การคิดนอกกรอบ และ “ทักษะแห่งอนาคต” | ธุรกิจพอดีคำ

“ทักษะแห่งอนาคต”

พิการทางสายตา

คือ ตาบอด มองไม่เห็น

พิการทางการได้ยิน

คือ หูหนวก ฟังไม่ได้

พิการทางการพูด

คือ เป็นใบ้ เสียงไม่ออก

พิการทางร่างกาย

คือ ขยับไม่ได้ดั่งใจคิด

พิการทางสมอง

คือ คิดไม่ได้อย่างมนุษย์ทั่วไป

แต่พิการทางการเรียนรู้ล่ะ

คืออะไร

อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ นักเขียน นักคิดระดับตำนานชื่อดังชาวตะวันตก เคยบอกไว้

ในอนาคต คนที่พิการทางด้านการเรียนรู้

ไม่ใช่คนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อีกต่อไป

แต่เป็น…

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เมืองไทยของเราโชคดีครับ

รัฐบาลจัดงาน “สตาร์ทอัพ เนชั่น” ขึ้นมา

เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ

เช่น การทำงานของสตาร์ตอัพ การทำนายทายทักอนาคต

การอยู่รอดของธุรกิจในโลกที่ไม่แน่นอน ต้องทำอย่างไร

ผมเองรู้สึกเป็นเกียรติครับที่ถูกเชิญไปพูดถึงสองงานด้วยกัน

งานแรก ไปแบ่งปันเรื่องการทำสาระดีๆ ผ่าน “พ็อดคาสต์ (Podcast)”

ตอนนี้พ็อดคาสต์ของผมที่มีชื่อว่า “แปดบรรทัดครึ่ง” มีผู้ฟังเกือบสองล้านครั้งแล้ว

คนเดิมๆ คนใหม่ๆ เข้ามาฟังกันวันละไม่ต่ำกว่าหมื่นคน

เลยถือโอกาสแบ่งปันเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการทำเนื้อหายุคใหม่ ให้กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ

เหมาะกับวิถีชิวิตคนกรุง

สามารถฟังได้ผ่าน podcast podbean soundcloud youtube ครับ

เรื่องที่สอง ที่มีความตั้งใจมากๆ ไม่แพ้กัน

คือ ได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง “อนาคตของตลาดงาน (Future of Work)”

ประมาณว่า ตลาดงานเปลี่ยนไปยังไง เราจะต้องปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดในฐานะคนทำงาน

หลายครั้งผู้บรรยายหัวข้อประมาณนี้ก็จะพูดถึง “เทคโนโลยี” ต่างๆ

ทำนายทายทักราวกับว่าเรื่องราวของอนาคต เป็นเรื่องที่ดูออกง่าย ไม่ยากเย็น

หากแต่ว่ามุมมองของผมนั้นต่างออกไปครับ

ไม่ใช่ว่าผมไม่เชื่อในคำพยากรณ์ของผู้เชี่ยวชาญ

แต่ผมเชื่อว่า ถึงรู้ไป ถูกหรือผิด ก็ไม่รู้

คนทำงานอย่างพวกเรานี่แหละที่จะต้องปรับตัว

และก็มีอยู่แค่ไม่กี่เรื่อง ที่หากคุณทำได้ ปรับตัวได้ดี

ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหนก็ตาม

คุณก็จะรอด

เรื่องแรก

ไม่ว่าคุณจะไปอยู่ในอาชีพใดในอนาคต

สิ่งที่ทุกคนจะต้องทำ ก็คือการ “แก้ไขปัญหา”

จะแก้ไขปัญหาได้ ประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่นๆ ได้

ต้องรู้จัก “มองหาปัญหา และเข้าใจปัญหา” ได้อย่างลึกซึ้ง

ก่อนที่จะเริ่มแก้ไขปัญหา

เราต้องหาปัญหาที่น่าแก้ไขเสียก่อน

ปัญหาที่ใหญ่พอ มีอยู่จริง มีคนมีปัญหานี้จริงๆ

เหล่านี้แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างของใหม่ๆ

คือ การเอาตัวไปขลุกกับปัญหาสักพัก พอให้ความคิดได้ทำงาน

จะเป็นการพูดคุย การสังเกต หรือแม้แต่การลองทำตัวเป็นลูกค้าดู

ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่พูดง่ายๆ

แต่คนในองค์กรมักจะไม่ค่อยทำกันอย่างเป็นระบบ

จนสะเปะสะปะ นั่งประชุมกันเองบ่อย แต่ไม่ค่อยได้ออกไปคุยกับลูกค้า

ไปยืนในที่ที่ลูกค้ายืน และใช้ชีวิตของพวกเขา

องค์กรส่วนใหญ่เลือกที่จะจ้างคนอื่นมาทำงาน “วิจัยผู้บริโภค” ให้

ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ดี

แต่ตัวเลขอย่างเดียวมันยากที่จะสื่อถึงความ “จริงจัง” ของปัญหา

การทำความเข้าใจปัญหา จึงเป็นคุณลักษณะสำคัญ

ที่ไม่ว่าใครก็ตามอยากจะอยู่รอดในตลาดงานในอนาคตอันไม่ไกลนี้

ก็คงจะต้องมีทักษะในการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) มากขึ้น

เรื่องที่สอง ก็คือเรื่องการ “แก้ไขปัญหาวิธีใหม่ๆ”

ในวงของความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เขาจะเรียกขั้นตอนนี้ว่า “ไอดีเอต (Ideate)”

คิดนอกกรอบ คิดไปไกลๆ ยังไม่ต้องมองความเป็นไปได้

องค์กรส่วนใหญ่ขณะนี้ก็ส่งลูกน้องไปเรียนหนังสือหนังหาเรื่องเหล่านี้

การคิดนอกกรอบนั้นน่าสนใจที่ว่า

“กรอบ” นั้น ท่านได้แต่ใดมา

เช่น การที่อยากจะทำที่โกนหนวดแบบใหม่ๆ ให้ลูกค้า

ซึ่งแทนที่เราจะสร้างที่โกนหนวดแบบใหม่ให้ลูกค้า

ถ้าคิดนอกกรอบสักหน่อย

เราอาจจะหาวิธีที่ทำให้พี่เขาไม่มีหนวดได้เลยก็เป็นไปได้

ถ้าตั้งคำถามแบบนี้ ทางแก้ปัญหามันจะไม่ใช่ที่โกนหนวดแน่ๆ

อาจจะเป็นน้ำยาอะไรสักอย่าง ที่มา “ดิสรัปต์ (disrupt)” ที่โกนหนวดก็เป็นได้

การคิดอะไรใหม่ๆ นั้น บริบท (context) อาจจะสำคัญกว่าเนื้อหา (content)

ใช่ เราอยากได้ไอเดียใหม่ๆ อยากได้เนื้อหาที่ดี

เรามักคิดไอเดียใหม่ๆ ออกตอนไหนครับ

อาบน้ำ วิ่งออกกำลัง คุยกับเพื่อน ทานข้าวกับเพื่อน

เราคิดอะไรใหม่ๆ ออกหลายที่ แทบจะทุกที่

ยกเว้นห้องประชุมห้องเดิมที่เราเข้าทุกวี่วัน

ไม่ได้ทำให้ “สมองแล่น” เลยแม้แต่น้อย

แต่หัวหน้าก็ยังจะชอบให้ออกความเห็น ไม่ออกก็ไม่พอใจอีก

ทำตัวไม่ถูก

หลายครั้งหัวหน้าไม่อยู่ในห้อง กลับทำให้หัวแล่นมากกว่า

ปัจจัยที่สำคัญสำหรับเรื่องการสร้างสรรค์

อาจจะไม่ใช่การฝึกฝนคนให้เปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งใช้เวลาอย่างมาก

แต่อาจจะต้องเริ่มจากการให้ลูกหลานได้ออกไปเจอโลกกว้าง

ไปลำบาก ไปเดินทาง เพื่อสังเกตการณ์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

เจอคนที่แตกต่างกับเรา ที่ไม่ได้พยายามปรับตัวเข้าหาเรา

สิ่งเหล่านี้นี่แหละคือบทเรียนล้ำค่าในการเป็นหัวหน้าคน

ทำยังไงให้คนแบ่งปันความคิดกันเต็มที่ เพราะเชื่อในพลังของคน

ผู้พิการทางความรู้ในโลกยุคนี้ ไม่ใช่คนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้อีกต่อไป

แต่เป็นคนธรรมดาที่ยึดติดกับความรู้ชุดเดิม แล้วไม่สามารถเอามันออกไปเพื่อใส่ความเชื่อใหม่ๆ เข้าไปด้วย

ความสามารถในการเรียนรู้ ลืมสิ่งที่เรียนไปก่อน และเรียนรู้ใหม่

นี่แหละสามประสาน สร้างอนาคตที่แท้ทรู