จิตต์สุภา ฉิน : รางวัลที่มองไม่เห็นบนโซเชียลมีเดีย

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สัปดาห์นี้ก็เป็นอีกหนึ่งสัปดาห์ที่โลกโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยเรื่องราวร้อนแรงที่เราเรียกกันติดปากว่า “ดราม่า” ภายในวันเดียวกันมีทั้งข่าวเรื่องยูทูบเบอร์ที่ไปถ่ายทำคลิปทดสอบความอดทนของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินซึ่งถูกคนบนอินเตอร์เน็ตถล่มคอมเมนต์ว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

กระแสเรื่องนี้ยังไม่ทันสงบ ตกดึกก็มีดราม่าลูกดาราออกรายการแข่งชกมวย และอาจจะด้วยอะดรีนาลินที่พุ่งกระฉูดก็เลยทำให้แย่งไมค์จากพิธีกรรายการจนเจ้าตัวถึงกับต้องออกปากว่าไม่เคยมีใครกล้าทำแบบนี้มาก่อน แถมลูกดาราก็ยังยกนิ้วกลางแจกกลางการถ่ายทอดสดอีก

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้ฉันเกิดคำถามขึ้นในหัวหลายข้อ ยูทูบเบอร์สมัยนี้หิวคอนเทนต์มากจนไม่คัดเลือกระหว่างคอนเทนต์ดีกับคอนเทนต์แย่แล้วหรือ?

ทั้งสองเหตุการณ์นี้เกิดจากการออกแบบมาเป็นอย่างดีหรือเปล่า?

ความสนใจของคนบนอินเตอร์เน็ตถูกหลายช่องทางแย่งกันดึงทึ้งจนชื่อเสียงจะด้านไหนก็ได้ แต่ขอให้กลายเป็นดราม่าก็พอแล้วใช่ไหม?

เพราะไม่ว่าจะอย่างไร แชนแนลยูทูบนั้นก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น (อย่างฉันที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ก็รู้จักแล้วไง) และครอบครัวดารานั้นก็ได้รับการพูดถึงอย่างเนืองแน่นตลอดทั้งคืนลากยาวไปถึงวันรุ่งขึ้น

แต่คำถามที่ดูจะติดในใจมากที่สุดน่าจะเป็น “แล้วทำไมฉันต้องรู้เรื่องพวกนี้ด้วยอ่ะ”

ไม่มีใครบังคับให้ฉันต้องเลื่อนฟีดเฟซบุ๊กทุกๆ 10 นาที การที่ฉันรับรู้ดราม่าตั้งแต่หัววันไปจนถึงหัวค่ำไม่ได้ทำให้ชีวิตฉันดีขึ้น และฉันก็ไม่ได้รับรางวัลอะไรจากการติดตามดราม่าบนโซเชียลมีเดียเสียหน่อย แล้วทำไมฉันถึงจะต้องเสพติดมันขนาดนี้

แต่การจะบอกว่าฉันไม่ได้รับรางวัลทุกครั้งที่เข้าเฟซบุ๊กก็คงจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะอันที่จริงแล้วโซเชียลมีเดียก็ล้วนถูกออกแบบมาให้คนเล่นรู้สึกเหมือน “ถูกรางวัล” อยู่ตลอดเวลา

 

หลายคนอาจจะไม่ทันได้สังเกตว่าการออกแบบแอพพ์โซเชียลมีเดียที่ต้องการให้เราใช้เวลากับมันนานๆ และแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เขาแอบซ่อนเคล็ดลับบางอย่างเอาไว้แบบเนียนๆ โดยที่เราไม่เคยจับได้

อย่างการที่ออกแบบให้เราดึงหน้าจอจากบนลงล่างเพื่อเป็นการรีเฟรชให้เห็นโพสต์ใหม่ๆ การกระทำนี้คล้ายคลึงกับการที่เราดึงคันโยกเครื่องสล็อตแมชชีน

ถ้าเราดึงแล้วมีโพสต์ใหม่ๆ โผล่ขึ้นมาก็เหมือนกับเราได้รับรางวัล ยิ่งถ้าเป็นโพสต์ที่เราอ่านแล้วชอบก็ยิ่งเป็นรางวัลชิ้นใหญ่ ทำให้เราอยากดึงมันอยู่เรื่อยๆ

รู้ตัวอีกทีเวลาก็ผ่านไปแล้ว 30 นาทีที่เสียไปเปล่าๆ ปลี้ๆ

เช่นเดียวกับในกาสิโน ที่เขาออกแบบมาให้คนนั่งอยู่ในนั้นได้นานที่สุด ก็เลยจะไม่มีหน้าต่างให้เห็นเดือนเห็นตะวัน ไม่มีนาฬิกาให้เงยหน้าขึ้นมองเวลาได้ง่ายๆ

เวลาที่เราก้มดูฟีดเฟซบุ๊กก็คล้ายๆ กันค่ะ เรามีแนวโน้มที่จะมองลงข้างล่างอย่างเดียว

ต่อให้ตัวเลขบอกเวลาอยู่ที่มุมบนของจอ เราก็มักจะไม่ค่อยได้มองเห็นมันสักเท่าไหร่ แถมหน้าฟีดนั้นเลื่อนลงได้เรื่อยๆ แบบไม่รู้จบด้วย

ถ้าถามว่า อ้าว วิดีโอเกมก็เหมือนกันหรือเปล่า เห็นเล่นทีหนึ่งก็นั่งนานอยู่เป็นวันๆ

แต่อันที่จริงแล้วการออกแบบวิดีโอเกมส่วนใหญ่มักจะทำออกมาเป็นบท หรือเป็นด่าน ที่ผู้เล่นมีเวลาที่จะหยุดคิดว่าอยากจะเริ่มเล่นบทต่อไปหรือเปล่า

อย่างน้อยๆ ช่วงเวลาตอนนั้นเราก็ตัดสินใจได้ว่าจะเล่นต่อ หรือจะหยุดพักไปเข้าห้องน้ำ อาบน้ำอาบท่า หรือไปหาอะไรกิน ซึ่งหากได้หยุดสักนิดแล้วก็มีแนวโน้มที่เราจะลุกไปทำอะไรอย่างอื่น

ไม่เหมือนฟีดเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่เลื่อนไปได้เรื่อยๆ ไม่มีวันหมด

รู้ก็รู้อยู่แก่ใจว่าของที่เราเลื่อนอยู่ตรงหน้ามันไปถึงจุดที่ไม่น่าสนใจขนาดนั้นแล้ว แต่นิ้วก็ยังเลื่อนไปเรื่อยๆ ราวกับเราได้สูญเสียการควบคุมร่างกายตัวเองไปแล้วโดยสิ้นเชิง

 

การออกแบบของโซเชียลมีเดียเล่นกันระบบโดพามีนของมนุษย์ ซึ่งเป็นวิธีที่สมองใช้ในการบันทึกว่าอะไรที่ทำให้เรารู้สึกดีและเหมาะที่จะทำซ้ำ แต่โดพามีนไม่ได้แยกแยะว่าพฤติกรรมไหนเป็นพฤติกรรมที่ “ควร” หรือ “ไม่ควร” ทำซ้ำ ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราติดโซเชียลมีเดียงอมแงม

ตัวกระตุ้นโดพามีนชั้นดีบนโซเชียลมีเดียก็คือสิ่งที่เราโหยหากันทุกวันนี้ อย่างปุ่มไลก์ คอมเมนต์ และแชร์นั่นแหละค่ะ ไม่เพียงแต่มันทำให้เราเกิดนิสัยของการเก็บแต้มเพื่อความภาคภูมิใจในตัวเองเท่านั้น แต่มันยังเป็นกิจกรรมที่เราใช้เพื่อเรียกหาการยอมรับจากคนรอบข้างด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่า FOMO หรือ Fear of Missing Out คือกลัวการตกข่าว กลัวไม่รู้ว่าบนสังคมโซเชียลมีเดียเกิดกระแส เกิดเทรนด์อะไร และมันอาจจะทำให้เรา “คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง” มีหลายครั้งที่ฉันได้ยินเพื่อนเปรยให้ฟังด้วยความประหลาดใจว่าพวกเขาวุ่นกับการทำงานทั้งวันจนไม่ได้เช็กโซเชี่ยลมีเดียประมาณแค่ 5-6 ชั่วโมงเท่านั้น

พอเช็กอีกทีก็พบว่ามีแฮชแท็กที่ไม่รู้ที่มาที่ไปอยู่เต็มไปหมด

มันวิ่งเร็วขนาดนั้น

 

การติดแอพพลิเคชั่นส่งข้อความก็ไม่ต่างกัน แอพพ์เหล่านี้ถูกออกแบบมาให้แสดงสัญลักษณ์ให้รู้ว่าฝ่ายตรงข้ามเห็นข้อความเราแล้วหรือยัง ฟีเจอร์นี้ดูเหมือนจะเป็นฟีเจอร์เล็กๆ ที่ไม่มีความสลักสำคัญอะไรขนาดนั้น แต่อันที่จริงมันส่งผลต่อสมองของเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าเราส่งข้อความหาเพื่อนและเราเห็นสัญลักษณ์ว่าเพื่อนอ่านแล้ว เพื่อนก็จะรู้ว่าเราได้เห็นสัญลักษณ์นั้นแล้วเหมือนกัน ก็จะเกิดความรู้สึกว่าจะต้องรีบวางทุกอย่างตรงหน้าไปตอบข้อความเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อกัน มันก็คือแรงกดดันประเภทหนึ่ง ยังไม่นับรวมถึงจุดเล็กๆ สามจุด ที่ใช้เพื่อบอกว่าฝ่ายตรงข้ามกำลังพิมพ์ข้อความหาเราอยู่ ยิ่งทำให้เราวางโทรศัพท์ลงไม่ได้ถึงแม้ว่าเขาจะยังไม่ส่งข้อความอะไรมาก็ตาม

บริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ ถูกเรียกร้องให้ปรับดีไซน์เหล่านี้ หรือออกเครื่องมืออะไรบางอย่างเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานอย่างเราสามารถสลัดมันออกจากชีวิตประจำวันได้บ้าง แต่ก็คงยากที่เราจะคาดหวังให้บริษัทซึ่งทำกำไรจากความสนใจและเวลาที่เราใช้อยู่บนพื้นที่ของเขาจะมาช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้นำไปสู่การที่เราจะออกห่างจากผลิตภัณฑ์ของพวกเขามากกว่าเดิม

สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเข้าใจแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบทั้งหมดว่ามันทำขึ้นมาเพื่ออะไร บริษัทเหล่านี้ต้องการอะไรจากเรา และที่บอกว่าใช้งาน “ฟรี” นั้น จริงๆ มาพร้อมกับราคาที่เราต้องจ่ายอย่างไรบ้าง

บางทีความเปลี่ยนแปลงอาจจะต้องเริ่มที่ตัวเรา และมันอาจจะเริ่มมาจากการตั้งคำถามขึ้นมาว่า “แล้วทำไมฉันจะต้องรู้เรื่องพวกนี้ด้วยอ่ะ” ก็ได้นะ