E-DUANG : เงาสะท้อน ของ ส.ส. “กร่าง” มากับ อำนาจ รัฐประหาร

ไม่มีรูปธรรมอะไรให้บทเรียนในเรื่อง “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อตระกูล” ได้แจ่มชัดเท่ากับ รูปธรรมการเผชิญหน้าระหว่าง ส.ส.กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ภูเก็ต

สังคมบังเกิดความหงุดหงิดโดยอัตโนมัติเมื่อเห็นท่วงท่าอากัปกริยาของ ส.ส.

คำว่า “กร่าง”กลายเป็นนิยามโดยอัตโนมัติ

คนจำนวนหนึ่งนึกถึงลักษณะอย่างเดียวกันนี้กับรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2535

เป็นลักษณะอย่างที่พาดหัวหนังสือพิมพ์ระบุว่า “ตี๋กร่าง”

เพียงแต่”ตี๋กร่าง”เผชิญกับข้าราชการมหาดไทย ขณะที่ “ส.ส. กร่าง”เผชิญกับข้าราชการตำรวจ

 

น่าสนใจอย่างเป็นพิเศษตรงที่ข้าราชการมหาดไทยยืนหยัดในสถานะแห่งข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างมั่นแน่ว

จึงสามารถเผชิญประสบกับรัฐมนตรีประเภท”ตี๋กร่าง”เลขานุ การรัฐมนตรีประเภท”ตี๋กร่าง”

กระทั่ง 2 คนต้องแพ้ภัยไปพร้อมกับรัฐบาล

กล่าวสำหรับกรณี “ส.ส.กร่าง” ท่วงท่าอากัปกิริยาของนายตำ รวจเป็นที่ประทับใจเป็นอย่างสูง จากความเยือกเย็นและชี้แจงต่อคำขู่คุกคามอย่างสุขุม

ไม่แปลกที่ได้รับกำลังใจไม่เพียงจากสังคมในวงกว้างหากแต่ผู้บังคับบัญชาการก็เข้าใจ

จากกรณีอื้อฉาวของ”ส.ส.กร่าง”ครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการจำแนก แยกแยะรากที่มาของความกร่างอย่างละเอียดยิบย่อย ไม่ว่าก่อนรัฐประหาร ไม่ว่าหลังรัฐประหาร

นี่เป็นท่วงทำนอง”กร่าง”ในทางการเมืองที่ประชาชนรับรู้มาต่อเนื่องกว่า 5 ปี

 

มีความพยายามจะทำให้เรื่องจบลงอย่างรวดเร็ว เข้าลักษณะเต่าใหญ่ไข่กลบ เนื่องจาก”ส.ส.กร่าง”มีรากฐานมาจากการเมืองก่อนและหลังรัฐประหาร

ที่สำคัญเป็น ส.ส.ในสังกัดพรรคการเมืองรัฐบาล

มีความใกล้ชิดกับศูนย์แห่งอำนาจไม่ว่าเมื่ออยู่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ไม่ว่าเมื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง

เป็นผลิตผลโดยตรงของรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557