วิเคราะห์ : เสียงสะท้อนถึง ททท. ในยามย่างเข้า 60 ปี

ข้อเขียนแสดงความคิดเห็นว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชิ้นนี้มีอายุพอควรแล้ว

เพราะตอนที่มีผู้ปรารถนาดีส่งมาถึงมือผมนั้น เวลาล่วงเลยไปร่วมสัปดาห์เศษแล้ว

หลังจากที่ “เรนนี ฮัมดี” เขียนวิพากษ์เป้าหมายการท่องเที่ยวของไทยเผยแพร่เอาไว้บนเว็บไซต์ skift.com เมื่อ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา

แต่ทัศนะทั้งหลายยังน่าสนใจ ควรค่าแก่การรับรู้ และนำไปใคร่ครวญต่อไปอยู่ดีครับ

นี่คือเหตุผลที่ต้องหยิบมาเล่าสู่กันฟัง

 

“สคิฟต์” ได้ชื่อว่าเป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ได้รับความเชื่อถือในวงกว้าง ครอบคลุมกิจกรรมและข่าวสารด้านการท่องเที่ยวทั้งหมด อันหมายรวมไปถึงสายการบินและโรงแรมต่างๆ ทั้งหลาย เรนนี ฮัมดี เป็นผู้สื่อข่าวประจำสำนักงานสิงคโปร์ เขียนถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษเนื่องในวาระที่กำลังมีอายุย่างเข้า 60 ปีในปีหน้านี้แล้ว

เริ่มต้นด้วยการยกย่องความสำเร็จที่โดดเด่นของ ททท.ตลอด 60 ปีที่ผ่านมาว่า องค์กรที่รังสรรค์คำว่า “visit…years” ที่แพร่ระบาดออกไปทั่วโลกในยามนี้ออกมาเป็นครั้งแรกด้วยการประกาศ Visit Thailand Year ขึ้นมาในปี 1987 สามารถนำไทยไต่เต้าขึ้นสู่การเป็นหนึ่งใน 10 แหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดในโลก จากการจัดอันดับขององค์การการท่องเที่ยวโลกของสหประชาชาติ

ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 38 ล้านคน ใช้จ่ายเงินมากราว 2,000 ล้านบาท

ปีนี้เป้าหมายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 40 ล้านคน แม้ว่าหลายฝ่ายจะคาดการณ์กันว่าจำนวนจริงๆ อาจไม่ถึงตามเป้าหมายที่วางไว้ก็ตามที

 

เรนนีบอกว่า ขณะกำลังย่างเท้าก้าวสู่ปีที่ 60 ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ก็พยายามปรับเปลี่ยน “ทิศทาง” ของการท่องเที่ยวไทยให้หลุดพ้นจากความเป็น “การท่องเที่ยวเชิงปริมาณ” ไปสู่ “การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ” ที่อยู่บนพื้นฐานของ “นักท่องเที่ยวคุณภาพ” ที่ก่อให้เกิดรายได้สูงกว่า

เป้าหมายคือการได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเข้ามา เป็นนักท่องเที่ยวที่เคารพและปกปักรักษาสิ่งแวดล้อม และต้องการทำให้แน่ใจว่าธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยจะยังคงยืนยาวต่อไป ไม่ถูกทำลายลงทีละน้อยด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวมหาศาลจนแหล่งท่องเที่ยวรับไม่ไหวอีกต่อไป

ข้อสังเกตแรกของเรนนีก็คือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ททท.แสดงท่าทีเช่นนี้ และแม้ว่าจะมีการดำเนินการไปบ้างแล้วหลายประการ อาทิ การปิดเกาะมาหยา การทำงานร่วมกับสมาคมตัวแทนการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงชุมชน และการก่อตั้งรางวัล “Responsible Thailand Awards” เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แต่หลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังเชื่อว่า “การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ” หรือ “การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ” จะยังไม่เกิดขึ้นกับไทยในเร็วๆ นี้แน่นอน

 

ดนัย วันสม ซีอีโอของเวลล์ โฮเตลส์ แอนด์ รีสอร์ต ชี้ให้เห็นความเป็นจริงบางอย่างเอาไว้เป็นเหตุผลเบื้องต้น นั่นคือ จำนวนสายการบินต้นทุนต่ำ ที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนที่นั่งชั้นเฟิร์สต์และบิสซิเนส คลาส ในเที่ยวบินมายังประเทศ แสดงว่ายิ่งนับวัน นักท่องเที่ยวระดับไฮ-เอนด์ ยิ่งถูกทดแทนด้วยนักเดินทางในระดับกลางมากขึ้นเรื่อยๆ

เรนนีชี้ให้เห็นไว้ในย่อหน้าต่อมาว่า แม้แต่ ททท.เองก็ยังไม่ได้จริงจังกับสิ่งที่แถลงออกมามากนัก เพราะยังคงตั้งเป้าท่องเที่ยวปีนี้และปีหน้าเอาไว้ในเชิงปริมาณเช่นเดิม

ปี 2020 ททท.ยังตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาให้ได้ 42 ล้านคน พร้อมยอดค่าใช้จ่าย 2,400 ล้านบาท หรือตกราว 1,833 ดอลลาร์ต่อคน นี่ไม่ใช่เป้าหมายของการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างแน่นอน

 

เอริก ริคอเต ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของกรีนวิว ที่ให้บริการการปรึกษาเพื่อการดำเนินกิจการอย่างรับผิดชอบและยั่งยืนบอกว่า ถ้าหากต้องการการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบจริง ททท.ต้องมองหาลู่ทางเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาลดจำนวนลง แต่ต้องมีระยะพักอยู่ในประเทศมากขึ้น

“ดูเหมือน ททท.จะยังคงมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมกิจกรรมรอบด้านทั้งหมด ในขณะที่การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบนั้น จำเป็นต้องทำงานหนักในด้านการควบคุมการไหลเข้าของนักท่องเที่ยว โดยมีโครงการเฉพาะเพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ” เขาบอก พร้อมกับชี้ให้เห็นว่า การที่ไทยประกาศปิดอ่าวมาหยานั้น สะท้อนถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเมื่อมีความจำเป็น แต่ “หวังว่าจะมีการดำเนินการอย่างนี้ต่อไป และควรขยายวงออกไปให้ครอบคลุมมากขึ้นจนช่วงเวลาก่อนหน้าที่ความจำเป็นต้องปิดจะเกิดขึ้นด้วย”

นั่นหมายถึงว่า ทางการไทยต้องจริงจังกับขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยวและการบริหารจัดการ ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกทำลายเสียหาย

ลอรองต์ เควนซ์เล ซีอีโอของเอเชี่ยน เทรลส์ ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นความท้าทาย เพราะถึงที่สุดแล้วมักจะมีนักท่องเที่ยว “ครั้งแรก” ที่เดินทางมาไทยอยู่เสมอ ซึ่งจนแล้วจนรอดก็ต้องยังอยากไปแหล่งท่องเที่ยวหลักที่ขึ้นชื่ออยู่ดี ดังนั้น กุญแจสำคัญก็คือ จะบริหารจัดการสถานที่ท่องเที่ยวหลักเหล่านี้อย่างไร

หวังว่าหลังตัดเค้กฉลองวันเกิดครบ 60 ปีแล้ว ททท.คงไม่ลืมหันมาทำงานหนักกับเรื่องนี้ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป