คุยกับทูต ‘โลเรนโซ กาลันตี’ ส่องความสัมพันธ์อิตาลี-ไทยผ่านสถาปัตยกรรม

คุยกับทูต โลเรนโซ กาลันตี อิตาลีจับมือไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งกระชับสัมพันธ์กับอาเซียน (1)

“เป้าหมายหลักของผม คือการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างไทย-อิตาลีในทุกด้านเพื่อให้เกิดความมั่นคง แข็งแกร่ง และยั่งยืน เพราะอิตาลีต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับประเทศไทยทั้งการค้าและการลงทุน ผมเชื่อว่ายังมีโอกาสอีกมากมายหลายด้านที่เรายังไม่ได้มีการพัฒนากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังได้รับการผลักดันอย่างมากจากรัฐบาลไทย เราหวังว่าภาคธุรกิจจากอิตาลีจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการเหล่านี้มากขึ้นเช่นกัน”

นายโลเรนโซ กาลันตี (H.E. Mr. Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย เห็นว่านี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับประเทศไทยและอิตาลี เพราะมีความพยายามให้เกิดความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันให้มากยิ่งขึ้น

“เราให้การสนับสนุนคนไทยที่ไปลงทุนในอิตาลี ดังเช่นกลุ่มเซ็นทรัลจากประเทศไทยได้ซื้อกิจการของห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ชื่อ ลา รีนาเชนเต (La Rinascente) ในกรุงโรม ซึ่งเป็นห้างที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก”

ลา รีนาเชนเต (La Rinascente) ในตำนานที่หรูหราอายุกว่า 150 ปีและได้รับการขนานนามให้เป็น 1 ใน 13 ห้างสรรพสินค้าของโลกที่ทุกคนควรต้องไปเยือน (โดย UK Business Insider เว็บไซต์ที่ทรงอิทธิพลด้านข่าวสารระดับโลกจากอังกฤษ) ตั้งอยู่ใจกลางเมืองมิลาน นครเอกแห่งแฟชั่นของโลก ประเทศอิตาลี ภายใต้การบริหารของกลุ่มเซ็นทรัล แฟล็กชิปสโตร์แห่งแรก

จวบจนวันนี้ ห้างลา รีนาเชนเต ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นรีนาเชนเต (Rinascente) พร้อมกับเปิดตัวรีนาเชนเต สาขาที่ 11 ซึ่งเป็นแฟล็กชิปสโตร์ของรีนาเชนเต แห่งที่ 2 บริเวณใจกลางกรุงโรม จุดหมายปลายทางที่ครองใจนักช้อปทั่วโลกด้วย

ปัจจุบันรีนาเชนเตมีทั้งหมด 11 สาขาในอิตาลี ได้แก่ มิลาน (Milan), โรม (Rome) 2 สาขา, ฟลอเรนซ์ (Florence), คาตาเนีย (Catania), กาลยารี (Cagliari), พาเลอร์โม (Palermo), เจนัว (Genoa), แพดัว (Padua), มอนซ่า (Monza) และตูริน (Turin)

“สําหรับผม ได้มาเยือนเมืองไทยครั้งแรกตอนเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่คณะทำงาน (Chief of Staff) ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของอิตาลี ผู้ซึ่งมาร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรปครั้งที่ 21 (21st ASEAN-EU Ministerial Meeting) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 12-14 ตุลาคม ค.ศ.2016”

“ผมจำได้ไม่เคยลืม วันนั้นเป็นวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.2016 เมื่อท่านทูตฟรานเชสโก ซาเวริโอ นิซิโอ (H.E. Mr. Francesco Saverio Nisio) ซึ่งประจำที่นี่ก่อนหน้าผม ได้มาต้อนรับรัฐมนตรีช่วยและคณะของเราที่สนามบิน และแจ้งข่าวร้ายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จสวรรคต”

“ทุกคนต่างตระหนกตกใจ รู้สึกได้ถึงบรรยากาศรอบตัวที่เต็มไปด้วยความเศร้าโศก ผมจึงเกิดความสนใจประเทศไทย และเริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้น นั่นคือจุดเริ่มต้น”

“ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ.2018 ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำราชอาณาจักรไทย กัมพูชา และลาว อันเป็นการดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตครั้งแรกของผม”

“เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยกลางเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วนั้น เราอยู่ในช่วงการฉลองครบรอบ 150 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าระหว่างไทยและอิตาลีที่กรุงเทพฯ ด้วยกิจกรรมทางวัฒนธรรมมากมายในวาระอันสำคัญนี้ตลอดทั้งปี ผมเป็นผู้มาสานต่อ เพราะงานบางส่วนได้ตระเตรียมไว้แล้วโดยท่านทูตฟรานเชสโก การเฉลิมฉลองของเราเน้นความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งระหว่างกัน นับตั้งแต่มีการลงนามข้อตกลง”

“ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับอิตาลีนับถึงปัจจุบัน 151 ปีแล้ว โดยไทยและอิตาลีได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับแรกคือ สนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพและการค้า (Treaty of Friendship and Commerce) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1868”

ส่วนการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอิตาลีมีขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.2004 ส่งผลให้เกิดความร่วมมือในโครงการต่างๆ มากมาย ครอบคลุมในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ การศึกษา

และโดยเฉพาะด้านวัฒนธรรม

ในอดีต มีชาวอิตาเลียนเข้ามาทำงานในราชสำนักสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทั้งสถาปนิก วิศวกร ประติมากร จิตรกร มัณฑนากร ซึ่งต่างร่วมแรงร่วมใจกันสนองพระราชดำริในโครงการใหญ่ๆ จนบางครั้งไม่อาจแยกแยะได้ว่า ส่วนไหนเป็นผลงานของผู้ใด

ท่านทูตโลเรนโซ กาลันตี เล่าถึงผลงานสำคัญในประเทศไทยของสถาปนิกและศิลปินชาวอิตาเลียน โดยมีชื่อเสียงเรียงนามตามตัวอย่างดังต่อไปนี้

กรมแผนที่ทหาร เดิมสร้างด้วยไม้ แต่ที่เห็นเป็นอาคารสไตล์นีโอคลาสสิคในปัจจุบัน สร้างเสร็จราวปี ค.ศ.1892 โดยสถาปนิก สเตฟาโน คาร์ดู (Stefano Cardu)

กระทรวงกลาโหม สถาปัตยกรรมสไตล์นีโอคลาสสิค ก่อสร้างโดยโยคิม กราสซี่ (Joachim Grassi) ช่วงปี ค.ศ.1882-1884 ใช้เป็นโรงทหารก่อนที่จะกลายเป็นกระทรวงกลาโหมในปี ค.ศ.1884

ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายในมีวังตั้งอยู่สองแห่ง คือวังบางขุนพรหม และวังเทวะเวสม์ วังบางขุนพรหมประกอบด้วยตำหนักใหญ่สร้างตามสไตล์บาร็อกโดยมาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno) ในปี ค.ศ.1901 ส่วนจิตรกรรมฝาผนังเป็นผลงานของคาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli)

ธนาคารไทยพาณิชย์ (สาขาตลาดน้อย) อันนิบาล ริกอตติ (Annibale Rigotti) เป็นผู้ออกแบบธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ปี ค.ศ.1910

บริษัท อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic) ตัวอาคารสำนักงานที่กรุงเทพมหานครแห่งนี้ สร้างตามสไตล์นีโอเรอเนสซองในปี ค.ศ.1901 เป็นผลงานของอันนิบาล ริกอตติ (Annibale Rigotti)

ทำเนียบรัฐบาล (บ้านนรสิงห์) มาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno) และอันนิบาล ริกอตติ (Annibale Rigotti) คือสองสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านนรสิงห์ ในปี ค.ศ.1926 ตามแบบฉบับศิลปะโกธิกตอนปลายของเวนิชคาโดโรพาลาสโซ

บ้านพักท่านทูตเบลเยียม มาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นผู้สร้างบ้านสไตล์อาร์ตนูโวหลังนี้ให้กับครอบครัวชาวไทยครอบครัวหนึ่งช่วงปี ค.ศ.1917 ก่อนที่จะกลายเป็นสถานทูตเบลเยียมในปี ค.ศ.1927 เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยรวมถึงระบบโทรศัพท์ด้วย จนกระทั่งในปี ค.ศ.2000 จึงได้มีการดัดแปลงให้เป็นทำเนียบท่านทูตเบลเยียมในปัจจุบัน

พระตำหนักวังสวนกุหลาบ สร้างโดยมาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno)

พระที่นั่งอนันตสมาคม สถาปนิกมาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno) และอันนิบาล ริกอตติ (Annibale Rigotti) สร้างพระที่นั่งแห่งนี้โดยใช้หินอ่อนคาร์รารา ตัวอาคารและกำแพงประดับด้วยภาพวาดของกาลิเลโอ ชินี (Galileo Chini) และคาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) ประติมากรรมของวิตตอรีโอ โนวี (Vittorio Novi) และหลานชาย รูดอล์ฟโฟ โนลลี (Rodolfo Nolli)

พระที่นั่งอภิเษกดุสิต และพระที่นั่งอัมพรสถาน สถาปนิกคือ มาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno)

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน แปลว่า พระราชวังแห่งความรักและความหวัง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงออกแบบพระราชวังไม้สักทองแห่งนี้ด้วยพระองค์เอง โดยมีสถาปนิกชาวอิตาเลียน เออร์โคล แมนเฟรดี (Ercole Manfredi) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง

พระราชวังพญาไท มีหอคอยอันโดดเด่น จึงดูมีความเป็นสิ่งก่อสร้างแบบเยอรมันมากกว่าอิตาลี ทั้งที่เป็นผลงานการออกแบบของมาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno) สถาปนิกอิตาเลียน สร้างเสร็จ ค.ศ.1909

พระราชวังสราญรมย์ ก่อสร้างในปี ค.ศ.1866 โดยสถาปนิกชาติอื่นก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนในภายหลังโดยคาร์โล อีลเลกรี (Carlo Allegri) วิศวกรชาวอิตาเลียน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เป็นผลงานของคาร์โล อีลเลกรี สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1968

มิวเซียมสยาม หรือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Museum Siam) ค.ศ.1921 ตัวอาคารออกแบบโดยสถาปนิกมาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno) ร่วมกับวิศวกรกอลโล (E.G. Gollo) และกวาเดรลลี (Guadrelli) ส่วนลวดลายตกแต่งออกแบบโดยวิตโตริโอ โนวี (Vittorio Novi)

วังจักรพงษ์ ออกแบบคนแรกโดยเออโคล แมนเฟรดี (Ercole Manfredi) ปี ค.ศ.1909

วังปารุสกวัน หรือวังปารุสก์ ก่อสร้างปี ค.ศ.1906 โดยมาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno) เริ่มใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ตำรวจตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 เป็นต้นมา

วัดซานตาครูส สถาปนิกอันนิบาล ริกอตติ (Annibale Rigotti) และมาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno) สร้างโบสถ์หลังที่สองในสไตล์นีโอบาร็อก ในปี ค.ศ.1916

วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร โดยสถาปนิกโยคิม กราสซี่ (Joachim Grassi)

วัดราชบพิตร โดยคาร์โล อีลเลกรี (Carlo Allegri)

วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร จิตรกรคาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) วาดภาพฝาผนัง

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ก่อสร้างในปี ค.ศ.1899 โดยเออโดล แมนเฟรดี (Ercole Manfredi)

สถานีรถไฟหัวลำโพง เฉพาะหลังคาเหล็กและระเบียงสไตล์นีโอคลาสสิคของทั้ง 14 ชานชาลา ถือเป็นความสำเร็จทางด้านวิศวกรรมล้ำสมัยในแบบนีโอคลาสสิคโดยสถาปนิกและวิศวกรชาวอิตาเลียน มาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno) และอันนิบาล ริกอตติ (Annibale Rigotti) ปี ค.ศ.1916

สนามมวยราชดำเนิน เริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ.1941 ดูแลการก่อสร้างโดยบริษัทสัญชาติอิตาเลียนชื่อ อิมเพรส อิตาเลียน ออลเอสเตโร-โอเรียนเต (Impresse Italiane All” Estero-Oriente)

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นผลงานของคอร์ราโด เฟโรซี (Corrado Feroci) หรือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

สะพานมหาดไทยอุทิศ หรือสะพานร้องไห้ สร้างโดยคาร์โล อัลเลกรี (Carlo Allegri) ในปี ค.ศ.1914 เพื่อรำลึกถึงการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี ค.ศ.1910 สะพานประดับด้วยผลงานปูนปั้นนูนต่ำ โดยวิตตอรีโอ โนวี (Vittorio Novi) ที่สร้างเลียนแบบศิลปะยุคโรมันโบราณ

หอนาฬิกาจีน สวนลุมพินี แบบอาร์ตเดโค เป็นผลงานการออกแบบของมาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno)

ห้องสมุดเนลสันเฮส์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1921 โดยมาริโอ ทามาคโน (Mario Tamagno)

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีรูปปั้นทั้งห้าที่ฐานของอนุสาวรีย์เป็นสัญลักษณ์แทนกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เป็นผลงานของคอร์ราโด เฟโรซี (Corrado Feroci) หรือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างโดยสถาปนิกชาวไทย แต่การออกแบบได้รับอิทธิพลมาจากสไตล์อิตาเลียนฟาสซิสต์ช่วงปี ค.ศ.1935 ตัวอนุสาวรีย์ตกแต่งด้วยผลงานประติมากรรมของคอร์ราโด เฟโรซี (Corrado Feroci) หรือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และเสร็จสมบูรณ์ ปี ค.ศ.1939

อาคารที่ทำการศุลกากรเก่า หรือศุลกสถาน โยคิม กราสซี่ (Joachim Grassi) เป็นผู้ออกแบบ

โรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล มีประวัติศาสตร์ยาวนานเกี่ยวข้องกับชาวยุโรปหลายชาติ ได้รับการออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกสัญชาติอิตาเลียน สเตฟาโน คาร์ดู (Stefano Cardu) เป็นต้น

“การก่อสร้างนี้ยังคงดำเนินต่อไปในศตวรรษที่ 20 ดังนั้น สถาปนิกบางคนจึงมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และแน่นอนว่าศิลปินคนสำคัญที่มาจากอิตาลีคือ คอร์ราโด เฟโรซี (Corrado Feroci) ชื่อไทยคือ ศิลป์ พีระศรี (Silpa Bhirasri) อาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยศาสตราจารย์ศิลป์ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย กล่าวกันว่าเป็นหนึ่งในผู้สร้างแรงบันดาลใจ หรือผู้สนับสนุนสถาปัตยกรรมในประเทศไทย”

ท่านทูตโลเรนโซ กาลันตี สรุปว่า

“นี่คือเรื่องราวแห่งความสัมพันธ์อันยาวนานของเราในประวัติศาสตร์ที่มีพื้นฐานมาจากการผสมผสานทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันศิลปินอิตาเลียนก็ได้นำศิลปะและวัฒนธรรมไทยไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในอิตาลี รวมทั้งการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปะไทยในกรุงโรมด้วย กล่าวได้ว่าศิลปะและวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-อิตาลีให้เป็นหนึ่งเดียวกัน”