วิกฤติศตวรรษที่ 21 | ตุรกีในโลกหลายขั้วอำนาจ และความร้าวฉานกับสหรัฐ

สงครามการค้าสหรัฐ : สู่ขั้นใช้ยาแรง (11)

ตุรกีในโลกหลายขั้วอำนาจ

ความร้าวฉานระหว่างตุรกีและสหรัฐเกิดขึ้นในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก และการปรับตัวของประเทศทั้งสองให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ โดยมีผู้แสดงสำคัญคือเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ผู้นำตุรกี ที่พรรคความยุติธรรมและการพัฒนาของเขาขึ้นสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2002 จนถึงขณะนี้

การเปลี่ยนแปลงที่สะเทือนโลก 2 เหตุการณ์

ได้แก่

1)การล่มสลายของจักรวรรดิสหภาพโซเวียต เริ่มตั้งแต่การทลายกำแพงเบอร์ลิน (ค.ศ.1989) การรวมชาติเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน (1990) หลายประเทศที่รวมตัวเป็นสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันตก ได้แสดงตัวเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต ตัวสหภาพโซเวียตเองล่มสลายในปลายปี 1991

การล่มสลายนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สร้างโลกแกนเดียวที่สหรัฐเป็นผู้นำขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งไม่เคยเกิดมาก่อน และมันเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ผู้นำสหรัฐและตุรกีต่างได้ปรับตัว และยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้ได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับสหรัฐ ตุรกีลดความสำคัญลงมาก จากการเป็นฐานทัพใหญ่สกัดกั้นอิทธิพลของสหภาพโซเวียต ตอนนี้สหรัฐ-นาโต้ สามารถขยายอิทธิพลไปจนประชิดพรมแดนของรัสเซียได้โดยรอบ เช่น โปแลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเช็ค บัลแกเรีย สามประเทศทะเลบอลติก แอลเบเนีย โครเอเชีย เป็นต้น

ทั้งสามารถก่อการปฏิวัติสีที่ยูเครนและจอร์เจียที่ทะเลดำอีก

แต่ตุรกีก็ยังน่าสนใจสำหรับสหรัฐ ในฐานะที่เป็นมิตรหรือบริวารเก่าที่ไม่แตกแถว

ในด้านตุรกี การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ไม่เพียงลดภัยคุกคามใหญ่ หากแต่ยังสร้างประกายความหวังที่จะสร้างตุรกีที่เป็นใหญ่เหมือนจักรวรรดิออตโตมันขึ้นอีกครั้ง

ในช่วงนี้ ตุรกีเดินนโยบาย “มองตะวันตก” รับเอาแนวคิดเสรีนิยมใหม่มาปฏิบัติ ทำตัวเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การนาโต้และกระตือรือร้นในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป นโยบายมองตะวันตกของแอร์โดอานมีจุดประสงค์ใหญ่ 3 ด้านคือ

(1) เพื่อสร้างความไว้วางใจและการสนับสนุนการพัฒนาจากสหรัฐและตะวันตก ที่ปรากฏว่าประสบความสำเร็จสูงจนสหรัฐใช้ตุรกีเป็นตัวแบบของประเทศมุสลิมที่อ่อนโยน เดินหนทางเสรีประชาธิปไตยและการเลือกตั้งทั่วไป ควรที่ประเทศมุสลิมอื่นจะปฏิบัติตาม

(2) เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลของลัทธิเคมาลที่เป็นแบบโลกวิสัย และแอร์โดอานเห็นว่าเป็นการตัดตอนประวัติศาสตร์ของตุรกีที่มีศาสนาอิสลามเป็นแกน นอกจากนี้ ลัทธิเคมาลและการรวบอำนาจของทหาร ได้กลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาของตุรกี ข้อนี้นับว่าประสบความสำเร็จสูงสามารถนำระบอบแอร์โดอานมาแทนที่ลัทธิเคมาลได้ในที่สุด

และ (3) เพื่อการสร้างความเป็นอิสระและฟื้นความเป็นใหญ่ของตุรกีขึ้นมาอีกครั้ง

จุดประสงค์ข้อท้าย ขัดกับผลประโยชน์ของสหรัฐที่ต้องการครองความเป็นใหญ่ทั่วโลก ดังนั้น ย่อมก่อความขัดแย้งรุนแรงไม่ช้าก็เร็ว

การปะทุความขัดแย้งสหรัฐ-ตุรกีมาถึงเร็ว เนื่องจากเหตุการณ์สะเทือนโลกข้อที่สอง ได้แก่ การปรากฏของโลกหลายขั้ว แสดงออกชัดที่สองเหตุการณ์สำคัญในปี 2014 คือ การที่เศรษฐกิจของจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อคิดจากค่า เสมอภาคอำนาจการซื้อ

ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางคนเห็นว่าสะท้อนมูลค่าที่เป็นจริงของสินค้าและบริการที่ประเทศหนึ่งผลิตขึ้นในรอบปี ดีกว่าคิดจากมูลค่าคิดจากตัวเงิน

และก่อนหน้านั้นในปี 2013 จีนได้เข้าแทนที่สหรัฐในฐานะที่เป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก

2)การที่รัสเซียผนวกดินแดนคาบสมุทรไครเมีย เป็นการตอบโต้ที่สหรัฐและตะวันตก (มีเยอรมนีเป็นต้น) ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลที่เป็นมิตรกับรัสเซียในยูเครน โดยที่สหรัฐและตะวันตกทำอะไรไม่ได้ นอกจากการแซงก์ชั่นรัสเซียขนานใหญ่ เหตุการณ์ทั้งสองชี้ว่าการขยายตัวของนาโต้และสหภาพยุโรปได้สิ้นสุดลงแล้ว

เหล่านี้กดดันให้สหรัฐจำต้องรักษาสถานะเดิมของตนไว้ให้มั่นคงและยืนยาวที่สุด เช่น การหันมาปิดล้อมจีนและรัสเซียสมัยโอบามา ลงเอยด้วยการเดินนโยบายอเมริกันเหนือชาติใด และอเมริกันกลับมาเป็นใหญ่อีกครั้งในสมัยทรัมป์ ในช่วงนี้ปรากฏความไม่ไว้วางใจระหว่างตุรกีและสหรัฐทวีขึ้นโดยลำดับ

ความไม่ไว้วางใจระหว่างตุรกี-สหรัฐที่ทวีขึ้น สรุปได้ว่า ตุรกีต้องการมีบทบาทในภูมิภาคนี้มากขึ้น

ส่วนสหรัฐและสหภาพยุโรปเห็นว่าเป็นการกำเริบเสิบสานต้องการฟื้นจักรวรรดิออตโตมันขึ้น

บางทีขนานนามแอร์โดอานว่าเป็น “สุลต่านแอร์โดอาน” มีการเคลื่อนไหวสำคัญของตุรกีในกรณี “อาหรับสปริง” (2011) ที่ก่อความผิดหวังและความไม่ไว้วางใจแก่สหรัฐและตะวันตกอย่างสูง

คือตุรกีสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในการลุกขึ้นสู้โค่นล้มระบอบมูบารักในอียิปต์ จนกระทั่งผู้นำกลุ่มคือนายมุฮัมมัด มุรซี ชนะเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2012 แต่แล้วกลับถูกรัฐประหารโดยนายพลอัลซีซีในปี 2013 โดยการสนับสนุนของซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล (ดูรายงานข่าวชื่อ Erdogan : Turkey Has Evidence that Israel Is Behind Military Coup in Egypt ใน haaretz.com 20/08/2013)

สหรัฐและยุโรปทำทีเหมือนประณามการรัฐประหาร แต่ในทางปฏิบัติสนับสนุน ทำให้แอร์โดอานเห็นว่า ตัวเขาเองที่มาจากการเลือกตั้ง ก็อาจถูกรัฐประหารได้เหมือนนายมุรซี

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ร้ายแรงกว่า ได้แก่ การที่ตุรกีหนุนหลังกลุ่มไอซิสเพื่อโค่นล้มระบอบอัสซัดในซีเรีย ซึ่งในตอนแรกสหรัฐและตะวันตกร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วย

แต่เมื่อกลุ่มไอซิสขยายตัวไปมาก ยึดครองดินแดนกว้างใหญ่ทั้งในซีเรียและอิรัก รวมทั้งบ่อน้ำมันจำนวนมาก จนสหรัฐ-ตะวันตกควบคุมได้ยาก

ทั้งตุรกีกลายเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างสูงในการทำลายกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดในซีเรียและอิรัก และผลประโยชน์จากการค้าน้ำมันของกลุ่มไอซิสในซีเรียด้วย สหรัฐได้เปลี่ยนท่าทีใหม่ หันมาโจมตีกลุ่มไอซิส และสร้างพันธมิตรกับกองกำลังป้องกันชาวเคิร์ด (YPG) ที่ตุรกีถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงสูงสุด

ความไม่ไว้วางใจกันระหว่างตุรกี-สหรัฐพุ่งสู่ขีดสูงสุดในการรัฐประหารที่ล้มเหลวในตุรกีปี 2016 โดยกลุ่มแอร์โดอานและชาวตุรกีจำนวนมากเชื่อว่าสหรัฐหนุนหลังเพื่อโค่นระบอบแอร์โดอาน และสนับสนุนนายกูเลนผู้นำขบวนการกูเลนที่เคร่งอิสลามอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมาแทน

จากนี้นโยบายตุรกีเปลี่ยนจากการมองตะวันตกเป็น “มองตะวันออก” ได้แก่ จีน-รัสเซียแทน

ขณะนี้สหรัฐกับตุรกีเตรียมลงไม้ลงมือกัน ในกรณีที่ตุรกีติดตั้งระบบป้องกันทางอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงจากรัสเซีย และสหภาพยุโรปประกาศแซงก์ชั่นตุรกีที่เดินหน้าขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ชายฝั่งประเทศไซปรัส โดยระงับเงินทุนแก่โครงการนี้

นักยุทธศาสตร์สหรัฐมีความเห็นว่า ในความพลิกผัน สหรัฐควรมีท่าทีต่อตุรกีดังนี้คือ ไม่ผลักตุรกีให้กลายเป็นศัตรู

ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับว่าตุรกีเป็นหุ้นส่วนพันธมิตร

รูปธรรมได้แก่

ก) การยอมรับว่าสหรัฐและตุรกีได้เปลี่ยนจากการเป็นพันธมิตรสนิทสู่การเป็นปรปักษ์

ข) พัฒนาฐานทัพอากาศสหรัฐใหม่ แทนที่ฐานทัพอินจีร์ลิกในตุรกี

ค) ปฏิเสธข้อเรียกร้องของตุรกีให้สหรัฐยุติการช่วยเหลือทางทหารต่อกองกำลังชาวเคิร์ด (YPG)

ง) ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าว ขึ้นต่อนโยบายตุรกีที่บ่อนทำลายผลประโยชน์ของสหรัฐ

(ดูบทปริทัศน์รายงานพิเศษของ Steven A. Cook ชื่อ Neither Friend no For : The Future of U.S.-Turkey Relation ใน cfr.org พฤศจิกายน 2018)

สําหรับตุรกีนั้นได้ปฏิบัติแนวคิด “มองตะวันออก” มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 และถึงจุดพลิกผันในปี 2016 ในปีนั้นตุรกีประสบวิกฤติซับซ้อน ในทางเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตทรุดลง ค่าเงินลีราตกต่ำ เงินลงทุนจากต่างประเทศก็หดหาย ทางการเมืองภายในประเทศเกิดกระแสความไม่พอใจในการพัฒนาประเทศ มีการประท้วงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013

กลุ่มแอร์โดอานกำลังขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองจากลัทธิเคมาลสู่ “ระบอบประธานาธิบดีแบบตุรกี” ซึ่งก่อความแตกต่างทางท่าทีและทัศนะของผู้คนจำนวนมาก

ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สหภาพยุโรปได้ปิดประตูไม่ให้ตุรกีเข้าเป็นสมาชิก

ความไม่ไว้วางใจระหว่างตุรกี-สหรัฐขึ้นสู่ขีดสูงสุด เมื่อแอร์โดอานเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า สหรัฐและบางประเทศในยุโรป มีเยอรมนี เป็นต้น อยู่เบื้องหลังกลุ่มก่อการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มเขา

การรัฐประหารที่ล้มเหลวช่วยต่อชีวิตทางการเมืองแก่แอร์โดอาน ได้ทำให้ตุรกีเข้าไปสนิทกับจีนอย่างฉับพลัน แทนที่จะคิดเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ตุรกีเดินหน้าเข้าเป็นสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ การพบปะระหว่างแอร์โดอานกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนที่กรุงปักกิ่ง ในต้นเดือนกรกฎาคม 2019 หลังจากเพิ่งพบกันนอกรอบ ในการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 เพียงไม่กี่วัน ต้องการสื่อสารสำคัญต่อชาวตุรกี ชาวจีนและชาวโลก ถึงจุดยืน ท่าทีและนโยบายความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างตุรกีกับจีน

ก่อนที่แอร์โดอานจะเดินทางไปพบสีจิ้นผิง เขาได้เขียนบทความชื่อ “ตุรกี-จีน มีวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับอนาคต” เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โกลบัล ไทม์ของจีน เขากล่าวว่า “ตุรกีมีวิสัยทัศน์ร่วมกับจีนในการช่วยสร้างสันติภาพโลก รักษาความมั่นคงและเสถียรภาพโลก ส่งเสริมลัทธิหลายฝ่าย และยึดมั่นหลักการค้าเสรี”

แอร์โดอานเท้าความว่า “ชาวตุรกีและชาวจีนต่างเป็นตัวแทนของอารยธรรมเก่าที่อยู่คนละฝากของทวีปเอเชีย เป็นผู้ที่รับใช้มนุษยชาติใหญ่หลวงในฐานะเป็นผู้ดูแลรักษาเส้นทางสายไหม ส่งเสริมการค้าเสรีและปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม” และว่า ตุรกีเป็นชาติแรกที่สนับสนุนแผนริเริ่มแถบและทางของจีน และโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจกลาง” ของตุรกีก็เป็นโครงการสำคัญในแผนริเริ่มแถบและทาง จะช่วยเชื่อมกรุงปักกิ่งเข้ากับกรุงลอนดอน

เขายังกล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาของตุรกีและจีนก็เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมสวัสดิการ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกัน (ดูบทรายงานของ Sena Guler ชื่อ Turkey, China share common future vision : Erdogan ใน aa.com.tr 01/07/2019)

การพบปะระหว่างผู้นำทั้งสองที่กรุงปักกิ่งวิเคราะห์กันว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่การปรับท่าทีและความเข้าใจระหว่างกันในกรณีการลุกขึ้นสู้ในซินเกียง เพราะชาวอุยกูร์ในซินเกียงมีเชื้อสายตุรกี และตุรกีก็ได้แสดงท่าทีสนับสนุนชาวอุยกูร์อย่างต่อเนื่อง

จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2019 กระทรวงต่างประเทศตุรกียังประณามจีนที่อ้างว่าสร้างศูนย์การศึกษาเพื่อฝึกอาชีพของชาวอุยกูร์ ว่าเป็นเรื่องน่าละอาย และต้องปิดเสีย

แต่เมื่อแอร์โดอานพบกับสี ก็มีท่าทีอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด ตามรายงานข่าวของซินหัว ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่า “เป็นข้อเท็จจริงว่าประชาชนในซินเจียงของจีนมีชีวิตอย่างเป็นสุขในการพัฒนาและความไพบูลย์ของจีน”

และว่า ประธานาธิบดีสีชื่นชมที่ตุรกีห้ามกิจกรรมต่อต้านจีน และตุรกีสนับสนุนการต่อต้านลัทธิก่อการร้ายของจีน

ซึ่งมีสื่อฝ่ายค้านในตุรกีนำไปถ่ายทอดก่อกระแสไม่พอใจ ทางการตุรกีจึงได้แก้ไขว่าสิ่งที่แอร์โดอานพูดจริงคือ “(แอร์โดอาน) หวังว่าประชาชนในซินเกียงของจีนจะอยู่อย่างเป็นสุข ในสันติภาพและความไพบูลย์” (ดูรายงานข่าวของ Jun Mai ชื่อ Turkish President Recep Tayyip Erdogan”s “happy Xinjiang” comments “mistranslated” in China ใน scmp.com 22/07/2019)

เหตุการณ์นี้ชี้ว่าปัญหาที่ละเอียดอ่อนนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ในชั่วข้ามคืนตามใจของผู้นำ

อย่างไรก็ตาม นโยบายมองตะวันออกของตุรกี ได้ทำให้สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ขยายตัว เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายมากยิ่งขึ้นจนยากที่จะยุติลงได้ง่ายๆ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเตะขาพับสหรัฐของสหภาพยุโรป กับการเจรจาระงับศึกการค้าสหรัฐ-จีนที่ร่อแร่