล

ตัวถังบุบเป็นรอยทั่วคัน ไฟท้ายแตก กระจกมองข้างหาย ยางฉีกเป็นแผลกว้าง เพลาหน้าชำรุด เฟืองท้ายมีเสียงก๊อกแก็ก และอื่นๆ

นี่คืออาการปกติ เมื่อซ่อมแซมเสร็จ กลับเข้าไป ออกมาก็มีสภาพนี้อีก

 

ถึงวันนี้ เจริญย้ายออกไปอยู่หน่วยข้างนอกแล้ว เช่นเดียวกับบุญชัย

ตุลาคมปีนี้ น้าติจะเกษียณ

หลายสิ่งเปลี่ยนแปลง แต่ทางเส้นนี้จะยังคงอยู่ ความทรงจำของคนที่เคยเดินทาง

 

ทํางานในป่าทุ่งใหญ่

ผมมี “ด่าน” ที่กั้นขวาง หากจะเข้าไปให้ถึงที่พื้นที่จะทำงาน

มีแนวหินหลายก้อนที่ต้องระมัดระวัง หากพลาดคือรถพัง

มีหล่มโคลนหลายหล่ม ซึ่งลงไปอย่างไรรถก็ติด ต้องใช้วินช์ดึงขึ้น

เมื่อรถติดหล่มร่องลึก เปิดประตูไม่ได้ ต้องปีนออกทางหน้าต่าง

เท้าย่ำลงโคลนเละ

สำหรับผม นี่ไม่ใช่เรื่องการผจญภัย หรืออะไรที่ยากลำบากนักหนา มันคือวิถีปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน

หลายครั้งขณะนอนอยู่ข้างๆ รถ เมื่อสว่างแล้ว เราจะเอารถขึ้นจากหล่มต่อ

ผมได้รับความรู้สึกอย่างหนึ่ง

เมื่อเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบเปรอะเปื้อน “โคลน”

การทำความรู้จักโคลนให้ดี ก็คือสิ่งจำเป็น

กว่าการพูดถึงโคลน โดยไม่เคยลงไปย่ำมัน