ในประเทศ : การเมืองเรื่อง “เฟกนิวส์” ไฟลามทุกฝ่าย ยิ่งใช้อำนาจ ระวังยิ่งบานปลาย

ประเด็นเฟกนิวส์กลับมาเป็นที่ถกเถียงในสังคมอีกครั้ง

หลังรัฐบาลโดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ พยายามผลักดันตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Fake News Center

พอมาเจอเหตุระเบิดป่วนกรุงเทพฯ ก็กลายเป็นข้ออ้างอีกหนึ่งเรื่องในการผลักดันศูนย์ต้านข่าวปลอม โดยรัฐมนตรีดิจิทัลฯ อ้างว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีข่าวปลอมจำนวนมากสร้างความสับสน

ตอกย้ำความสำคัญด้วยคำสัมภาษณ์ตามมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่หันมากระพือเรื่องเฟกนิวส์อย่างต่อเนื่อง

แต่ที่หนักแน่นที่สุด เห็นจะเป็นคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศเรื่องการทำสงครามกับเฟกนิวส์

 

ในระดับโลก ประเด็นปัญหาเฟกนิวส์ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มีการถกเถียงกันในระดับสากลอย่างมากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐว่าเป็นช่องทางให้รัสเซียเข้าแทรกแซงการเลือกตั้ง รวมถึงเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเฟกนิวส์ และข่าวสารกึ่งเท็จจริงจำนวนมาก

ความน่ากลัวของเฟกนิวส์คือมันแพร่กระจายได้รวดเร็ว ยิ่งประเด็นท้าทายความอยากรู้ ยิ่งแพร่กระจายไว เข้าถึงง่ายโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หนักสุดคือสื่อกระแสหลักหากไม่ตรวจสอบให้ดี รับไปเผยแพร่ต่ออีก ก็ยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเฟกนิวส์

เฟกนิวส์มีหลายประเภท

ทั้งทำขึ้นเพื่อเอามัน

สร้างข่าวปลอมเพื่อเรียกยอดไลก์ ยอดวิว เพื่อรายได้ทางเศรษฐกิจ

แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือข่าวปลอมที่เกี่ยวโยงกับการเมือง หวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้งแบบที่เกิดขึ้นในสหรัฐ

มีการค้นพบว่าเฟกนิวส์สามารถสร้างภาพให้ผู้สมัครคนหนึ่งกลายเป็นตัวร้าย อีกคนกลายเป็นดี

โดยเฉพาะหากเฟกนิวส์ทำงานเผยแพร่ผ่านการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายมาก่อน ก็หวังผลทางการเลือกตั้งได้เลย

ทั้งการทำให้คนที่หนุนฝ่ายหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องออกมาเลือกตั้งมาก เพราะคิดว่ายังไงก็ชนะถล่มทลาย และทำให้คนอีกฝ่ายหนึ่งฮึกเหิม โกรธแค้น พร้อมที่จะออกมาเลือกตั้ง

ยิ่งเฟกนิวส์ถูกแชร์หรือส่งต่อมาจากเพื่อน หรือบุคคลที่รู้จัก บางครั้งน่าเชื่อถือกว่าสำนักข่าวเสียอีก

 

จะเห็นได้ว่าไทยเราพูดเรื่องนี้ช้ากว่าบ้านเมืองอื่นเสียอีก แต่กลับมีความพยายามจะแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเร็วๆ ผ่านการตั้งศูนย์ต้านข่าวปลอม โดยยังไม่ชัดเจนในเรื่องรายละเอียดว่าจะแก้ยังไง หรือจะนิยามข่าวปลอมว่าอย่างไร ข่าวใดที่เข้าข่ายเฟกนิวส์

ยกตัวอย่างเยอรมนีก็มีกฎหมายจัดการปราบปรามการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนสื่อออนไลน์ แต่ก็มีความชัดเจนในการมุ่งเป้าไปที่การจัดการกับข้อความแสดงความเกลียดชัง (เฮตสปีช) และคอนเทนต์สนับสนุนการก่อการร้าย เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย เครื่องมือหลักที่ใช้ต้านข่าวปลอมในโลกออนไลน์ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14 ที่กำหนดโทษสำหรับคนที่นำเข้า เผยแพร่ และส่งต่อข้อมูลเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท

แต่ก็มีปัญหา ก็คนทำบางครั้งไม่ได้อยู่ในประเทศไทย

 

การประกาศแนวคิดจัดตั้งศูนย์ Fake News Center เกิดขึ้นครั้งแรกหลังนายพุทธิพงษ์เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 19 กรกฎาคม โดยอ้างว่า เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข่าวปลอมที่กระทบต่อความมั่นคง อาทิ การเกิดภัยพิบัติ วาตภัย แผjนดินไหว สึนามิ การสร้างความแตกแยกในสังคม

ต่อมาในการแถลงนโยบายรัฐบาล จึงถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากพรรคอนาคตใหม่ โดยกังวลว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงข้ามเสียมากกว่า เพราะพรรคเองเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ถูกโจมตีและทำลายความน่าเชื่อถือมาโดยตลอด

ซึ่งนายพุทธิพงษ์ก็พยายามชี้แจง ข้ามเรื่องประเด็นการเมืองไปเน้นจุดประสงค์เพื่อสื่อสารข่าวการเตือนภัยพิบัติและข่าวลวงที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ การหลอกลวงให้ลงทุน การขายสินค้าอันตรายและผิดกฎหมาย

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุระเบิดป่วนกรุง นายพุทธิพงษ์จึงยกเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าจำเป็นต้องมีศูนย์ต้านข่าวปลอม อ้างว่าเพราะมีข่าวปลอมเยอะมาก

 

ส่วนบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อประเด็นเฟกนิวส์ เริ่มขึ้นอย่างจริงจังหลังการแถลงนโยบาย อ้างว่าถูกตัดต่อดัดแปลงคำพูด

“ช่วงนี้ขอให้ระมัดระวังข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์ต่างๆ มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง และคำพูดของผมก็ยังนำไปถูกบิดเบือน ผมไม่เคยไปดูถูกว่าคนจนไม่เคยเสียภาษี ขอให้จำไว้ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวยืนยัน

กระแสเฟกนิวส์ลามไปถึงทุกฝ่าย น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโดยเป็นเนื้อหาข่าวปลอม มีภาพนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จนถูกฟ้องร้องว่าทำให้คนเข้าใจผิดเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดกลางกรุงเทพฯ โดยกรณีนี้นายกรัฐมนตรีออกมาปกป้อง ระบุว่า น.ส.ปารีณาอาจจะไม่ได้เขียนเองก็เป็นได้

ก่อนจะปิดท้ายสั่งสอนเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียว่าอย่าแชร์ข้อความที่ไม่มีข้อมูลหลักฐานข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันหนักแน่นว่า “วันนี้สื่อทราบอยู่แล้วมีการใช้เฟกนิวส์เป็นเครื่องมือทางการเมือง”

แต่ระดับความแรงในประเด็นนี้ถูกเติมชุดไฟโดยผู้บัญชาการทหารบก โดยแสดงความเห็นว่าเฟกนิวส์คือกระบวนการดิสเครดิตรัฐบาล เป็นสงครามปลุกปั่นเยาวชนฝีมือของพรรคตั้งใหม่ และสนับสนุนให้เอาจริงเอาจังกับการต่อสู้เรื่องนี้

ทำให้นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ออกมาตอบโต้เรื่องนี้ทันที ยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่เคยใช้ข่าวลวง หรือข้อมูลเท็จ ปลุกปั่นยุยงกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อทำลายสังคมและต่อต้านสถาบัน ตามที่ พล.อ.อภิรัชต์ให้สัมภาษณ์ถึงพรรคการเมืองที่ก่อตั้งไม่ถึง 2 ปี มีแนวนโยบายโฆษณาชวนเชื่อด้วยข่าวปลอดภัยกับกลุ่มคนที่อายุ 16-17 ปี แม้ พล.อ.อภิรัชต์จะไม่เอ่ยชื่อพรรคการเมือง แต่คาดว่าจะหมายถึงพรรคอนาคตใหม่

เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าทุกฝ่ายทางการเมืองต่างก็ถูกเฟกนิวส์เล่นงาน ไม่ใช่เพียงแต่ฝ่ายผู้มีอำนาจ

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่เฟซบุ๊กทำการลบ 22 บัญชี และ 10 เพจในไทย ภายใต้ปฏิบัติการจัดการเครือข่ายเพจปลอมกว่า 1,800 บัญชีในไทย รัสเซีย ยูเครนและฮอนดูรัส โดยมีตัวอย่างคือ New Eastern Outlook (NEO) และ The New Atlas และบัญชี Tony Cartalucci (โทนี่ คาตาลุชชี่) บัญชีเฟซบุ๊กที่วิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยไทยมานาน มีการใช้เงินซื้อโฆษณากว่า 18,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่น่าตกใจคือ เมื่อเอาชื่อ โทนี่ คาตาลุชชี่ ค้นกูเกิล จะพบว่ามีสำนักข่าวในไทยหลายแห่ง นำบทความทางการเมืองไปเผยแพร่ต่อ โดยให้ฐานะว่าเป็นนักวิชาการอิสระประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

แน่นอนต้องยอมรับว่าเฟกนิวส์เกิดขึ้นมาก เป็นไปตามการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร แต่ก็มีเรื่องน่าคิดว่ารัฐไม่ควรฉวยโอกาสนี้ในการใช้โอกาสต่อสู้กับข่าวปลอมละเมิดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น

เพราะการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจรัฐฝ่ายเดียวเท่านั้น

 

อันที่จริงในปัจจุบันหากมีข่าวปลอมเกิดขึ้น คนที่ใช้โลกโซเชียลมีเดียก็ตรวจสอบกันเองอย่างหนักหน่วง

ยกตัวอย่างว่าคนในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ไม่ได้ถูกครอบงำง่ายๆ แบบที่ผู้บัญชาการทหารบกคิด กรณีล่าสุดคือการตรวจสอบคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ ที่มีการพบความผิดตั้งแต่ค่ำวันที่มีการเผยแพร่ข่าวพิธีแล้ว

คนค้นพบก็ไม่ใช่ใคร ก็คนรุ่นใหม่ในโซเชียลนี่เอง ก่อนจะมีการแชร์ต่อและตั้งคำถาม ต่อมาพรรคอนาคตใหม่นำเรื่องนี้ไปถามในการนำแถลงนโยบาย กระทั่งล่าสุดนายกรัฐมนตรีออกมารับสารภาพผิดและพยายามแก้ปัญหาอยู่

นี่คือตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่ก็เข้าใจการเปลี่ยนแปลงในโลกโซเชียล ไม่ใช่เป็นเหยื่อเฟกนิวส์อย่างเดียว และกรณีคล้ายกันเกิดขึ้นอย่างมากตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน 3,500 คน ในการแชร์ข่าวลวง/ข่าวปลอมทางเฟซบุ๊ก ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า ผู้สูงวัยมีแนวโน้มที่จะแชร์ข่าวลวง/ข่าวปลอมมากกว่า

จึงเป็นคำตอบกับ ผบ.ทบ.ว่า อันที่จริงไม่ต้องห่วงคนรุ่นใหม่มากขนาดนั้นก็ได้