ปมถวายสัตย์ ยังไม่จบ!? วิเคราะห์ – จับตาทางออก ทางที่ 3

ปมถวายสัตย์ ยังไม่จบ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศ “ขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว” จับตาทางออก ทางที่ 3

หากนับจากนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ลุกขึ้นกล่าวทักท้วงกลางที่ประชุมรัฐสภาในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อปัญหากรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณ” ผ่านไปนานกว่า 3 สัปดาห์

ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แกนกลางของปัญหา จะประกาศ “ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ต่อหน้ารัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงจำนวนกว่า 800 คน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม

เท่ากับเป็นการสื่อความหมายยอมรับว่าตนเองทำผิดจริง แม้จะอ้างว่าไม่มีเจตนาก็ตาม

ถึงกระนั้น ภายหลังคำประกาศของนายกฯ ปัญหาไม่เพียงไม่คลี่คลาย ยังกลับยืดเยื้อบานปลาย สะท้อนจากความเคลื่อนไหวฝ่ายต่างๆ ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ไม่ว่าความเคลื่อนไหวของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเริ่มจากการยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาผ่านไปยังศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ

ตามมาด้วยการยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการไต่สวนมาตรฐานทางจริยธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีทั้ง 35 คน

กล่าวหาจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย กรณีเปล่งวาจาถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยข้อความไม่ครบถ้วนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ประกอบมาตรา 5

แต่ที่เป็นเรื่องจริงๆ อยู่ตรงความเคลื่อนไหวในลักษณะ “รุก” ต่อเนื่องของ 7 พรรคฝ่ายค้าน

ถึงแม้พยายามยื่นกระทู้สอบถามนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้งจะประสบความล้มเหลวทั้ง 2 ครั้ง เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลบเลี่ยงไม่ยอมมาตอบด้วยตัวเอง และไม่ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดมาตอบแทน

ครั้งแรก มาไม่ได้เนื่องจากติดภารกิจตรวจราชการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่าการไม่ไปตอบกระทู้ไม่ใช่ไม่ให้เกียรติสภา แต่เรื่องเข้ากระบวนการแล้ว ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีขั้นตอนและกระบวนการตามกฎหมายที่รัฐบาลต้องปฏิบัติต่อไป

แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านกล่าวอ้างถึงจุดมุ่งหมายการยื่นกระทู้สดว่าไม่ได้ต้องการนำกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณมาเป็นประเด็นล้มนายกรัฐมนตรีหรือล้มรัฐบาล

เพียงต้องการใช้กลไกสภาหาทางออกให้กับนายกรัฐมนตรี ในเมื่อยอมรับว่ามีปัญหากระทำการผิดพลาดจริงก็ควรเร่งหาวิธีการแก้ไข เมื่อถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ก็สามารถขอพระบรมราชานุญาตถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์

สามารถทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้โดยไม่เป็นที่กังขาของสังคม

เมื่อกระทู้ถามสดไม่ได้รับการตอบสนองจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคฝ่ายค้านจึงยกระดับเคลื่อนไหวด้วยเข้าชื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้”

ทั้งนี้ สิ่งที่ 7 พรรคฝ่ายค้านนำโดยเพื่อไทยและอนาคตใหม่เป็นกังวล และพยายามสะท้อนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คือการทำงานของรัฐบาลชุดนี้จะเดินหน้าต่อไม่ได้ ตราบใดที่การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบเป็นรูปธรรม ให้สอดคล้องกับคำประกาศวันที่ 8 สิงหาคม ที่ว่าจะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

เนื่องจากการกล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน นอกจากผิดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ยังถือเป็นการกระทำการอันมิบังควร สมควรต้องได้รับการแก้ไขในทันที ไม่ใช่ยื้อเวลาเพื่อหวังว่านานไปแล้วคนจะลืมเหมือนในหลายกรณี

“เราปล่อยให้รัฐบาลทำงานมาเดือนกว่าแล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ เราไม่มีประสงค์จะสร้างความยุ่งยากลำบากให้กับรัฐบาลหรือประชาชน แต่ไม่อยากปล่อยให้สิ่งที่ผิดนั้นผิดต่อไปอีก เพื่อให้การทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนดำเนินต่อไปได้” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวตอกย้ำเรื่องการถวายสัตย์ของรัฐบาล

เช่นเดียวกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาสำคัญในเรื่องนี้หลายครั้ง

คือเมื่อเวลาผ่านไปได้มีการแถลงนโยบายรัฐบาล ครม.มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร บริหารราชการแผ่นดินไปแล้ว สิ่งที่ฝ่ายค้านพยายามสอบถามมาตลอดก็คือการทำงานของรัฐบาล

จะเป็น “โมฆะ” หรือไม่

เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องสถานะของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล แต่เป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนโดยตรง

การเสนอให้ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ และขอเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ เพื่อแก้ไขสิ่งไม่สมบูรณ์ให้มีความสมบูรณ์ทั้งในแง่กฎหมายและประเพณีการปกครอง

จึงเป็นทางออกควรกระทำมากที่สุด

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ว่าจะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

ถึงหลายคนไม่แน่ใจว่าจะรับผิดชอบด้วยวิธีไหน อย่างไร แต่นักการเมือง รวมถึงสื่อมวลชนบางสำนักต่างก็คาดการณ์ว่าหลังผ่านพ้นช่วงหยุดยาววันแม่ ปัญหากรณีถวายสัตย์น่าจะจบ เพื่อรัฐบาลจะได้เดินหน้าทำงานต่อไป

ปรากฏว่าคาดการณ์ผิดถนัด จนถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่แสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าวให้สาธารณชนเห็นเป็นที่ประจักษ์

ตามความเห็นของฝ่ายค้าน กระทั่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กรณีคำถวายสัตย์ ได้พัฒนามาถึงจุดบีบบังคับให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเลือกแค่ 2 ทางเท่านั้น

ทางแรก คือการขอพระราชทานอภัยโทษ ขอพระบรมราชานุญาตนำ ครม.เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

แต่ถ้าเลือกแนวทางนี้ คำถามที่ตามมาคือการปฏิบัติหน้าที่ หรือมติ ครม.ใดๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ไม่ว่าการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา การอนุมัติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 3.2 ล้านล้าน การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร ซึ่งต้องมีการยื่นตีความกันต่อไป

ทางที่สอง พล.อ.ประยุทธ์แสดงความรับผิดชอบทางเมืองด้วยการประกาศลาออก เพื่อนำไปสู่การเริ่มกระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีใหม่ ให้สมาชิกรัฐสภาโหวตเลือก ตั้ง ครม. ถวายสัตย์ปฏิญาณให้ถูกต้อง แถลงนโยบายต่อรัฐสภาใหม่ เพื่อเข้ารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ถูกต้อง

ซึ่งในทางปฏิบัติทั้ง 2 ทางย่อมมีความยุ่งยากต่างกัน เลือกทางแรก ความยุ่งยากน้อยกว่าทางเลือกที่สอง ซึ่งต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งกระบวนการทุกอย่างใหม่หมด ตั้งแต่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา

ถึงกระนั้นก็เป็น 2 ทางออกทำให้กรณีถวายสัตย์ยุติลงเด็ดขาด

แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์เลือกทางออกอื่น เช่น ด้วยการยื้อเวลาด้วยการโยนเผือกร้อนให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ทางออก

เหมือนที่มีคนเริ่มพูดถึงทางออกที่ 3 ในกรณีคำวินิจฉัยชี้ว่า คำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 มีผลทำให้รัฐบาลไม่สมบูรณ์ การแถลงนโยบายที่ผ่านมาเป็นโมฆะ คณะรัฐมนตรีถือว่ายังไม่ได้เข้ารับหน้าที่ ยังไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศ

ซึ่งบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 เขียนไว้ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากนายกฯ และคณะรัฐมนตรีชุดนี้ต้องมีอันเป็นไปจากกรณีคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน คสช.ก็จะกลับมามีบทบาทบริหารประเทศเหมือนกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็แน่นอนว่าการกลับมาของ คสช. จะเป็นปัญหาสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชน

ดังนั้น ไม่ว่าเลือกทางออกใด ก็ล้วนสร้างความลำบากใจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น