วิเคราะห์ : “ภาวะโลกร้อน” กระทบสภาพพื้นดินยังไง

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ศาสตราจารย์เจน ริกสัน แห่งมหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ ประเทศอังกฤษ เป็น 1 ในผู้เขียนรายงานชิ้นใหม่ล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ออกมาเปิดเผยว่า ผืนดินกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ที่ครอบคลุมโลกใบนี้กลายเป็นดินเสื่อม แร่ธาตุหรืออินทรียวัตถุลดลง สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และบางแห่งกลายเป็นดินเค็ม

“ในอีก 30 ปีข้างหน้า ภาวะดินเสื่อมขยายเพิ่มเป็น 95% ของดินทั่วโลก จำนวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นยิ่งบีบให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ขณะที่สภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ก็ยิ่งเร่งให้สถานการณ์ดินเสื่อมขยายออกไปมาก”

ศาสตราจารย์ริกสันชี้ว่า ภาวะโลกร้อนมีผลต่อคุณภาพของดิน หรือดินจะมีปฏิกิริยาตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญมาก ทุกวันนี้เรายังไม่รู้มากเท่าไหร่ว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น ฝนที่ตกหนักๆ จะทำให้ดินเปลี่ยนสภาพไปอย่างไรบ้าง มีผลต่อการเติบโตของต้นไม้หรือผลผลิตแค่ไหน

เรายังไม่รู้ว่า เมื่อน้ำท่วมหรือฝนทิ้งช่วงจะทำให้พืชผลเสียหายในเวลากี่วันก่อนที่ผลผลิตลดลง

ฉะนั้น เราต้องให้ความสนใจกับเรื่องดินเสื่อม เพราะจะเป็นตัวเร่งให้โลกเผชิญกับวิกฤตรุนแรงกว่าที่เห็น และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ การใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เหมาะกับการเพาะปลูก การอยู่อาศัยหรือผลกระทบกับระบบนิเวศน์

 

ศาสตราจารย์ริกสันยังแนะนำว่า ปัญหาซับซ้อนในเรื่องที่ดินนั้นสามารถแก้ได้ ถ้ารัฐบาลประเทศต่างๆ ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

อย่างเช่นการวางแผนที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมให้เกิดผลผลิตสูงในพื้นที่จำกัด ขณะเดียวกันเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ การทำควบขนานเช่นนี้จะลดปัญหาดินเสื่อม ป่าไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนผลผลิตเกษตรที่มากขึ้นช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากคำแนะนำของศาสตราจารย์ริกสันแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจากไอพีซีซีคนอื่นๆ ยังเรียกร้องให้ชาวโลกลดการกินเนื้อสัตว์เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน

เนื้อวัว 1 กิโลกรัม ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากถึง 16.4 กรัม ในจำนวนนี้เป็นก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้นในช่วงการเลี้ยงวัว 13 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 79

ดังนั้น หากลดการกินเนื้อและลดปริมาณการเลี้ยงสัตว์ จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างมาก

บางประเทศเริ่มรณรงค์ให้เด็กๆ ในโรงเรียนต่างๆ เปลี่ยนวิถีการกินเสียใหม่ ด้วยการตัดเมนูเนื้อสัตว์ออกไป ในสหรัฐอเมริกา มีร้านขายเบอร์เกอร์ที่ใช้พืชแทนเนื้อสัตว์

อีกทางหนึ่งที่ช่วยลดโลกร้อนก็คือการกินอาหารอย่างเหมาะสมพอเพียง เลิกกินทิ้งกินขว้าง

ไอพีซีซีแนะนำให้หยุดการกินแล้วเหลือทิ้งทั้งในขั้นก่อนและหลังที่จะขายให้ผู้บริโภค

อาหารที่เหลือนั้น ในร้านอาหารภัตตาคารควรนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น เอาไปให้ชุมชนที่ยากไร้ หรือนำเศษอาหารไปใช้เลี้ยงสัตว์

วิธีการนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซพิษที่เกิดจากการผลิตอาหาร

 

ในบ้านเรา การปลูกข้าวก็เป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซพิษ โดยเฉพาะก๊าซมีเทน มาจากน้ำที่ขังในนาข้าว ขาดออกซิเจน จุลินทรีย์เติบโตปล่อยก๊าซมีเทนออกมา

ก๊าซมีเทนมีระดับความรุนแรงมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า

รายงานว่าด้วยนาข้าวลดโลกร้อนของบีบีซีภาคภาษาไทย ประเมินกันว่านา 1 ไร่ อาจก่อให้เกิดก๊าซมีเทนได้เป็นหลักสิบหรือหลักพันกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์

ถ้ารถยนต์เผาผลาญน้ำมัน 1 ลิตร จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 10 กิโลคาร์บอนฯ เทียบเท่าการปลูกข้าว 1 ไร่ อาจก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1-100 ลิตร

การทำนาข้าวเป็นสาเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 55 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมทั้งหมด

ประเทศไทย ภาคเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 รองจากภาคพลังงาน

 

บีบีซีชิ้นดังกล่าว รายงานวิธีปลูกข้าวรักษ์โลกตามโครงการไทยไรซ์นามา (Thai Rice Nationally Appropriate Mitigation Actions) ซึ่งเป็นการจับมือขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมนีและกรมการข้าว มี 4 กิจกรรมหลักด้วยกัน

1.การปรับหน้าดินด้วยแสงเลเซอร์ : ใช้เครื่องเลเซอร์วัดระดับและควบคุมกระบะเกลี่ยดิน จนกระทั่งหน้าดินแปลงนาราบเรียบเสมอกัน

2.การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง : ใช้ท่อพีวีซีขนาด 4 นิ้ว มีรูเจาะรอบตัว ช่วยให้เกษตรกรให้น้ำกับข้าวในระยะที่ข้าวต้องการเท่านั้น และหยุดให้น้ำในระยะที่ไม่จำเป็น

3.การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน : เก็บตัวอย่างดินในแปลงนา ส่งวิเคราะห์หาความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อประเมินปริมาณปุ๋ยเท่าที่จำเป็น

4.การจัดการฟางและตอซัง : ใช้น้ำหมักย่อยสลายฟางและตอซัง แทนที่การเผา

 

การใช้เทคนิคเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนในการปลูกข้าวแล้ว ยังช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวและได้ข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้น โดยเฉพาะการจัดการฟางข้าวและตอซัง ช่วยในเรื่องเพิ่มแร่ธาตุในดิน เกษตรกรเลิกเผาตอซังที่เพิ่มฝุ่นละอองและหมอกควัน อีกทั้งยังนำฟางข้าวไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ด้วย

“บีบีซี” ภาคภาษาไทยสัมภาษณ์คุณสำออย พักแพก ชาวนาหญิงวัย 57 ปี ที่มีผืนนาเกือบ 90 ไร่ ทดลองทำนาวิถีใหม่มาตั้งแต่ปี 2558 ได้คำตอบว่า วิธีทำนาแบบเปียกสลับแห้งของโครงการนี้ช่วยลดภาระต่างๆ ไปเยอะ

“ป้าก็รู้ด้วยเรื่องโลกร้อนน่ะ ป้าไม่เผาฟาง ใช้หมักเอา และรู้ว่าถ้าน้ำขังมาก เชื้อราจะมา เราจึงต้องทำเปียกสลับแห้ง”

การเกลี่ยหน้าดินให้เรียบด้วยแสงเลเซอร์ ยังผ่อนแรงคุณสำออย เพราะปรับหน้าดิน 1 ครั้ง สามารถเรียบอยู่ได้ถึง 5 ปี หรือการทำนา 10 ครั้ง

เช่นเดียวกับคุณบุญฤทธิ์ หอมจันทร์ ชาวนาอีกคน รับแนวคิด “ทำนาวิถีใหม่” มาใช้ กระทั่งทุกวันนี้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น พร้อมตระหนักว่า ชาวนาตัวเล็กๆ มีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้

“บุญฤทธิ์” บอกกับบีบีซีว่า หนี้สินที่มีเยอะๆ ก็ค่อยๆ หมดไป ตอนนี้ก็พอมีเงิน แล้วก็เอาไปซื้อที่ไว้ส่วนหนึ่ง

จากผืนนา 11 ไร่ ปัจจุบัน “บุญฤทธิ์” มีที่นา 40 ไร่จากการซื้อและเช่าเพิ่ม ด้วยค่าเช่าเป็นข้าวไร่ละ 20 ถัง ด้วยกำไรที่มากขึ้นจากต้นทุนที่ลดลง วันนี้ครอบครัวบุญฤทธิ์มีกำไรถึง 160,000 บาทต่อการปลูกข้าว 1 ฤดู

ผู้สื่อข่าวถามคุณบุญฤทธิ์ว่า “รู้จักปัญหาโลกร้อนไหม”

“ผมไม่เคยคิด แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการ และศึกษาจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่หมุนเวียนมาให้ความรู้ วันนี้ตระหนักว่า สิ่งที่พวกเรามองข้ามไม่ได้คือ ร่วมกันรับผิดชอบต่อโลกด้วย…รับผิดชอบกับคนหลายๆ คนที่กินข้าวของเรา”