เปิดโมเดลปรองดองฉบับ “ป.ย.ป.” พิสูจน์บารมี “บิ๊กป้อม” ยุติศึกขัดแย้ง

แฟ้มภาพ-พล.อ.ประวิต

อารมณ์หงุดหงิดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อต้องตอบคำถามหรือกล่าวถึงการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ เป็นเรื่องน่าเห็นใจ

น่าเห็นใจเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจองค์รวมของการสร้างสันติสุขและเอกภาพทางการเมืองในประเทศนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักการเมือง หรือแม้แต่สื่อมวลชนที่อยู่กับความขัดแย้งทุกวี่วัน แต่ก็ยังไม่เข้าใจ

น่าเห็นใจเพราะคนยังไม่เข้าใจว่าในโรดแม็ประยะสุดท้ายของรัฐบาลนี้ “บิ๊กตู่” จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มาทำไม

ตั้งมาแล้วจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้อย่างไร

และน่าเห็นใจเพราะนั่นเป็นการมองมิติปัญหาความขัดแย้งที่แตกต่างกัน

 

“ป.ย.ป.” ย่อโดยสั้นๆ ว่า ปฏิรูป ยุทธศาสตร์ ปรองดอง มีหน้าที่บูรณาการ รวบรวม ติดตาม ขับเคลื่อนงานในปีสุดท้ายของรัฐบาลให้เป็นชิ้นเป็นอัน ให้เป็นผลงานโบแดงของรัฐบาลนี้ ในขณะเดียวกันก็เดินหน้าสร้างความปรองดอง สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทย ก่อนส่งมอบอำนาจในมือให้รัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้งสานงานต่อ

นอกจากนี้ ใน ป.ย.ป. ยังมีสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของ “ป.ย.ป.” ว่าสำเร็จเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด มีส่วนใดบ้างที่ต้องซ่อม เสริม และสร้างขึ้นมาใหม่

ใน “พีเอ็มดียู” นี้ จะคัดเลือกคนเก่งระดับประเทศ แม้ค่าตัวจะแพงแต่รัฐบาลก็พร้อมสู้ เพื่อหวังให้คนเก่งๆ เหล่านั้นเข้ามาแก้ไขปัญหา 10 ประเด็น แบ่งเป็น 10 ทีม เรียกว่าทีมแก้ไขปัญหาประเด็นยุทธศาสตร์และนโยบายระดับบัญชาการ ทำหน้าที่ซ่อม เสริม สร้าง ครอบคลุมทุกเรื่อง

“บิ๊กตู่” ไม่เลือกนำการเมืองแก้ไขปัญหาทางการเมือง การออกแบบโครงสร้างลักษณะนี้ คือการใช้เศรษฐกิจ สังคมนำการเมือง

ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาปากท้อง รายได้ การศึกษา การเข้าถึงโอกาส เข้ามาแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง เป็นหลักคิดที่ว่าหากสามารถพัฒนาให้คนลืมตาอ้าปากได้แล้ว คนก็จะเลิกทะเลาะกันเอง

เป็นไปตามแนวคิดที่ว่า เมื่อมนุษย์เราเข้าถึงโอกาส ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่เดือดร้อนมากนัก มีพัฒนาการเรียนรู้และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องขอความช่วยเหลือสิ่งต่างๆ จากผู้มีอำนาจรัฐ นั่นเพราะเห็นว่า ปัญหาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ส่วนมากมักมาจากความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในโมเดลของ “บิ๊กตู่” จึงแตกต่างออกไป ในฐานะต้นความคิด

เขาจึงหงุดหงิดเมื่อนักข่าวถาม หรือนักการเมืองพูดถึงการแก้ไขปัญหาการเมือง ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ล้างไพ่ นับหนึ่งใหม่

 

อย่างไรก็ดี ใน ป.ย.ป. มีคณะกรรมการย่อม 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 4.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง

คณะกรรมการที่ 1-3 มีเพื่อเตรียมการงานด้านยุทธศาสตร์ ปฏิรูปให้เห็นผลเร็ววัน ส่วนคณะที่ 4 มีไว้ให้คนไทยปรองดองกัน

เมื่อโฟกัสชุดที่ 4 คือ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง รับผิดชอบโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นั่นหมายความว่า “บิ๊กป้อม” “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” คือกลไกสำคัญในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ครั้งนี้ แม้หลายคนจะมองบทบาทของ พล.อ.ประวิตร ที่ผ่านมาว่าไม่เหมาะสมกับการสร้างบรรยากาศของความปรองดอง หลายคนบอกไม่ใช่ เพราะโดยภาพลักษณ์แล้ว เขาเหมือนไม่มีท่าทีประนีประนอม พร้อมชนทุกสมรภูมิ

ผิดกับรองนายกฯ ด้านกฎหมายอย่าง นายวิษณุ เครืองาม ที่มีคุณลักษณะสุขุม นุ่มลึก เหมาะแก่การเจรจาประนีประนอม ทั้งยังรู้กฎหมายอีกต่างหาก น่าจะทำเรื่องปรองดองได้ดีกว่า “บิ๊กป้อม” เป็นไหนๆ

ทว่า เบื้องหลังแล้ว “บิ๊กป้อม” คนเดิมคนนี้ที่เป็นตัวประสานงาน คอนเน็กชั่นชั้นเยี่ยมด้วยสายสัมพันธ์กับคนมากมายหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เรียกว่าคุยได้หมด

เมื่อครั้งที่ คสช. รัฐประหารและจัดตั้งรัฐบาล “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เข้ามานั่งในตำแหน่งรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจได้ก็เพราะ “บิ๊กป้อม” จนเมื่อปรับเปลี่ยนตำแหน่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เข้ามาช่วยงานรัฐบาลแทน “หม่อมอุ๋ย” ได้ก็เพราะ “บิ๊กป้อม”

สรุปแล้ว “บิ๊กป้อม” ดุดันแต่ภายนอก เพราะเอาเข้าจริง เขาคือนักเจรจา

 

“บิ๊กป้อม” ประกาศแนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ด้วยการเชิญคู่ขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แนวรวมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยหารือ จนตกผลึกก่อนเซ็นข้อตกลงร่วมกัน เป็นอันยุติปัญหา

โครงสร้างของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง นอกจาก “บิ๊กป้อม” แล้ว ยังประกอบด้วย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรองประธาน สนช. อีก 1 คน ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และรองประธาน สปท. 1 คน และในคณะนี้ก็มีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ทำหน้าที่ที่ปรึกษา

คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีคณะอนุกรรมการชุดย่อยลงมาอีก ซึ่ง “บิ๊กป้อม” มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ

โดยเตรียม 98 ขุนพลในกองทัพไว้เพื่อทำงานนี้ คือคณะกรรมการอำนวยการเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ 19 คน ให้ “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย มี ผบ.เหล่าทัพ ร่วมด้วยช่วยกัน

พร้อมกับมี 4 คณะอนุกรรมการย่อย 1.คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น 23 คน 2.คณะอนุกรรมการจัดทำความเห็นร่วมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ มีทั้งหมด 22 คน 3.คณะอนุกรรมการจัดทำกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ 17 คน และ 4.คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ 17 คน เป็นหน่วยขับเคลื่อน

แผนงานของ “บิ๊กป้อม” คือให้ฝ่ายอำนวยการเตรียมประเด็นเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และสร้างความสามัคคีปรองดอง 10 ประเด็น ไว้หารือพูดคุย อาทิ ปัญหาทางการเมือง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แนวทางการปฏิรูปประเทศ ความมั่นคง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ

จากนั้นค่อยเปิดเวทีเชิญพรรคการเมือง นักการเมือง กลุ่มการเมือง ภาคประชาสังคม ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ นปช. กปปส. ฯลฯ เปิดให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสอธิบายปัญหาและความต้องการของตัวเอง ตลอดจนข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ก่อนจะวางกติการ่วมกันในประเด็นที่สามารถตกลงกันได้

เช่น พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ รวมทั้ง นปช. กปปส.เห็นต้องพ้องกันว่า จะไม่หาเสียงเลือกตั้งด้วยการโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน ก็จะให้ทุกฝ่ายได้ลั่นสัจวาจา เป็น “สัญญาประชาคม” เอาไว้

 

ส่วนประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ เช่น เถียงกันไม่รู้จบในปัญหาแนวทางการปฏิรูปประเทศ ก็ต้องหารือกันต่อไปจนกว่าจะได้ข้อสรุป ทั้งนี้ คณะกรรมการจะนำเสนอผลที่ได้จากการหารือนั้นมาพิจารณาหากติการ่วม สรุปประเด็นเห็นพ้องต้องกันและประเด็นที่ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกมา

แยกประเด็นออกมา เช่น ประเด็นใดควรต้องแก้กฎหมายก็จะพิจารณาแก้ ประเด็นใดจบด้วยตัวมันเองก็ลั่นสัจวาจาสัญญาประชาคม หรือประเด็นใดต้องใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขปัญหาก็ต้องทำให้แล้วเสร็จ หากเรื่องใดไม่ติดข้อกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจบริหารดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม การเซ็นเอ็มโอยูอย่างที่ พล.อ.ประวิตร ระบุนั้น ยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่เจ้าตัวมั่นใจว่า การลั่นสัจวาจาสัญญาประชาคมร่วมกันของฝ่ายการเมือง ซึ่งผ่านการบันทึกเทปออกโทรทัศน์ทั่วประเทศ ก็เหมือนการให้สัญญากับคนไทย หากใครผิดคำพูดจากนี้ คงหาที่ยืนในประเทศลำบาก

ด้วยความมั่นใจนี้เอง “บิ๊กป้อม” กล้าออกปากว่าเรื่องดังกล่าวจะมีความคืบหน้า แลเห็นผลภายใน 3 เดือน

ฟังดูเหมือนง่าย แต่จะลงเอยอย่างไรนั้น ยังไม่มีใครรู้ จึงต้องรอดูกันต่อไป เพราะต้องไม่ลืมว่าความขัดแย้งของสังคมไทยร้าวลึกมากว่าทศวรรษแล้ว