วิเคราะห์ | พปชร.ปรับ ตั้ง “บิ๊กป้อม” คุมทัพ สยบมุ้ง-วางเกม รบ.เสียงปริ่มน้ำ ได้ผลจริงหรือ ?

ชั่วโมงนี้เอาเป็นว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมเดินหน้าเล่นการเมืองเต็มสูบแล้ว

เมื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอให้นั่งในตำแหน่งสำคัญ ประธานยุทธศาสตร์พรรค ภายหลังสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

หลังจากที่กั๊กกันมาเป็นเวลานานแรมปี

ก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียง พรรค พปชร.มีประธานยุทธศาสตร์ในภาคต่างๆ ประกอบด้วย นายอนุชา นาคาศัย ประธานยุทธศาสตร์ภาคกลาง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์ภาคอีสาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ประธานยุทธศาสตร์ กทม. ทำงานรวบคู่กับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ย้ายมาจากพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกัน

ทั้งนี้ เมื่อ “บิ๊กป้อม” เข้ามา โครงสร้างของพรรค พปชร.จะเปลี่ยนไปตามลำดับ มีรองหัวหน้าพรรคที่มาจากคนทุกกลุ่ม ทุกภาค พร้อมปรับโครงสร้างของกรรมการยุทธศาสตร์ให้เข้ากับการทำงานทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เนื่องจากตอนนี้ถือว่าพ้นช่วงเลือกตั้งไปแล้ว

ที่ผ่านมาแม้จะมีประธานยุทธศาสตร์ทุกภาค แต่พรรค พปชร.กลับไม่มีประธานยุทธศาสตร์ใหญ่ ผู้ซึ่งจะมากำหนดแนวทิศทางการเดินหน้าของพรรค รวมถึงคอยสมานให้พรรคมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

คนผู้นั้นจะต้องมากด้วยบารมี มีความน่าเชื่อถือสูง สามารถดีลได้กับคนทุกกลุ่ม

เพราะเพียงลำพังนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค เสมือนน้องใหม่ทางการเมือง

ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้กับแกนนำพรรค พปชร.ได้

แม้ทั้ง “นายอุตตม” และ “นายสนธิรัตน์” จะมีตำแหน่งใหญ่โตในพรรค พปชร.

แต่กลับหาใช่ผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องสำคัญตัวจริง เพราะ

1. ทั้งคู่มาในฐานะตัวแทนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ

2. ทั้งคู่ไม่มี ส.ส.อยู่ในมือ ซึ่งกระทบต่ออำนาจการต่อรองในพรรคอย่างมาก

3. ทั้งคู่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง นั่นจึงทำให้ทั้งคู่ไม่ได้รับความเคารพจากแกนนำพรรคเท่าที่ควร

ดังนั้น เมื่อจะมีการดีลเรื่องต่างๆ ผู้ร่วมดีลจึงมองข้ามหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคไป แล้วเดินเข้าหาผู้มีอำนาจตัดสินใจตัวจริง

ที่ผ่านมา “บิ๊กป้อม” ถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการต่อรองตำแหน่งต่างๆ กับพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองให้มาร่วมรัฐบาล การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งข้าราชการการเมืองสำคัญ แม้เจ้าตัวจะยืนยันมาตลอดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

แต่การเปิดตัว เอาจริงเอาจังกับพรรค พปชร.ล่าสุดนี้ คงจะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า “บิ๊กป้อม” ให้ความสำคัญกับพรรค พปชร.เพียงใด และพร้อมที่จะเข้ามาจัดการเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง

“บิ๊กป้อม” เข้าใจดีว่า การจะอยู่ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้นั้น จะต้องมีความเชื่อมโยงกับพรรคและ ส.ส. เพราะส่วนนี้คือส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสามารถคงอยู่ได้ ขณะที่พรรค พปชร.ที่ไม่ผ่านนั้น เกิดความระส่ำระสายอย่างหนัก เพราะประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม ต่างมุ้ง แต่ละกลุ่มล้วนต้องการบรรลุเป้าหมายของตัวเอง

ดังนั้น “บิ๊กป้อม” จึงหวังว่าตัวเองจะมีส่วนช่วยให้พรรค พปชร.เดินหน้าได้อย่างมีเอกภาพ ไม่ใช่ต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างพูด ต่างคนต่างปล่อยข่าวโจมตีกันอย่างที่แล้วมา

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา คนบางกลุ่มในพรรค พปชร.ยังเข้าไม่ถึงตัว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ “บิ๊กป้อม” ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากต่อการดีล และบ่อยครั้งปัญหานี้ก็นำมาซึ่งความไม่พอใจต่อคนกันเอง เช่น มีการพูดคุยผ่านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ไปแล้ว

ซึ่งสุดท้ายนายสมคิดก็ต้องไปคุยกับ 2 ป.อีกอยู่ดี จึงเรียกว่าดีลไม่เคลียร์

สําหรับพรรค พปชร. ปัญหาภายในที่ว่าหนักแล้ว ถึงเวลานี้ยังต้องเจอกับปัญหาของพรรคร่วมอีก เมื่ออยู่ๆ “พี่เต้” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ประกาศถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยไม่สนใจคำห้ามปรามของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ พปชร. แม้แต่น้อย

เพราะเวลานี้ทั้ง “บิ๊กตู่” และ พล.อ.ประวิตร ต่างมีมือขวาเป็นคนเดียวกันคือ “ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า” ผู้ซึ่งมีข้อครหาจำนวนมาก แต่กลับผงาดได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรี

โดยตั้งแต่ต้น “บิ๊กตู่” มอบหมายให้ “ผู้กองธรรมนัส” เดินสายดีลกับพรรคการเมืองขนาดเล็ก ประกอบด้วย 10 พรรคมาเข้าร่วมรัฐบาล “ผู้กองธรรมนัส” เสนอเงื่อนไขว่า ทุกพรรคจะต้องได้ตำแหน่งข้าราชการการเมือง พรรคละ 1 ตำแหน่ง เช่น พรรคประชาธิปไตยใหม่ จองตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

ดีลนี้สร้างความปลาบปลื้มกับบรรดาพรรคเล็กอย่างมาก เพราะอย่างที่รู้กันว่า พรรคเล็กเหล่านี้มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้ ส.ส. 1 คน แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับปัดเศษให้ ยิ่งเมื่อได้ตำแหน่งข้าราชการการเมืองอีก 1 เก้าอี้ จึงถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่า ทุกอย่างอาจไม่ได้ตามหวัง จึงทำให้ “เต้ พระราม 7” ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ต้องออกมาโวยขอถอนตัวจากรัฐบาล อ้างว่าไม่มีอิสระในการตรวจสอบ ทั้งที่แท้จริงแล้วพรรค พปชร.ไม่ยอมแบ่งเก้าอี้ให้ตามสัญญา ซึ่ง “มงคลกิตติ์” แอ๊กชั่นถึงขั้นประกาศขอเป็นฝ่ายค้านอิสระเลยทีเดียว

ยังไม่พอ “มงคลกิตติ์” ยังเหมารวมเอาอีก 4 พรรคเล็กมาเป็นพวก ประกอบด้วย พรรคพลังไทยรักไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาธรรมไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ทำเอาคอการเมืองตื่นเต้นอกสั่นขวัญแขวนกันเลยทีเดียว

แต่นับว่ายังโชคดี เพราะหลังจากมงคลกิตติ์ออกมาประกาศถอนตัวร่วมรัฐบาลได้เพียง 1 วัน “บิ๊กตู่” สั่ง “ร.อ.ธรรมนัส” เป็นการด่วนให้รีบเคลียร์ ทำให้อีก 4 พรรคที่ “เต้” เหมารวมนั้น ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่ายังคงอยู่ฝ่ายรัฐบาล สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

“ร.อ.ธรรมนัส” มีหน้าที่เคลียร์ให้เกิดความเข้าใจว่า ข้อตกลงในขั้นแรกนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามสถานการณ์ เนื่องจากพรรค พปชร.เองก็ไม่สามารถกุมเสียงได้แบบเบ็ดเสร็จ จึงต้องเฉลี่ยให้พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยอยู่พอสมควร แต่รับปากว่าจะให้ตำแหน่งทางการเมืองแน่นอน

นี่เป็นเหตุผลทำให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งข้าราชการการเมืองจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ แต่งตั้ง “นายสมเกียรติ ศรลัมพ์” หัวหน้าพรรคประชาภิวัตน์ เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำร่องก่อน ส่วนตำแหน่งของพรรคอื่นๆ จะทยอยตามมา

การที่ “บิ๊กป้อม” เปิดหน้านั่งประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร.นั้น เป็นเหมือนตัวแทนของ “บิ๊กตู่” ที่ต้องการคุมเกมทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เพราะด้วยรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จึงไม่สามารถจะปล่อยปละละเลยทางใดทางหนึ่งได้ มิเช่นนั้นอาจจะลามกลายเป็นปัญหาใหญ่

ยิ่งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลโหวตแพ้ ส.ส.ฝ่ายค้านเป็นครั้งแรก นั่นก็นับว่าเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจะประมาทเกมการเมืองไม่ได้อีกต่อไป