วงค์ ตาวัน | ก่อการร้ายที่ไม่ประกาศตัว

วงค์ ตาวัน

ในทางคดี ในด้านการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ พบว่ามีการคลี่คลายมากขึ้นเป็นลำดับ สำหรับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดกว่าสิบจุดทั่ว กทม.และปริมณฑล โดยนอกจากมีผู้ต้องหา 2 คนที่จับกุมได้ทันควันขณะนั่งรถทัวร์ลงไปยังพื้นที่ภาคใต้แล้ว ล่าสุดเริ่มทยอยออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องรายอื่นๆ เพิ่มขึ้น

ล้วนแต่เป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

ยิ่งทำให้ความพยายามจะโยงเข้าใส่ฝ่ายการเมืองตรงข้ามรัฐบาล ยิ่งไร้น้ำหนัก

แม้จะพยายามพลิกประเด็นว่ามาจากภาคใต้ แต่ก็อาจเป็นการว่าจ้างจากนักการเมืองขั้วตรงข้ามรัฐบาลก็ได้

“ยิ่งรูปคดีชัดเจนมากขึ้น ก็ยิ่งยาก ยิ่งห่างไกล ที่จะดึงนักการเมืองมาเป็นผู้ว่าจ้างขบวนการก่อความไม่สงบ 3 จังหวัดใต้”

กล่าวได้ว่า เหตุการณ์นี้คงเป็นการขยายพื้นที่ก่อเหตุจากกลุ่มไฟใต้ค่อนข้างแน่

แต่ก็นั่นแหละ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีบทสรุปว่าน่าจะเป็นประเด็นขบวนการจาก 3 จังหวัดใต้แล้ว ก็จะนำไปสู่การใช้ท่าทีป่าวประณามผู้ก่อเหตุเพียงด้านเดียว แต่ไม่ดูถึงต้นสายปลายเหตุว่า แล้วทำไมไฟใต้จึงเกิดขึ้น แล้วลุกลามไม่หยุด แถมลามขึ้นมาถึง กทม.

“ต้องพูดข้อเท็จจริง นำไปสู่การเรียกร้องรัฐบาล ให้ใช้นโยบายแก้ไฟใต้ที่ถูกจุด เพื่อหยุดความสูญเสียของทุกฝ่ายให้ได้เร็วที่สุด”

อีกทั้งรู้กันอยู่ดีแล้วว่า นโยบายใช้การทหารนำ ไม่เคยแก้ปัญหาความรุนแรง ไม่สามารถหยุดการก่อความไม่สงบที่มาจากความขัดแย้งในเชิงความยุติธรรมและความคิดอุดมการณ์ได้

ทั่วโลกมีข้อสรุปในการยุติสงครามต่างๆ ไปแล้ว

ในบ้านเราก็ใช้การเมืองนำการทหารจนแก้ปัญหาสำเร็จมาแล้วในสงครามคอมมิวนิสต์

“ขณะที่ทุกฝ่ายยกย่องชื่นชมคำสั่งที่ 66/2523 ว่าสามารถหยุดสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้านเราได้ แต่ไม่เคยมองให้ลึกซึ้ง และไม่เคยคิดจะนำแนวนโยบายนั้นมาใช้ต่อในปัญหาอื่นๆ”

เมื่อไม่กี่วันมานี้ นายทหารชั้นผู้ใหญ่เพิ่งออกมาแสดงความคิดเห็นต่อพรรคการเมืองเกิดใหม่ว่าใช้เฟกนิวส์ปลุกปั่น เหมือนสมัยสู้กับคอมมิวนิสต์

นี่ก็ยืนยันให้เห็นว่า ผ่านสงครามคอมมิวนิสต์มาแล้ว แต่นายทหารจำนวนไม่น้อยยังไม่คิดจะศึกษาประวัติศาสตร์หน้านี้ให้เข้าใจ

ทั้งที่การขยายตัวของคอมมิวนิสต์มาจากการเมืองเรื่องชนชั้น แถมตอนเริ่มต้น กองทัพใช้แนวทางปราบปราม เข้าตำรา ยิ่งปราบคอมมิวนิสต์ยิ่งโต

คำว่าคอมมิวนิสต์ใช้โฆษณาชวนเชื่อ ล้างสมองประชาชนให้ไปเข้าร่วมนั้น

ยังมีคนเชื่ออยู่อีกหรือ!?!

เหตุการณ์ไฟใต้เป็นปัญหาความขัดแย้งในทางประวัติศาสตร์ โยงไปถึงเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ความไม่เป็นธรรม แต่ถึงที่สุดก็คือนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในการแก้ไขความแตกต่างนี้ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ความจริงขบวนการต่อสู้ใน 3 จังหวัดใต้เกิดมานานแล้ว ผ่านหลายยุค หลายกลุ่ม ขบวนการ ต่อเนื่องมาหลายสิบปี หนักบ้างเบาบ้าง เงียบหายไปบ้าง

มารอบหลังปะทุขึ้นเมื่อราวปี 2547 ต่อเนื่องยาวนานไม่ซาลงไป เกิดเหตุแทบทุกวัน กว่าสิบปีมาแล้ว

“แต่ที่น่าสังเกต ไฟใต้จะลุกโชนขนาดไหน การก่อความไม่สงบจะรุนแรง จะกี่ครั้งกี่หน ก็ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่ผู้ลงมือก่อเหตุจะประกาศตัวตนว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ รวมทั้งประกาศชื่อกลุ่มขบวนการ”

“ไม่เคยแสดงสัญลักษณ์ ทิ้งคำแถลง คำประกาศอะไรเอาไว้ในที่เกิดเหตุแม้แต่ครั้งเดียว!!”

ผู้รอบรู้เคยวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นเพราะผู้ก่อเหตุแต่ละรายมีปมความแค้นที่ต้องการแสดงออกเพื่อตอบโต้รัฐ เช่น ญาติพี่น้องได้รับผลกระทบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามของรัฐ

เด็กหนุ่มจำนวนมากพกความแค้นไปหาคนในขบวนการเหล่านี้ แล้วก็ได้รับอาวุธพร้อมการฝึกฝนมาก่อเหตุ เพื่อล้างแค้น

ส่วนกลุ่มขบวนการทั้งหลาย น่าจะมีเป้าหมายเพียง ต่อสู้เพื่อให้เห็นว่า แนวทางของรัฐบาลที่ส่งกองกำลังเข้ามาจัดการควบคุมสถานการณ์นั้นไม่ได้ผลแน่ๆ จะต้องถูกตอบโต้ด้วยสงครามก่อการร้าย เพื่อให้เห็นว่าอำนาจรัฐและปืนควบคุม 3 จังหวัดใต้ไม่ได้

“เชื่อว่าเป้าหมายยังไม่น่าไปไกลถึงการแยก 3 จังหวัดชายแดนใต้”

ถ้าหากขบวนการไฟใต้มีเป้าหมายเพื่อแบ่งแยกดินแดนจริงๆ จะต้องประกาศชื่อองค์กรขบวนการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อรองรับแผนในทางการเมืองในอนาคต ไปจนถึงต้องประกาศสร้างรัฐใหม่ขึ้นมาแล้ว

ดังนั้น การก่อความไม่สงบวันนี้ ยังไม่น่าจะคิดเรื่องแยกดินแดน ดังที่ฝ่ายรัฐบาลฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐหวาดกลัว หรือคิดไปเอง

“การหาทางพูดคุยเจรจา อาจหาข้อตกลงที่ไม่มากมายเกินไปได้ เพื่อแลกกับความสงบ ไม่เกิดความสูญเสีย!”

ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ฉีกนโยบายการดับไฟใต้ด้วยการเน้นเจรจา ตั้งคณะทำงานติดต่อพูดคุยอย่างจริงจัง มุ่งหวังจะใช้การพูดคุยเจรจาสันติวิธี หวังสร้างเป็นผลงานชิ้นสำคัญ รวมทั้งเพื่อลบล้างความผิดพลาดที่เกิดในยุครัฐบาลทักษิณ

ที่สำคัญ การเจรจาเริ่มคืบหน้าและได้ผลเป็นลำดับ

จนกระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดนล้มด้วยรัฐประหารปี 2557 จากนั้นในยุครัฐบาลทหารเกิดอะไรขึ้น พอจะเดาได้ไม่ยาก

จากรัฐบาล คสช. มาจนถึงรัฐบาลประยุทธ์สมัยที่ 2 สถานการณ์ขยายตัว จนกลุ่มไฟใต้บุกมาเยือนถึง กทม.ดังที่ปรากฏ

ขณะที่พูดกันถึงคำสั่งที่ 66/2523 ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ อย่างยกย่องชื่นชม แต่กลับไม่เคยย้อนศึกษาถึงหัวใจสำคัญของนโยบายนี้ นั่นก็คือ การยอมรับว่าการปราบจะยิ่งทำให้ฝ่ายก่อการร้ายยิ่งโต

เพราะเป็นขบวนการใช้อาวุธ ที่เกี่ยวข้องกับความคิดอุดมการณ์ และมีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนที่ถูกกดขี่ข่มเหง

จึงมีกลุ่มนายทหารมันสมอง ที่เสนอแนวทาง ใช้การเมืองนำการทหาร ใช้การเจรจาใช้สันติวิธีหยุดสงคราม

“แล้วก็ทำได้สำเร็จ แต่พอจบสงครามคอมมิวนิสต์ก็จบแค่นั้น ไม่เคยคิดจะนำแนวทางนี้มาใช้แก้ปัญหาบ้านเมืองในเรื่องอื่นๆ!”

ขนาดพรรคการเมืองที่ต่อสู้ในระบบรัฐสภา ก็ยังใช้กลไกอำนาจทุกอย่างเล่นงาน จนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่แตกแยกร้าวลึกมากว่าสิบปี จนบัดนี้ก็ไม่ได้ดีขึ้น เพราะยังฟาดฟันทำลายล้างกันเหมือนเดิม

3 จังหวัดใต้ก็เช่นกัน ทั้งที่ยังไม่ได้ไปไกลถึงการแยกดินแดน ดังที่เห็นได้จากการไม่เคยก่อเหตุ แล้วชูภาพองค์กรขบวนการเพื่อรองรับเป้าหมายใหญ่ขนาดนั้น

“อีกทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าวไม่ได้มีทรัพยากรระดับบ่อน้ำมัน ไม่มีแหล่งแร่เหมืองทองคำที่สร้างรายได้มหาศาล จนสามารถแยกดินแดนตั้งประเทศได้”

น่าจะสามารถเจรจาหาทางออกได้ โดยเงื่อนไขเจรจาไม่สูงลิบเกินไป

“เพียงแค่การสร้างสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้มีลักษณะสังคมพิเศษ สอดคล้องและเคารพในด้านเชื้อชาติศาสนา”

ถ้าคิดแต่เพียงจะใช้การปราบปราม ใช้กองกำลังอำนาจรัฐเข้าไปควบคุมให้สงบราบคาบ

หลายปีมาแล้วก็ทำแบบนี้

ผลก็คือเกิดระเบิดลามถึง กทม.แล้ว

การเมืองนำการทหาร ความยุติธรรมนำการปราบปราม น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่านโยบายปัจจุบัน!