วรศักดิ์ มหัทธโนบล : หลักคิดในยุคราชวงศ์สุย

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุยที่รุ่งเรือง (ต่อ)

อุดมการณ์ของสุย

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า สุยเป็นราชวงศ์ที่เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจราชวงศ์โจวเหนือโดยหยังเจียนเมื่อ ค.ศ.581 ซึ่งก็คือการโค่นอำนาจของสกุลอี่ว์เหวินที่เขารับใช้มาช้านาน แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นการโค่นที่มีสาเหตุมาจากการทำตนให้เสื่อมของโจวเหนือเอง จนต้องให้หยังเจียนเข้ามาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิองค์น้อย

ในขณะที่หยังเจียนซึ่งรู้เห็นถึงความเสื่อมของโจวเหนือมาตลอดก็เห็นเป็นโอกาส จึงได้ใช้ความเหนือกว่าทุกกลุ่มการเมืองของตนเข้าแย่งยึดอำนาจในที่สุด

อันที่จริงแล้วการยึดอำนาจของหยังเจียนแยกไม่ออกจากบทบาททางการเมืองของเขาเอง โดยเฉพาะเมื่อเขามีธิดาคนหนึ่งที่มีความงามยิ่ง และธิดาคนนี้ก็ได้อภิเษกกับรัชทายาทของโจวเหนือ เมื่อเป็นเช่นนี้หยังเจียนจึงมีฐานะเป็นสัสสุระ (พ่อตา) ขององค์รัชทายาทไปด้วย

ฐานะเช่นนี้ย่อมส่งให้เขามีอำนาจบารมียิ่งขึ้น แต่อำนาจบารมีที่แผ่กว้างขึ้นนี้คงเป็นไปตามปกติ หากมิใช่เพราะพฤติกรรมของรัชทายาทมาช่วยทำให้มันโดดเด่นขึ้นมา ทั้งนี้เพราะรัชทายาทองค์นี้มีพฤติกรรมที่เหลวแหลก เป็นผู้ลุ่มหลงในสุรานารี และมีการกระทำต่างๆ ที่เป็นไปตามอำเภอใจอยู่เสมอ

ครั้นก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิแล้วก็แก้แค้นเหล่าเสนามาตย์ที่เคยตำหนิความประพฤติของตน เมื่อครั้งที่ยังเป็นรัชทายาท

การแก้แค้นเป็นไปด้วยการให้ทุบตีด้วยกระบองจนตายในราชสำนัก ส่วนเสนามาตย์ที่ประจบสอพลอตนเองก็ได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น

ที่สำคัญ จักรพรรดิไม่เคยไว้ใจหยังเจียนที่กำลังมีอำนาจบารมีมากขึ้น จนครั้งหนึ่งถึงกับทรงกล่าวกับมเหสีซึ่งเป็นธิดาของหยังเจียนว่า

“เราจักกำจัดตระกูลของเจ้า”

 

ข้างฝ่ายหยังเจียนก็รู้ถึงปัญหานี้ดี ในด้านหนึ่ง เขาจึงพยายามหลีกหนีปัญหาด้วยวิธีต่างๆ เพื่อเอาตัวรอด

อีกด้านหนึ่ง เขากลับคิดอ่านที่จะยึดอำนาจ เพราะการหนีปัญหาในด้านแรกมิอาจทำได้ตลอดไป แต่ในขณะที่สถานการณ์เป็นดังที่ว่า ก็ให้บังเอิญว่าจักรพรรดิทรงป่วยและได้สิ้นพระชนม์ลง

ส่วนรัชทายาทที่ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิสืบต่อทรงมีอายุเพียงแปดพรรษาเท่านั้น

ตอนนี้เองที่หยังเจียนกับเหล่าเสนามาตย์คู่ใจได้วางแผนยึดอำนาจ แผนนั้นเริ่มจากการให้หยังเจียนได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิ

แผนขั้นต่อไปคือ การหาทางกำจัดบรรดาวงศานุวงศ์ตระกูลอี่ว์เหวิน

แผนขั้นสุดท้ายคือ การจัดการกับบรรดาขุนศึกกลุ่มต่างๆ ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม

แผนแต่ละขั้นนี้แม้มิได้เป็นไปอย่างราบรื่น แต่หยังเจียนก็ฝ่าข้ามอุปสรรคไปได้ จากนั้นจึงจัดฉากให้จักรพรรดิองค์น้อยสละราชสมบัติ ด้วยการให้ประกาศราชโองการตั้งให้เขามีฐานะเทียบเท่าจักรพรรดิ

และเขาปฏิเสธถึงสามครั้งสามคราก่อนที่จะยอมรับฐานะนั้นไว้ด้วยความจำใจ

เมื่อรับแล้วก็เขียนราชโองการแทนจักรพรรดิเรื่องการสละราชสมบัติ โดยในราชโองการนั้นได้สรรเสริญคุณูปการและคุณงามความดีของหยังเจียน ทั้งยังขอให้หยังเจียนรับตำแหน่งจักรพรรดิแทน

 

จากนั้นเรื่องราวก็ดำเนินไปดังประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้ นั่นคือ บรรดาเสนามาตย์ต้องวิงวอนร้องขอให้หยังเจียนรับตำแหน่งจักรพรรดิครั้งแล้วครั้งเล่า จนเขาจำต้องยอมรับในที่สุดแล้วสวมเครื่องทรงของจักรพรรดิซึ่งเขาได้เตรียมไว้นานแล้ว จากนั้นก็เดินเข้าวังท่ามกลางแวดล้อมของเหล่าเสนามาตย์

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ราชวงศ์สุยก็ถูกสถาปนาขึ้นใน ค.ศ.581 คำว่าสุยที่เป็นชื่อราชวงศ์นี้ได้มาจากชื่อศักดินาที่บิดาของเขาได้รับจากโจวเหนือ แล้วเขาก็ได้รับตกทอดมาอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากตัวเขียนของคำคำนี้มีความหมายที่ส่อนัยว่า ไป ซึ่งให้ความรู้สึกที่ไม่เป็นสิริมงคล

หยังเจียนจึงตัดเส้นสายบางส่วนในตัวอักษรนี้ออกไปเพื่อให้ต่างจากตัวเขียนเดิม แต่ยังคงให้อ่านด้วยเสียงเดิมว่าสุยต่อไป

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า หลังยึดอำนาจเขาก็ได้สั่งประหารชีวิตเจ้าชายของโจวเหนือไปทั้งสิ้น 59 องค์ และกวาดล้างกลุ่มอำนาจที่ต่อต้านตัวเขาจนสำเร็จ ปฏิบัติการของเขาในครั้งนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งล้วนมาจากบุคลิกภาพที่เป็นลักษณะเฉพาะของเขาเองดังได้กล่าวไปแล้ว

จนเมื่ออำนาจทั้งปวงอยู่ในมือแล้ว หยังเจียนก็ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิโดยใช้พระนามว่าเหวิน เป็นจักรพรรดิเหวินแห่งราชวงศ์สุยหรือสุยเหวินตี้

 

ราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่จีนตกอยู่ในวังวนของความแตกแยกมานานหลายร้อยปี ระหว่างนั้นแม้จะมีราชวงศ์จิ้นเกิดขึ้นและดำรงอยู่ก็จริง แต่ก็เป็นราชวงศ์ที่มีปัญหาความมั่นคงมาโดยตลอด

การที่ความแตกแยกดำรงอยู่ยาวนานเช่นนี้นับว่ามีผลสะเทือนต่อสุยอย่างมาก เพราะแม้สุยจะเกิดเป็นราชวงศ์ใหม่แล้วก็จริง แต่สิ่งที่สุยพึงคิดก็คือ ทำอย่างไรให้ราชวงศ์ที่ตั้งขึ้นใหม่นี้มีเสถียรภาพที่มั่นคงไม่สั่นคลอนดังเช่นราชวงศ์จิ้น

โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งที่มีกับชนชาติที่มิใช่ฮั่นที่ผงาดขึ้นมาท้าทายจีน และเป็นศัตรูกับจีนยาวนานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในยุคก่อนหน้านี้

ที่สำคัญ แม้เมื่อสุยตั้งเป็นราชวงศ์ขึ้นแล้ว อิทธิพลของชนชาติเหล่านี้ก็หาได้หมดไปไม่ และยังคงพร้อมที่จะขัดแย้งกับจีนได้ทุกเมื่อ

ดังนั้น หากสุยคิดจะตั้งตนให้มีเสถียรภาพที่มั่นคงไม่สั่นคลอนแล้ว สุยย่อมต้องปรับตัวครั้งใหญ่โดยมีอดีตที่เพิ่งผ่านไปเป็นบทเรียน

และก็ด้วยเหตุที่สุยคิดเช่นนั้นประกอบกับภูมิหลังของหยังเจียนเอง สิ่งที่ตามมาในทางปฏิบัติในเรื่องแรกหลังตั้งราชวงศ์จึงคือ อุดมการณ์ที่จะใช้ในการปกครอง

 

เมื่อโจทย์ของความมีเสถียรภาพที่มั่นคงคืออุดมการณ์แล้ว ประเด็นคำถามจึงมีต่อไปว่าอะไรคืออุดมการณ์ที่สุยจะใช้ เกี่ยวกับประเด็นนี้สิ่งที่สุยจะทำให้เห็นต่อไปจะตั้งอยู่บนพื้นฐานสองด้านด้วยกัน ด้านหนึ่ง เป็นภูมิหลังของสุยเหวินตี้ที่ใช่แต่จะเป็นบุคลิกลักษณะของพระองค์เท่านั้น หากยังรวมถึงหลักคิดที่สุยเหวินตี้ผูกพันมาแต่ครั้งเยาว์วัยด้วย ซึ่งก็คือศาสนาพุทธ

และเมื่อเป็นจักรพรรดิแล้วจะนำหลักคิดนี้มาใช้ทั้งหมดย่อมเป็นไปไม่ได้

อีกด้านหนึ่ง หากจะนำหลักคิดอื่นมาใช้ก็ไม่มีหลักคิดใดที่จะมีอิทธิพลมากไปกว่าลัทธิขงจื่ออีกแล้ว ประเด็นปัญหานี้จึงอยู่ตรงที่จะใช้หลักคิดของสำนักใดและอย่างไร ในด้านนี้จึงมีเหล่าเสนามาตย์เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งก็คือเสนามาตย์ทั้งสามดังได้กล่าวไปแล้ว เสนามาตย์ทั้งสามนี้ยังมีส่วนในการสร้างนโยบายพัฒนาในด้านต่างๆ ขึ้นมาอีกด้วย นโยบายส่วนหนึ่งในยุคนี้ต่อไปจะถูกนำมาสานต่อโดยราชวงศ์ถัง

เริ่มจากในด้านแรก ซึ่งนักวิชาการตะวันตกเรียกว่าการก่อรูปแห่งอุดมการณ์บรรสาน (the formation of syncretic ideology) อันหมายถึง การนำอุดมการณ์ของสำนักต่างๆ มาผสานใช้เป็นหลักคิดให้เป็นประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้คือการนำมาใช้ประโยชน์ทางการปกครอง

และอุดมการณ์แรกที่สุยนำมาใช้ประโยชน์ก็คือลัทธิขงจื่อ

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีประเด็นที่พึงกล่าวด้วยว่า หากนับแต่ราชวงศ์ฮั่นล่มสลายเรื่อยมาจนถึงเมื่อราชวงศ์สุยถูกตั้งขึ้นนั้น เราจะพบว่าหลักคิดของลัทธิขงจื่อได้ร้างราจากการเมืองจีนมานานร่วมสามศตวรรษแล้ว แม้จะเป็นความจริงที่ว่า หลังฮั่นล่มสลายและจีนเข้าสู่ยุคของความแตกแยกจะมีบางรัฐสมาทานลัทธิขงจื่อก็ตาม แต่การนำมาใช้ก็แทบไร้ความหมาย เพราะหากมิใช่ใช้ไปโดยมิอาจทำให้ลัทธิขงจื่อมีความโดดเด่นแล้ว ก็ใช้โดยที่มิได้ทำให้ตนแข็งแกร่งจนเกิดความมั่นคงขึ้นแต่อย่างไร

จากเหตุนี้ การที่สุยคิดที่จะนำลัทธิขงจื่อมาใช้จึงไม่ต่างกับเป็นการรื้อฟื้นลัทธินี้ให้ผงาดขึ้นมาอีกครั้ง และหากทำได้สำเร็จสุยก็จะรุ่งเรือง ประเด็นคำถามจึงมีต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วสุยนำลัทธิขงจื่อมาใช้อย่างไร

สิ่งที่พบคือ สุยคิดเห็นว่าในทางความคิด ค่านิยม วัตรปฏิบัติ และรีตของลัทธิขงจื่อที่ฮั่นได้สร้างมาตรฐานเอาไว้นั้นดีอยู่แล้ว ดังนั้น หากนำมาใช้ก็จะยึดตามมาตรฐานที่ว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานในเรื่องรีตซึ่งมีรายละเอียดมากมาย

รายละเอียดเหล่านี้ถูกนำมาปฏิบัติจนเป็นประเพณี แต่ละประเพณียังถูกแยกย่อยจนกลายเป็นอนุประเพณี (sub-traditions) ต่างๆ ซึ่งต่างก็มุ่งส่งเสริมให้ฐานะของจักรพรรดิสมกับที่เป็นโอรสแห่งสวรรค์ทั้งสิ้น

ดังนั้น อนุประเพณีที่สุยได้ฟื้นฟูขึ้นอย่างเป็นทางการในลำดับแรกจึงคือรีต

จากเหตุนี้ พิธีกรรม ขนบธรรมเนียม หรือประเพณีปฏิบัติในเรื่องต่างๆ อันเป็นรีตที่จักรพรรดิต้องถือปฏิบัติมาแต่สมัยฮั่นจึงถูกนำมาปฏิบัติอีกครั้งในสมัยนี้